แม่ปูคาชำรุด มนุษย์ฆ่าตัวตาย ความป่วยไข้ในระยะฟักตัว - Decode
Reading Time: 4 minutes

Gate 42 สองชั่วโมงครึ่งของการรอเรียกขึ้นเครื่องบินโดยสาร โดยมีเชียงใหม่เป็นปลายทางดูจะผิดวิสัยสำหรับคนเชียงใหม่ที่กลับบ้านอยู่บ่อยครั้ง อาจเพราะการเดินทางครั้งนี้มีสองอย่างที่น่ากลัว และสองอย่างที่แน่นอน

อย่างหนึ่ง ความกลัวการถูกปฏิเสธจากญาติผู้เสียชีวิต หลังถูกปฏิเสธมาแล้วนับไม่ถ้วน

อย่างหนึ่ง อาการป่วยไข้จากไวรัสโคโรน่าแทรกซ้อนด้วยความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจใน ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าอย่างแรกหรืออย่างหลังน่ากลัวกัน หรือบางคนอาจรับรู้ว่า ความจนน่ากลัวที่สุด

แต่ความจริงของความกลัวและความไม่แน่นอน คือ มีสองอย่างที่แน่นอนในชีวิต ไม่ภาษีก็ความตาย

และถ้าเป็นความตายจากการฆ่าตัวตายในวัยยี่สิบต้นๆ มักจะมีสาเหตุมากกว่าหนึ่ง  “แม่ปูคา” ชำรุด อาจเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงจากการตายของคนหนุ่มในวัย 22 ปี นิยามอย่างกว้างว่า วัยทำงานตอนต้น

จากศพที่หนึ่งถึงศพที่สี่ในปีเดียวกัน สบตากับความตายในสายตาหมอตำบล พี่จิ๋ม จิดาภา อิ่นแก้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ หมอน้อย ที่ชาวบ้านในตำบลแม่ปูคาพูดถึง ค่อย ๆ ไล่เเรียงเหตุการณ์ให้เราฟังว่า มันเริ่มจากคนแรกผูกคอตายก่อน ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านพี่เอง จากความเชื่อที่ว่า เพื่อนในกลุ่มผูกคอตาย แล้วคนที่เหลือช่วยแก้เชือกของผู้ตาย เขาก็คิดแล้วว่า เขาจะต้องตายแบบเพื่อน พี่คิดว่า ตัวกระตุ้นอีกอย่างหนึ่งคือ เหล้า พอดื่มก็อาจจะเกิดภาพหลอนเพราะมีภาพจำติดตา และคิดวนซ้ำว่า “ฉันจะต้องตาย ฉันจะต้องตาย” จึงเกิดการฆ่าตัวตาย 4 ราย พูดง่าย ๆ ว่า ตายเดือนละศพ ในระยะเวลาสามเดือนในหมู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

“1669 รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน” ติดตามผนังบ้านเกือบทุกหลังคาเรือน กลายเป็นความปกติ(ไม่)ใหม่สำหรับผู้มาเยือน ต.แม่ปูคา

เป็นที่น่าสังเกตว่า 4 รายที่เสียชีวิตเป็นวัยทำงาน และตายด้วยวิธีการเดียวกัน ความหมายที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าตัวตายที่หมอน้อยพอจะสรุปได้คือ การลอกเลียนแบบ กับความผูกพันในความเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันคือ อายุประมาณซาวต้น ๆ สำเนียงเหนือเริ่มชัดขึ้น ด้วยความสงสัยว่า ใครจะไปคิดว่า คนหนุ่มในวัย 22 ปี จะฆ่าตัวตาย

สิ่งเร้าที่ทำให้ฆ่าตัวตายน่าจะมาจากเหล้า ถ้าเปรียบกับยุคสมัยนี้ สิ่งเร้าที่ว่าก็คงเหมือนๆกับโซเชียลมีเดีย เพียงแต่สังคมตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลเท่านั้นเอง

จากเลียนแบบสู่ระยะติดเชื้อในคนหนุ่มสาว “คุณติดเชื้อแล้ว”

ยิ่งสาวยิ่งลึกลงไปในรูปธรรมว่า ในปี 2551-2552 ก่อนเกิดเหตุฆ่าตัวตาย มันก็ไม่เชิงว่า เครียดแล้วต้องกินเหล้า เพราะคนในหมู่บ้านจะรู้ว่า พวกเขาชอบสังสรรค์ ที่สำคัญคือพวกเขาไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องฆ่าตัวตาย ยิ่งทำให้สมมติฐานแรกชัดเจนขึ้นว่า เป็นเพราะพฤติกรรมเลียนแบบ “ความที่เฮาอยู่ในชุมชนเดียวกันก็รู้สึกว่า หนึ่งสงสาร สอง เสียดายชีวิต เพราะวัยนี้เป็นวัยสร้างเนื้อสร้างตัว หนึ่งในนั้น อาจจะได้เป็นผู้ใหญ่บ้านก็ได้” ก่อนจะหยุดคิดและจะพูดต่อไปว่า พี่กลับมาคิดกับตัวเองว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นอีก ตอนนั้นเป็นอสม.จึงลงไปสำรวจข้อมูลเชิงลึกว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะผู้ที่เสียชีวิตก็เป็นลูกหลานของคนในชุมชนเราอยากช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งคีย์แมนคนสำคัญของเรื่องนี้หนีไม่พ้น “ท้องถิ่น” เพราะต้องใช้เงินแก้ไขปัญหา จนนำมาสู่การวางแผนเฝ้าระวัง มีการสังเกตุการณ์ในชุมชนในลักษณะดูแลกันเอง โดยมีอสม.สองคน ผู้ใหญ่บ้านหนึ่งคน และหัวหน้าป๊อก (หัวหน้ากลุ่ม)

จิดาภา อิ่นแก้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

“ป๊อกหนึ่ง ดูแล 10 ครัวเรือน มีป๊อกสอง ป๊อกสาม ก็ช่วยกันสอดส่องดูแลร่วมกัน ถ้าป๊อกไหนที่มีกลุ่มคนหนุ่มสาวในวัย 20 กว่าก็จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ  โดยเน้นให้เขามองตัวเองเชิงบวก และเห็นคุณค่าในตัวเองสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ เพราะบทเรียนที่ได้จากเคสก่อนหน้าเกิดจากเขาไม่คิดว่าเขาสำคัญ เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเขามีความหมายต่อครอบครัว”

คนที่ฆ่าตัวตายไม่แปลว่า เขาเป็นคนดีหรือคนเลว แต่เพราะเขาลอกเลียนแบบกัน เราจึงต้องดูแลลูกหลานของเราเอง ทำให้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา 7 ปีไม่มีใครฆ่าตัวตาย

จนกระทั่งปี 2559 พี่เริ่มเห็นโครงสร้างการตายเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ใช่การฆ่าตัวตายจากการลอกเลียนแบบ แต่เป็นเรื่องของ “พิษเศรษฐกิจ” แม้จะใช้วิธีการผูกคอตายเหมือนกัน และเกิดขึ้นกับคนในช่วงวัยทำงานตอนต้นเหมือนกันก็ตาม หมอน้อยเริ่มสังเกตว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจและครอบครัว เป็นสองปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายในตำบลแม่ปูคา แต่ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า สะท้อนจากผลกระทบจากการทำงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการถูกกดดันให้ออกจากงาน โดยพบว่า ระบบการทำงานเริ่มส่งผลต่อการฆ่าตัวตาย

ความไม่ปกติดำเนินไปพร้อม ๆ กับการฆ่าตัวเป็นปกติในตำบลแม่ปูคา ความไม่ปกติที่ว่าคือ การตายโดยไม่มีจดหมายลาตายระบายความคับข้องใจเหมือนที่เราเคยเห็นกันในกรณีทั่วไปในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับการฆ่าตัวเป็นปกติ ในตำบลแม่ปูคายังคงเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน อายุระหว่าง 22-59 ปี ด้วยวิธีการเดียวกันและต่างกันไปบ้างตามเงื่อนไขของอาชีพ

ส่วนหนึ่งถูกยืนยันจากลายมือหมอน้อยที่จดบันทึกไว้ในสมุดโน้ต ช่วยเราไขปริศนาวิธีการตายที่สัมพันธ์กับอาชีพและภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน

Death Note ปริศนาฆ่าตัวตาย

จุดที่หนึ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้หญิงพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ในทางกลับกันผู้ชายมีสถิติสำเร็จการตายมากกว่าผู้หญิง อาจจะเป็นเพราะวิธีการฆ่าตัวตาย ประกอบกับผู้ชายจะมีลักษณะการตัดสินใจฉับพลันมากกว่า

ด้วยความคิดเพียงวูบหนึ่ง

วิธีการฆ่าตัวตายจึงสัมพันธ์กับอาชีพของคนตำบลแม่ปูคา ซึ่งส่วนใหญ่ทำไร่ทำสวน ดังนั้นวิธีการตายที่สัมพันธ์กันคือ การตายด้วยการกินยาฆ่าแมลง หรือการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ

“ถ้าเราจะทำเรื่องป้องกัน เราต้องมองให้ลึกด้วยว่า อาชีพไหนต้องเฝ้าระวังอะไร อย่างเช่น อาชีพเกษตร ก็ต้องเฝ้าระวังสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร” ถ้าจะพูดเป็นภาพในวันนั้น วันที่เผชิญหน้ากับการพยายามฆ่าตัวตาย อย่างแรกที่ต้องรู้คือ อาวุธอยู่ที่ไหน

มีเคสหนึ่ง พยายามฆ่าตัวตาย ทันทีได้รับข่าวแจ้ง พี่ก็รีบลงพื้นที่ไปพร้อมกับหมอและผู้ใหญ่บ้าน แต่คนที่เข้าไปเจรจากับเคสก็คือพี่ เพราะเราจะใกล้ชิดคนในชุมชนมากกว่า ก็สังเกตว่า เคสใส่ชุดนอน มือหนึ่งถือแก้วน้ำ อีกมือหนึ่งถือกุญแจ พี่สังเกตเห็นว่า มีดยังอยู่ในครัว พี่ก็รีบให้น้องไปเก็บมีดก่อน เคสนั้นจึงยังไม่สำเร็จความตาย เราช่วยได้สำเร็จ หลังจากนั้นพี่ก็ทำสองอย่างคือ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของที่อยู่ใหม่ และให้เขาเปลี่ยนความคิดให้เขาคิดบวกขึ้น

“จะให้เขายอมรับความจริงไม่ใช่เรื่องง่าย” บทสนทนาโต้ตอบที่ทำให้ห้องเงียบไปชั่วขณะ

คนจะฆ่าตัวตาย จะไปบอกว่า “สู้ๆนะ” มันจะเอาอะไรมาสู้

มันจะตายอยู่แล้ว มันไม่สู้หรอก มันต้องมีวิธีพูดอย่างอื่น ให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง

“บ่เป๋นหยัง” น้ำคำเปลี่ยนความเป็นกับความตาย

 “บ่อ-เป็น-หยัง” คำเมืองสำเนียงกลาง ๆ แปลว่า “ไม่เป็นไร” มักจะเป็นประโยคเปลี่ยนอารมณ์คนที่หมอน้อยใช้เป็นท่าไม้ตายอยู่บ่อยครั้ง

มีเคสหนึ่งมาหาพี่ ได้แต่พูดซ้ำ ๆว่า  “น้องไม่ไหว น้องเครียด น้องจะฆ่าตัวตาย” พี่แตะไหล่ จับมือเขาถ่ายทอดความรู้สึก “บ่เป๋นหยัง บ่ได้อยู่คนเดียว ยังมีพี่นะ” (ไม่เป็นไรไม่ได้อยู่คนเดียวยังมีพี่นะ)

ฟังเขาก่อน ฟังแล้วก็สัมผัสเพื่อบอกถึงความจริงใจที่อยากจะช่วยเขา เพราะในช่วงเวลานั้นเขาก็จะฟุ้งซ่าน ต้องช่วยให้เขาอารมณ์เย็นลงให้ได้ก่อน พอมีสติเราก็ชวนเขาคิดแก้ปัญหา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาให้เขานะ อะไรที่มันหนักมากเกินไป แบ่งปัญหาจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ซึ่งก็ใช้ได้ผลดีเลยทีเดียว พี่ก็ออกแบบของพี่ไปเรื่อย ๆ จะใช้สูตรเดียวกันไม่ได้ ต้องออกแบบเคสต่อเคส ไม่มีสูตรตายตัวเลยจริง ๆ

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องนามธรรมมาก ไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ ถ้าไม่มองปัญหาให้ลึกลงไปจริง ๆ

เราเองยังไม่สามารถปฏิบัติได้เลย พลางหยิบแบบสอบถามขึ้นมาชุดหนึ่ง ถามต่อไปว่า

ข้อ 1 ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมวันนี้ คุณรู้สึกหดหู่ เศร้า และรู้สึกสิ้นหวังหรือไม่

ข้อ 2 ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมวันนี้ คุณรู้สึกเบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่

ถ้า “ไม่มี” ทั้งสองข้อ ถือว่า “ปกติ”

ถ้า มีข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่า “เป็นผู้มีความเสี่ยง” พี่ไม่เคยผ่านสักครั้งเลยเชื่อไหม แต่พี่เชื่อว่า ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ และพี่ถามตัวเองทุกวันกับคำถามสองข้อนั้น จนได้คำตอบว่า ฉันต้องจัดการตัวเองให้ได้ก่อนไปช่วยคนอื่น ในวันที่ไม่พร้อมจริง ๆ พี่ไม่ออกไปนะ แต่มันก็ไม่ค่อยมีหรอก เพราะเหมือนกับเราเตรียมพร้อมอยู่ตลอด ที่ไม่พร้อมจริงๆมีอย่างเดียวคือ ไม่สบาย แต่วันนี้พี่สบายดี (หัวเราะ)

“แม่อุ้ยสบายดีก่อ” คำทักทายแรกกับแม่อุ้ยคำปิน หมอน้อยเล่าว่า แม่อุ้ยเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษ จาก 17 คนที่อยู่ใน 3 กลุ่มเปราะบางในชุมชนคือ 1.กลุ่มเครียด แต่สามารถจัดการตัวเองได้ เช่น ป่วยเรื้อรัง 2.กลุ่มเครียดแต่ต้องหาที่พึ่ง ส่วนใหญ่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การว่างงาน หนี้สิน การจัดการรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และ 3.กลุ่มที่คิดอยากฆ่าตัวตาย โดยสถิติการฆ่าตัวตายในตำบลแม่ปูคา ปี 2560-2562 ยังอยู่ในกราฟปานกลาง ปี 2562 มีสถิติฆ่าตัวตาย 1 ราย ปี 2561 จำนวน 2 ราย ปี2563 จำนวน 1 ราย ทั้งหมดอยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุระหว่าง 25-59 ปี

“ย้อนกลับไปตอนที่เกิดเรื่องเมื่อไม่นานมานี้ ยายก็สังเกตว่าหลานมันเครียด เพราะเพิ่งจบใหม่และได้งานทำที่ตัวเองไม่ชอบ หลังกลับมาจากที่ทำงานก็ร้องไห้ และล็อคประตูขังตัวเองไว้ในห้องคนเดียว พยายามจะกินยาฆ่าตัวตาย ยายเลยรีบบอกให้โทรหาพี่จิ๋ม”

 “จะทำอย่างไรดี” พี่รับสายและได้เจอกับแม่อุ้ยคำปิน ก็เอาคำถามสองข้อไปคุยกับน้องที่พยายามฆ่าตัวตาย ก็ไม่ผ่านเลยสักข้อเดียวและพบว่า น้องอยู่ในภาวะซึมเศร้า เสี่ยงและพร้อมจะฆ่าตัวตาย พี่จำได้ว่า จดบันทึกเอาไว้ด้วย

“เครียดเรื่องงานจากคนในครอบครัวจากการเปรียบเทียบเรื่องงาน เรื่องการเรียน อยู่กับยาย,ป้า จบการศึกษาปริญญาตรี การตลาด อยู่ระหว่างการรองาน

มีความคิดฆ่าตัวตายเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา

คัดกรอง 2 Q รพสต. 8 Q ส่งต่อให้โรงพยาบาลสันกำแพง” – บันทึกหมอน้อย

เราช่วยหนึ่งชีวิตได้ หนึ่งชีวิตนั้นจะดูแลคนอีกหลายคน  เคสที่ช่วยไม่ได้ พี่ก็เสียใจ ทำไมเราช่วยเขาไม่ได้ เราต้องจัดการความเครียดของตัวเองด้วย เพราะมันเครียดนะ สุดท้ายคือพี่ต้องมองปัญหาแบบลบ คือปัญหาตัวเองค่อยๆเล็กลง แล้วค่อยมองบวก คือ มองปัญหาคนอื่นใหญ่กว่า เริ่มมีพลังไปช่วยคนอื่นต่อ 

ถ้าพี่เป็นหมอที่วินิจฉัยอาการป่วยไข้ทางสังคม หมอน้อยจะนิยามโรคที่เกิดขึ้นในตำบลพี่ป่วยด้วยโรคอะไร หมอน้อยหยุดคิดก่อนจะนิยามมันว่า คนตำบลพี่ป่วยด้วยโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำทางจิตใจ เพราะมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และคนๆหนึ่งสามารถเกิดโรคนี้ได้กับเขาหลายต่อหลายครั้ง  ย้ำซ้ำด้วยคำเมืองต่อท้ายว่า เกิดแล้วเกิดแหม (เกิดขึ้นซ้ำ ๆ) เพราะสุขภาพจิตมันไม่ได้อยู่ในเส้นตรงตลอดเวลา เมื่อวานลง พรุ่งนี้จะขึ้น และมะรืนอาจจะขึ้นไปอีก มันขึ้น-ลง เหมือนกราฟเส้น

ร่มไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ฝนหยุดตก แต่ทำให้เราสามารถเดินต่อไปได้โดยไม่เปียกฝน

ก็เหมือนกับสภาพจิตใจของคน ถ้ามันเข้มแข็งพอ ต่อให้มีปัญหาประดังประเดเข้ามาเหมือนฝน ถ้าเรามีจิตใจที่เข้มแข็งซึ่งเปรียบเหมือนมีร่ม เราก็จะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้

แล้วถ้าถามต่อว่า “ถ้าเปรียบการฆ่าตัวตายในแม่ปูคาเป็นระยะการป่วยของไข้หวัด แม่ปูคาอยู่ในระยะไหน”

พี่คิดว่า อยู่ในระยะฟักตัว เพราะยังมีเชื้อโรคอยู่ และเริ่มเห็นสัญญาณการแพร่ระบาดไปยังตำบลอื่น ๆ ด้วยพี่ต้องรีบยับยั้งอาการติดเชื้อก่อนจะแพร่ระบาดไปในวงกว้าง

สังคมไทยมันเครียดกันทั้งประเทศ เหมือนเรายิ่งสำรวจก็ยิ่งเจอ ยิ่งเจอยิ่งต้องป้องกัน แต่ขั้นรักษาเรายอมรับว่าเรายังไปไม่ถึง ต้องปรับไปตามบริบทวัฒนธรรมและความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ 

ไวรัสฆ่าตัวตาย คล้ายๆกับอาการป่วยไข้ของไวรัสโคโรน่า ไม่ใช่แค่มันไม่เลือกชนชั้น สัญชาติ และอาชีพ แต่เป็นไปได้ที่จะติดเชื้อซ้ำ หรือบางทีเราอาจหยุดการระบาดไม่ได้ในคราวเดียว