ความเป็นอื่นในเกมฟุตบอล ความตายของจอร์จ ฟลอยด์ - Decode
Reading Time: < 1 minute

เหตุเกิดจากการหยุดพักเกมฟุตบอลระดับชาติ ระหว่างทีมเดน บอสช์และทีมเอ็กเซลซีเออร์ หลังจากมีเสียงล้อเลียนคล้ายเสียงลิงดังมาจากกองเชียร์ฝั่งเดนบอสช์ รวมทั้งร้องเพลงเหยียดเชื้อชาติ “อาหมัด เมนเดส มอเรรา” ผู้เล่นผิวสีทีมเอ็กเซลซีเออร์

เพลงที่ร้องเป็นเพลงเกี่ยวกับ ‘Zwarte Piet’ (ซะวาตเต้พีท) ที่มาจากเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และเทศกาลซินเทอร์คลาส (Sinterklaas) ประเพณีสำคัญของชาวดัตช์ที่จัดขึ้นทุกเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของทุกปี Zwarte Piet หรือ Black Piet เป็นผู้ช่วยของเซนต์นิโคลัส บาทหลวงที่รักเด็กและคอยช่วยเหลือคนจน ในเทศกาลคนที่แต่งตัวเป็น Black Piet จะทาหน้าสีดำ ทาปากสีแดง ใส่วิกผมหยิก แต่งตัวด้วยสีสันฉูดฉาด มีลักษณะท่าทางตลก ร่าเริง แจกขนมให้กับเด็ก ๆ ที่มาร่วมงาน

‘ผู้ช่วยหน้าดำ’ กลายเป็นข้อถกเถียงประจำปีของคนในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงเทศกาลซินเทอร์คลาส เนื่องจากคนบางกลุ่มเห็นว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติและสะท้อนร่องรอยการค้าทาสสมัยล่าอาณานิคมของชาวดัตช์ ในช่วงสัปดาห์เดียวกันกับการแข่งขันฟุตบอล กลุ่มคนที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงประเพณีนี้ต่างพากันประท้วงในงานเทศกาลตามเมืองต่าง ๆ เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของ Black Piet เพื่อให้ประเพณีนี้เป็นประเพณีสำหรับคนทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ กลุ่มคนที่ต้องการคงประเพณีไว้แบบเดิมให้เหตุผลว่า ผู้ช่วยมีหน้าสีดำเพราะปีนลงไปในปล่องไฟเพื่อมอบขนมให้กับเด็ก ๆ ไม่ได้เป็นการเหยียดเชื้อชาติตามที่อีกฝ่ายอ้าง

ระหว่างที่เกมฟุตบอลถูกพักชั่วคราว มีการพูดคุยเจรจากันในทีมเอ็กเซลซีเออร์ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจเล่นเกมต่อจนจบด้วยคะแนนเสมอกัน 3-3

“เราไม่มีพื้นที่ให้การเหยียดเชื้อชาติในฟุตบอล น่าเสียดายที่ปัญหาทางสังคมนี้เกิดขึ้นในฟุตบอล ทั้งที่สิ่งที่เราต้องการคือการให้กีฬาเชื่อมผู้คน”

สมาคมฟุตบอลของประเทศเนเธอร์แลนด์ออกแถลงการณ์ พร้อมระบุว่าจะสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสามารถลงโทษกองเชียร์ด้วยการห้ามไม่ให้เข้ามาเชียร์ในสนามเป็นเวลาห้าปีรวมทั้งปรับเป็นเงิน 450 ยูโร หรือประมาณ 15,000 บาท

ในมุมของคนนอก หากเรามองลักษณะสังคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ พวกเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกและค่อนข้างอดทนต่อความหลากหลายทางความคิดของคนอื่น ๆ ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ข้อบวกในสังคมดัตช์สองข้อนี้ทำให้การพูดถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ค่อนข้างท้าทาย เพราะในเนเธอร์แลนด์มีแนวคิดที่เชื่อว่า ความรู้สึกขุ่นเคือง (offended) จากการถูกล้อหรือจากมุก(ที่ไม่)ตลก(สำหรับบางคน) เป็น ‘ตัวเลือก’ ที่แต่ละคนเลือกได้ว่าจะรู้สึกโกรธหรือไม่ เพราะผู้พูดแค่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ บางคนถกเถียงว่าแนวคิดเรื่องการเหยียดเชื้อชาติเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าเอามาคุยกันในสังคมดัตช์ที่มีลักษณะแตกต่างออกไป

แต่ถ้าใครมาเที่ยวประเทศเนเธอร์แลนด์จะพบว่าในเมืองใหญ่ ๆ มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ โดยเฉพาะคนจากประเทศมอรอกโก ตุรกี และซูรินาม โดยเฉพาะคนกลุ่มหลังนั้นน่าสนใจ เนื่องจากเคยเป็นประเทศอาณานิคมของดัตช์ พวกเขาพูดภาษาดัตช์ได้จนถูกมองว่าเป็นชาติพันธุ์ที่สามารถปรับตัวและอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้โดยไม่มีปัญหาเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม คนจากประเทศซูรินามหลายคนรวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่เกิดในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นดัตช์เต็มตัว เพราะคนดัตช์รอบตัวยังคงปฏิบัติต่อเขาเหมือน ‘เป็นอื่น’ เนื่องจากสีผิวและรูปลักษณ์ภายนอก

ความเป็นอื่นยังคงฝั่งรากลึกไม่เฉพาะสังคมดัตช์ แต่ปะทุ ลุกลาม อีกครั้งในสหรัฐจากความตายของชายผิวสี

“ผมหายใจไม่ออก” ประโยคสุดท้ายก่อนตายของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายแอฟริกันอเมริกันผิวสีที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับธนบัตรปลอม โดยปรากฏภาพในคลิปวิดีโอวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่เขากำลังถูก เดเร็ก ชอวิน เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินิโซตาใช้กำลังเข้าจับกุม จนกระทั่ง จอร์จ ฟลอยด์เสียชีวิตในเวลาต่อมา จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่ขยายวงกว้างทั่วประเทศ ทำให้หลายเมืองของสหรัฐต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อความคุมฝูงชน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดตรงจุดไหน  

ในเมื่อการเผชิญหน้ากับป้ายผ้าประท้วง “I can’t breathe” (ผมหายใจไม่ออก) คำพูดของ จอร์จ ฟลอยด์ ยืนยันถึงการกระทำการเกินกว่าเหตุเนื่องจากอคติทางสีผิว ได้ลุกลามขยายวงกว้างไปยังหลายประเทศในโลกตะวันตก

ที่มา:
nos.nl
edition.cnn.com
nltimes.nl
humanityinaction.org