ปูนิ่ม น้ำปลาหวาน คลื่นลูกที่สองของท้องถิ่นนิยม - Decode
Reading Time: 2 minutes

วันที่เมืองหยุดทำงาน ท้องถิ่นจึงชัดเจน

เราอาจรู้สึกแปลกใจเมื่อในเวลานี้หน้าฟีดเฟซบุ๊กเริ่มเห็นคนจำนวนไม่น้อยที่โพสต์ขายอาหาร – สินค้าซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ของท้องถิ่น’

เราพบสาคูแท้จากพัทลุง
ปลาหวานส่งตรงจากชาวเล หาดราไวย์
ปลาแห้งจากสตูล

ไม่ใช่ท้องถิ่นเพิ่งเริ่มตั้งตัวหากแต่ท้องถิ่นนั้นคงอยู่และทำหน้าที่ของมันเสมอมา เนิ่นนาน …  แม้ในวันที่ถูกระบบทุนนิยมกระแทกกระทั่นจนสาหัสก็ตาม

แต่แสงไฟย่อมสว่างกว่าแสงตะเกียงและเสียงเพรียกของป่าเขาย่อมเงียบงันกว่าเสียงเครื่องยนต์ นั่นอาจเป็นเหตุผลให้ท้องถิ่นมักถูกมองเมินในยามที่ความศิวิไลและความเป็นศูนย์กลางของความเจริญยังคงทำหน้าที่

จนเมื่อวันที่ พ.ร.ก ฉุกเฉินถูกประกาศ การล็อกดาวน์ทำให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็นอัมพาต!

คนต้องกักตัวอยู่บ้าน ห้างร้านใหญ่ๆ ไปจนถึงสถานบันเทิงก็ปิด เมื่อเมืองหยุดทำหน้าที่ท้องถิ่นก็ชัดเจนขึ้น การขวนขวายเพื่อหาที่ที่ต้องซื้อกินกลายเป็นเงื่อนไขอีกข้อที่ทำให้กระบวนการขายของท้องถิ่นงอกงามขึ้นมาได้

“พอถึงจุดที่เรารู้สึกไม่มั่นคง เราถึงคอยแสวงหา เราก็จะเห็นกันมากขึ้น สัญชาตญาณการเอาตัวรอดมันก็สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เปลี่ยนวิกฤตกลายเป็นโอกาส”
– กิ่งกร ณรินทร ณ อยุทธา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี –

พี่กิ่งกร ณรินทร ณ อยุทธา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ผู้ทำงานด้านอาหารมานับสิบปีอธิบายกับเราว่า นัยะของการซื้อของท้องถิ่นโดยตรงไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องการซื้อขายแต่มันคือระบบที่รักษาทรัพยากรอาหาร รักษาความรู้ทางอาหารที่มีคุณค่าและรักษาผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นที่ตั้งใจผลิตของดี แล้วเป็นทางเลือกที่สำคัญของผู้บริโภค

…และนั่นนำมาสู่สิ่งที่เราเรียกว่าปรากฎการณ์ Localization เพียงแต่วันนี้ท้องถิ่นถูกย่อขนาด – ตัดเส้นทางให้สั้นลง จนเรามาเจอกันในแบบฉบับ ‘ท้องถิ่นออนไลน์’

การขยายแว่นอาหารของคนเมืองโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นทางรอดให้กับชุมชนอีกหลายที่ คนอีกหลายคน รวมถึงพ่อเรืองโรจน์ รักษา คนบ้านเกาะเคี่ยม จังหวัดตรัง ที่หนีพิษโควิดจากเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ตกลับมาพักใจที่บ้านเกิดและการเกิดขึ้นของ ‘ท้องถิ่นออนไลน์’ ในยุคโควิด กลับทำให้พ่อเรืองโรจน์รอดตาย!

“ณ ตอนที่กลับมาบ้าน เราคือคนตกงานที่ไม่มีรายได้แม้แต่บาทเดียว แต่ก็กลับมาทั้งที่มันยังคิดอะไรไม่ออก”
-เรืองโรจน์ รักษา คนบ้านเกาะเคี่ยม –

‘ทรัพยากรเป็นโอกาส ต้นทุนที่มีอยู่ในท้องถิ่น’

เป็นอันรู้กันว่าถ้าเอ่ยถึงบ้านเกาะเคี่ยม แม่ค้าขายของทะเลไปจนถึงพ่อค้าแผงปลาสดในตลาดเทศบาลกันตัง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ของทะเลจากประมงเกาะเคี่ยมนั้น ‘สด’ ‘สะอาด’ และ ‘เชื่อมั่นได้’ เพราะการทำประมงแบบวิถีพื้นบ้านดั้งเดิมที่ทำกันมาตั้งแต่ครั้งที่มนุษย์รู้จักหากินและเอาตัวรอด นั่นเป็นเหตุผลชั้นดีที่ทำให้คนกันตัง และ คนอำเภอเมืองตรัง ไว้วางใจกับ ‘อาหารทะเลจากบ้านเกาะเคี่ยม’

“บ้านเกาะเคี่ยมเป็นหมู่บ้านปากอ่าวของแม่น้ำตรังที่ไหลลงทะเลอันดามัน ทำให้จะมีของทะเลที่สามารถหมุนเวียนหาได้อยู่ตลอด คนเกาะคี่ยมจะได้เปรียบในเรื่องนี้”

123 กิโลเมตร … น้ำจากเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราชทอดตัวยาวเลื้อยผ่านตัวอำเภอเมืองตรังและอีก 4 อำเภอในจังหวัดตรัง ก่อนไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่นี่ ปากอ่าวกันตังบ้านเกาะเคี่ยม

การตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ของภูมิศาสตร์ นำมาสู่การเป็นผู้นำใน ‘ยุทธศาสตร์ทางการอาหาร’ และของทะเลชั้นดีจนกลายเป็นของขึ้นชื่อเรื่องการส่งออก ก็ถูกผลิตจากที่นี่ ‘ปูนิ่มเกาะเคี่ยม’

‘ทำไมต้องปูนิ่มเกาะเคี่ยม?’

ความสงสัยเกิดขึ้นทันทีหลังจากเห็นวีดีโอชมฟาร์ม ปูนิ่ม บนเกาะเคี่ยม ของเพื่อนเก่าก่อนครั้งที่เพิ่งเริ่มเข้าทำงาน สืบสาวเรื่องราวจนในที่สุดถึงรู้ว่า พ่อเรืองโรจน์ รักษา พ่อของเพื่อนเราคนนี้แหละคือผู้บุกเบิกฟาร์มปูนิ่มบนเกาะเคี่ยมครั้งแรก เมื่อ 20 ปีก่อน!

“เมื่อก่อนยังไม่มีใครรู้จักปูนิ่มด้วยซ้ำมีแต่ชาวทะเลฝั่งอันดามันที่เริ่มเลี้ยงปูนิ่ม และส่งขายให้ญี่ปุ่น ไต้หวันโดยส่งผ่านมาเลเซีย ช่วงนั้นประจวบเหมาะกับที่พ่อกลับจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่บ้าน พอเห็นมีลู่ทางจะเลี้ยงปูนิ่มส่งขายมาเลเซียเลยรวมกลุ่มชาวบ้านกันขึ้นมาเอง ชื่อ ฟาร์ม ปูนิ่มเกาะเคี่ยม”

การกินปูนิ่มในช่วงแรกนั้นแพร่หลายมาจากชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่เริ่มรู้จักการกินปูนิ่ม และเริ่มมีพ่อค้าจากมาเลเซียมาเปิดห้องเย็นแถบอันดามันอย่างในจังหวัดระยอง ภูเก็ต สตูล รวมถึงจังหวัดตรัง

ปูนิ่มในยุคแรกนั้นพ่อเรืองโรจน์บอกว่า เลี้ยงมาเพื่อการส่งออกเป็นหลักเลยทีเดียวและการก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านหลายสิบคนเพื่อเลี้ยงปูนิ่มส่งออก กลายเป็นการพลิกชีวิตคนบนเกาะเคี่ยมให้มีลู่ทางทำมาหากินมากกว่าแค่การทำประมงไปในแต่ละวัน

พ่อเรืองโรจน์เปลี่ยน ‘ทรัพยากรกลายเป็นโอกาสโดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น’

ไม่นานหลังจากนั้น เกาะเคี่ยมก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ผลิตปูนิ่มส่งออก นับ 5,000 กิโลกรัมต่อเดือน เพราะการได้ตั้งอยู่บนจุดยุทธศสาตร์ของทรัพยากรทางอาหาร ทำให้สามารถหาปูดำซึ่งเป็นลูกปูที่จะนำมาเพาะเลี้ยงให้ลอกคราบจนกลายเป็นปูนิ่มได้ในจำนวนที่ไม่น้อยเลย

“เราส่งออกมาเลเซียอยู่ที่ 135 – 160 บาท/กิโลกรัม มีส่วนต่างของกำไรอยู่แค่ 50-60 บาท ก็สามารถเลี้ยงในปริมาณที่มากได้ พ่อเลี้ยงอยู่ที่ 5 ตัน ตอนนั้นส่งออกไม่อั้น เขารับไม่จำกัดจำนวนจำกัด ยิ่งปริมาณมากยิ่งได้ราคาดี ผนวกกับสภาพน้ำในทะเล ดินฟ้าอากาศมันก็ยังเอื้อให้สามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้”

แต่แล้วความฝันของคนเกาะเคี่ยมก็ดับวูบ! การแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2545 ไม่ใช่แค่วิกฤตด้านสาธารณสุขแต่มันเป็นวิกฤตปากท้องของพี่น้องเกาะเคี่ยม

ฝันร้ายของพวกเขาเริ่มจากตรงนี้ …

ปูนิ่มกว่า 10 ตัน ค้างสต็อก! พ่อค้ามาเลเซียไม่รับซื้อแม้แต่กิโลกรัมเดียว

ความเสียหายที่เกิดกับกลุ่มชาวบ้านเพาะเลี้ยงปูนิ่มกว่า 1.5 ล้านบาท และความรับผิดชอบทั้งหมดนี้ ตกอยู่ที่หัวหน้ากลุ่มอย่างพ่อเรืองโรจน์เพียงคนเดียว

“ตอนนั้นพ่อวิ่งหาห้องเย็นทั่วจังหวัดตรัง หาคนรู้จักที่พอจะให้เราฝากปูนิ่มไว้ได้ ตอนนั้นมันมาถึงจุดเปลี่ยนที่พ่อมามองว่า เราจะไม่สามารถเลี้ยงจำนวนเยอะๆ แบบนี้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะถ้าเกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้นอีก เราจะเอาไปไหน? เลยคิดหาทางระบายปูนิ่มที่ค้างสต็อกอยู่นี้ออกไปก่อน พ่อก็มาพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในเมื่อร้านอาหารในเมืองตรังไม่มีใครกินเป็นหรือเอาไปทำอาหารได้ งั้นพ่อทำขายเอง”

หลังจากนั้นเพียง 3 เดือนร้านอาหาร ฟาร์ม ปูนิ่มเกาะเคี่ยม ที่เปิดให้คนเข้ามาดูกระชังเลี้ยงปูแล้วเลือกปูเพื่อมาทำกับข้าวขึ้นโต๊ะก็เฟื่องฟูขึ้น พร้อมๆ กับที่ชื่อ พ่อเรืองโรจน์ ในนามกุ๊กชื่อดังของเมืองตรังก็กลายเป็นที่รู้จัก

เวลาเกือบ 20 ปี … ร้านอาหารซึ่งเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองของเมืองตรังปิดตัวไปนานแล้ว เหตุผลส่วนตัวทำให้พ่อเรืองโรจน์ต้องปิดร้านอาหาร แล้วจากนั้นชีวิตก็ถูกซัดให้ห่างบ้านไปหลายร้อยกิโลเมตร

แต่แล้วการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ก็เหวี่ยงพ่อเรืองโรจน์ให้กลับมายังบ้านเกิดแห่งนี้อีกครั้ง.

“สถานการณ์โควิดในวันนี้ มันเหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในช่วงไข้หวัดซาร์สเมื่อ 18 ปีที่แล้วเลยล่ะ”

ประโยคเดียวที่พ่อตอบทันทีหลังคำถามที่ว่า ‘เกาะเคี่ยมในวันที่โควิดระบาดหนักเช่นนี้ เป็นอย่างไร?’ แต่อย่าลืมว่าไข้หวัดซาร์สนั้นระบาดเพียงแค่ 3 เดือนก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ในขณะที่โควิด – 19 เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ อาจจะ 3 เดือน 6 เดือน หรืออาจจะถึง 1 ปีด้วยซ้ำ

วันนี้พ่อเรืองโรจน์หนีจากจังหวัดที่เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สถานที่ซึ่งทุกอณูผืนดินถูกตีค่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลอย่างภูเก็ต กลับมายังพื้นที่เกาะเล็กๆ ณ ปากอ่าวกันตัง

แม้ยุคสมัยจะผ่านไป ผู้คนเดินทางเข้ามาหรือเดินทางจากไป แต่ความเป็นจ้าวยุทธศาสตร์ทางอาหารของเกาะเคี่ยมก็ดูไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย บ้านเกาะเคี่ยมยังคงเป็นพื้นที่ผลิตอาหารชั้นดีของคนทั้งเมืองตรัง และนั่นเป็นโอกาสครั้งที่ 2 ในชีวิตของพ่อเรืองโรจน์

“ระหว่างกักตัวที่บ้านก็มีเพื่อนทักมาว่า ทำปูให้เราหน่อยสักกล่อง 2 กล่องสิ อยากกินปูนิ่มมานานแล้ว กินร้านอื่นก็ไม่อร่อยเท่าต้นตำรับ พ่อเลย เอาวะ! ลองเปิดในเฟสเป็นปูนิ่มเดลิเวอรี่ ใครสนใจสั่งปูนิ่มดั้งเดิมก็สั่งมา หลังจบการกักตัวพ่อเปิดสั่ง ก็ได้ผลการตอบรับในเป้าที่เราตั้งไว้”

เช้าวันนี้บนเกาะเคี่ยม ชีวิตของพ่อเรืองโรจน์เริ่มต้นพร้อมการทำงาน … พ่อต้องออกไปซื้อวัตถุดิบสำหรับทำอาหารเพื่อส่งให้ลูกค้าตั้งแต่เช้า

ปูนิ่ม ถูกซื้อจากฟาร์มของเหล่ารุ่นน้องที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่บ้าน

ปลากะพง ปลาเก๋า รวมถึงกุ้งที่จะหาได้ในช่วงน้ำเป็น ก็ถูกซื้อจากบ้านของชาวประมงในชุมชน

ปูนิ่ม ปูดำ ปูไข่เยิ้ม ปลากะพง ปลาเก๋า วัตถุดิบ 5 อย่างนี้ พ่อเรืองโรจน์จะคัดสรรมันมาจากในชุมชนเท่านั้น จะไม่มีการซื้อวัตุดิบใดจากตลาดสดเด็ดขาด และมันสามารถทำอาหารได้นับร้อยเมนู

“ชีวิตพ่อไปอยู่ไกล แต่วันนี้เรากลับมาใช้ทรัพยากรในบ้านเรา อุดหนุนชุมชนในบ้านเรานั่นคือจุดหลักเลยเพราะลูกค้ามั่นใจในชื่อเสียงด้านการทำอาหารของร้านปูนิ่มมาก่อน บวกกับวัตถุดิบที่เป็นของเกาะเคี่ยมแท้ๆ ลูกค้าเขาจะมั่นใจว่าเขาจะได้ของดี ของสดได้กินฝีมือกุ๊กคนเก่าที่เขาเคยกิน”

ราวสี่โมงเช้างานในครัวก็เริ่มขึ้น.

ลูกค้าของปูนิ่มเดลิเวอรี่กระจายตัวอยู่ในอำเภอกันตัง และ อำเภอเมืองตรัง ซึ่งใกล้พอที่จะส่งอาหารปรุงสำเร็จพร้อมทานให้ถึงมือลูกค้าได้

กระบวนการไม่ต้องมีหน้าร้านแต่เสิร์ฟถึงหน้าบ้าน เปลี่ยนรายได้คนตกงานจากศูนย์เป็นวันละ 500 – 600 บาท นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนไป

“เพราะถ้าเขาไม่สั่งเราก็ทำอะไรไม่ได้เลยในช่วงนี้ อยู่บ้านเฉยๆ เลย”

พ่อเรืองโรจน์บอกว่ามันเป็นทางรอดเล็กๆ ของคนท้องถิ่น เมื่อเราสามารถผลิตอาหารและส่งถึงมือคนกินได้ ขณะที่คนกินก็พยายามที่จะแสวงหาแหล่งผลิตอาหารที่ดีอย่างท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น มันคือการสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

พี่กิ่งกรบอกว่า การสร้างระบบการกระจายอาหารแบบนี้ กลายเป็นรูปแบบการกระจายอาหารทางเลือกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งไม่พึ่งระบบการกระจายอาหารหลักแบบเดิม (Main Stream) ที่ต้องผ่านเส้นทางที่ยาวและส่งต่อผ่านหลายมือ จนกว่าจะถึงมือของคนปลายทางก็ไม่สามารถจะตรวจสอบไปหาต้นทางได้อีกแล้ว แต่ระบบการกระจายอาหารแบบนี้มันคือความพยายามที่จะเจอกันมากขึ้น มีความพยายามจะหากันมากขึ้น

“เมื่อหมดโควิดไปแล้ว ถ้าเรายังรักษาปฎิสัมพันธ์กับคนที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้ขายรายเล็ก เส้นทางของมันถูกตัดให้สั้นลงไปสู่หลายๆ มือในห่วงโซ่อาหารมากขึ้น มันทำให้ระบบอาหารสมดุลและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้คนกินนี่จะเป็นภาวะ New Normal”

ภาวะปกติใหม่ที่อุบัติขึ้นอาจกลายเป็นความรุ่งเรืองของอาหารท้องถิ่น แบรนด์ท้องถิ่นและทางรอดของชุมชน นั่นรวมถึงพ่อเรืองโรจน์ด้วยแต่วิกฤตครั้งนี้ก็ยากที่จะคาดเดาว่ามันจะจบลงอย่างไร? และคำว่าภาวะปกติใหม่ที่พูดกันก็กว้างขวางมากเกินกว่าจะไว้ใจได้เช่นกัน สำหรับพ่อเรืองโรจน์จึงไม่อาจตอบได้ว่ามันจะเป็นโอกาสในระยะยาวได้หรือไม่

“ยังมองวิกฤตครั้งนี้ไม่ออกต้องดูว่าพ้นช่วงเขาปิดบ้านปิดเมืองแล้ว เราสามารถมีลูกค้าที่สั่งมาเหมือนตอนนี้ได้มั๊ย? อาจจะเป็นโอกาสของเราก็ได้ แต่เราก็เหนื่อยแล้ว แก่แล้ว คงทำใหญ่ๆ ไม่ได้ ถ้ามันไปได้จริงๆ ก็คงแค่ตั้งป้ายที่บ้าน บำรุงปรับปรุงร้านเดิมที่สามารถนั่งในร้านได้แค่ไม่กี่โต๊ะ เว้นระยะห่างของโต๊ะ พร้อมการส่งเดลิเวอรี่”

พ่อเรืองโรจน์ตอบ.