ชีวิตใต้ปกครองของอัลกอริทึม - Decode
Reading Time: < 1 minute

จะเผด็จการหรือประชาธิปไตย แฟร์ไหมถ้าชีวิตคุณถูกกำหนดโดยอัลกอริทึม สังเกตง่ายๆจากเว็บไซต์ของเฟซบุ๊ก หากเราคลิก ‘การตั้งค่า’ จากนั้นคลิก ‘ข้อมูล Facebook ของคุณ’ ที่คอลัมน์ด้านซ้าย เราจะเจอ “ดาวน์โหลดข้อมูลของคุณ” ทางขวามือที่เราสามารถคลิกดูและดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดของเราที่เฟซบุ๊กรวบรวมไว้ หากเราลองไล่ดูข้อมูลต่าง ๆ ในไฟล์ที่ดาวน์โหลดมา บางคนอาจจะแปลกใจว่าเฟซบุ๊กรู้จักเราดีขนาดนี้ได้ยังไงกัน!

แต่อีกหลายคนอาจจะแปลกใจกว่า เพราะบางข้อมูลที่เฟซบุ๊กเก็บไว้เกี่ยวกับเรา แทบไม่เกี่ยวข้องกับตัวตนในโลกออฟไลน์ของเราเลยด้วยซ้ำ!

ข้อมูลเหล่านี้มาจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำบนเฟซบุ๊กไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลวันเดือนปีเกิด กิจกรรมยามว่าง จุดยืนทางการเมือง ศาสนา เพื่อนที่เราแอด คนที่เรา ‘unfriend’ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมเป็น ‘Digital version’ ของเราที่อัลกอริทึมของ Facebook จดจำและนำพาข้อมูลข่าวสารรวมไปถึงโฆษณาที่มันคิดว่าตรงกับความสนใจของเรามาให้ถึงนิวส์ฟีด ไม่เพียงแค่นั้น

ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ถือเป็น ‘open data’ ที่ทุกฝ่ายทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาลใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการรวบรวมข้อมูลของประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนเองต้องการ

ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเป็นหัวใจสำคัญในคดีประวัติศาสตร์ของบริษัท Cambridge Analytica ที่ใช้ข้อมูลรั่วไหลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก 87 ล้านคนมาใช้ประโยชน์ในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2559 และใช้สนับสุนแคมเปญของนักการเมืองฝ่าย Leave.eu ที่สนับสนุน Brexit อัลกอริทึมสามารถระบุลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละคนไปจนถึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าคนไหนอยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนใจและเปลี่ยนจุดยืนจากพรรคการเมืองหนึ่งไปยังอีกพรรคการเมืองได้ โดยการทำนายทั้งหมดนี้มาจากการเก็บข้อมูลการกดไลก์ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการตั้งคำถามในโลกประชาธิปไตย (ที่ยังไม่มีคำตอบมาจนถึงทุกวันนี้) ว่า ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรมจะยังเป็นไปได้อยู่ไหมในยุคที่นักการเมืองร่วมมือกันกับบริษัทเทคโนโลยี กำหนดพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน

จากสังคมประชาธิปไตยสู่โลกเผด็จการ อนาคตของประชาชนจะเป็นอย่างไร ถ้าทุกมิติในชีวิตของเราตกอยู่ภายใต้ ‘การปกครองด้วยอัลกอริทึม’ (algorithmic governance) ยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ ของประชาชนถูกเก็บรวบรวม (หรือถูกสอดแนม) โดยรัฐบาลเพื่อสร้างอัลกอริทึมที่ ‘ตัดสิน’ และ ‘กำหนด’ ชะตากรรมของเรา

“พวกเรากำลังถูกจองจำโดยพฤติกรรมในอดีตที่จดจำโดยโปรแกรม อดีตของเราถูกนำมาใช้กำหนดอนาคตโดยการตัดสินใจของโปรแกรมเหล่านี้”

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองชาวอเมริกันพูดถึงการปกครองโดยอัลกอริทึมที่จริง ๆ กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน รัฐบาลจีนเปิดรับและพัฒนาเทคโนโลยีทั้งระบบการจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์เพื่อที่จะระบุตัวตนของประชาชนกว่า 1.4 พันล้านคน Big data เกี่ยวกับพฤติกรรมของประชาชนได้มาจากกล้องวงจนปิดกว่า 200 ล้านตัวทั่วประเทศ

ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้ในระบบ ‘Social Credit’ นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ตัด ‘คะแนน’ ของประชาชนแต่ละคนหากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยคะแนนส่งผลต่อมิติต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตตั้งแต่การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไปจนถึงการขอกู้ยืมเงิน ไม่เพียงแค่กล้องวงจรปิด สมาร์ฟโฟนที่เราใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลและบริษัทเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งานและตัวตนของเราได้ ล่าสุดนโยบายใหม่ของจีนกำหนดให้เจ้าของซิมการ์ดใหม่ทุกคนต้องลงทะเบียนด้วยระบบจดจำใบหน้า โดยอ้างเหตุผลของการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนในโลกออนไลน์

ประชาชนไม่ว่าจะในระบบการปกครองแบบใดกำลังเผชิญหน้ากับการถูกกำหนดพฤติกรรมทั้งจากภาครัฐ นักการเมือง และภาคธุรกิจ  ในยุคของอัลกอริทึมและปัญญาประดิษฐ์ที่มี ‘ข้อมูล’ เป็นวัตถุดิบสำคัญ เราในฐานะผู้ให้ข้อมูลทั้งเต็มใจ และไม่เต็มใจยังมีโอกาสทวงคืนอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้อยู่ไหม ?

อ้างอิง:
https://doi.org
http://www.digitaljournal.com
https://www.abc.net.au
https://www.theguardian.com
https://www.theguardian.com
https://www.theguardian.com
Thorson, Kjerstin & Cotter, Kelley & Medeiros, Mel & Pak, Chankyung. (2019). Algorithmic inference, political interest, and exposure to news and politics on Facebook. Information, Communication & Society. 1-18. 10.1080/1369118X.2019.1642934.