จุดจบที่เจ็บปวด ชีวิตแรงงานใต้อำนาจทุน - Decode
Reading Time: 3 minutes

“จนวันสุดท้าย ผมยังทำงานปกติ” รีดเสื้อผ้า  ใส่ชุดมาทำงานในตอนเช้า แต่ภาพของโรงงานในวันนั้นต่างไปจากเดิม พนักงานหลายร้อยคนยืนมุงนอกรั้วด้วยความมึน งง เรากลายเป็นคนนอกโรงงาน เราเข้าไปทำงานไม่ได้แล้ว บริษัทปิดตัวลง ทุกอย่างเกิดขึ้น และ ดำเนินไปโดยไม่ทันได้ตั้งตัว รู้สึกตัวอีกที…“ผมกลายเป็นคนตกงาน”  ทำงานมานาน  กรณีเลิกจ้างกะทันหัน​ยังไม่เคยเจอกับตัวเอง เจอจริง ๆ พูดได้เลยว่า  ช็อก!!!

-ขจรศักดิ์ พลสงคราม (หมี) อดีตหนุ่มโรงงานวัย 42 ปี –

ขายแรง – ขายเวลา – ในราคาไม่คุ้มทุน

7 โมงเช้า วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562 แรงงาน 997 ชีวิตตกงาน ไม่มีใครรู้ว่าโรงงานจะปิด นั่นจึงทำให้ไม่มีใคร ได้เตรียมตัว เพียงข้ามคืนพวกเขาตื่นมาพร้อมกับฝันร้าย ส่วนรายรับก้อนสุดท้าย เป็นค่าชดเชยที่บริษัทจ่ายมาก-น้อย ตามอายุงานของแต่ละคน  

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเป็นข่าวใหญ่ในโซเชียล ตัวแทนบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร (โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำด้วยยาง) ออกมาให้สัมภาษณ์ชี้แจงถึง​เหตุผลที่ต้องปิดโรงงาน เพราะสถานการณ์พิษเศรษฐกิจรุมเร้า พร้อมยื่นเจตจำนงจะรับผิดชอบ ด้วยการจ่ายค่าชดเชยจากการไม่บอกล่วงหน้า ให้พนักงาน ตามกฎหมาย ม.118 ยอดรวม 114 ล้านบาท

เราจิตนาการถึงความรู้สึกของพนักงานทั้ง 977​ คน ไม่ออก แม้พอเดาได้ว่าไม่น่ารื่นรมย์นักที่จะย้อนถามถึงความหลังในวินาทีที่นายจ้างบอกลา​ แต่เพราะรู้ดีว่าจำเป็นต้องค้นหาความรู้สึกเบื้องลึกเหล่านั้นจากผู้ที่เผชิญเหตุการณ์โดยตรง เพื่อบันทึกไว้ว่า จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงวันนี้ องค์ประกอบและชะตากรรมของผู้ใช้แรงงานแทบไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม​ มีเพียงกาลเวลาที่เดินหน้า แต่ความเป็นธรรมสำหรับมดงานเหล่านี้ยังคงก่อตัวอย่างเชื่องช้า ราวกับว่า ทุนนั้นใหญ่โตเกินกว่าจะเห็นชีวิตของมนุษย์ใต้เงาทุน

“พี่ได้มาหลักแสน แต่มันไม่คุ้มกับต้นทุนอันแสนแพงที่เคยขายเวลา ขายแรง ฝากชีวิตและครอบครัวไว้กับนายจ้างเจ้าของโรงงาน” 

ประโยคไม่สั้นไม่ยาวแต่เคล้าอารมณ์อันเจ็บปวด สื่อความหมายถึงเดิมพันชีวิตที่แรงงานคนหนึ่งพ่ายแพ้ให้กับนายจ้าง พี่หมีเล่าว่า สมัยที่ทำงานแรก ๆ คิดเสมอว่า โรงงาน คือ แหล่งเงินที่ใช้หาเลี้ยงครอบครัว  หลายปีต่อมาเขามองว่า โรงงาน คือ โรงเรียน มีความรู้มีทักษะในระบบผลิต “มันเป็นลมหายใจของผู้ชายที่ชื่อ หมี”  

เขาพบรักกับแฟนสาวที่โรงงานนี้ เริ่มต้นสร้างครอบครัวจากเงินเดือนของบริษัทนี้ แต่งงาน มีลูก หลังเข้ามาทำงานที่นี่เช้าเดินทางมาทำงานด้วยกันกับภรรยา เย็นกลับบ้านพร้อมกันเพื่อไปรับลูกสาวที่ฝากเพื่อนบ้านดูแล  ชีวิตมันถูกวางไว้แล้ว แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ต้นทุนเพิ่ม รายรับน้อยลง ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปเยอะหลังตกงานแบบแพ็กคู่ พี่หมีตัดสินใจหันหลังให้นายทุนในโรงงาน หาโอกาสนอกสายพานเพื่อประกอบธุรกิจเล็ก ๆ

ระหว่างพาชีวิตเดินสู่โลกใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก…ภรรยาจำต้องลดบทบาทของผู้เป็นแม่  หันกลับสู่ระบบโรงงานอีกครั้ง ทว่าการกลับไปรอบนี้ เธอคงไม่มีทางเลือกมานัก การเริ่มต้นงานที่ใหม่ในวัยกลางคนจึงดึงเธอกลับไปสู่วัฏจักรการเข้างานตามกะ สัปดาห์ไหนกะกลางคืนเวียนมาถึง การพบหน้าพูดคุยกับลูกสาวตัวน้อย…ก็ทำได้เพียงวันละไม่กี่นาที “แม่ไปไหน? หนูคิดถึงแม่?” จึงเป็นคำถามซ้ำ ๆ ที่พ่อต้องตอบในทุกเช้า

ถ้าเลือกได้ผมไม่อยากให้เกิดการเลิกจ้าง แต่นาทีนี้! ต้องยอมรับความจริงว่าอาชีพหนุ่มโรงงานหายไปจากผมแล้ว มันชัดแล้วว่า อาชีพพนักงานโรงงานมันไม่มั่นคง  หลายปีที่เราอยู่ในโรงงาน ผมว่า เราเป็นแขน เป็นขาให้เจ้าของโรงงาน แต่วันหนึ่งเขาก็ตัดทิ้งทั้งแขนและขา เขาไม่ตายและจากนั้นก็จะฟื้นคืนชีพใหม่ด้วยการซื้อแขนขาจากที่อื่นๆ

บางคนเป็นหนุ่ม-สาวโรงงานมาทั้งชีวิต ความรู้ ความชำนาญอยู่ที่โรงงาน ดังนั้นเมื่อออกมาเราต้องตั้งหลักใหม่ ปรับวิธีคิดใหม่ ต้องเรียนรู้ใหม่ ในวัยหลักสี่มันทำให้ผมลังเลที่จะเริ่มต้น ไม่กี่วันหลังกลายเป็นคนตกงาน ผมกลับบ้านเกิดในภาคอีสาน กลับสู่พื้นที่ที่คุ้นเคยและปลอดภัย นั่งคิดทบทวนอยู่หลายวัน หันมองลูก ๆ ทั้ง 4 คนในวัยกำลังเรียน และหวนคิดว่า ผมต้องลุกขึ้นสู้อีกสักหน อย่างน้อยก็มีเงินหลักแสนก้อนสุดท้ายจากค่าชดเชยที่ถูกเลิกจ้าง

ในวันที่เราได้มีโอกาสนั่งคุยกับพี่หมี อดีตหนุ่มโรงงานกำลังตั้งใจร่ำเรียนวิชาตัดผมวินเทจ ผู้ชายเรียบร้อย แววตามุ่งมั่น สวมเสื้อโปโล กางเกงยีนส์ทรงกระบอกใหญ่ รองเท้าผ้าใบที่ดูสะอาดสะอ้าน ในวันนั้นเขายังยังคงจับปัตตาเลี่ยนไม่ค่อยถนัดมือ ชีวิตช่างตัดผมป้ายแดงกำลังเริ่มต้น พร้อมกับความฝันว่าสักวัน เขาจะมีฝีมือและประสบการณ์มากพอที่จะเปิดร้านเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง นี่อาจเป็นอาชีพสุดท้ายหรือปลายทางยังมีทางแยกที่หลากหลายให้พี่หมีต้องตัดสินใจต่อ (บนความไม่แน่นอนของชีวิต)

ถึงต้องขึ้นศาลจนหมดตัวก็ยอม

กว่า 100 กิโลเมตร จากนครปฐม-ชลบุรี ภาพแรงงานในยุคนี้ไม่ต่างกัน หนักหน่อยตรงที่ 50 ชีวิตในเพิงพักเล็ก ๆ ริมถนนตรงนี้  ไม่มีใครได้รับเงินเยียวยา ไม่ได้เงินเดือนเดือนสุดท้าย แถม 2-3 เดือนก่อนหน้า ทุกคนยังรับเงินเดือนไม่เต็มหน่วยเพื่อช่วยนายจ้างตามคำขอ

มีเพียงถนนเล็ก ๆ ขนาด 2 ช่องจราจร ที่กั้นขวางพวกเขากับโรงงานเอาไว้ ใกล้หรือไกลไม่อาจประเมินเพราะท่ามกลางแสงแดดที่ไม่เคยปราณีตั้งแต่เช้าจรดเย็น และลมหนาวในยามค่ำคืน แต่เสียงสะอื้นก็ยังข้ามถนนไปไม่ถึง ความซับซ้อนของชีวิตที่พลิกล็อก คือ หนี้สินจากค่าเช่าบ้าน ค่าเทอมลูก ค่ากินอยู่ของคนในครอบครัว เบื้องหน้าอาบน้ำตา ส่วนเบื้องหลังมีอีกหลายสิบชีวิตต้องรับผิดชอบ การรวมตัวของอดีตพนักงานของบริษัท เซอิชิน จำกัด จ.ชลบุรี (บริษัทประกอบกิจการด้านอะไหล่รถยนต์) เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอันแสนธรรมดา แค่อยากขอความเป็นธรรมกับคนที่ทุ่มเททำงานหนักให้โรงงานมาทั้งชีวิต 

ไม่ใช่แค่ 50 ชีวิต

“ค้างมาแล้ว 3 เดือน” หลังตกงานแคะขนมครกขายทุกวัน แต่ก็ยังไม่พอกับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่างวดรถ ค่าเทอมลูก  ค่าข้าวสารกรอกหม้อ เมื่อก่อนเคยคิดว่าถ้าลูกเรียนจบก็จะลาออก แต่ไม่คิดว่าโรงงานจะปิดลงก่อนความฝันจะมาถึง แฟนพี่เป็น รปภ. รายได้เขาก็ไม่ได้มากมาย ตอนนี้พี่เลยต้องแบกรับภาระหนัก กลับบ้านไประบายให้ครอบครัวฟังเดี๋ยวเขาจะยิ่งกังวล มารวมตัวกันตรงนี้กับคนหัวอกเดียวกัน อย่างน้อย ๆ ก็ได้ระบายให้กันและกันฟัง และแอบหวังทุกวันนะว่าความเป็นธรรมจะมาถึงเรา

ในบทสนทนานี้คุณเห็นอะไรซ่อนอยู่ ? คราบน้ำตาของคนเป็นแม่ ความรู้สึกผิดจากคนที่เป็นภรรยา หรือ ความเย็นชาจากผู้เป็นนายจ้าง แต่ก็นั่นแหล่ะ…คงทำอะไรไม่ได้ไปมากกว่านั่งรอตรงนั้น พร้อม ๆ กับการมองหาอาชีพใหม่  แต่การเริ่มต้นของพี่แต สุรัตน์ มีสอาด ในวัย  49 ปี ไม่ง่ายค่ะ อย่างที่รู้ว่าโรงงานสนใจแรงงานแรกรุ่นหนุ่มสาวเพราะด้วยเรี่ยวแรงที่ดีกว่า สุขภาพที่ดีกว่า และค่าตัวที่ตั้งต้นถูกกว่า จากเหตุผลที่ว่ามานี้ที่ทางสำหรับชีวิตใหม่ ในฐานะสาวโรงงานวัยเก๋าจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง ส่วนการจะไปเซาะแสวงหาอาชีพอิสระส่วนตัวก็ยิ่งไม่ง่าย เพราะมันต้องอาศัยเงินทุนสักก้อนในประเป๋า ซึ่งต้อนนี้เรียกว่าภาระที่มีอยู่ก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง ลำพังจะกินอยู่แต่ละมื้อก็คิดทบทวนยิ่งกว่าโจทย์เลขแสควรูทสมัยมัธยมปลาย

18 ปี ไม่มีความหมาย ชีวิตใหม่กำลังจะเริ่มต้น

“เราก็คนเขาก็คน”อยากให้นายจ้างและองค์กรของรัฐมาช่วยเยียวยา เพราะตอนนี้ทุกคนลำบากเหมือนกัน

ความฝันในวันที่สิ้นหวังของ พี่ต่อ เรวดี มาผิว อดีตสาวโรงงานวัย 37 จุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานเธอเริ่มตรงนี้และจบตรงนี้ เป็นเวลา 18 ปีเต็ม เส้นทางในโรงงานของเธอไต่เต้าจากพนักงานในสายพานสู่ระดับหัวหน้า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นการเดินทางด้วยความตั้งใจ แต่เมื่อโจทย์ชีวิตของแรงงานมันซับซ้อน  อดีตหัวหน้าคนงานจึงทำได้เพียงหลั่งน้ำตา เมื่อเราถามว่า วันนี้เธออยู่อย่างไร ? เธอใช้สองมือลูบท้องเพียงเบา ๆ และตอบกลับมาว่ายังดีที่เธอมีอีกหนึ่งลมหายอยู่เคียงข้าง ในวันที่เรานั่งคุยกันหนูน้อยในครรภ์วัย 8 เดือนเคลื่อนไหวอย่างเรียบร้อยในพื้นที่อันจำกัด  เปิดทางให้เราคุยกับแม่อย่างไม่กวนใจ เพียงชั่วครู่ที่สายตาของคุณมือใหม่หันมองประตูรั้วโรงงานที่ปิดตาย น้ำตาเธอรินไหลก่อนระบายความรู้สึกเบื้องลึกในใจ

เธอกำลังปล่อยให้รถยนต์ที่ผ่อนด้วยน้ำพักน้ำแรงโดนยึด เวลานี้เงินแทบไม่พอใช้ จำยอมต้องหยิบยืมเงินของเพื่อนสนิทไปฝากครรภ์ เลวร้ายที่สุดเธออาจจะไม่มีเงินค่าทำคลอด ทางเลือกที่ดีที่สุดของพี่ต่อตอนนี้คือ​หันหลังให้ปัจจุบัน กลับอุตรดิตถ์ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ลูกตัวน้อยจะลืมตาดูโลก เพราะอย่างน้อยที่บ้านเกิดยังพอมีทรัพยากรใกล้ตัว และมีคนในครอบครัวให้พึ่งพิง​ ยังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน แต่รู้ว่าพี่อยู่ตรงสุดเดิมไม่ได้อีกแล้ว

หยุดเช็กความเป็นธรรมที่อาจ (ไม่) มีอยู่จริง

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เขียนไว้ชัดเจนว่า

1.ไม่มีเหตุผลอันสมควรห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง​
(หมายถึง เหตุที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือพฤติกรรมของลูกจ้าง)

2.ไม่แจ้งล่วงหน้าต้องจ่ายค่าชดเชยแทนการบอกล่วงหน้า
(อัตราเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันหรือ 60 วัน)

3.ถ้าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
(ถ้านายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานไม่ได้ ต้องจ่ายเงินนชดเชย)

  • อายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
  • อายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
  • อายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
  • อายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
  • อายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

ปลายทางความขัดแย้งระหว่างทุน-แรงงาน

พี่หมีและเพื่อนพนักงานเกือบ 1 พันคน ที่อ้อมน้อย จ.นครปฐม ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย น้อยนิด ไม่คุ้ม แต่มันก็แลกมาด้วยการต่อสู้จากการรวมกลุ่มเป็นสหภาพ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่นานก่อนเหตุฉุกเฉินที่เล่ามาจะพัดถล่ม กลายเป็นคลื่นพลังการต่อรองลูกใหญ่ เรียกร้องสิ่งที่ไม่ควรต้องเรียกร้อง จึงได้รับสิ่งที่ควรไ้ด้รับ

แตกต่างกับพี่แต พี่ต่อ และเพื่อนพนักงานรวม 50 ชีวิตที่จังหวัดชลบุรี พวกเขาไม่ได้รับสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่พอยืดชีวิตไปได้ มีเพียงเงินทดแทนสิทธิผู้ประกันตน กรณีถูกเลิกจ้างระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย

การต่อสู้แบบรวมหมู่หลังตกงานเริ่มต้นที่จากหน้าโรงงานไปสู่การต่อสู้คดีในชั้นศาล ระหว่างทางมีแนวโน้มต้องจ่ายเงินมาก ต้องเสียเวลาอีกเยอะ และประสบการณ์ของคดีการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นไปได้ว่า… ระหว่างทางอาจต้องเสียเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จากความยาวนานเหนื่อยล้าในการต่อสู้ เพราะมีหลายกรณีที่พบว่า มีพลังงานบางอย่างพยายามต่อรองขอเจรจาเป็นรายกรณี อย่าลืมว่ายิ่งเสียขุนพลในกองทัพมากเท่าไร กองทัพที่เข้มแข็งจะตกอยู่ในสภาพอ่อนกำลัง และทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีแต้มต่อ

เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนตัวละคร แต่ซีรีย์ชีวิตแรงงานไม่เคยเปลี่ยนตอนจบ อาจเป็นเพราะกฎหมายในฐานะผู้กำกับเส้นเรื่อง มิได้เขียนบทลงโทษผู้กระทำผิดด้วยอัตราโทษที่มากพอ และรัฐในฐานะผู้กำกับมักทำหน้าที่อยู่วงนอกอย่างห่าง ๆ แรงงานกับทุนจึงกลายเป็นคู่ขัดแย้งตลอดกาล 

และที่ชัดเจนแล้วคือ ปี 2563 เราจะได้ดูซีรีย์เรื่องนี้ถี่มากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินเรื่องของตัวละครเอกที่เป็นแรงงานกลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายหมื่นคน หลังผู้บริโภคชะลอการซื้อมาสักระยะ ภาวะดิจิทัลดิสรัปชัน ทิศทางกระแสรักษ์โลก และปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์เชื่อว่าตลาดยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกนาน