แนวรบ 'บาซูการวมศูนย์' สร้างโลกใหม่หลังโควิด-19 - Decode
Reading Time: 2 minutes

ระหว่างทางของสงครามโลกหลังโควิด-19 รัฐบาลไทยเปิดแนวรบกระหน่ำยิงกระสุนทางการคลังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยเงินมหาศาล 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของผลผลิตมวลรวม หรือ GDP ของประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับ บาซูกาการคลัง (fiscal bazooka) ของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสิงคโปร์ เพื่อหวังสร้างโลกใหม่ในแบบฉบับนิวนอร์มอล

เส้นบาง ๆ ระหว่างความจริงและความน่าจะเป็น Decode พูดคุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และหมวกอีกใบในตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ที่ปรึกษาฯที่ยอมรับกับ Decode ตรง ๆ ว่า ไม่เคยเจอนายกรัฐมนตรีเลยสักครั้ง ก่อนจะตบท้ายว่า “ในหมวกที่ปรึกษาฯ ไม่ได้เจอนายกฯก็ไม่มีความกดดันด้วย” (หัวเราะ) ช่วยลดทอนความร้อนแรงของเงินกู้ระดับล้านล้านให้บรรเทาเบาบางลง แต่ก็ไม่อ้อมค้อมที่จะถามตรง ๆ บาซูกาทางการคลัง เท่าไหร่ถึงจะพอ  

พอไหมนี่ตอบยาก แต่คิดว่า ถ้าใช้คำว่า ตอนนี้อาจจะพอก็ว่าได้ เพราะเรายังไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้วการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในไทยจะเป็นอย่างไร เพียงแต่สถานการณ์การติดเชื้อในไทยตอนนี้ยังดูดี และถ้าดูดีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม บาซูกา 1.9 ล้านล้านบาทก็น่าจะพอภายใต้สมมติฐานที่ว่าจะต้องไม่มีการระบาดซ้ำของไวรัสโคโรน่าและถ้าจะมีการติดเชื้อเพิ่มน่าจะเป็นเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามในที่สุดเราต้องค่อย ๆ แง้มประตู เปิดให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพราะภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 12 % ของจีดีพี เพราะถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวมาเลยก็เป็นศูนย์ หมายความว่า เศรษฐกิจติดลบ 12 %เป็นอย่างน้อย ซึ่งถ้าติดลบ12% ถือเป็นเรื่องใหญ่

1.9 ล้านล้านบาทก็อาจจะเอาไม่อยู่!!!

บาซูกา 1.9 ล้านล้าน เร็ว-แรง-ตรงเป้า ?

การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทจะถูกนำไปใช้จ่ายสองส่วนคือ 6 แสนล้านบาท สำหรับรักษาและเยียวยาด้านสุขภาพของประชาชน

อีก 4 แสนล้านบาท สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาระบบเศรษฐกิจ โดยงบ 2 ส่วนนี้สามารถปรับโอนไป-มาได้ ส่วน พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับที่ ครม.อนุมัติเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงินรวม 9 แสนล้านบาท คือร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน เพื่อดูแลภาคธุรกิจ วงเงิน 5 แสนล้านบาท และร่าง “พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน” เพื่อให้ซื้อตราสารหนี้เอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท

ถ้าถามว่า 1.9 ล้านล้านบาท แรง-เร็ว-ยิงตรงเป้าแค่ไหน ต้องดูงบฯทีละก้อน

ก้อนแรก วงเงิน 555,000 ล้านบาทที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ เท่าที่ติดตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน เยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิ.ย. 63) ยังถือว่าไม่ตรงจุด 100% เพราะมีคนตกหล่นจากโครงการดังกล่าวจำนวนมาก

ก้อนที่สอง วงเงิน 45,000 ล้านบาทกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้เป็นค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เงินก้อนนี้ยังไม่ได้ใช้เลย ใจผมอยากให้ใช้สำหรับงานป้องกันไวรัสโคโรน่าระบาดรอบสองมากกว่า เช่น เพิ่มความสามารถในการตรวจเชื้อ การสอบสวนโรค และแกะรอยติดตาม รวมถึงการกักกันโรค

แต่เท่าที่ได้ยินมาแต่ยังไม่คอนเฟิร์ม โครงการที่เสนอมาอาจจะยังไม่เป็นไปในทิศทางนี้เสียทีเดียว เพราะยังมีกรมต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุขเสนอโครงการลูทีนเข้ามา และหลายโครงการไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สักเท่าไหร่ แน่นอนว่า ตอนเสนอก็แปะชื่อว่า โครงการนี้เกี่ยวข้องโควิด-19 แต่ถ้าดูไส้ในจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย

ก้อนที่สาม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน

งบประมาณก้อนนี้ยังมีสภาพคล้ายกับงบประมาณก้อนที่สอง วงเงิน 45,000 ล้านบาท คือ มีหลายโครงการที่เป็นลูทีน ซึ่งเคยของบประมาณมาแล้วแต่ไม่ผ่านก็เอาไปชุบตัว เปลี่ยนชื่อโครงการนิดเปลี่ยนไส้ในหน่อย

เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 30,000 โครงการ เคยสอบถามเมื่อตอนประชุมหารือกับคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมว่า จะมีการนำเอาโครงการเกรดสองเกรดสามมาเสนอหรือไม่ เขาก็ห่วงเหมือนกัน พยายามสกรีนอยู่ ก็หวังว่าจะสกรีนได้ดี ผมเองได้ดูแค่ 4-5 โครงการ (หัวเราะ)

บางโครงการก็เป็นโครงการเล็ก ๆ เช่น ทำกล้วยอินทรีย์ ซึ่งระบุไว้ในแผนโครงการว่าจะทำเรื่องการตลาด มันก็มีคำถามว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านมีปัญหาเรื่องการตลาดมาโดยตลอดไม่เคยไปช่วยดูหรืออย่างไร และไม่แน่ใจว่า เชื่อมโยงกับโควิด-19 แค่ไหน ช่วยการจ้างงานหรือไม่ก็ไม่รู้

ผมเสนอว่า ควรจะวางเกณฑ์ให้ชัดเจน 4-5 เกณฑ์ ถ้าไม่ตรงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ตัดออก

เกณฑ์หนึ่งที่น่านำไปใช้คือ โครงการนั้น ๆ จะต้องเป็นไปเพื่อการจ้างงานอย่างน้อย 70% ขึ้นไปของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร อย่างกรณีที่เสนอโครงการซ่อมสร้างถนน ไม่น่าจะให้ใช้งบฯนี้ เพราะเป็นโครงการที่เน้นการซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก การจ้างงานเกิดขึ้นน้อยมาก ถ้าจะให้ต้องตอบโจทย์จริง ๆ ควรมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน หรือการส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ ซึ่งต้องโยงให้ได้ ถ้าโยงไม่ได้ก็ไม่ควรจะให้

อนาคตจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับว่า เกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมา คณะที่ปรึกษาฯที่ผมทำงานอยู่ก็ให้แนวทางในการจัดสรรงบประมาณคือ ต้องเกิดการจ้างงาน เน้นว่า ไม่ต้องมีทักษะฝีมือในการทำงานมากนัก ไปจนถึงการจ้างบัณฑิตจบใหม่ หรือต้องตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน หรือใช้งบประมาณนี้เพื่อเป็นสินเชื่อระยะยาวให้กับเกษตรกรในการปรับโครงสร้างไปสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่ง ทิศทางควรเป็นอย่างนี้

ส่วนพ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินของแบงก์ชาติอีก 4 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่เน้นดูแลธุรกิจ SME ของแบงก์ชาติ วงเงิน 5 แสนล้านบาท เบื้องต้นทราบมาว่า ธุรกิจ SME ขอใช้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เข้าใจว่าแบงก์ชาติ พยายามทำความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยลูกค้า SME เพราะธนาคารพาณิชย์อาจจะตั้งการ์ดสูงเกินไป ส่วนตัวมองว่า ธุรกิจSMEต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการท่องเที่ยว

4 แสนล้านสร้างโลกใหม่ บาซูการวมศูนย์ หรือ กามิกาเซ่พลีชีพ

บทสนทนาดำเนินมาถึงปลายทางของข้อสงสัยที่ว่า บาซูกาอาจกลายเป็นกามิกาเซ่พลีชีพ ในเมื่อการขอโครงการต้องผ่านมือราชการเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเสนอโครงการได้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร

ผมมองว่า ยังไม่กระจายอำนาจ แต่รวมศูนย์อำนาจนั้นชัดเจน เพราะคนที่เสนอโครงการได้มีเฉพาะหน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่นที่จะเสนอขอโครงการต้องผ่านมือราชการเท่านั้น

นักข่าว : ถ้ามองบวก หนี้สาธารณะในตอนนี้ยังไม่ชนเพดาน 60% ของGDP น่าจะเอื้อต่อการใช้มาตรการทางการคลัง

ดร.สมชัย : ประมาณสิ้นปี 2563 หรือกลางปี 2564 ก็ชนเพดานแล้ว

นักข่าว : จากจุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อนของการใช้มาตรการทางการคลังรึเปล่าคะ

ดร.สมชัย : มันเป็นสภาพจำเป็นและจำยอมในเวลาเดียวกัน ถ้าเราจะใช้บาซูกาเล็กกว่านี้ก็คงไม่ได้ ดังนั้นบาซูกาก้อนนี้จึงต้องใหญ่และตรงจุด หนี้สาธาณะก็จำเป็นต้องปูด คาดว่าปี 2564 ก็น่าจะเกินเพดาน 60% ของ GDP

นักข่าว : ดีกว่าหรือเลวร้ายกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

ดร.สมชัย : ถ้าเทียบกับช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่หนี้สาธารณะประเทศสูงที่สุด คือ 59.9% จำได้ว่าเรากู้เงินจำนวนมากเพื่อพยุงสถาบันการเงิน แต่ถ้าปีหน้าหนี้สาธารณะไต่เพดานไปที่ระดับ 60% ก็น่าจะสูสีกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็หวังว่า ถ้าเวลาผ่านไปเราจะขยับเพดานหนี้สาธารณะต่ำลงมาได้ เหมือนช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่หนี้สาธารณะลดต่ำลงมาอยู่ที่ 41.4% ของ GDP

หลายคนตั้งโจทย์ไว้วิลิศมาหรา อยากให้โลกหลังโควิดจะเป็นโลกที่ดีกว่าเดิม โดยใช้เงิน 4 แสนล้านบาทสร้างโลกใหม่นี้ด้วย ผมคิดว่า 4 แสนล้านบาทก็คงไม่พอ และที่ชอบพูดคำว่า New normal ก็ไม่รู้ว่ามีจริงไหม แต่ด้วยความฉุกละหุกที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าโอกาสที่จะเกิดภาพนั้น…คงยาก

  • ที่มาภาพ ดร.สมชัย จิตสุชน : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)