อาการ Echo Chamber อัลกอริทึมของความเห็นต่าง สื่อกระแสหลักอยู่ตรงไหนของการแก้ปัญหา - Decode
Reading Time: 2 minutes

“เด็กรุ่นใหม่สามารถสร้างตัวตนทางการเมือง แล้วก็กดซื้อของออนไลน์ได้พร้อม ๆ กัน”

ประโยคอธิบายตัวตนของคนรุ่นใหม่สั้น ๆ แต่สามารถทำให้เห็นว่า Digital Native กลุ่มนี้ไม่ได้แยกเรื่องการเมืองออกจากชีวิตเลย เขาสนใจหลายอย่างผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว พวกเขาเปิดรับสื่อหลากหลาย ใช้พื้นที่ออนไลน์เรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง และแสดงจุดยืน

วันนี้เราเห็นนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่นัดกันทางออนไลน์ และเจอกันออฟไลน์ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน ในภาวะที่ข่าวสารท่วมท้น เราเลือกรับสื่อที่เราสนใจได้ เลือกติดตามคนที่มีความเชื่อเดียวกัน ความหลากหลายวันนี้หมายถึง “ความเห็นต่าง” และเข้าใจการมีอยู่จริงของฝ่ายเห็นต่างด้วยหรือไม่ หรือเข้าใจแค่ไหน-อย่างไร

งานวิจัย “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562” ซึ่งศึกษา และวิเคราะห์การสื่อสารของเด็กรุ่นใหม่ทางการเมืองของเด็กรุ่นใหม่ผ่านโลกออนไลน์ พบว่า มีสื่อเพียง 0.18% เท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็น “พื้นที่ตรงกลาง” (Public Sphere) เป็นสะพานเชื่อมความเห็นต่างให้มีพื้นที่ได้ถกเถียงกัน ขณะที่นักวิชาการมองว่า “สื่อหลัก” (Main Stream) และการแก้ไขปัญหา IO (Information Operation) จะช่วยแก้ปัญหา Echo Chamber ที่นำไปสู่ความขัดแย้งแบบสุดโต่งได้

กิจกรรมชุมนุม “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”  24 ก.ค.63
กิจกรรมชุมนุม “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”  24 ก.ค.63

Echo Chamber ไม่ใช่ปัญหา แต่น่าห่วงถ้าถูกคุกคาม

ในวันนำเสนองานวิจัย มีการจัดวงเสวนา #EchoChamber กับการเมืองออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เพราะมีทักษะสูงในการถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่การเมือง อาหารการกิน และเรื่องบันเทิง พวกเขามีการกำกับดูแล (Regulate) และแก้ไข (Accurate) กันเองอย่างสร้างสรรค์ เด็กจำนวนมากรู้สึกตาสว่างในโลกออนไลน์ และใช้ออนไลน์เป็นข้อมูลทางเลือก (Alternative Source) สำหรับพวกเขา สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสื่อออนไลน์เปิดพื้นที่ถกเถียงมากกว่าในสื่อหลัก หรือในโรงเรียนที่ไม่ได้ทำหน้าที่นี้

“เด็กรุ่นนี้เขาเชี่ยวชาญ และแพรวพราวในการเล่น Scoial Media ไม่แยกเรื่องการเมืองออกจากชีวิต มันเป็นเรื่องเดียวกัน เขาสามารถใช้ทั้ง 2 โลกได้อย่างเข้ากัน นัดกันทางออนไลน์เพื่อไปเคลื่อนไหวออฟไลน์ในโลกจริง พอไปชุมชนกันแล้ว เขาก็ยังอัพเดทความเคลื่อนไหวโลกออฟไลน์สู่ออนไลน์อีกรอบ ทำให้สิ่งที่อยากสื่อสารมันถูกส่งไปในวงกว้าง”

ผศ.ดร.ประจักษ์ ระบุด้วยว่า Echo Chamber ของประเทศวันนี้ไม่ได้อยู่ในระดับอันตรายถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ หรือเวเนซูเอลา แต่หาก Echo Chamber อยู่ในฐานะ “ต้นเหตุ” ของความแตกแยก อันนี้น่ากลัว ซึ่งวันนี้เห็นว่ามันเป็นอาการมากกว่า สื่อออนไลน์ที่เด็กรุ่นใหม่ใช้มันสะท้อนความแตกแยกที่มีอยู่เดิมเท่านั้น โดยเฉพาะในสังคมที่เป็นเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยมันมีกลุ่มก้อนและหลายขั้วเป็นปกติ ดังนั้น Echo Chamber ไม่ใช่ปัญหา แต่จะเป็นปัญหาหากความเห็นต่างนี้ถูกคุกคาม มีการยุยง สร้าง Hate Speech ต่อว่าและให้ร้ายกัน

แก้ Echo Chamber ที่ “สื่อหลัก” และ IO

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิจัย และนักวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ “ทัวร์ลง” ที่ตัวเองเคยเจอ และประสบการณ์ที่เห็นในโลกออนไลน์ว่า หลายครั้งมันไม่ได้นำไปสู่การคุย เพราะมีการต่อว่ากัน ทำให้คนที่เห็นต่างถูกตีกลับไปที่เดิม แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นว่าเป็นการตอบกลับ (Reaction) ที่ทำให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่มันไม่เท่าเทียมกัน และมองว่าปัจจัยที่จะทำให้ Echo Chamber สร้างความแตกแยกได้จนไม่รับฟังกัน ได้แก่ สื่อ ที่ผลิตซ้ำ ยุยง, IO และ ทัศนคติ ซึ่งมองว่า “พื้นที่ตรงกลาง” จะช่วยแก้ปัญหานี้ และเห็นว่า “สื่อ” จำเป็นต้องทำหน้าที่นี้

ขณะที่ในระดับปัจเจก มองว่า ต้องเปลี่ยนมุมมองว่าการถกเกียงแลกเปลี่ยนต้องไม่เป็นไปเพื่อการเอาชนะ ไม่แปะป้ายหรือเหมารวมเพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ขณะเดียวกัน Echo Chamber ด้านหนึ่งเป็นอัลกอริทึมจากแพลตฟอร์ม หรือที่เรียกว่า Fitter Bubble ดังนั้นผู้ใช้ต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่าเรามีอำนาจที่จะต่อรองกับแพลตฟอร์มได้เยอะ ซึ่งตอนนี้ ทั้งกูเกิล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ต่างก็เริ่มปรับปรุงอัลกิริทึมเพื่อป้องกันปัญหานี้ด้วย เช่น การแทรกประเด็นที่หลากหลายในเข้ามาในฟีด

กิจกรรมชุมนุม “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”  24 ก.ค.63

เด็กรุ่นใหม่ “เสรีนิยม ศรัทธาการเมืองต่ำ”

ในงานวิจัยระบุว่า Echo Chamber คือ ปรากฏการณ์ทางการสื่อสารที่ระบบของแพลตฟอร์มออนไลน์กับผู้ใช้ต่างคัดเลือกกลั่นกรองเนื้อหาที่เปิดรับตลอดจนคนที่พบปะสังสรรค์ จนนำไปสู่การรวมกลุ่มแบบแบ่งขั้วของคนที่คิดและชอบเหมือน ๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งอาจกระทบไปถึงการขาดความหลากหลายทางความคิด อาจสร้างความสุดโต่ง และไม่อดทนต่อความเห็นต่างในสังคม ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือกัน

นอกจากนี้พบว่า เด็กรุ่นใหม่มีความคิดไปทางเสรีนิยม มีศรัทธาต่ำในระบบการเมืองเชิงสถาบันโดยนักการเมือง และพรรคการเมือง แต่ยังยึดมั่นในแนวคิดประชาธิปไตย และเชื่อในบทบาทของการมีส่วนร่วมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง พวกเขารับสารทั้งสื่อหลัก และสื่อออนไลน์ กระจายข้อมูลไปทุกแพลตฟอร์ม

ส่วนเรื่อง Echo Chamber ไม่พบว่า คนรุ่นใหม่ถึงกับปิดกั้นความคิดต่าง ไม่ใช่ Echo Chamber แบบปิด ที่หมายถึงไม่สามารถรับรู้ความแตกต่างได้เลย แต่ก็เชื่อในข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับทัศนคติทางการเมืองของตัวเอง และมีแนวโน้มตีความตามอารมณ์ เมื่อลองติดตามความสัมพันธ์ทางออนไลน์อย่างในทวิตเตอร์พบว่า พวกเขาเลือกมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความคิดความเชื่อแบบเดียวกันมากกว่า เช่น อนุรักษ์นิยม-อนุรักษ์นิยม หรือ เสรีนิยม-เสรีนิยม มากกว่าปฏิสัมพันธ์กับขั้วความคิดต่างกัน อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม หรือ อนุรักษ์นิยม-กลาง ๆ หรือ เสรีนิยม-กลาง ๆ

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย ตั้งข้อสังเกตว่า Echo Chamber นั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่าง “เป็นต้นเหตุ” หรือ “เป็นอาการ” (symptom) ที่สะท้อนความแตกแยกของสังคมให้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก เพราะสิ่งนี้เกี่ยวพันกับความเป็นมนุษย์ที่สนใจเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจ และเกี่ยวกับระบบอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งอาจลดโอกาสพบเจอข้อมูลใหม่ และอาจส่งผลให้สังคมขาดประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่สามารถเชื่อม 2 กลุ่มได้ คือ “พื้นที่ตรงกลาง” โดยยึดหลักสาธารณะเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นจะเกิดปรากฎการณ์ เช่น #ทัวร์ลง หรือ #ล่าแม่มด

สุดท้ายมองว่า การสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นเสมือนการเปลี่ยนผ่านที่สังคมกำลังเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งกำลังจะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ New Normal และเป็นพื้นที่สำหรับพลเมืองประชาธิปไตย และยังวิเคราะห์ด้วยว่าต่อไปพื้นที่ออนไลน์ที่ผู้คนมาถกเถียงนี้จะสามารถใช้เป็นเสียงเพื่อ “ต่อรอง” ทางการเมืองได้หรือไม่

กิจกรรมชุมนุม “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”  24 ก.ค.63

หมายเหตุ: โครงการวิจัย “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562” ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปี 2562 โดยมีผู้วิจัย คือ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย ผศ.ดร.พิมลพรรณ ไชยนันท์ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.วิโรจน์ สุทธิสีมา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

การวิจัยใช้เงื่อนไขของภาวะข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นของโลกออนไลน์ การถูกอัลกอริทึ่มของแพลตฟอร์มส่งข่าวสารมาให้ตามสนใจ และการปฏิเสธความเห็นต่างหรือความคิดที่สุดขั้วมาอยู่ในงานวิจัย และสาเหตุที่เลือกกลุ่มคนรุ่นใหม่ 18-24 ปี เพราะคนรุ่นใหม่มีความน่าสนใจหลายอย่าง ตั้งแต่ความเป็น Digital Native พวกเขาใช้สื่อออนไลน์ แสดงจุดยืนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีส่วนร่วมทางการเมือง จำนวนของคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถกำหนดเก้าอี้ในสภาถึง 86 ที่นั่ง และในช่วงเวลานี้การเคลื่อนไหวในการเมืองของพวกเขาทั้งออนไลน์ และออฟไลน์มีความโดดเด่น