กลิ่นอายของความหนาวยะเยือกผ่านภาษากำเมืองทะลุออกจากแผ่นกระดาษเย็บปกกว่าห้าร้อยหน้า จากการเสพติดการอ่านของคนใต้ ที่ชีวิตนี้ไม่เคยสัมผัสหน้าหนาวที่เชียงใหม่เลยสักครั้ง หลายการสนทนาในหนังสือทำเอาผมเองก็สับสน ไม่เข้าใจ ได้แค่จินตนาการตามบริบท เพราะผู้เขียนใช้ท่วงทำนองของการเขียนระหว่างคู่สนทนาในหนังสือ เป็นภาษาเหนือล้านนา แบบอู้กำเมือง
‘การอ่านคือการผจญภัยไม่รู้จบ’ แปะปกอยู่ที่กระดาษแผ่นแรก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผจญภัย ทำให้ผมได้ผจญภัยอย่างสมชื่อ เพราะพยายามพลิกอ่านอยู่สองเดือน ไม่ใช่ด้วยเหตุประการใด แต่เพราะคนใต้อย่างผมไม่เข้าใจภาษากำเมืองนี่แหละ ถึงอ่านไม่จบเสียที
วรรณกรรมพาย้อนกลับไปถึงการเข้ามาของมิชชันนารีจากเกาะบริเทนที่ใหญ่ที่สุดของคริสตจักร เริ่มเข้ามาเผยแพร่คำสอนของคริสต์ศาสนา และคนต่างชาติผมทองที่ถูกเรียกว่า ‘กุลาขาว’ กำลังนำวิทยาการการรักษาแบบใหม่สำหรับโรคฝีดาษที่กำลังระบาดอย่างหนักในล้านนาขณะนั้น ด้วยวิธีการรักษาจากวัคซีนที่ได้จากการปลูกฝีในลูกวัว คนล้านนาส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังนับถือภูตผี ก็มิกล้าที่จะเสี่ยงกับวิทยาการใหม่ จนต้องหาผู้ป่วยจากผู้คนที่อนาถาที่สุดของล้านนา วรรณกรรมชิ้นนี้ของสาคร พูลสุข บอกแก่เราว่าแม้จะมีเส้นเรื่องและตัวละครที่อาจทับซ้อนกับอดีตที่เคยเกิดขึ้นบ้าง แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยืนอยู่บนพื้นฐานของการปรุงแต่งแบบวรรณกรรม ที่เจือปนไปด้วยทักษะ ลีลา และทัศนะของผู้เขียนเพียงเท่านั้น
มารีออล อัลฟองโซ ชีค หรือหมอชีค เดินทางด้วยเรือสำเภามายังสยาม พบรักกับซาราห์ หนึ่งในมิชชันนารีของโบสถ์ประจำ ที่รวมตัวของคนผิวขาวในยุคแรกเริ่มที่เข้ามาในสยาม ก่อนที่ทั้งสองจะย้ายไปประจำอยู่ที่เชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่คำสอนศาสนาและรักษาคนไข้
ในยุคที่ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์เสียงเท่าผู้ชาย ผู้หญิงถูกมองเพียงแค่เป็นอาภรณ์ทางอารมณ์ในยามค่ำคืน เสน่ห์ของเธอปรากฏแค่ตอนเปลื้องผ้าอยู่หลังประตู บนเตียงนอน ในยามกลับจากที่ทำงาน หมอชีคและซาราห์ใช้ชีวิตร่วมรักแบบนี้อยู่เนิ่นนานหลังจากทั้งคู่ผ่านพ้นช่วงแรกของความรักที่อบอวลไปด้วยความโรแมนติก แทบที่จะไม่การบอกกล่าวถึงความต้องการทางเพศ การอยากหลับนอนกับซาราห์ แค่กลับถึงบ้านในตอนเย็นหลังเลิกงาน ก็ปรี่เข้าห้องเพื่อมีอะไรกับซาราห์ จากนั้นก็หลับไปเพราะความเหน็ดเหนื่อย และจะตื่นขึ้นมาทานอาหารในตอนดึก ซึ่งซาราห์เป็นคนจัดเตรียมให้ ชีวิตของสามีภรรยาคู่นี้เป็นแบบแผนประจำวัน ยอกย้อนอารมณ์ใคร่ของผู้ชายได้อย่างเจ็บแสบ ว่าพินิจคู่ชีวิตในฐานะอะไรกันแน่
หมอชีคทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย ส่วนซาราห์ก็เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าในการเผยแพร่ศาสนา และครองตนอยู่ในฐานะศาสนิกชนอย่างเคร่งครัด คณะมิชชันนารีที่เข้ามายังสยามและล้านนาในยุคแรก ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงกิจการในทางโลก ไม่ได้ประกอบสัมมาชีพ อย่าง พ่อค้า เหมือนที่ชาวจีน อาหรับ และอินเดียในขณะนั้น แต่ด้วยความพิเศษของการเป็นพลเมืองในประเทศเจ้าอาณานิคม ทำให้กุลาขาว มีความสนิทสนมกับชนชั้นเจ้าเป็นอย่างมาก เพราะของที่คนตะวันตกติดไม้ติดมือมา มักเป็นที่ชื่นชอบของคนชั้นเจ้าเสมอ เช่น ปืนสไนเปอร์ที่เป็นของหายากในขณะนั้น
ยุคที่เจ้าบ้านเจ้าเมือง พิสูจน์ความจงรักภักดีด้วยการส่งบรรณาการ คนผิวขาวที่เพิ่งย้ายเข้ามาในสยามยุคแรกจึงโชคดีที่มีของติดไม้ติดมือมาด้วยเสมอ แม้ลับหลังก็จะมีการนินทาถึงการรับบรรณาการของชนชั้นเจ้านายเสมอ หรือครั้งหนึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็นินทาพวกเจ้าในเขตสยามว่า “ถ้าไปสยามคราใด ก็ต้องหยิบบรรณาการจากล้านนาไปให้เจ้านายทุกคน ไม่งั้นก็จะเป็นการลำบากเอาในภายหน้า” อย่างดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ผ้าทอล้านนาไว้ให้นางสนม ของพวกนี้เป็นบรรณาการชิ้นดี
บาร์ บ่อน ก็กลายเป็นสถานที่รวมตัวของคนต่างชาติที่เริ่มเข้ามา จนเกิดสังคมใหม่ที่ชาวต่างชาติใช้เป็นช่องทางในการหารายได้ หมอชีครู้ว่าเชียงใหม่มีไม้พะยูง ไม้สัก อยู่บนภูเขาจำนวนมาก เริ่มรู้แหล่งค้าขาย ว่าตัดแล้วจะต้องลำเลียงไปตามแม่น้ำปิงเพื่อไปขายพ่อค้าที่สยาม หมอชีคเกริ่นแก่ซาราห์ว่า “สยามกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และเราต้องมองหาโอกาสที่จะเกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพียงแค่การรับใช้พระเจ้า และทำบุญผู้คนด้วยการรักษาอาการป่วย คงไม่พอ” ซาราห์ไม่เอาด้วย แต่ไม่ได้คัดค้าน และยอกย้อนกับสามีของตัวเองว่า “คุณยังอยู่ในหนทางของพระเจ้าหรือเปล่า” ถึงได้คิดแต่เรื่องทางโลก
‘เจ้าวรรณา’ ธิดาครองโสดของมหาเทวีแห่งเชียงใหม่ สนิทกับหมอชีค ในขณะที่กิจการค้าไม้ของหมอชีคกำลังไปได้ดีกับบริษัทบริติชบอร์เนียว ที่มอบหมายให้หมอชีคเป็นคนจัดการการค้าไม้ในพื้นที่ล้านนา แต่ก็ดันขาดสรรพกำลังด้านขนส่งและเงินทุนรอน ต้องยืมช้างหลายเชือกในการลากซุง วรรณาก็โปรดให้ยืมช้างถึง 12 เชือก นี่สะท้อนความสนิทและไว้ใจกันในระดับที่สูงมากระหว่างกุลาขาวและชนชั้นเจ้าเมือง ถึงกล้าที่จะให้ยืมช้างจำนวนมากอย่างนั้น “บางทีผมอาจจะต้องชดใช้ทั้งชีวิตก็เป็นได้ ตามคำขอของแม่นาง” หมอชีคกล่าวขอบคุณด้วยความกรุณา
การมีนางสนมจำนวนมากของคนในวังเคยเป็นวัฒนธรรมอันดาษดื่นในสยาม ทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์และงานวรรณกรรมไทยจำนวนมากเป็นหลักฐานเด่นชัด หรือพูดให้ชัดกว่านั้น สังคมสยามเพิ่งมีวัฒนธรรมของครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวในรัชการที่ 5 เพราะต้องการสื่อถึงชาวโลกว่าสยามประเทศกำลังเข้าสู่ความศิวิไลซ์ ‘ล้านนาฮาเร็ม’ ก็เป็นอีกหนึ่งวรรณกรรมที่ได้สะท้อนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่แห่งยุคสมัย
การที่ฝ่ายผู้ชายไปหลับนอนกับผู้หญิงอื่น ดูแล้วยังเป็นเรื่องที่ไม่ผิดแปลกมากนักในยุคสมัย ผู้ชายที่อยู่ในฐานะมั่งมีโดยเฉพาะชนชั้นเจ้า ก็มีนางสนมในเรือนกันหลายคน ขณะที่เจ้านางวรรณามีความสัมพันธ์กับเจ้าพรหม “รับรู้ว่าเจ้าพรหมไปเรือหอของเจ้าน้อยค่ำคน เจ้านางไม่รู้สึกขุ่นเคืองแต่อย่างใด” แถมออกตัวว่าเจ้าพรหมคือผู้ชายแก้ขัด แต่ถึงคราเจ้าพรหมกลับมา ทั้งคู่ก็ยังสนทนากันเรื่องชีวิตคู่ และการหลับนอน “แต่ถ้าเฮาเกิดมีลูกตวยกั๋น อ้ายต้องเป็นคนดูแล เพราะน้องมีการที่ต้องยะนักขนาด บางเตื้อน้องต้องไปค้าขายไกล ๆ อ้ายก็นอนกับแม่หญิงอื่นไปก่อน”
เสร็จจากการหลับนอน เจ้านางออกมานอกห้องล้างเนื้อล้างตัวสวมเสื้อผ้าชุดเดิมตรงดิ่งไปหาเจ้าทิพย์ผู้พี่ แล้วพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงราบเรียบ “น้องเอากับเจ้าพรหมแล้ว” เพื่ออย่างน้อย จะได้ให้ทางเจ้าพ่อได้รับรู้และคลายกังวลว่าลูกสาวของตัวเองจะมีคู่ครองเสียที แถมเจ้าพรหมก็ไม่ใช่ไก่กา เพราะทางบ้านของเจ้าพรหมก็ขายซุงไม้จนมีกำไรเป็นกอบเป็นกำเหมือนกัน
ทางด้านหมอชีค ในขณะที่กิจการค้าไม้กลับไปได้ดี สร้างรายได้จำนวนมากให้กับหมอชีค แต่กลับสวนทางกับสภาพความเป็นจริงของหมอชีคอย่างสิ้นเชิง ที่เงินทุนเริ่มลิดรอน จากการติดพนัน และการกู้ยืมที่เกินตัว ที่สำคัญหลังจากความรักของหมอชีคและซาราห์ไม่ได้อยู่ในเส้นทางของพระองค์ หมอชีคกลับมีโลกที่สองกับโจนา และยังมีนางสนมถึง 20 คน ที่คอยปรนนิบัติ จนโดนมุบมิบกันว่า “หมอชีคนี่สร้างฮาเร็ม” และที่สำคัญก็มิได้ลงรอยกับชนชั้นเจ้าเรื่องผลประโยชน์ เหมือนเก่า ดูแล้วกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบคั้นให้ลำบากจากฝ่ายเจ้า เพราะฝ่ายเจ้าก็ไม่ได้จ่ายเงินให้หมอชีคตามสัญญา
ทางบริษัทบริติช บอร์เนียว ก็ได้เรียกหมอชีคมาพบเพื่อจัดการหนี้สินและค่าใช้จ่ายของหมอชีคที่ถูกบริษัทลงความเห็นว่าใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย สร้างฮาเร็ม ทำตัวเหนือกว่าชนชั้นเจ้าหลายองค์ เรื่องเบิกเงินเกินนั้นเขายอมรับ “แต่ข้ออ้างที่ว่าผมทำเรื่องเสื่อมเสียเลี้ยงดูผู้หญิง 20 คนนี่เป็นการแทรกแซงเรื่องส่วนตัวกันอย่างเห็นได้ชัด ถ้าหากว่าผมเลี้ยงผู้หญิง 20 คนเป็นเรื่องเสื่อมเสีย แล้วพวกเขาล่ะ พวกเขา ซึ่งก็เห็นอยู่ว่าเลี้ยงผู้หญิงไว้เป็นทาสกามตั้งมากมาย มียศ มีตำแหน่ง บางคนถึงกับแบ่งปันให้ผมก็ยังมี แบบนั้นไม่เสื่อมเสียมากกว่าผมดอกรึ”
ผู้ขียนต้องการสะท้อนเรื่องราวบางส่วนที่เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยล้านนาขณะยังเป็นรัฐอิสระ ทั้งวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงยังไร้ซึ่งสิทธิ์และปากเสียง การรับบรรณาการของชนชั้นเจ้า และความสนิทสนมระหว่างชนชั้นเจ้ากับคนผิวขาวโดยการสัมปทานป่าไม้เพื่อให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาทำการตัดไม้ซุง ซึ่งเป็นต้นตอให้ป่าไม้สักหลายผืนในพื้นที่ภาคเหนือลดลงอย่างมาก อย่างบริษัทบอร์เนียว (Borneo Company Limited – BCL) และบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า (Bombay Burmah Trading Corporation – BBTC) ได้รับสัมปทานจากเจ้าผู้ครองนครล้านนา ให้เข้ามาทำไม้ อังกฤษได้นำเทคนิคการทำไม้แบบใหม่เข้ามา เช่น การใช้ช้างลากซุง การล่องซุงทางน้ำ และการใช้เลื่อยจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้วิถีทางเศรษฐกิจของล้านนาได้รับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเชียงใหม่และลำปาง แต่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2440 รัฐบาลสยามเริ่มเข้ามาควบคุมทรัพยากรป่าไม้ โดยมีการตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในปี พ.ศ. 2439 และออกกฎหมายควบคุมการทำไม้ ส่งผลให้สัมปทานของบริษัทต่างชาติลดลง และไทยเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้สยามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนนำไปสู่ยุคสิ้นสุดของอุตสาหกรรมไม้สักในพื้นที่ภาคเหนือในปีพ.ศ. 2532 เพราะรัฐบาลประกาศปิดป่าและห้ามตัดไม้สักทั่วประเทศ
Playread: ล้านนาฮาเร็ม
นักเขียน: สาคร พูลสุข
สำนักพิมพ์ ผจญภัย
PlayREAD: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี