sie / เธอ / ผู้หยัดยืน - Decode
Reading Time: 2 minutes

(1)

Tschüss / ลาก่อน /

 

มันเคยสูงตระหง่านโดยปราศจากผู้ชม บัดนี้โลกของคูรอนอื้ออึงไปด้วยผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวมิได้ขาด บางขณะเพ่งลึกในหน้าปัดเลขโรมัน II มันไม่ได้บอกเวลา “ปัจจุบัน” หรอก แต่สลักสำคัญกับ “อดีต” ของผู้ถูกลืมเลือน ถูกไล่ล่า ไขว่คว้าหาความอยู่รอด บางค่ำคืนนอนคุดคู้เหมือนวัวที่บาดเจ็บปางตาย ฝันถึงส่วนที่หายไป ฝันถึงรักและการหยัดยืนในความหมายสูงสุดของถ้อยคำ

หอระฆังของโบสถ์ซานตา คาเตรีนา อะเลซซานเดรีย โบสถ์ประจำเมืองคูรอน
ภาพโดย Fabian Franke

หอระฆังที่ยืนเด่นไม่ได้ถูกสร้างให้อยู่กลางน้ำแต่อย่างใด แต่ถูกทำให้ “จม” อยู่ใต้น้ำไปกับความตาย เรือนบ้าน คอกวัว และโรงนา ประวัติศาสตร์ของคูรอนก็ด้วย ถ้า “เวลา” อยู่ข้างพวกเขาสักหน่อย ภาพตรงหน้าก็คงไม่ใช่ผืนน้ำประดิษฐ์ หากเป็นฉากชีวิตที่เคลื่อนไหวไปกับเงาป่า สบตากับภูเขาที่โตมากับชาวคูรอน ฝูงวัวเรือนร้อย หรืออย่างน้อยก็มีคำตอบสำหรับคำถามของสองแม่-ลูก ภูเขาพวกนี้เหมือนโตไปกับเรานะ เธอพูดขณะถีบจักรยานหน้าเชิด  

“เธอว่าภูเขาพวกนี้ปิดกั้นเราออกจากโลกภายนอกมั้ย” แม่ถามเธอ แม่ผู้ซึ่งสามวันอยากหนีสี่วันอยากอยู่ ระหว่างที่ฉากหลังดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ ด้วยไฟแห่งสงครามโลกที่ทำให้ผู้อ่านทึกทักไปว่ามันอาจเลวร้ายพอ ๆ กับ “เขื่อน” ในนามของ “อำนาจรัฐ” ที่ฉันจดจำ แต่เนื้อร้องและทำนองโดยน้าแอ๊ด โมงยามนี้เราต่างบรรเลงเพลงอกหักมากกว่ารักทั้งปวง เมื่อข่าวว่า ผีแก่งเสือเต้นจะกลับมา… เขื่อนมาละโว้ย

สายน้ำแห่งความชุ่มช่ำ 

เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ

ไม่เห็นฝูงปลา 

พืชพันธุ์ไม้ในราวป่า สาละสัตว์สิงห์สาไร้ถิ่นอาศัย

 

(2)

sie / เธอ /

 

สำหรับผู้หญิงแล้ว ถ้อยคำ คืออารยะขัดขืนมันได้กลายเป็นศัตรูของความกลัวที่เอาไว้ต่อสู้กับพวกเผด็จการ ทำให้ภาษาเป็นอาวุธและการประกาศสงครามทั่วทั้งหุบ หยัดยืน หรือ ‘Resto Qui’ นวนิยายลำดับ 4 ของ Marco Balzano นักเขียนชาวอิตาลี สนใจในรสแห่งถ้อยคำราวกับเป็นจุดเริ่มของประวัติศาสตร์อิตาลีที่ไม่เพียงขมขื่นแต่เปิดประเด็นให้ผู้อ่านฉุกคิดและตั้งคำถามกับเรื่องคนงาน 26 คนที่ตายระหว่างการทำงาน บริษัทได้ให้ความสนใจในการประเมินผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ สภาพจิตใจของผู้ถูกเวนคืนมากน้อยเพียงใด จริงหรือไม่ที่ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ โดโลมิเทน วันที่ 7 กันยายน 1950 บอกว่า 10 วันหลังจากจมเรเซียกับคูรอนแล้ว บริษัทมนเตคาตินีก็จัดแข่งขันเรือใบในทะเลสาบนั้นเลย เขารู้สึกตั้งแต่แรกว่ามันมีคุณค่าในการพูดถึงเพิกเฉยต่อเรื่องดินแดน การใช้อำนาจในทางมิชอบ และความไร้ประสิทธิภาพของ “คำพูด” มากขนาดนี้

“ถึงผมจะหลงเสน่ห์เรื่องราวแถบนี้เพียงใด ผมก็คงไม่เห็นว่ามันน่าสนใจที่จะไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ถ้าไม่ลุกขึ้นมาเขียนนวนิยายเล่มนี้ เขาก็คงเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้แต่อ้าปากค้าง ดูหอระฆังลอยละล่องอยู่กลางน้ำ คงชะโงกหน้ามองหาซากเมืองเก่าใต้น้ำ แล้วเดินจากคูรอนไปเหมือนคนอื่น ๆ

คูรอนกลับมามีชีวิตอีกครั้งในนิยายที่เขาเล่าผ่านน้ำเสียงของ เธอ – ‘ตรีน่า’ ผู้หญิงที่ใฝ่ฝันอยากเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน อาชีพธรรมดา ๆ ที่ดูจะไม่มีอะไรไกลเกินเอื้อม แต่ในยุคสมัยของเธอ ความฝันที่แสนธรรมดานี้กลับไม่ง่ายเลย เพราะมุสโสลินีเปลี่ยนชื่อทุกอย่างใหม่หมดให้เป็น เป็นภาษาอิตาเลียน ทั้งชื่อถนน ลำธาร ภูเขา…ลามปามไปถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว เปลี่ยนกระทั่ง ชื่อบนป้ายหลุมศพ

ระหว่างนั้น พวกฟาสซิสต์ไม่ได้ยึดโรงเรียนอย่างเดียวแล้ว แต่รวมถึงสำนักงานเทศบาล ที่ทำการไปรษณีย์ ศาล แล้วก็ปักป้ายติดประกาศ ห้ามพูดภาษาเยอรมัน และมุสโสลินีถูกเสมอ แต่ก็ไม่สามารถทำให้พวกเธอเป็นอิตาเลียนได้เลย

ตรีน่า จึงเป็นทั้งลูกสาวของมะ เป็นเมีย เป็นแม่ของลูก ทั้งยังเป็นครูสอนภาษาเยอรมันต่อไป ในยามหลับก็มักฝันถึงพวกตำรวจและพวกฟาสต์ซิสต์เสื้อดำทุกค่ำคืน ยามสะดุ้งตื่นเหงื่อท่วม นัยน์ตาเบิกโพรงจ้องเพดานอยู่หลายชั่วโมง เธอตรวจดูจนทั่วบ้าน แม้แต่ในตู้เสื้อผ้า มะซึ่งเป็นคนตื่นง่ายก็จะถามจากอีกห้องหนึ่งว่า “ตรีน่า ลุกมาทำอะไรเวลานี้ ฮึ”

“หนูต้องตรวจดูว่ามีตำรวจซ่อนอยู่หรือเปล่ามะ” เธอหันไปตอบแม่แบบนั้น

“ที่ใต้เตียงเนี่ยนะ”

“ก็…”

แล้วคำพูดธรรมดาสามัญของตรีนาก็ส่งต่อไปยังลูกสาวของเธอ ราวกับจัดวางให้ผู้อ่าน “อยู่ตรงนั้น” ของวรรคตอน “แม่คิดว่า ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงคือถ้อยคำ สิ่งสำคัญคือเราต้องกระหายข้อมูล เรื่องราว และจินตนาการ แล้วกอดมันไว้ให้แน่น เพื่อที่ว่าวันหนึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตหรือไม่เหลืออะไรแล้ว แม่ว่าสิ่งที่จะช่วยได้ คือถ้อยคำ”

แม้ไฟสงครามก็ไม่อาจเผาผลาญ เพียงในมือเก็บกำคำว่า หยัดยืน เพื่อเธอจะก้าวเดินไปข้างหน้า ทิ้งรอยเท้าไว้ข้างหลัง เพราะไม่งั้นพระเจ้าก็คงจะสร้างตาหลังไว้ให้เราแล้วสินะ

ดูเหมือนว่าดีกรีของความรุนแรงจากการพัฒนาที่มาใน “เขื่อน” แท้จริงรุนแรง และร้าวลึกยิ่งกว่าสงครามเสียด้วยซ้ำ และคำสั่ง “หยุด” ก็เป็นเพียงโกหกคำโตของเผด็จการ ทันทีที่เผด็จการฟาสซิสต์เถลิงอำนาจอีกครั้ง การระเบิดบ้านระเบิดภูเขาเพื่อสร้างเขื่อนเหนือหมู่บ้านคูรอนก็ถูกสานต่อในนามของ “การพัฒนา” ซึ่งไม่ว่าจะ คูรอน หรือ แก่งเสือเต้น ถ้าขึ้นชื่อว่าการพัฒนา ผู้ต่อต้านก็ถูกประทับตราว่าเป็นคนหลังเขาที่คอยขัดขวางการพัฒนาอยู่ร่ำไป ถึงจะมีการลุกฮือ ลงถนนอยู่บ่อยครั้ง เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อน ก็ไม่อาจหยุดเสียงของระเบิดทีเอ็นทีได้เลยสักครั้ง

มันไม่เหมือนเสียงระเบิดชนิดไหน ๆ เสียงดังตุ้บ ๆ ประเดี๋ยวก็ถูกกลบด้วยเสียงถล่มของกำแพง ฐานรากแตกออกจากกัน เสียงหลังคาพังครืนตามมา หลงเหลือไว้เพียงกองฝุ่นและซากปรักหักพัง ชาวเมืองคูรอนเฝ้ามองปฏิบัติการนั้นจากรูหนูของพวกเขา หลายคนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น จากครอบครัวเรือนร้อยเหลือแค่ 30 ครอบครัว แม้แต่โรงไม้ของเพื่อนบ้านก็อยู่ใต้น้ำเช่นกัน

เธอ จินตนาการจากหน้าต่างห้องว่าจะอยู่อย่างไรในกระท่อมเส็งเคร็งนี้ จู่ ๆ เธอก็นึกอยากเขียนอะไรขึ้นมา…

แม่ เขียนว่า “อุตสาหกรรมต่าง ๆ กำลังทำกับชาวเมืองคูรอนราวกับเป็นสถานที่ไม่มีประวัติศาสตร์” ทั้งที่ความจริงพวกเขามีการเกษตร ปศุสัตว์ และประวัติศาสตร์ ก่อนที่พวกอันธพาลและพวกวิศวกรเหล่านั้นจะมาถึง แลกกับเขื่อนหนึ่งเขื่อนมันเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนสิ้นดี ตลกร้ายไปกว่านั้น คือเขื่อนที่ควรจะผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับภูมิภาคกลับไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่รัฐบาลสัญญากับประชาชนไว้ มิหนำซ้ำยัง กลืนกินชีวิต ทุกสิ่งจมลงใต้น้ำ เหลือไว้เพียงเขื่อนที่ไร้ประสิทธิภาพ ทะเลสาบปลอม ๆ และหอนาฬิกาที่ปราศจากความทรงจำใด ๆ ที่มนุษย์ก็มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ประวัติศาสตร์ก็สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เรียนรู้อะไรเลยจากประวัติศาสตร์   

เอ้า! เขื่อนพังละโว้ย

ไม่เหลือคนตะโกน

เขื่อนพังละหวา

ไม่เหลือใครตะโกน  

เนื้อร้องที่ปราศจากทำนองก็เหมือน ชีวิตที่ไม่เคยมี  ยิ่งกว่า ไม่มีชีวิต สิ้นเสียงระเบิดทีเอ็นที ทั้งสันเขาก็แทบป่นเป็นผุยผงเมื่อเสียงระเบิดกับเสียงร่ำไห้ดังขึ้นพร้อมกัน

อีกครั้ง…

ไม่เหลืออะไรแล้ว สิ่งที่จะช่วยเธอได้ คือถ้อยคำ ลงท้าย “จงหยัดยืน” ไม่ว่าใครก็พรากมันไปจากเราไม่ได้

 

 

Playread : หยัดยืน ‘Resto Qui’
ผู้เขียน: Marco Balzano
ผู้แปล: สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์
สำนักพิมพ์ : อ่านอิตาลี/read Itali

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี