โลก ‘วันนี้’ กับความท้าทายการจัดการน้ำของไทย
จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย ถูกตั้งตำถามว่า ‘พายุยางิ’ เป็นตัวการร้ายของปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันหรือไม่ โลกร้อน โลกเดือด โลกรวน ที่นักวิชาการหลายคนนิยามกันนั้น สรุปแล้ว ‘โลกวันนี้’ เป็นแบบใด และไทย ต้องรับมือกับปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกนี้อย่างไร De/code ชวนถอดประเด็นจากเสวนา เวทีเสวนาเชิงนโยบาย Dialogue Forum 1 l Year 5: โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567
“ถี่ขึ้น พยากรณ์ได้ยากขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ที่จะไม่รุนแรง”
คำอธิบายปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้เกิดปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศไทย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงภัยพิบัติ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา กล่าวว่าความน่าสนใจที่ควรจับตามอง คือความถี่ของร่องฝนที่เพิ่มมากขึ้น ระบบภูมิอากาศตามฤดูกาลของมรสุมเขตร้อน (Monsoons) ที่เคยแล้งสลับไปกับน้ำท่วม กลับกลายเป็นแล้งนานขึ้น ฝนมากขึ้นตกซ้ำหนักในบางที่ จากคาดการณ์ล่วงหน้าได้ภายใน 3 วันเช่นเดียวกับพายุโซนร้อน กลับเหลือเวลาเพียง 1 วัน ที่จะรู้ได้ว่าพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบจากร่องฝน คำถามที่ตามมาพร้อมกันคือไทยต้องตั้งรับกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร
ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) หน่วยงานที่เป็นความหวังในการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ เปิดเผยภารกิจการรับมือความแปรปรวนทางภูมิอากาศ ผ่านแผนแม่บทจัดการน้ำชุดใหม่ ที่ครอบคลุมในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม เช่นในกรณีของคันดินกั้นน้ำในกรุงเทพมหานครที่มีความสามารถในการป้องกันระดับน้ำ 50 เปอร์เซ็น ในภาวะน้ำท่วมปี 2554 หากแต่ในวันนี้ ก็ต้องกลับไปประเมินว่า จะสามารถป้องกันปริมาณน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ โดย สนทช. จะใช้แนวทางแก้ไขที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ลดปริมาณโครงสร้างแข็งที่ขัดต่อเส้นทางเดิมของน้ำ
ฐนโรจน์ ไล่เรียงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ นับตั้งแต่บทบาทของสนทช. ในการคาดการณ์ปริมาณน้ำ พื้นที่สุ่มเสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า ส่งต่อข้อมูลให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการน้ำจังหวัด ที่มีหน้าที่กระจายข้อมูลให้กับประชาชนที่ได้รับทราบข้อมูล ขั้นตอนนี้อยู่ภายใต้กลไลสำคัญอย่าง พรบ.ทรัพยากรน้ำ ปี 2561 ที่กำหนดทิศทางการทำงานระหว่างหน่วยงานรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากอุกทกภัยภาคเหนือ คือระบบการแจ้งเตือนอุทกภัยที่ส่งไปไม่ถึงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แม้ว่าหน่วยงานจะทำตามหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์แล้ว ภาครัฐก็ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานได้ลำบาก ว่าประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนหรือไม่
หน้าที่ของสนทช. คือคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ และทำหนังสือส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่เตือนภัยให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปภ. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ให้กระจายข้อมูลต่อไปยังผู้นำชุมชน ประชนชนในพื้นที่เตรียมการรับมือ
ในกรณีการเกิดอุทกภัย มาตรา 24 ของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ สนทช. สามารถจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไปจนกระทั่งถึงกองอำนวยการน้ำแห่งชาติในกรณีที่เกิดภาวะอุทกภัยรุนแรง หากเกิดสถานการณ์วิกฤติ สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานไปสู่ ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตนเองเป็นผู้สั่งการแผนรับมือภัยพิบัติ ในกรณีที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่เป็นระยะเวลา 30 วัน ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1 ลุ่มน้ำ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ
แม้หน่วยงานรัฐกำลังเผชิญกับความท้าทายในการส่งต่อข้อมูลภัยพิบัติให้เข้าถึงประชาชนที่เสี่ยงต่อการเผชิญเหตุ เพราะ พ.ร.บ. น้ำ ถูกร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 แต่ไม่เท่าทันความแปรปรวนของภัยพิบัติในวันนี้ โดยสทนช. ได้พยายามกระจายข้อมูลให้กับประชาชนผ่านช่องทางสื่อ เดินทางไปให้ข้อมูลภายในพื้นที่เสี่ยง อย่างในกรณีของเชียงราย ที่สทนช. ได้ดำเนินการส่งรถโมบายเข้าไปยังพื้นที่ เพื่อเข้าถึงสถานการณ์เฉพาะหน้าของภัยพิบัติ ให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านข้อมูล แต่ข้อจำกัด ณ วันนี้คือจำนวนรถโมบายเคลื่อนที่มีอยู่เพียง 1 คัน การกระจายพื้นที่สื่อสารจึงยังต้องใช้เวลาอยู่มาก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เกิดภัยพิบัติทั้งหมด
คำถามที่ถูกถามมาโดยตลอด ว่าน้ำท่วมปีนี้จะหนักเหมือนปี 2554 หรือไม่ คำตอบคือ ภาคกลางปีนี้ไม่เหมือนกับ ปี 54 แต่ภาคเหนือกลับหนักกว่ากันมาก
ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา ว่าปริมาณน้ำมหาศาลที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนรายวันที่ตกหนักมากขึ้นในพื้นที่กว่า 300 มิลลิเมตร ประกอบกับเส้นทางน้ำที่เปลี่ยนแปลงด้วยการใช้พื้นที่ของประชาชน ที่ส่งผลความสามารถในการระบายน้ำ รุกล้ำพื้นที่ลำน้ำเดิม จากโครงสร้างแข็งทางชลศาสตร์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงทางอุทกภัยที่เพิ่มมากขึ้น
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นของน้ำท่วมภาคเหนือในครั้งนี้ ในมุมของผศ. ดร.สิตางศุ์ ให้ความเห็นว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยน้ำฝนที่เพิ่มสูงมากขึ้น แต่เป็นลักษณะของน้ำท่วมฉับพลัน (Flash Flood) ดินโคลนถล่มมหาศาลในทุกพื้นที่ ด้วยลักษณะน้ำท่วมที่ไม่ปกติ ความรุนแรงของภัยของอุทกภัยในครั้งนี้จึงเปรียบเทียบไม่ได้กับความเสียหายในช่วงเวลาน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554
ตัวแปรทางด้านสภาวะภูมิอากาศที่เราพูดถึงในหลายปีที่ผ่านมา เป็นตัวเร่งความเข้มฝนที่ทำให้ฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น ช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงทางอากาศที่ร้อนเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาชีวิตของเรารวดเร็วขึ้นมากเช่นเดียวกัน
ในด้านของงบประมาณที่ภาครัฐใช้ในการรับมือกับการบริหารจัดการน้ำ ผศ. ดร.สิตางศุ์ ให้ข้อมูลในฐานะหนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ว่า งบประมาณในยุุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของประเทศ ทุ่มเงินส่วนมากจำนวนกว่าแสนล้านบาท ไปใช้ไปกับการพัฒนาโครงสร้างแข็ง โดยภาครัฐคาดหวังว่าจะสามารถรับมือกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายโครงสร้างเหล่านั้น กลับแปลี่ยนแปลงทิศทางน้ำ สร้างความรุนแรงเมื่อเกิดอุทกภัยเพิ่มมากขึ้น แต่ภาครัฐกลับไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่มีข้อมูลการสูญเสียป่าต้นน้ำสูงสุดในรอบ 10 ปี รวมไปถึงการพัฒนาการด้านการรับมือกับภัยพิบัติทางน้ำ ที่หลากหลายชุมชนยังอ่อนแอในเชิงโครงสร้างการรับมือภัยพิบัติ
ความแปรปรวนของโลกที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นสาเหตุให้ผศ. ดร.สิตางศุ์ นำเสนอรูปแบบการวางแผนจัดการน้ำ ที่ภาครัฐและชุมชนต้องไม่กระตือรือร้นเพียงสถานการณ์เฉพาะหน้า ภาวะไม่ปกติในช่วงน้ำหลาก แต่ต้องดำเนินการวางแผนการทำงานในช่วงระยะเวลาปกติเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือในช่วงระยะเวลาการเกิดภัยพิบัติ รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องดำเนินงานเป็น Single Command ในสถานการณ์วิกฤติทางภัยพิบัติ เพื่อให้การเตรียมการรับมือเฉพาะหน้ามีศูนย์กลางทางข้อมูล กระจายการทำงานอย่างครอบคลุมและมีแนวทางร่วมกันในทุกหน่วยงาน
“ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยกว่า 40,000 ชุมชน งบประมาณสามารถดำเนินการซ้อมเสี่ยงภัยได้เพียง 20 ชุมชนต่อปีเท่านั้น เราน่าจะใช้เวลา 2,000 ปี ชุมชนเสี่ยงภัยถึงจะมีแผนซ้อมเสี่ยงภัยครบถ้วน”
คุณไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทและเครือข่ายภัยพิบัติชุมชน สะท้อนปัญหาการความสามารถในการรับมือภัยพิบัติของประเทศ พร้อมทั้งนำเสนอกระบวนการวางแผนการรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชน ที่วันนี้ประชาชนต้องรับทราบข้อมูลการเสี่ยงภัยของตนเอง ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการรับมือเสี่ยงภัยพิบัติ แต่ปัญหาหลักสำคัญในสายตาของไมตรี คือการกระจายข้อมูลความเสี่ยงของภาครัฐ ที่ ณ วันนี้ภาครัฐมีข้อมูลพื้นที่เสี่ยง สามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยล่วงหน้า แต่ในพื้นที่เสี่ยงภัยกลับไม่มีศูนย์การแจ้งเตือนภัยพิบัติ กระบวนการกระจายข้อมูลและแผนรับมือเสี่ยงภัยที่ยังอ่อนแอ เพราะเรายังไม่มีหน่วยความรู้ที่ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถทำความเข้าใจข้อมูลการเตือนภัยพิบัติ มีแผนการรับมือในระดับชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในช่วงเวลาการเกิดภัยที่เข้มแข็ง
เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเตือนภัย สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ว่าหากมีข้อมูลการเตือนภัยมายังประชาชน ประชาชนต้องเชื่อมั่นในคนที่แจ้งเตือน อ่านข้อมูลที่เตือนภัยได้ และเชื่อว่าถ้าทำตามแผน ประชาชนจะปลอดภัยจากภัยที่เกิดขึ้น
ท้ายที่สุด การเริ่มต้นรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ ต้องไม่รอคอยให้หน่วยงานรัฐเตรียมความพร้อม หรือชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านการรับมือภัยพิบัติเพียงอย่างเดียว แต่ภาครัฐและชุมชนต้องดำเนินการร่วมกันในการออกแบบ มีส่วนร่วมในการสร้างแผนการรับมือภัยพิบัติ ให้ข้อมูลความเสี่ยงของภัยพิบัติที่เรามีอยู่ในวันนี้ ว่า “เราจะเผชิญกับความแล้งที่ยาวนานขึ้น ฝนที่ตกหนักมากขึ้น คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยได้ยากขึ้น” เป็นแนวทางในภาครัฐ และชุมชนทบทวนความเสี่ยงและกระบวนการทำงานของตนเอง เพื่อเตรียมแผนการณ์รับมือกับความแปรปรวนของโลกที่ “เราต้องพร้อมปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับความปรวนแปรนี้”