สันติภาพยิ่งพร่าเลือน วิธีแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ยิ่งต้องทบทวน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ข่าวคราวจากวงพูดคุยสันติภาพจมหายไปพร้อม ๆ กับที่มีเสียงติติงดังขึ้นเป็นระยะเรื่องกลัวว่าไทยจะเสียเปรียบในเวทีพูดคุย เราไม่ได้ยินคำอธิบายชัดเจนแต่สิ่งที่เห็นคือความเคลื่อนไหวที่เงียบลง ผู้คนที่จับตากระบวนการพูดคุยจึงต่างพอจะคาดเดากันได้ว่า ทีมพูดคุยของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็นคงจะต้องใช้เวลาในการจูนคลื่นกันอีกสักพัก เพราะโรดแมปเดิมที่สาธารณะได้เห็นไปแล้วนั้น ยังไม่เป็นที่ถูกใจ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ระหว่างนี้สายตาของคนที่คาดหวังสันติภาพจะพากันมองไปที่งานของกรรมาธิการสันติภาพฯ ของรัฐสภา โดยกรรมาธิการชุดนี้ซึ่งมีชื่อยาวเฟื้อยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ซึ่งจะต้องนำเสนอรายงานผลของการศึกษาต่อสภาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ช่วงนี้จึงมีเสียงถามไถ่กันเกรียวกราวว่าข้อเสนอจะออกมาในรูปแบบใด เท่าที่พอจะจับความได้ก็พบว่า ในหมู่ผู้คนที่สนใจนั้น ด้านหนึ่งมีคนที่อยากรู้เพราะเป็นห่วงว่าข้อเสนอจะแรงเกินไปหรือไม่ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือคนที่เกรงว่าข้อเสนอจะแรงไม่พอ  

อันที่จริงความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) หรือปาตานีนั้นกินเวลาต่อเนื่องยี่สิบปีเข้าไปแล้วในปีนี้ นั่นคือหากเริ่มนับตั้งแต่ปี 2547 แต่จะยาวนานกว่านั้นถ้าเรามองว่าปี 2547 เป็นเพียงอาการ “ภูเขาไฟปะทุ” แต่ไม่ว่าจะมองแบบไหน ด้วยระยะเวลาขนาดสองทศวรรษและเงินงบประมาณกว่า 3.4 แสนล้านบาทที่ใช้ไปในการ “ดับไฟใต้” ก็ต้องถือว่าสังคมไทยควรจะรู้จักความขัดแย้งนี้อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง

เราน่าจะเห็นพ้องกันว่า จากช่วงแรกของความขัดแย้งที่เราต่างพยายามทำความเข้าใจกับปัญหา มาในช่วงหลังนี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่า เป็นเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนตัวเองว่า ทั้ง ๆ ที่ใช้มาตรการรับมือที่หลากหลาย ในเวลาที่ยาวนานและใช้เงินอย่างมากมาย เหตุใดจึงยังแก้ปัญหาไม่ได้ เชื่อเหลือเกินว่านี่คงเป็นประเด็นที่กรรมาธิการฯ จะต้องศึกษาว่าที่ผ่านมาเราแก้ปัญหากันถูกจุดหรือไม่ หรือว่ายิ่งแก้ยิ่งเพิ่มปมความขัดแย้ง

กรรมาธิการสันติภาพฯ เองที่กำลังยกร่างข้อเสนอกันอยู่แน่นอนว่ายังบอกชัดเจนไม่ได้ว่าจะเสนออะไรบ้าง แต่สมาชิกในกรรมาธิการหลายคนได้ไปพูดถึงแนวคิดในเรื่องการทำข้อเสนอต่อสาธารณะที่ทำให้พอจะจับทิศทางได้บ้าง เช่นหากสกัดข้อมูลจากสิ่งที่จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการฯ และพ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา โฆษกกรรมาธิการฯ ไปพูดเอาไว้ในวงเสวนา “สองทศวรรษชายแดนใต้ สันติภาพที่ยังไปไม่ถึง” ที่จัดโดย The Active เมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาก็จะเห็นความคิดใหญ่ ๆ หลายเรื่องด้วยกันซึ่งผู้เขียนอยากจะหยิบยกขึ้นมาสักสามสี่ประการที่น่าสนใจและล้วนแต่ยังต้องหาคำตอบ เช่นเรื่องของแนวคิดใหญ่ที่ใช้กำกับการจัดวางความสัมพันธ์กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องของวิธีการที่จะทำให้การทำงานของกลไกรัฐตอบโจทย์ประชาชน และการปลดล็อกเงื่อนไขความขัดแย้งในเรื่องความไม่เป็นธรรม

ในเรื่องวิธีคิดใหญ่ในการจัดวางความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชนที่จะว่าไปแล้วคือ เป็นเรื่องระดับการปรับเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งจาตุรนต์และพ.ญ.เพชรดาวชี้ให้เห็นถึงเรื่องหนึ่งที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญของการมองพื้นที่นี้รวมทั้งที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกันคือการมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัดของตัวเอง พวกเขาบอกว่า เรื่องอัตลักษณ์เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากที่แนวคิดของรัฐในปัจจุบันยังรับมือได้ไม่ดีพอ จาตุรนต์ยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาผู้ที่มีอำนาจในการจัดการในพื้่นที่ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงนั้น “ไม่เข้าใจว่าในประเทศหนึ่ง ๆ คนสามารถอยู่ด้วยกันได้ โดยที่คนที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองสามารถรักษาอัตลักษณ์ของเขาได้”

พูดง่าย ๆ แค่นี้แต่นัยของเรื่องนี้หมายถึงการยอมรับหลักการของความเป็นชาติที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย ไม่ว่าอัตลักษณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงมลายูด้วยซึ่งเรื่องนี้มีปัญหา ทั้งจาตุรนต์และพ.ญ.เพชรดาวชี้ว่า การไม่ยอมรับความเป็นมลายูที่เห็นกันในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถอยหลัง ในอดีตผู้นำของประเทศหลายรายเคยยอมรับมาแล้วไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์บางพระองค์ หรือที่พ.ญ.เพชรดาวยกตัวอย่างคืออดีตนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ปราโมชที่ได้แสดงการยอมรับความเป็นมลายูอย่างชัดเจนและพร้อมจะส่งเสริม

จาตุรนต์ชี้ว่า ในปัจจุบันการไม่ยอมรับในเรื่องอัตลักษณ์ที่เนื่องมาจากการมองไม่เห็นที่ทางของความหลากหลายในความเป็นชาติ ทำให้เกิดความหวาดระแวง และตีความว่าการแสดงออกในเชิงอัตลักษณ์คือการแสดงออกซึ่งความเป็นอื่น และนำเรื่องนี้ไปผูกติดกับเรื่องของความต้องการแบ่งแยกดินแดน นี่จึงเป็นที่มาของความหวาดระแวง การพยายามกดและปราบเพื่อไม่ให้มีการแสดงออกนอกกรอบที่กำหนด ทำให้การรักษาอัตลักษณ์แบบที่มีนัยสำคัญ เช่น ในเรื่องการใช้ภาษากลับไม่ได้รับการส่งเสริม ผลสุดท้ายแทนที่จะมีการพัฒนาศักยภาพในเรื่องการใช้ภาษามลายูกลับไม่มี ขาดโอกาสแม้แต่การจะเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับสังคมและตลาดขนาดใหญ่ของผู้ใช้ภาษามลายูกว่าสองร้อยล้านในภูมิภาคนี้ ผลกระทบที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่เรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ความหวาดกลัวเช่นนี้กระทบการทำงานทุกด้านเป็นลูกโซ่ และทำให้มีการตีความการแสดงออกไปได้ร้อยแปดพันเก้าแต่ล้วนไม่เป็นผลดี ทำให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจ

เนื่องจากความเป็นมลายูนั้นแนบแน่นกับความเป็นมุสลิมจนแทบจะแยกจากกันไม่ได้ มันจีงมีโอกาสว่าการกดทับการแสดงออกอัตลักษณ์ด้านใดด้านหนึ่งมีผลต่อความรู้สึกต่อตัวตนที่เป็นภาพรวมของทั้งสองอย่าง

ในขณะที่ในพื้นที่มีชุดความรู้ที่สวนทางกับกระแสหลักและถูกกดอันเนื่องมาจากการไม่ยอมรับนี้เช่นกัน ดังที่พ.ญ.เพชรดาวบอกเราว่า ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ของคนในพื้นที่นั้นไม่ได้อยู่ในกรอบวิธีคิดแบบประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่เมื่อใดที่มีการพูดถึงประวัติศาสตร์และผลของการถูกปราบปรามในอดีตก็จะถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคงเพราะถูกตีความไปว่ามีเจตนาต่อต้านรัฐ คือผู้คนไม่สามารถพูดถึงบาดแผลในอดีตได้ พูดขึ้นมาเมื่อใดจะถูกตีความว่าต้องการเป็นอื่น การที่พูดถึงไม่ได้ย่อมกลายเป็นการกดทับอีกแบบหนึ่ง และมันทำให้ปัญหารากเหง้านี้ยังสดและยังมีชีวิตต่อเนื่องเรื่อยมา

มีผู้รู้เรื่องใต้หลายคนพูดถึงการยอมรับประวัติศาสตร์ว่ามันต้องมีสองชุดและล้วนแต่มีส่วนที่ถูกต้องเช่นเดียวกันกับมีส่วนที่แต่งเติม แต่โดยหลักแล้วเป็นความจำเป็นที่จะต้องยอมรับการดำรงอยู่ของข้อเท็จจริงหลายเรื่องเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ สังคมต้องให้ที่ทางให้กับเรื่องความขุ่นข้องหมองใจในอดีต และมีวิธีการรับมือที่ทำให้เกิดความลงตัว เรื่องเช่นนี้สังคมไทยจะทำได้หรือไม่

ที่ผ่านมาเราเห็นแต่การตีความการพูดเรื่องประวัติศาสตร์ในพื้นที่ว่าเป็นการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังและการต่อต้านรัฐ ในขณะที่ในภาคอื่นของประเทศไทยกลับมีการพูดเรื่องกบฏในอดีตเช่นในอีสานและในภาคเหนือ มีการถกกันเรื่องปัญหาการกดทับและปราบปรามโดยส่วนกลางโดยที่ไม่ได้ถูกตีตราว่า ต้องการจะแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด

จาตุรนต์บอกว่า กรรมาธิการสันติภาพฯ ไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข แต่ต้องการจัดทำข้อเสนอที่สนับสนุนให้การทำงานในฐานะรัฐบาลมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด นี่เป็นวิธีในการลดเงื่อนไขความขัดแย้ง และเพื่อจะตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ เขาเน้นหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งดูเหมือนว่าจะทำได้ผ่านหลายช่องทาง

กลไกแรกที่จาตุรนต์พูดถึงคือ ศอ.บต.หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถูกเปลี่ยนแปลงทำให้ขาดการยึดโยงกับประชาชน เพราะมีการยกเลิกกลไกสภาที่ปรึกษาไป ดังนั้นขั้นแรกคือ ให้ศอ.บต.กลับมามีสภาที่ปรึกษาอีกครั้งหลังจากที่ถูกระงับไปหลายปีด้วยคำสั่ง คสช. โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่จาตุรนต์เป็นประธานได้มีข้อเสนอแนะไปเรียบร้อยแล้วให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ส่วนนี้เพื่อให้ศอ.บต.กลับมามีสภาที่ปรึกษาอีกครั้ง ขั้นตอนนี้เหลือเพียงให้สภาผู้แทนราษฎรรับรอง และหลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของ สว. กรรมาธิการชุดนั้นยังเสนอด้วยว่าให้กลไกสภาที่ปรึกษามีตัวแทนประชาชนจากทุกภาคส่วนและให้มีความเชื่อมโยงกับความพยายามคลี่คลายปัญหาด้วยการให้มีตัวแทนอยู่ในคณะพูดคุยสันติสุข นอกจากนี้ให้มีภารกิจเพิ่มในเรื่องเป็นช่องทางรวบรวมเสียงของประชาชนในกระบวนการที่เรียกกันว่า “การหารือสาธารณะ” คือการเก็บรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องปัญหาความขัดแย้งและวิธีการแก้ไข ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยสันติภาพด้วย นี่เป็นจุดแรกของการทำให้งานของรัฐบาลตอบสนองความต้องการของประชาชน

ไม่เท่านั้น เขาเห็นว่า กลไกที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ทำหน้าที่หลักในการปกครองพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นศอ.บต. สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องจัดทำนโยบายโดยผ่านการรับฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มี และเรามักได้ยินเสียงบ่นของประชาชนในพื้นที่เสมอมาว่า การพัฒนาในพื้นที่ที่ไม่สอดคล้อง ไม่สอดรับหรือไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ จาตุรนต์เห็นว่าควรจะต้องจัดงบประมาณให้กับโครงการบางประเภทที่มาจากการกำหนดของประชาชนด้วย โดยที่ “ไม่ต้องกลัวว่าเศรษฐกิจจะเสียหายมากไปกว่านี้ เพราะยี่สิบปีมันพิสูจน์แล้วว่าจีดีพีของพื้นที่ต่ำที่สุด”

เรื่องหลักอีกเรื่องที่จาตุรนต์พูดถึงคือเรื่องการกระจายอำนาจที่จะต้องมี เพื่อจะให้การบริหารพื้นที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องพื้นฐานและลักษณะพิเศษ ส่วนรูปแบบนั้นเขาเห็นว่าควรจะมาจากการระดมสมอง “ช่วยกันคิด” และยึดหลักการให้สิทธิกับคนในพื้นที่กำหนดหลักเกณฑ์ หลักการสำคัญคือคนในพื้นที่แต่ละกลุ่มต้องมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้เป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนคน และที่สำคัญการกระจายอำนาจนี้ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในการรับรู้ของสังคมใหญ่ภาพรวม ซึ่งน่าจะหมายถึงการกระจายอำนาจที่ควรจะอยู่ในระนาบเดียวกันกับที่เหลือของประเทศ เพียงแต่ต้องมีกลไกรองรับลักษณะพิเศษของพื้นที่นี้โดยเฉพาะในเรื่องอัตลักษณ์ที่เฉพาะ 

อย่างไรก็ตามโจทย์ของการกระจายอำนาจสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซับซ้อนเพราะถ้าจะดูทิศทางการกระจายอำนาจ จาตุรนต์บอกว่าเรื่องนี้ถดถอยทั้งประเทศ โดยเฉพาะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในแนวทางการกระจายอำนาจถือได้ว่ามีเพดานต่ำมาก

ที่หนักกว่านั้น จาตุรนต์เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้การปกครองที่พิเศษอยู่แล้ว เนื่องจากมีทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศอ.บต. กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ที่เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงและที่ทำงานระดับประเทศลงไปทำงานที่นั่น ผ่านการกำกับของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งการทำงานนี้มีการใช้เครื่องมือคือกฎหมายพิเศษถึงสามฉบับคือกฎอัยการศึก พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือพ.ร.บ.ความมั่นคง ทั้งหมดกระทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน “นี่คือรูปแบบการปกครองที่พิเศษ รวมศูนย์อำนาจอย่างยิ่ง มีที่เดียวในประเทศไทย” ดังนั้นเพดานในเรื่องการเมืองการปกครองของสามจังหวัดในเวลานี้ ถ้ามองจากมุมของการกระจายอำนาจจึงถือได้ว่า “ต่ำกว่าศูนย์”

หากจะแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ผ่านมาตรการกระจายอำนาจโดยไม่ต้องยึดหลักว่าต้องเป็นไปในระนาบเดียวกันกับที่อื่น ๆ ในประเทศ ก็จะกลายเป็นการยกระดับพื้นที่นี้ให้มากไปกว่าพื้นที่อื่น ๆ เชื่อว่าจะมีคำถามตามมาเพราะความรู้สึกว่า มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการเลือกปฏิบัติกันมาเนิ่นนานด้วยการมอบให้พื้นที่จชต.อยู่ในสภาพ “ต่ำกว่าศูนย์” ดังกล่าว

อีกประการหนึ่ง จาตุรนต์บอกว่าสิ่งที่กรรมาธิการฯ สนใจคือเรื่องของการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเพื่อจะลดความไม่พอใจที่มีต่อรัฐที่นำไปสู่ความรุนแรง ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นสิ่งที่รัฐสามารถแก้ไขได้และควรจะแก้ไขในฐานะที่เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอผลการเจรจาสันติภาพจึงจะดำเนินการแก้ไข “เรื่องของการเจรจาควรดำเนินต่อไป แต่เมื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานในเรื่องต่าง ๆได้ ปัญหาที่จะต้องเจรจาก็จะเหลือน้อยลง” เขาว่า

ถ้าให้ผู้เขียนตีโจทย์ ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่รัฐควรจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ อันดับหนึ่งควรจะเป็นเรื่องการสร้างความเป็นธรรมให้ปรากฏผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ เช่นปัญหาการละเมิดสิทธิอันเกิดจากการใช้กฎหมายพิเศษที่ผ่านมาร่วมยี่สิบปี หลายเรื่องเป็นเรื่องคาใจและกลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานความเดือดร้อนและการกดทับผู้คนในพื้นที่ ในขณะที่ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสามารถจัดการกับกลุ่มก่อเหตุด้วยการนำตัวพวกเขามาลงโทษได้ แต่กลับไม่สามารถรับมือการละเมิดสิทธิแต่ลอยนวลพ้นผิดที่เกิดจากการใช้กฎหมายพิเศษได้ นักกฎหมายพูดถึงการใช้กฎหมายใหม่คือกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการละเมิดใหม่ ๆ แต่เรายังไม่ได้เห็นประสิทธิภาพประสิทธิผลของกฎหมายใหม่นี้เพราะยังใหม่เอี่ยมมาก

ในขณะที่เรื่องราวที่สร้างความขุ่นข้องหมองใจในอดีตได้เกิดไปเป็นจำนวนมากแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะเยียวยากันด้วยความยุติธรรมได้อย่างไร กรณีใหญ่ ๆ ที่ชัดเจนไม่ได้มีเพียงคดีตากใบ แต่ยังมีอีกหลายกรณี และยังมีเรื่องการเลือกปฏิบัติแบบรวมหมู่อันเกิดจากการใช้กฎหมายพิเศษเช่นการบังคับตรวจเก็บดีเอ็นเอว่าจะหยุดได้หรือไม่ เมื่อไหร่ จะทำอย่างไรกับกรณีของคนที่ถูกเก็บไปแล้ว เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งเพราะการใช้กฎหมายพิเศษในสายตาหลาย ๆ คนกลายเป็นตัวสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งเสียเอง

“ปัจจุบันถ้าเราเรียกหาความยุติธรรม ต้องมามองใหม่ว่าเงื่อนไขมีอะไรอยู่ มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง มีบทบาท กอ.รมน. มีกฎอัยการศึก มีสาม กม.นี้เป็นตะแกรงคลุมหมด เสรีภาพสิทธิไม่มีทางรอดออกมาได้เลย เราจะเรียกร้องความยุติธรรมยังไง ในเมื่อสาม กม.นี้เป็นเครื่องมือที่มีไว้จัดการกับขบวนการก่อการร้าย ศัตรูจากต่างประเทศ ถ้าจะมองความยุติธรรม ก็ต้องมาคุยว่าจะเอายังไงกับสามกฎหมายนี้” จาตุรนต์ให้ความเห็น

นี่ก็ทำให้หลายคนกะเก็งว่ากรรมาธิการสันติภาพฯ คงเสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ แต่การจะให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษไม่ใช่เรื่องง่ายและแท้ที่จริงเคยมีผู้เสนอมาหลายครั้งแล้ว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกฎหมายพิเศษโดยเฉพาะกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกนำไปผูกติดไว้อย่างแน่นหนากับความสามารถในการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ กลายเป็นว่าสำหรับหลาย ๆ คนแล้ว การไม่มีกฎหมายพิเศษเท่ากับไม่มีความปลอดภัยโดยเฉพาะสำหรับคนพุทธในพื้นที่ แต่การมีกฎหมายพิเศษก็ทำให้มลายูมุสลิมในพื้นที่รู้สึกว่าตัวเองพร้อมจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกละเมิดโดยที่ผู้ถูกละเมิดไม่ต้องรับผลอันใด เรื่องของกฎหมายพิเศษจึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ยังบอกไม่ได้ว่ากรรมาธิการจะนำเสนอไปในทิศทางใด แต่ถ้าต้องการความปลอดภัยไม่ว่าทั้งทางกายภาพหรือในความรู้สึก เรื่องนี้จำเป็นต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

ยังมีเรื่องที่เป็นปัญหาพื้นฐานและเป็นงานของรัฐที่เป็นประเด็น น่าสังเกตว่าแทบทุกครั้งที่กรรมาธิการสันติภาพลงพื้นที่ เมื่อกลับมามักจะมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลเนือง ๆ เพื่อให้แก้ปัญหา อย่างเช่นกลุ่มนักธุรกิจที่ไปนำเสนอปัญหาในการประกอบธุรกิจกับคณะกรรมาธิการสันติภาพฯ ทั้งที่ปัญหาของพวกเขาไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง หรือในครั้งล่าสุด หลังจากกลับจากการลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากประชาชนที่นราธิวาส คณะกรรมาธิการก็จัดแถลงข่าวขอให้รัฐบาลเร่งรัดในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โกดังเถื่อนเก็บพลุระเบิดที่ตลาดมูโนะ สุไหงโกลก นราธิวาส ซึ่งผ่านมาจนจะครบปีแล้วแต่ยังมีประชาชนที่ไม่มีบ้าน

แม้ว่าทางการจะออกค่าเช่าบ้านให้แต่การเช่าบ้านอยู่สำหรับหลาย ๆ คนทำให้ยังตั้งตัวใหม่ไม่ได้ ทั้งยังมีปัญหาในเรื่องการชดเชยว่าได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนหรือไม่ เหตุระเบิดที่มูโนะนี้ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งแต่มีคำถามเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ปล่อยให้มีโกดังเก็บวัตถุอันตรายเช่นนี้ขึ้นในพื้นที่ชุมชน ความเห็นของกรรมาธิการในวันนั้นจึงชัดเจนว่าเรื่องนี้รัฐต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญ ระดับของปัญหาใหญ่เกินกว่าที่จะใช้กลไกปกติในเรื่องการเยียวยามารับมือเพราะน้อยไปและช้าไป นี่เป็นอีกตัวอย่างในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลว่ายังไม่ตอบโจทย์

นอกเหนือไปจากนี้ยังมีกลุ่มรณรงค์เรื่องทรัพยากรที่ไปร้องขอความช่วยเหลือจากกรรมาธิการเพราะปัญหาการประกาศเขตอุทยานที่กำลังจัดตั้งคือ อุทยานแห่งชาติซีโปที่ทับที่ทำกินของประชาชน ซึ่งแม้ไม่มีเอกสารสิทธิเพราะตกหล่นไม่ได้ขออย่างเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมา แต่พวกเขาทำมาหากินบนพื้นที่นี้มาเนิ่นนานก่อนที่จะมีการประกาศของทางการ อันที่จริงแล้วปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ในพื้นที่ความขัดแย้งเช่นนี้ ปัญหาแบบนี้กลายเป็นอีกหนึ่งรูปธรรมของการที่รัฐดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชน

จาตุรนต์ และพ.ญ.เพชรดาวต่างพูดถึงบทบาทของรัฐสภาในการรับมือปัญหาใน จชต. จาตุรนต์เสนอว่าสภาควรจะมีกลไกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อศึกษาและติดตามการจัดการแก้ไขปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะที่เป็นปัญหาระดับชาติ เพราะกลไกเช่นนี้เป็นช่องทางให้ประชาชนฝ่ายต่าง ๆ ได้พูดคุยกันและสื่อสารกับรัฐบาลได้ พ.ญ.เพชรดาวเองก็กล่าวด้วยว่า จำเป็นต้องมีกลไกรัฐสภา เพื่อติดตามการแก้ปัญหาในสามจังหวัดใต้ต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นเรื่อง จชต.ก็จะจมหายไปอีกเหมือนที่ผ่านมา

สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งที่ พ.ญ.เพชรดาวพูดถึงในเรื่องของการแก้ปัญหาความขัดแย้งภาคใต้ก็คือเรื่องนี้จะต้องใช้เจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล พ.ญ.เพชรดาวชี้ว่าทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสินลงพื้นที่มักจะพูดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นเรื่องการท่องเที่ยว แต่ไม่พูดเรื่องปัญหาความขัดแย้งซึ่งส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยของคนจำนวนมาก การคลี่คลายความขัดแย้งซึ่งอันที่จริงแล้วถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติกลับไม่ได้รับการถ่ายทอดให้เห็นถึงความสำคัญผ่านผู้นำของประเทศ

มีกรรมาธิการอีกสองคนจากภาคประชาสังคมใน จชต.ที่ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจคือมะยุ เจ๊ะนะ เห็นว่าการเสนอแก้ปัญหาต้องปลดล็อกปัญหารากเหง้า และต้องจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลและพื้นที่กันใหม่รวมทั้งต้องมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการแสดงออก น่าสนใจอย่างยิ่งที่มะยุเสนอว่า การแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ต้องอาศัยการยกระดับความรับรู้ของคนนอกพื้นที่เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา จะคิดกันอยู่ตามลำพังเฉพาะวงในไม่ได้ เขาชี้ว่าเรื่องของภาคใต้เป็นเรื่องของทุกคน เพราะว่างบประมาณที่นำลงไปแก้ปัญหานั้นมาจากประชาชน ในขณะที่สิ่งที่ลม้าย มานะการ กรรมาธิการที่ทำงานกับกลุ่มคนพุทธในพื้นที่พูดชัดว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมไม่ว่าสำหรับคนกลุ่มใด ๆ รวมไปถึงกลุ่มคนพุทธเองที่ก็รู้สึกว่าถูกกดทับจากมาตรการแก้ปัญหาที่เป็นการซื้อใจมลายูมุสลิม ลม้ายย้ำว่าต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับคนพุทธต้องการให้คืนพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคน คืนความเป็นปกติให้สังคม คนพุทธในพื้นที่ไม่ขัดในเรื่องของการกระจายอำนาจ “แต่ต้องทำในลักษณะที่เป็นธรรม ให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียง มีศักดิ์ศรี รวมถึงคนพุทธด้วย”

ที่ผ่านมาเรามักมีคำถามกันเสมอว่าเพดานของการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ของรัฐบาลอยู่ที่ไหน ถ้าพิจารณาเงื่อนไขการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มบีอาร์เอ็นจะพบว่า มีการกำหนดเอาไว้ว่าการพูดคุยจะต้องกระทำโดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นก็น่าจะชัดแล้วว่า ยกเว้นเรื่องของการแยกดินแดนแล้วเรื่องอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญยอมให้ทำได้ย่อมเป็นไปได้ทั้งสิ้น หนทางเดินต่อไปในการแก้ปัญหา จึงไม่ใช่เรื่องลี้ลับพิสดารอันใด อยู่ที่ว่าจะเสนอกันแค่ไหนและองคาพยพต่าง ๆ ของรัฐไทยจะยอมรับกันได้หรือไม่เท่านั้น

ผู้เขียนเชื่อว่าข้อเสนอของกรรมาธิการฯ จะเป็นเพียงจุดตั้งต้นให้ฝ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ได้ต่อรองกัน อย่างน้อยที่สุดก็ในรัฐสภาซึ่งในเวลานี้เห็นชัดเจนว่าฝ่ายอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวกันอยู่ในกลุ่ม สว.และ สส.นั่นเองที่เกาะติดการทำงานแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลที่ผ่านมา