เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ในวาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง
ส่งผลให้ธงสีรุ้งโบกสะพัดไปทั่วผืน วิวาห์รักโอบล้อมไปด้วยความปิติยินดี
และการเดินทางของความรักบนหน้ากฎหมายก็ดำเนินมาถึงจุดที่วาดฝันไว้เสียที
แต่ภายใต้วิวาห์หลากสีนั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นต้องถกเถียงกันต่อ ไม่ว่าจะเป็นทุนฟอกรุ้ง (Rainbow Washing) โซ่ตรวนของ Sex Worker บนนโยบายรัฐ กระทั่งการถูกคุกคามและกระบวนการยุติธรรมสำหรับชุมชนเพศหลากหลาย
ซึ่งปฏิบัติการทางการเมืองเหล่านี้ล้วนสร้าง ‘พื้นที่แห่งความกลัว’ จนชุมชนเพศหลากหลายไม่อาจขับเคลื่อนการเมืองเรื่องเพศได้อย่างคล่องตัวนัก ซ้ำร้าย ปฏิบัติการเหล่านั้นได้ผลิตซ้ำมายาคติบางอย่าง ที่ฝังรากลึกในทัศนคติคนที่มีเพศสภาพชายหรือหญิง หรือกระทั่งคนในชุมชนเองก็ตาม
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา The Fort จัดวงเสวนา “เดอะฟอร์ทเสวนา ปกป้องสิทธิของชุมชนเพศหลากหลาย ก้าวต่อไปหลังสมรสเท่าเทียม” ที่ชวนคนในชุมชนเพศหลากหลายมาพูดถึง ‘ก้าวแรก’ ของกฎหมายอื่น ๆ ที่ว่าด้วยเรื่องเพศ
การเมืองเรื่องเพศของชุมชนเพศหลากหลาย
“นาทีนั้นผมจำได้เลย ตอนที่ผมบอกว่าผมเป็นผู้ชายข้ามเพศ … ผมสังเกตได้เลยว่าทุกคนตื่นเต้น ทุกคนตกใจ และรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใด คนที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงถึงมีรูปลักษณ์ที่เป็นผู้ชาย”
อาทิตยา อาษา ผู้ประสานงานเครือข่ายทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี เพื่อความเท่าเทียม หรือกลุ่ม TransEqual (Transmasculine Network for Equality) เล่าถึงบรรยากาศที่เขาได้ไปมีส่วนร่วมในฐานะกรรมาธิการในประเด็นสมรสเท่าเทียม ณ รัฐสภา
เขาอธิบายว่าการทำงานในฐานะกรรมาธิการของเขามีหน้าที่อยู่สองอย่าง หน้าที่แรกคือการเป็นตัวแทนในฐานะกรรมาธิการภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจว่าอัตลักษณ์ที่เรียกว่า ‘คนข้ามเพศ’ หรือ Transgender มีความหลากหลายมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องราวของชายข้ามเพศ
หน้าที่ถัดมา คือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) เพราะความไม่เข้าใจในอัตลักษณ์ดังกล่าว และชุดประสบการณ์ที่ต่างกันของผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ทำให้เรื่องราวของคนข้ามเพศยังติดอยู่ที่เกาะกลางถนน และมีอีกหลายเรื่องราวที่ยังไม่ถูกรับรอง
“หน้าที่ของผมคือการเปิดให้คนเห็นว่าผู้ชายข้ามเพศหน้าตาเป็นอย่างไรและมีชีวิตอย่างไร … ฉะนั้นพ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศฯ จะเป็นจุดเสริมให้สมรสเท่าเทียมโอบรับเรามากขึ้น”
ปัจจุบันมีร่างพ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศฯ เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างน้อย 3 ฉบับ
- ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT โดยภาคประชาชน
- ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
- ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ โดยพรรคก้าวไกล
ภาพจาก The Fort
“ถ้าคนเรารักกันจริงคำนำหน้านามไม่จำเป็นหรอกครับ เป็นกำแพงปิดกั้นความรัก ถ้าเรามัวแต่เอา นาย นาง นางสาวมาเป็นอุปสรรคปิดกั้นความรัก ผมมองว่ามันไม่ใช่ความรัก … สังคมควรเปลี่ยนเพื่อเรา หรือเราควรเปลี่ยนเพื่อสังคมกันแน่ …”
ความเห็นจากการอภิปรายของ ธีระชัย แสนแก้ว สส. แบบแบ่งเขตจากพรรคเพื่อไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสภามีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรอง เพศฯ) ที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
แม้ความเห็นดังกล่าวจะถูกสะท้อนออกมาจากความกังวลที่มีต่อโครงสร้างทางสังคมที่อาจเปลี่ยนไป ความสับสนของหน่วยงานราชการ พื้นฐานข้อมูลของประชาชน กระทั่งงบประมาณที่อาจบานปลาย แต่นั่นเพียงพอสำหรับการตัดสินคุณค่าของความรักและปฏิเสธข้อเรียกร้องของชุมชนเพศหลากหลายได้จริงหรือ?
อาทิตยาอธิบายถึงความสำคัญของกฎหมายที่ว่าด้วยการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศว่า มีคนในชุมชนหลายคนที่ปรารถนาที่จะสร้างครอบครัว ชายข้ามเพศหลายคนมีความรัก และสร้างความสัมพันธ์กับหญิงข้ามเพศ เขาทั้งสองก็ยืนยันที่จะมีลูกและสร้างครอบครัวร่วมกัน
หากตัวบทกฎหมายระบุไว้ว่า ‘หญิงมีครรภ์’ เท่านั้นที่จะได้สิทธิประการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ก็เท่ากับว่า ‘ชายข้ามเพศ’ ก็ไม่สามารถรับสิทธิเมื่อตั้งครรภ์ได้เลย
“คณะกรรมการวิสามัญและกรรมการภาคประชาสังคม ยืนยันว่าคำจะต้องเป็นกลางทางเพศ เช่น ให้ใช้คำว่า ‘บุคคลมีครรภ์’ เพื่อโอบรับชายข้ามเพศ ทอม เควียร์ นอน-ไบนารี่ ที่ต้องการตั้งครรภ์”
อาทิตยายกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ในเหตุการณ์ที่ชายข้ามเพศชาวไทยถูกสายการบินหนึ่งปฏิเสธการออกตั๋วเดินทางให้กับเขา เนื่องจากอัตลักษณ์ของเขาไม่ตรงกับภาพในหนังสือเดินทาง แม้เขาจะบอกกับเจ้าหน้าที่ของสายการบินว่าเขาเป็นชายข้ามเพศ และยืนยันว่าตนเองเดินทางระหว่างประเทศอยู่เป็นประจำ แต่สายการบินก็ยังยืนยันที่ปฏิเสธการออกตั๋วเดินทาง
ชายข้ามเพศคนดังกล่าวได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai เขารับรู้อัตลักษณ์ของตนว่าไม่ใช่ผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์และรูปร่างของตนเองมานับตั้งแต่ตอนนั้น ทว่าสิ่งเดียวที่ยังไม่เปลี่ยนคือคำนำหน้านามที่ระบุว่า ‘นางสาว’
อาทิตยายืนยันว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและลดทอนศักดิ์ศรีอย่างรุนแรง เขากล่าวเสริมอีกว่ามีบางกรณีที่ทรานส์เจนเดอร์ต้องเปลือยกายเพื่อตรวจสอบร่างกาย และบางครั้งก็ไม่สามารถเลือกเจ้าหน้าที่ตามที่ผู้ถูกตรวจต้องการได้
“มันไม่มีกฎหมายที่จะมาคุ้มครองเรา ทำให้เรากังวล ไม่มีความมั่นใจ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเรานะ แต่เกิดจากโครงสังคมที่ไม่มีกฎหมาย ทำให้เราไม่กล้าร้องเรียนที่เรื่องราวที่เราพบเจอ”
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่ข่าวชายข้ามเพศถูกปฏิเสธการเดินทางเผยแพร่ออกไป อาทิตยาได้มีโอกาสพูดคุยกับชายข้ามเพศคนดังกล่าว เขาบอกกับอาทิตยาว่าเขาโดนคุกคามบนโลกออนไลน์อย่างหนัก จนเขาต้องขอให้สำนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าว ถอดข่าวออกหรือปกปิดตัวตนของเขา
อาทิตยาอธิบายว่า คนข้ามเพศถูกเลือกปฎิบัติและถูกใช้ความรุนแรงเป็นจำนวนมาก จากการทำงานลงพื้นที่ทั้งในชุมชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เขาค้นพบว่าพื้นฐานของความรุนแรงเกิดจาก ‘เหตุแห่งเพศ’
ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุณครูขว้างแปรงลบกระดานใส่พร้อมพูดว่า ‘พวกเธอนี่มันน่าถีบจังเลย เพราะว่าเป็นพวกผิดเพศ’ หรืออย่างคำว่า ‘คึ’ ที่หมายความว่า ‘ต้นเหตุของภัยพิบัติ’ ซึ่งเป็นคำที่ทรานส์เจนเดอร์ในภาคเหนือได้ยินเป็นประจำ
และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ‘การล่วงละเมิดทางเพศ’ จากเพื่อนที่มีเพศกำเนิดตรงกันข้าม หลายครั้งรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล อาทิตยายืนยันว่าหลายเหตุการณ์มีต้นตอมาจากอคติ มายาคติ กระทั่งความเกลียดกลัวที่แฝงฝังอยู่ในเนื้อกายของมนุษย์ที่เติบโตมาในโลกสองเพศ และสิ่งเหล่านี้ยังคงทิ่มแทงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่
อาทิตยาเล่าว่าจากการทำงานในภูมิภาคต่าง ๆ เขาไม่พบการรวมตัวของกลุ่มทอม ทรานส์เจนเดอร์ นอนไบนารี่ หรือกลุ่มคนที่มีเพศกำเนิดหญิงแต่ไม่ได้เรียกตนเองว่าผู้หญิงเลย เพราะอัตลักษณ์ทับซ้อนและความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่รั้วบ้าน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต่างโดดเดี่ยว หลายคนบาดเจ็บทางจิตใจอย่างรุนแรง (Trauma) แต่ก็ไม่สามารถเยียวยาตนเองได้ เพราะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ
สำหรับอาทิตยาแล้ว หลักการสำคัญในการยืนยันการใช้พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ไม่ใช่กระบวนการทางการแพทย์ หากแต่เป็น ‘เจตจำนง’ ที่จะสร้างความเข้าใจทางเพศ หาใช่แค่ในกลุ่มของคนที่เป็น Straight แต่หมายรวมถึงคนเพศหลากหลายที่อยู่ในชุมชนด้วย
“ผมคิดว่าสิ่งนี้ (พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ฯ) เป็นหมุดหมายใหม่สำคัญ ที่เราจะต้องร่วมผลักดัน และสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อทำให้คนที่ไม่มีชุดประสบการณ์เดียวกับคนข้ามเพศ หรือไม่ได้นิยมตนเองตรงกับเพศกำเนิด เข้าใจว่ามันเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนควรจะได้รับ”
ปีศาจแห่งความกลัวในขบวนการเคลื่อนไหว
“แม้การคุกคามจะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ แต่ผลกระทบหลักคือการสร้างความหวาดกลัว ซึ่งมันเชื่อมโยงต่อความรุนแรงในชีวิตจริงอย่างมาก และเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในพื้นที่กายภาพ”
ขณะเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่าความรุนแรงทางเพศที่เกิดในปัจจุบัน มีสาเหตุหลักมาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่เสริมให้การคุกคามเกิดขึ้นได้ง่ายบนโลกออนไลน์ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มต้นทำงานวิจัย “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง (Being Ourselves is Too Dangerous) ” ที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการสอดแนมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ไม่ใช่
ชนาธิปอธิบายว่า งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นจากการคุยกับนักกิจกรรมผู้หญิงและนักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกว่า 40 คน แตกต่างหลากหลายทั้งในมิติของอัตลักษณ์ทางเพศ เยาวชน คนที่มาจากต่างจังหวัด กระทั่งคนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยข้อสรุปของงานชิ้นนี้พบรูปแบบการคุกคามบนโลกออนไลน์อยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน
รูปแบบแรกคือ การพุ่งเป้าสอดแนม ชนาธิปอธิบายว่ารูปแบบนี้จะพบมากในนักกิจกรรมถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะเคลื่อนไหวในเรื่องที่แหลม(คม) เช่น ประชาธิปไตย หรือการปฏิรูปสถาบันฯ โดยการพุ่งเป้าสอดแนมมีทั้งการแฮกบัญชีแพลตฟอร์มออนไลน์ของนักกิจกรรมคนนั้น ๆ แสดงตนว่าเป็นแฮกเกอร์ (Hacker) หรือเป็นกระบวนการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
รูปแบบถัดมา คือการคุกคามจากคนในโลกโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนักกิจกรรมต่างต้องเคยพบเจอทั้งการใช้ถ้อยคำด่าทอ การเหยียดเพศ การสร้างข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจากอคติทางเพศ กระทั่งการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อทำให้เหยื่อหวาดกลัว อับอาย ไปจนถึงการขู่เอาชีวิตและทำร้ายร่างกาย
ภาพจาก The Fort
“รากฐานของปัญหา คือ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หลายครั้งที่เหยื่อถูกคุกคาม บนโลกออนไลน์ เขารู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง ถ้าเกิดเรื่องขึ้น มันไม่มีที่ไหนที่เขาจะไปปรึกษาได้”
เส้นทางแสนตีบตันที่เกิดขึ้นนี้ ประการแรกเกิดขึ้นจากองค์ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ค่อนข้างต่ำ ประการถัดมาคือกลไกทางกฎหมายที่ล็อกเส้นทางการเข้าถึงการร้องเรียน
ชนาธิปยกมาตรา 17 (2) ของพ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เขาพบว่าในมาตราดังกล่าว มีข้อยกเว้นไม่ให้ร้องเรียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและศาสนา ทว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยของชนาธิปกว่า 40 คน ล้วนเข้าข่ายข้อยกเว้นนี้ทั้งสิ้น เท่ากับว่านักกิจกรรมทั้งหลายนี้ไม่อาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม
“คณะกรรมการสิทธิผู้หญิงที่ยูเอ็นก็เคยแนะนำรัฐบาลแล้วว่า ควรแก้ไขบทบัญญัตินี้ เพราะเป็นข้อยกเว้นที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม ถ้าปลดล็อกสิ่งนี้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่คนไม่สามารถเข้าถึงการร้องเรียนได้เยอะมาก”
ชนาธิปยกตัวอย่างขึ้นสองกรณี กรณีแรกคือนักกิจกรรมที่มีความหลากหลายทางเพศ ความหวาดกลัวของนักกิจกรรมกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่ที่พวกเขาเป็นเพศหลากหลายแล้วจะถูกสอดแนม แต่เป็นเพราะกังวลว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกนำไปใช้เพื่อบังคับให้เข้าเรือนจำ และพวกเขารู้สึกว่าเมื่อคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างเข้าเรือนจำ มีโอกาสที่จะถูกเลือกปฏิบัติและโดนล่วงละเมิดทางเพศสูงในพื้นที่เรือนจำ
และกรณีที่สองคือนักกิจกรรมเพศหลากหลายที่อยู่ในชุมชนมุสลิม ชนาธิปเล่าว่าเขามีโอกาสเข้าไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของนักกิจกรรมในพื้นที่ เขาพบว่าหลายคนที่เป็นนักกิจกรรมที่เพิ่งเริ่มเคลื่อนไหวในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสิ่งที่แลกมาจากการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง ก็คือคำขู่และการคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การส่งภาพมีด ภาพปืน และลูกปืนไปให้กับนักกิจกรรม
“น้อง ๆ เขาสะท้อนกับเราว่า คำขู่พวกนี้มันไม่ใช่แค่คำขู่นะ แต่ว่าเกิดขึ้นได้จริง ๆ เขาเล่าว่าเขาเห็นคนโดนทุบ โดนตี โดนล่ามโซ่อยู่ที่บ้านเพราะเป็นเพศหลากหลาย โดนส่งไปบำบัดที่โรงเรียนสอนศาสนา ทำให้น้องกลุ่มนี้แทบไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวเลย”
หลังการได้มาซึ่งสมรสเท่าเทียม ชนาธิปก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าว ก็พบว่าแม้จะมีสมรสเท่าเทียม ภาพความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศก็ยังไม่เลือนรางไป และพวกเขาก็ยังตกอยู่ในบรรยากาศของความกลัวเช่นเดิม
ชนาธิปเสริมอีกว่า การปฏิเสธกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกลุ่มฟากฝั่งอนุรักษนิยมเท่านั้น ทว่าก็เกิดขึ้นในฟากฝั่งที่นิยมประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการคุกคามต่าง ๆ มาจากหลายฝ่าย มีความซับซ้อนทางชุดความคิด ทำให้ประเด็นการคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ไม่เคยเก่าไปจากสังคม
“การคุกคามมันไม่ได้แค่ส่งผลกับคนที่เป็นเหยื่อโดยตรงเท่านั้น แต่คนที่เป็นประจักษ์พยานของการคุกคามนั้น ก็อาจหวาดกลัวไม่กล้าเคลื่อนไหว และส่งเสียงถึงเหตุการณ์นั้น ๆ”
รัฐ-ซ่อน-หาย Sex Worker
“พี่น้องของเรามีจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพหรือพื้นที่ต่าง ๆ แต่เรามักเจอข่าวว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐลงพื้นที่แล้วไม่พบการค้าประเวณี สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังจะทำให้คนที่ประกอบอาชีพค้าประเวณีหายไป”
อีกหนึ่งประเด็นที่อยู่ระหว่างข้อพิพาทในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อัจฉราภรณ์ ทองแฉล้ม สื่อสารองค์กรจากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) อธิบายว่า มีความพยายามในการขับเคลื่อนเรื่องพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) มาโดยตลอด
ทว่าด้วยบริบททางสังคมในห้วงเวลาก่อน อาจไม่เอื้อในการพูดบนพื้นที่สาธารณะเท่าไหร่นัก แต่ถึงขณะนี้สายลมจะเปลี่ยนทิศ ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายและการเคารพในอาชีพที่แตกต่างกำลังเติบโตขึ้น แต่เหล่าพนักงานบริการเหล่านี้กลับยังไม่ปรากฏในสายตาของรัฐไทย
อัจฉราภรณ์อธิบายว่า การปิดตาสองข้างของรัฐสะท้อนว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานบริการทางเพศ และไม่กล้าหาญพอที่จะให้สถานะหรือยอมรับแรงงานเหล่านี้ว่าเขา ‘กำลังประกอบอาชีพ’
“เขาคือคนหนึ่งที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น และเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ภาพจาก The Fort
จากการทำงานของ SWING พบว่าการมีอยู่ของพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มีไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อัจฉราภรณ์ยกตัวอย่างว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มยังคงใช้วิธีจับ ปรับ และให้โทษทางอาญา โดยข้อหาต่าง ๆ ก็มีเนื้อหาที่แปลกประหลาด บดบังทัศนียภาพของเมือง ค้าประเวณีในวันสำคัญทางพุทธศาสนา กระทั่งการจับโดยไม่มีหมายจับ (อัจฉราภรณ์ใช้คำว่า ‘ใบเสร็จ’)
กระทั่งพนักงานบริการทางเพศที่เป็นคนเพศหลากหลายบางคน ก็ถูกห้ามใช้บริการโรงแรมในพื้นที่นั้น ๆ อันเป็นเหตุมาจากอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการตั้งข้อหาอย่างเช่น ‘แต่งกายเลียนแบบสตรี’ เธอเล่าว่าจากทำงานในพื้นที่ก็พบกรณี เหล่านี้อยู่มากเช่นกัน
อัจฉราภรณ์ชี้ว่าข้อหาเหล่านี้ ได้ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการทางเพศ และเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม แม้พนักงานบริการทางเพศหลายคนจะภาคภูมิใจในอาชีพ ทว่าเขาก็ยังกังวลที่ใช้ชีวิตท่ามกลางกฎหมายดังกล่าว
“Sex Worker หลายคนกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนของเขามากขึ้น แต่ขณะที่บางคนมีความกังวล เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเปิดหน้าและบอกว่าเป็น Sex Worker สิ่งที่จะตามมาคือความรุนแรง
เธอยกตัวอย่างว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวทำให้การทำงานของทั้งพนักงานบริการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เต็มไปด้วยภาระ เพราะโครงข่ายของงานเหล่านี้เป็นประเภท ‘น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า’ กล่าวคือเจ้าหน้าที่ก็ต้องจับเพื่อทำยอด พนักงานบริการก็ต้องยอมให้จับกุมตามข้อกฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลอย่างต่อเนื่องกับคนตัวเล็กตัวน้อยมากกว่า ซึ่งอัจฉราภรณ์มองว่ามันไม่เป็นธรรมทั้งต่อพนักงานบริการทางเพศและเจ้าหน้าที่
สำหรับอัจฉราภรณ์แล้ว รัฐต้องมองว่า ‘อาชีพพนักงานบริการ’ คืออาชีพที่มีคุณค่าไม่แพ้งานอื่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริการทางเพศหญิง เพศหลากหลาย หรือว่าชาย รัฐต้องให้ความคุ้มครองพวกเขาในฐานะแรงงาน ซึ่งการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้จะปลดล็อกเส้นทางของพนักงานบริการทางเพศ ตามมาด้วยสวัสดิการในทุกมิติ และความมั่นคงในชีวิตข้างหน้า
ปัจจุบันสามารถประมาณการได้ว่าพนักงานบริการทางเพศในประเทศไทยมีอยู่ราว 260,000 คน ทว่าหากจะแบ่งย่อยลงไปเป็นชายหรือหญิงก็ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดนัก หรือหากแบ่งละเอียดถึงขั้นว่าเป็นชายข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ หรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเฉดอื่น ๆ นั้นยิ่งยากเข้าไปใหญ่
ฉะนั้น การเก็บรวบรวมข้อมูลของพนักงานบริการทางเพศที่ถูกจับโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็สำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้คือ ‘หลักฐาน’ เพื่อยืนยันว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่จริง และยกระดับกลไกการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานบริการทางเพศ
“ประโยชน์มันไม่ได้ตกอยู่ที่ Sex Worker เพียงอย่างเดียว แต่มันจะช่วยปลดล็อกเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ทำให้พนักงานบริการทางเพศต้องเป็นภาระงานให้กับพวกเขา … และทำให้ Sex Worker มีอำนาจในการต่อรองเพิ่มขึ้น และเมื่อไหร่ที่เขาถูกละเมิด เขาจะต้องได้รับความเป็นธรรม”
ฟอกรุ้ง? ในวันที่เดือนไพรด์เงินสะพัด
“ภาพจำของสื่อกระแสหลักมองงานไพรด์เป็นเม็ดเงิน และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ขณะเดียวกันเราต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่า สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นผลดีหรือผลเสียในระยะยาว”
ท่ามกลางขบวนไพรด์พาเหรดที่ผ่านมา เสียงการโห่ร้องของความปิติยินดีเคล้าคลอไปกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาของกลุ่มทุนในขบวนสีรุ้ง ณัฐพร เทพานนท์ ศิลปิน นักสร้างสรรค์เนื้อหา และเยาวชนเพศหลากหลาย ชี้ให้เห็นว่าการขายภาพลักษณ์ของกลุ่มทุนว่าเป็นผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ หรือ ‘การฟอกรุ้ง’ กำลังขยายตัวขึ้นในขบวนไพรด์
ณัฐพรอธิบายว่าคำว่า การฟอกรุ้งหรือทุนนิยมสีรุ้งก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในวงสนทนา ว่าหน้าตาของมัน กรอบ หรือเส้นคั่นอยู่ที่ส่วนใด แต่เราอาจแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ หนึ่งกลุ่มบริษัทที่ไม่เคยมีประวัติสนับสนุนสิทธิเพศหลากหลายมาก่อน สองกลุ่มบริษัทที่มีต่อต้านคนเพศหลากหลาย เช่น ไม่รับคนข้ามเพศเข้าทำงาน หรือมีการเลือกปฏิบัติในมิติต่าง ๆ
ภาพจาก The Fort
ณัฐพรยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจสำคัญก็คือ ธุรกิจสื่อ เธอได้มีโอกาสไปเวทีวิชาการของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โรงเรียนภาคฤดูร้อน (Summer School) ในหัวข้อ “สตรีนิยม ความเสมอภาค และเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ศึกษา” (Feminism, Equality and Southeast Asian Studies)
เธอเล่าว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมในโครงการที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ความฝันของเกย์’ ผู้วิจัยเล่าว่าเขาไม่เคยฝันถึงการแต่งงานเลย และการได้มาซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้เขาตระหนักได้ว่าการนำเสนอของสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการรับรู้ถึงสิทธิของตนเอง
ผู้วิจัยคนดังกล่าวยกตัวอย่างว่า มีสื่อเจ้าหนึ่งเลือกใช้คำว่า ‘สร้างฝัน’ หลังจากที่กฎหมายสมรสเท่า เทียมผ่าน ซึ่งทีมผู้วิจัยและณัฐพรมองว่า คำง่าย ๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ทรงพลังมาก แม้จะเป็น คำสั้น ๆ แต่ก็สามารถทำให้เราเห็นว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศจะต้องก้าวผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง เพราะสื่อมีอำนาจนำพาให้สังคมรับรู้จุดต้น ระหว่างทาง และปลายทางของชุมชนเพศหลากหลายได้“
“แทนที่จะผลิตสื่อที่ไม่เป็นความจริง บิดเบือน ผลิตซ้ำกรอบสองเพศ สิ่งเหล่านี้ล้วนผลิตซ้ำและตีตราตัวตนของชุมชนเพศหลากหลาย ฉะนั้นจะต้องมีการทบทวนบทบาทสื่อว่า จะนำเสนอภาพของชุมชนออกไปอย่างไรอย่างสมบูรณ์ที่สุด”
และกลุ่มสุดท้ายที่เป็นที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้าง คือกลุ่มบริษัทที่มีปัญหาด้านจริยธรรมอื่น ๆ เช่น จริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม จริยธรรมด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ณัฐพรอธิบายต่อว่าการสนับสนุนขบวนไพรด์ไม่ควรมองแค่เรื่องเม็ดเงินเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องมองไปถึงเรื่อง อัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) ด้วย
หากมองหลักการของอัตลักษณ์ทับซ้อนในมนุษย์ กล่าวคือมนุษย์คนหนึ่งอาจเป็นเพศหลากหลายอยู่ในชนชั้นแรงงาน เกิดและเติบโตในพื้นที่นอกเมืองหลวง ทำให้การแนวทางการแก้ไขเยียวยานั้นซับซ้อนขึ้นไปด้วย ซึ่งหากนำหลักการดังกล่าวมาใช้ในการเข้ามาของกลุ่มทุนในขบวนไพรด์ กลุ่มทุนดังกล่าวอาจเคยละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชนบางประการ ฉะนั้นการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศของบริษัท อาจเป็นเพียงการชะล้างความผิดบาปด้วยสีรุ้งก็ได้
“บางบริษัทอาจเคยขุดเหมืองระเบิดภูเขาเผาข้าวโพด แต่ว่าตอนนี้มาชูธงสีรุ้ง เรามองว่าต้องจับตามองเรื่องนี้ เพราะแม้เราไม่สามารถหลีกหนีทุนนิยม แต่เราสามารถตั้งคำถามถึงมันในอนาคตได้”
รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยประกาศไว้ว่าจะให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายเท่าเทียม และพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจเพื่อรองรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตั้งเป้าหมายใหญ่ในการเป็นเจ้าภาพ World Pride ปี 2573
ทว่าภายใต้แผนเศรษฐกิจสีรุ้งนี้ ยังมีโครงสร้างอีกหลายอย่างที่ยังไม่ถูกพัฒนาจนเข้าที่ อย่างเช่น สี่กลุ่มประเด็นนี้ที่กล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มต้นของบทความ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่อยู่ในอันดับ 54 จากการสำรวจของ Gay Travel Index 2024 ที่ว่าด้วยเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกระทั่งอุตสาหกรรมสุขภาพไทย ที่อาจยังไม่ครอบคลุมเฉดของความหลากหลายทางเพศ หรือบริการต่าง ๆ ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เช่น บริการด้านสุขภาพจิต หรือการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเพศโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด
ณัฐพรย้ำว่าสามเสาหลักนี้จะต้องบูรณาการการทำงานให้ทันกับสายธารความคิดของสังคมด้วย ซึ่งบทบาทของรัฐบาลจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้การสอดประสานระหว่างภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เกิดขึ้นได้จริง
“ภาครัฐก็เป็นหนึ่งในคนที่ใช้คำว่าเศรษฐกิจสีรุ้ง เป็นหนึ่งในซอฟพาวเวอร์ของเขา ภาครัฐต้องตระหนักด้วยว่าเป็นการกระทำที่ฉาบฉวยรึเปล่า เราให้ความสำคัญจริง ๆ หรือมองเห็นเพียงว่าเขาเป็นกลุ่มคนที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศเท่านั้น”
แม้ผู้เขียนจะกล่าวไว้ในช่วงแรกของบทความว่าเป็น ‘ก้าวแรก’ ของกฎหมายอื่นนอกจากสมรสเท่า เทียม ทว่าเบื้องหลังก้าวแรกนั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวด หยาดเหงื่อ และการต่อสู้ของชุมชนเพศ หลากหลายที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน
สำหรับผู้เขียน แม้สมรสเท่าเทียมสำเร็จได้จากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน และการยกมือ โหวตของตัวแทนประชาชนในรัฐสภา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มองว่ากฎหมายเรื่องเพศต่าง ๆ เป็น ‘สิทธิ์ที่ควรจะได้รับ’ ซ้ำร้าย ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายบางคนก็มองว่ามันเป็นสิทธิ์ที่รัฐ ‘อุตสาห์’ หาให้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้นก็จะยิ่งตอกย้ำ ‘ความเป็นอื่นของชุมชนเพศหลากหลาย’
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของสำนึกทางอัตลักษณ์ทางเพศ การคุกคามกลุ่มนักเคลื่อนไหว เรื่องของพนักงานบริการทางเพศ กระทั่งกลุ่มทุนฟอกรุ้ง ปมปัญหาเหล่านี้ถูกถักทอขึ้นผ่าน ความเป็นอื่นที่สังคมสร้างให้กับคนเพศหลากหลาย และถูกผลิตซ้ำต่อเนื่องแม้กระทั่งในห้วงเวลานี้
ฉะนั้นอย่างน้อยที่สุด ในฐานะผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิด (Straight) การตั้งคำถามและรับรู้ถึง ‘สิทธิที่มากกว่า’ ระหว่างชาย หญิง และคนเพศหลากหลาย จะเป็นกลไกสำคัญที่ขจัดแนวคิดของความเป็นอื่นออกไปจากทัศนะของสังคมไทย ทำให้การกำหนดนโยบายเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากฐานรากและเจ้าของเรื่องราว และทำให้ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพูดคุยเรื่องเพศเกิดขึ้นอย่างแท้จริง