บนลู่วิ่ง 128,628 กิโลเมตรของชีวิต - Decode
Reading Time: 4 minutes

ตุ้บ ตุ้บ แฮ่ก แฮ่ก

เสียงฝีเท้ากับลมหายใจหอบเหนื่อยในเช้าวันเสาร์ ดังสลับกับการแจ้งเตือนของนาฬิกาสมาร์ทวอช

เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผมตัดสินใจออกวิ่งอีกครั้งด้วยเหตุผลหลายปัจจัย แม้หลังช่วงล่างจะรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าวันแรก ๆ ที่เริ่มใส่รองเท้า HOKA MACH 5 มือสอง แต่สถิติยังบอกว่าผมยังเป็นนักวิ่งมือใหม่ ที่ 5 กิโลเมตร ทำเวลาอยู่ที่ 52.47 นาที หรือ PACE 14-15

ความเร็วที่ว่า หากเรียกตัวเองว่านักวิ่ง คงจะไม่นับเป็นการวอร์มด้วยซ้ำ

แต่คงเพราะว่าผมไม่ใช่นักวิ่ง การเคลื่อนที่ในอัตราความเร็วดังกล่าวจากจุด A ไปถึงจุด B และวนมาจุดเดิมอีกครั้งนับ 10 รอบในช่วงเช้า 4 วัน/สัปดาห์ ทำให้การวิ่งพาผมไปเจออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าสถิติแต่เหมือนยิ่งถูกทดสอบเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าเมื่อออกวิ่งอัตราการเต้นหัวใจจะต้องสูบฉีดในโซน 6

ลมหายใจหอบแรง เสื้อและกางเกงที่เปียกเหงื่อ การวิ่งบนถนนเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอาจไม่ต่างจากการวิ่งตามหาอะไรสักอย่างในชีวิต ที่เรียกกันว่าความสำเร็จ

BORN TO RUN คือชื่อหนังสือสารคดีกีฬา ‘วิ่ง’ 3 ประเภท โดยฐิติพันธ์ พัฒนมงคล สารคดีเขียนที่บอกเล่าถึงพื้นผิวทั้งเรียบและขรุขระไม่ได้มีไว้แค่เดินทางจากจุด A ไปยังจุด B แต่ยังมีไว้เพื่อทดสอบหัวใจคน

ทันทีที่ผมได้เริ่มออกวิ่งด้วยตัวเอง ก็ได้ค้นพบว่า เราทุกคนต่างเกิดมาเพื่อวิ่ง เพียงแค่ลู่วิ่งของเราพื้นผิวแตกต่างกันออกไป

ไมโลแห่งครอตัน มูราคามิแห่งอาทิตย์อุทัย

Dean Karnazes กล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณต้องการจะวิ่งให้วิ่งสัก 1 ไมล์ ถ้าคุณต้องการมีชีวิตใหม่ให้วิ่งมาราธอน แต่ถ้าต้องการคุยกับพระเจ้าให้วิ่งอัลตร้าเทรล”

แม้ว่าในทางกีฬา มักจะเห็นผู้เล่นที่ถูกนิยามว่า ‘ผู้เล่นพรสรรค์’ แต่กับการวิ่งทางไกล การมีร่างกายอย่างพรสวรรค์เพียงอย่างเดียวมีแต่จะได้ไปคุยกับพระเจ้า

ทักษะพรแสวงจึงเป็นทางเลือกเดียวสำหรับนักวิ่งที่ไม่ได้เพียงแต่อดทน แต่ยังต้องมากพอและต้องมีแบบแผนอย่างชัดเจน และพรแสวงดังกล่าวสำหรับผมในด้านการวิ่ง คงเป็นไมโลและลุงมู ที่ทำให้เห็นว่าหลังอดทนมากพอ เราจะพบอะไรบางอย่างที่มากกว่าตัวเลขในเส้นชัย

ทฤษฎีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับไมโลหวานข้นหน้าโรงเรียน แต่เป็นไมโลแห่งครอตันต่างหาก 

ราว 532-516 ปีก่อนคริสตกาล ณ เมืองครอตันซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรกรีกโบราณ (ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี) มีชายคนหนึ่งนามว่าไมโล มุ่งมั่นฝึกซ้อมร่างกายให้แข็งแกร่งเพื่อลงแข่งมวยปล้ำ กีฬาโบราณที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น

มีบางตำนานกล่าวว่า ไมโลเป็นคนตัวเล็กจนถูกเพื่อนหัวเราะเยาะ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ มุมานะฝึกซ้อม หาทางพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงใหญ่โต ไมโลพยายามฝึกฝนด้วยวีธีการต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในวิธีที่เขาเลือกใช้ในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ร่างกายคือการแบกของหนัก

สิ่งที่เขาแบกไม่ใช่ข้าวของธรรมดา หากแต่เป็นลูกวัวที่มีชีวิต

ในแต่ละวันไมโลมักจะอุ้มลูกวัวและยกขึ้นเหนือศีรษะ วางพาดบ่า แล้วออกเดินไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ไมโลทำแบบนี้เป็นประจำตลอดระยะเวลา 4 ปี วันเดือนเคลื่อนผ่าน ลูกวัวเติบใหญ่ จากลูกวัวแรกเกิดที่มีน้ำหนัก 13-15 กิโลกรัม กลายเป็นวัวตัวโตน้ำหนักร่วม 600 กิโลกรัม ระหว่างนั้นร่างกายของไมโลก็ค่อย ๆ มีพัฒนาการใหญ่โตแข็งแรงขึ้นตามน้ำหนักวัวที่เขาค่อย ๆ แบกเพิ่มขึ้นทีละน้อย

ไมโลไม่ได้ยกลูกวัวแรกเกิดแล้วเปลี่ยนมายกแม่วัวตัวใหญ่ในทันที แต่เลือกเพิ่มความทนทรหดแก่ร่างกายทีละน้อยอย่างใจเย็น ไม่หักโหม ไม่ผลีผลาม เขาเลือกทำเป็นประจำสม่ำเสมอ สะสมความเข้มข้นของการฝึกซ้อมตามน้ำหนักวัวที่เพิ่มขึ้น

ในที่สุดความฝันของเขาก็เป็นจริง ไมโลได้เป็นนักมวยปล้ำสมใจ และก้าวไปเป็นแชมป์มวยปล้ำในยุคโอลิมปิกโบราณถึง 6 สมัยซ้อน ชนะเลิศการแข่งขันมวยปล้ำอื่น ๆ อีกหลายรายการ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคโบราณ

หลายพันปีผ่านไป ชื่อของไมโลไม่ได้ยิ่งใหญ่ในฐานะนักมวยปล้ำ แต่เรื่องราวของไมโลที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้คือเทคนิคการฝึกซ้อมเพื่อเคี่ยวกรำตัวเองที่ไม่เหมือนใคร และเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่นักวิ่งและนักกีฬาทั่วโลกใช้ประยุกต์กับการฝึกในแต่ละวัน

ทฤษฎีนี้ยังถูกพูดถึงในหนังสือ ‘เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง’ ของฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่การวิ่งคือส่วนผสมสำคัญในตัวอักษรที่มีชีวิตของเขาพอ ๆ กับตาน้ำของชีวิตที่ผลักดันให้เขาออกวิ่งแม้จะช้ากว่าคนอื่น

มูราคามิเริ่มวิ่งเมื่ออายุ 33 ปี เพื่อเปลี่ยนชีวิตตัวเองใหม่จากเจ้าของธุรกิจบาร์แจ๊ซสู่นักเขียนอาชีพ และเลิกสูบบุหรี่ภายในเวลาไม่กี่เดือน เขาก็ 40 ปี ร่วมแข่งระยะ 15 กิโลเมตร และขยับเป็น 42 กิโลเมตร จนสามารถทำเวลาในการวิ่งมาราธอนราว 3 ชั่วโมง 40 กว่านาทีในช่วงวัย เขาเข้าร่วมวิ่งในรายการใหญ่ ๆ ของโลกเฉลี่ยปีละครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี

การวิ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มูราคามิเขียนหนังสือได้ต่อเนื่อง โดยในเรื่องนี้เขาอธิบายตัวเองไว้ว่า เขาไม่ใช่นักเขียนที่เปี่ยมพรสวรรค์ สามารถเข้าถึงสายแร่แห่งวรรณกรรมได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ 

ในทางตรงข้าม เขาเป็นนักเขียนที่เคี่ยวกรำตัวเอง และอึดมากพอจนค้นพบพลังจากตัวอักษรได้ ความแกร่งทางร่างกายกับทางจิตใจนั้นได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ความอึดของหนังสือเล่มหนามีความทนทานกับการวิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตรสำหรับคนที่สูบบุหรี่มาทั้งชีวิต

“(เหล่านักเขียน) พวกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ ขุดพื้นดินใต้ฝ่าเท้าด้วยพลั่ว ตักดินออกจากหลุมจนกลายเป็นบ่อลึก ขุดลงไปพบสายธารใต้ดินที่ซ่อนอยู่ลึก อาจเรียกว่าโชค แต่สิ่งที่นำคนผู้นั้นมาพบโชคได้ จะเป็นการฝึกอย่างหนักเพื่อให้มีความแกร่งมากพอ และขุดต่อเนื่องยาวนานมากพอ”

ในโลกของการวิ่งที่ซ้อนไปด้วยการพิสูจน์ตัวเองของมูราคามิและไมโล เรื่องนี้ที่ดูจะเป็นตำนานแต่ได้กลายมาเป็นทฤษฎีที่นักกีฬาประเภทอื่น ๆ ก็ใช้กันทั่วโลก หรือการขูดรีดพิษนิสัยเดิมด้วยวินัยของมูราคามิ และได้ผลิดอกออกผลเป็นงานเขียนทรงคุณค่าหลายเล่ม

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้นับเป็นวรรณกรรมแบบฉบับที่มูราคามิเขียนเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นอื่น แต่การเปลือยเปล่าผ่านตัวอักษรบนลู่วิ่งทั่วโลกของเขา ได้กลายมาเป็นการจุดกระแสการวิ่งให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้คนได้ขับพิษในชีวิตออกไปด้วยการวิ่ง

กว่า 30 ปีที่มูราคามิออกวิ่งในรายการวิ่งระดับโลกและน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 40 เท่าของลูกวัวที่ไมโลยกแต่ละวัน ระยะทางที่พวกเขาใช้เพื่อออกวิ่งเพื่อพิสูจน์ตัวเองนั้นไม่ได้มีคุณค่าว่าพวกเขาชนะใครบ้าง ในโลกของพวกเขา การผลิบานช้าไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผลิบานต่างหาก

ในโลกของการวิ่งที่ PACE 15 ผมค่อย ๆ เขยิบมา PACE 12 และ 10 โดยตั้งเป้าไว้ว่าผมจะพยายามวิ่งให้ได้ระยะจ๊อกกิ้งของนักวิ่งยูทูปเบอร์ที่ติดตามอยู่ในความเร็ว PACE 7-8

การวิ่งของผมไม่ได้ยากเหมือนกับมูราคามิและยกน้ำหนักของไมโล เพียงแค่วินัยและความสม่ำเสมอในการวิ่งสัปดาห์ละ 4 วัน แค่ต้องทำมันอย่างนั้น ซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ในเป้าหมายลู่วิ่งพื้นกรวดไม่ได้มีทางลัด สัญญานเตือนถึงตัวเลข PACE 7 ที่อยากให้ไปถึงกำลังสื่อสารกับผมอยู่เสมอว่าคุณอดทนได้มากพอหรือเปล่าที่จะไปถึงตรงนั้น

และความอดทนนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่เกิดจากการสร้างและวางแผนด้วยความตั้งใจ

ในเช้าวันอังคารก่อนประชุม ราวกับว่าเสียงเตือนเป้าหมายของการวิ่งในวันนั้น ไม่ได้บอกถึงเป้าหมายในการวิ่งของผมเพียงอย่างเดียว

อินเตอร์ไฮ ลานตะกร้อชุมชน และลีกฟุตบอล อบต.

ในการวิ่งเราอาจต้องเอาชนะโลกภายในของตนเอง แล้วถ้าเราต้องการชนะในโลกการกีฬา ที่จำเป็นจะต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ คงต้องกลับมาถามว่าแล้วประเทศไทยสร้างการออกแบบเพื่อเหรียญรางวัลไว้อย่างไร

ไม่พูดถึงในช่วงนี้คงไม่ได้ กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ซึ่งในปีนี้เป็นมหกรรมที่ยังคงไว้ซึ่งความหวังและเต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมายในโลกสมัยใหม่

แม้ว่าการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชายเดี่ยว เทพบิว-ภูริพล จะไม่ได้รับเหรียญรางวัลใด ๆ แต่ฟอร์มและอายุที่ยังน้อย(20 ปี) นี่อาจเป็นอีกความหวังที่โลกของการวิ่งลู่จะมีคนไทยขึ้นไปสู่ระดับโลกเช่นกัน

ความหวังว่าเราจะได้เห็นความประสบความสำเร็จของชาติในรายการที่มีนานาชาติมาแข่งมากที่สุด แต่คำถามคือเรามีการซัปพอร์ตที่ดีแค่ไหน ถึงสามารถคาดหวังว่าเหรียญรางวัลนั้นจะตกเป็นของประเทศไทย

แบบแผนหนึ่งที่น่าสนใจคือลีกกีฬาเยาวชนของประเทศญี่ปุ่นอย่างอินเตอร์ไฮ หลายคนอาจจะได้ยินชื่อนี้จากมังงะกีฬาดัง ๆ อย่าง ไฮคิว, สแลมดังค์ หรือโอตาคุน่องเหล็ก แต่ความยิ่งใหญ่ของอินเตอร์ไฮในการ์ตูนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่ความไฮป์แบบฉบับโชเน็น แต่มันกลายเป็นการสร้างชาติและผลผลิตหลังสงครามอีกด้วย

ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนญี่ปุ่นทั้งประเทศต่างรู้สึกหดหู่และสิ้นหวัง กับความพังพินาศย่อยยับไปทั่วแผ่นดิน พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องจับมือร่วมกันฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ศูนย์อีกครั้ง

และจากการที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้สงครามถูก สหรัฐอเมริกา ผู้ชนะเข้ามาวางรากฐานของประเทศใหม่ทั้งหมด ทำให้กีฬายอดฮิตของอเมริกา เช่น เบสบอล หรือบาสเก็ตบอล ที่แม้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กีฬาดังกล่าวจะเริ่มตบเท้าเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นบ้างแล้ว แต่ผู้คนก็ยังไม่ได้นิยมชมชอบที่จะเล่นเท่าไร ก็ได้ถูกหยิบมาปัดฝุ่นและกลายเป็นกีฬาที่คนญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น

ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ได้นำกีฬามาเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงผลักดันและขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในประเทศให้ลุกขึ้นสู้และช่วยกันฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่ โดยทุกภาคส่วนของหน่วยงานภาครัฐจะรณรงค์และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับการให้ประชาชนได้เล่นกีฬาเพื่อเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำจากผลกระทบของสงคราม และนโยบายดังกล่าวมันก็ได้ผลเป็นอย่างดีต่อประเทศ 

การส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเล่นกีฬาของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเป็นจุดที่ทำให้ทุกโรงเรียนในญี่ปุ่น ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ชมรม” ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามกฎของกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ที่ระบุเอาไว้ ซึ่งชมรมกีฬาเองก็เป็นหนึ่งในชมรมเหล่านั้น

หนี่งในการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือการแข่งขันกีฬาที่ได้รับการยกย่องจากเด็กมัธยมปลายทั่วประเทศญี่ปุ่นให้เป็นทัวร์นาเมนต์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพวกเขาอย่าง “อินเตอร์ไฮ” ในปี 1963

ในโลกปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงถูกมองเป็นประเทศจากเอเชียในโลกกีฬา กล่าวคือ ตัวเล็ก กายภาพสู้ไม่ได้ แต่ในผลงานต่าง ๆ โดยเฉพาะโอลิมปิก 2024 หลากหลายกีฬาที่ญี่ปุ่นพิสูจน์แล้วว่าที่ยืนบนเวทีโลกกีฬาของพวกเขาต่างจากยุคสงครามโลกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกีฬาบาสเก็ตบอลก่อนที่ทีมฝรั่งเศสซึ่งมีผู้เล่นหลายคนมาจากลีก NBA จะเฉือนคว้าชัยไปได้เพียง 4 แต้ม

ในขณะเดียวกันผู้เล่นแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง ยูกิ คาวามูระ ที่สูงเพียง 177 เซนติเมตร ก็สามารถยิงแสกหน้าและมุดเข้าไปวางห่วงต่อ วิกเตอร์ เวมบันยามา จากทีมฝรั่งเศสซึ่งเป็นดาวรุ่งของ NBA สูง 223 เซนติเมตรไปได้ แล้วจบสกอร์ด้วยดับเบิ้ล ดับเบิ้ล(สามารถทำสถิติในเกมได้ 2 ด้าน ในเลข 2 หลัก)

ญี่ปุ่นทำให้เราเห็นว่าการสร้างพื้นที่ในเวทีกีฬาโลก ไม่เพียงแต่แผนการซ้อมอย่างเป็นแบบแผนและหวังผลได้อย่างมูราคามิและไมโล แต่จากผลผลิตการรวมกลุ่ม มาจนถึงผลพวงจากสงครามโลก ญี่ปุ่นได้สร้างนิสัยในการหาพื้นที่ในเวทีนี้ ผ่านการสร้างระบบชมรมที่สามารถปลุกปั้น เพิ่มเวลาการเจียระไนเพชรเม็ดงามตั้งแต่ยังเล็ก และยังรองรับด้วยลีกเยาวชนเพื่อต่อยอดไปลีกมืออาชีพไปจนถึงการส่งออกนักกีฬาในลีกใหญ่ทั่วโลก

แน่นอน ประเทศไทยเราก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะบ้านทองหยอดที่วิว-กุลวุฒิและเมย์-รัชนก สามารถไต่ไปถึงระดับท็อปของโลกในกีฬาแบดมินตัน ทั้งหมดผ่านการออกแบบของอะคาเดมีเพื่อเจียระไนเพชรเม็ดงามให้โชติช่วงมากที่สุด

แต่คำถามคือ เราอาจกำลังทิ้งเพชรอีกหลายเม็ดหรือเปล่า ท่ามกลางกีฬาอีกหลายประเภท ทักษะอีกหลายแขนง จากการไร้ซึ่งการออกแบบ ‘นิสัย’ ผ่านโครงสร้างระดับประเทศ

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเพชรเม็ดงามอย่างวิวหรือเมย์ได้ ที่อะคาเดมีมาตรฐานนานาชาติอย่างบ้านทองหยอดจะคัดสรรไปพัฒนา แต่ผลผลิตของการสร้างนิสัยนี้ไม่ได้มีแค่เหรียญรางวัล แต่ยังหมายถึงคุณภาพชีวิตด้วยเช่นกัน

อินเตอร์ไฮเป็นการผลิดอกของความฝันในญี่ปุ่นสมัยใหม่กว่า 40 ปี อินเตอร์ได้สร้างนักกีฬาระดับนานาชาติของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันนักเรียนฝ่ายออกแบบเสื้อผ้าก็สามารถนำพอร์มไปยื่นมหาวิทยาลัยได้ นักเรียนชมรมดนตรีก็สามารถโชว์ความสามารถในมหกรรมระดับชาติได้

ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเป็นนักกีฬาต่อไป แต่ทุกคนยังสามารถอยู่ในอุุตสาหกรรมกีฬาได้ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว สตาฟ โค้ช นักกายภาพ หรือกระทั่งคนเชียร์ที่สามารถเป็นความสุขในสุดสัปดาห์

การสร้างวินัยของโครงสร้างประเทศแบบญี่ปุ่น จึงไม่ใช่แค่การออกแบบเพื่อผลิตนักกีฬาที่คว้าเหรียญได้ แต่เพื่อผลิตสังคมซึ่งเป็นรากฐานของนักกีฬาเหล่านั้นและประชากรกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์และมีความฝันร่วมกันได้ต่างหาก

หากพูดถึงลีกเยาวชนสักกีฬา ผู้คนจะนึกถึงกันกี่ชื่อ กี่กีฬา กี่โรงเรียน กี่สถาบัน กี่สื่อ กี่สวนสาธารณะ กี่สนามกีฬาสาธารณะ กี่ถ้วยรางวัลระดับชุมชน ระดับจังหวัด หรือลีกระดับประเทศและกี่ปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนให้นักกีฬาไทยมีพื้นที่เวทีโลก และยังไม่นับรวมสวัสดิการที่จะสามารถดูแลและจูงใจให้ประชากรได้สร้างผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ

หากยังนึกไม่ออก คำถามที่เราอาจต้องถามกันมากกว่านี้
คือเรากำลังสนับสนุนเหรียญรางวัลหรือเราต้องสนับสนุนนักกีฬาที่มีความฝันอยากคว้าเหรียญรางวัล มากกว่ากัน

เราต่างเกิดมาเพื่อวิ่ง

แม้ผมจะกล่าวว่าการออกวิ่งในครั้งนี้จะประกอบได้ด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก การเสริมสร้างความทนทานในการทำงาน การเพิ่มประสิทธิภาพด้านอื่นในชีวิต การยกระดับผลตรวจสุขภาพประจำปี

แต่เหตุผลข้างต้น เป็นชุดความคิดที่ค้างไว้นานหลายปี ก่อนที่เหตุผลหลักอย่างใช้เวลาร่วมกับแม่จะเป็นสัญญานปืนแก็บให้ผมสตาร์ทออกตัวในทางวิ่งสวนรถไฟอย่างจริงจัง

ในการวิ่งทำให้ผมค้นพบหลาย ๆ อย่าง อย่างอาการปวดก้นกบอย่างรุนแรงเพราะวิ่งไม่ถูกท่า การสรรหาพอดแคสต์ใหม่ ๆ มาฟัง รวมไปถึงการใช้เวลาวันหยุดไปกับครอบครัวแทนที่จะนอนหลับปุ๋ยทั้งวันเพราะหมดแรงจากทั้งสัปดาห์

ไม่ต่างจากการหยิบจับหนังสือเล่มนี้จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เพราะในช่วงวัยหนึ่งในฐานะนักเขียนสารคดีแต่ต่างกันตรงที่พี่เต้ย(ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้)เป็นครูและผมเป็นนักเรียน สารคดีชิ้นนั้นผมโดนวงแดงทั้งหน้า เลยทำให้ผมพยายามหาอ่านงานของเขามากขึ้นเพื่อเรียนรู้ เพราะผมเคยอ่านแต่งานสายสิ่งแวดล้อม แต่ไม่เคยอ่านสารคดีกีฬา ซึ่งมีน้อยยิ่งในบ้านเรา นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผม หนังสือสารคดี และรองเท้า HOKA MACH 5 มาพบกัน Sweetie

นั่นทำให้ค้นพบเหตุผลในการวิ่งครั้งใหม่ บนลู่วิ่ง 128,628 กิโลเมตรของชีวิต

ตลอดชีวิตมนุษย์เรา เฉลี่ยแล้วเดินคนละ 183,755,600 ก้าว หากเราเดินเฉลี่ยก้าวละ 0.7 เมตร คุณจะเดินได้ทั้งสิ้น 128,628.92 กิโลเมตร
โลกของเรามีเส้นรอบวงประมาณ 40,000 กิโลเมตร ฉะนั้นแล้วตลอดชีวิตของเราจึงสามารถเดินรอบโลก ประมาณ 3 รอบ ได้อย่างสบาย ๆ และมีเหลือให้เดิน จาก เชียงราย-ยะลา ไปกลับได้อีก 2 เที่ยว
แต่เกือบ 200,000 กว่าก้าวนั้น เราไม่ได้ต้องเดินรอบโลกถึง 3 รอบ เพราะในลู่วิ่งตลอดอายุขัยของมนุษย์นั้นช่างท้าทาย สับสน ตื่นเต้น และยากที่จะหาคำตอบกว่ารายการอัลตร้าแห่งไหน ๆ

ฉัตรชัย อนันต์ภัทรชัย นักวิ่งเทรลที่ถูกสัมภาษณ์ลงในหนังสือ แม้ว่าในการเทรลจะไม่ได้มีความสบายแม้แต่น้อย และดูเหมือนนักวิ่งเทรลคือคนที่อยากมาหาความท้าทาย(ลำบาก) เสียมากกว่า หากมองในมุมของคนนอก ทำไมคนเหล่านี้ถึงอยากมาลำบาก มีวิธีเสริมสร้างร่างกาย หาความท้าทายอีกเยอะ แต่หลาย ๆ ครั้ง เราอาจแค่ลืมตัวว่ามันมีเหตุผลเล็ก ๆ เท่านั้นเอง ที่ยังผลักดันให้คุณซ้อมเช้าเย็นบนลู่วิ่ง ห้องซ้อมดนตรี หรือแม้แต่หน้าคอมพิวเตอร์ก็ตาม

ฉัตรชัยมักจะใช้สติ๊กเกอร์คุณปู่จากเรื่อง UP(2009) มาโพสต์ในโซเชียลมีเดียหรือการส่งข้อความอยู่เสมอ

เขากล่าวว่า เพราะตัวละครในเรื่องคือเรื่องราวของสามีภรรยาที่มีความฝันอยากไปน้ำตกแห่งชีวิต แต่หลังจากเก็บเงินมาทั้งชีวิต ภรรยาก็มาล้มป่วยและจากไป ส่วนสามีก็กลายเป็นตาแก่อารมณ์ร้อนติดอยู่กับอดีต ความฝันมันกลายเป็นโซ่ตรวนบางอย่างกับคุณปู่ไปเสียแล้ว

“ผมใช้สติ๊กเกอร์นั้นเพื่อเตือนความจำตัวเอง ว่าชีวิตเรามันไม่ยาว อยากทำอะไรก็รีบทำ ความฝันมันมีวันหมดอายุ” ฉัตรชัย กล่าว

บางวันที่ได้จังหวะทรงตัวกับการวิ่ง ในหัวก็พลันคิดถึงนิยามของการวิ่ง บางคนวิ่งเพื่อรักษาสุขภาพ บางคนวิ่งเพื่อท้าทายตัวเอง บางคนแค่วิ่งเพราะอยากวิ่ง แต่การวิ่งอาจไม่ได้หยุดแค่นั้น การวิ่งยังหมายถึงการเปรียบเทียบเชิงพรรณนา ที่การพยายามอะไรสักอย่างอย่างสุดตัวก็คือการวิ่งเหมือนกัน

แม้ว่า BORN TO RUN จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับมหกรรมการวิ่งที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ในประเทศไทยและยังมีผลจนถึงปัจจุบัน หลากลู่วิ่งและฝีเท้า ตุ้บ ตั้บ ที่ก้าวออกไป ทว่าในการวิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ค้นพบเช่นกัน ว่าเกิดมาเพื่อวิ่งไม่ได้เป็นเพียงชื่อสำหรับเอาไว้เรียกบุคคลในเรื่องที่ดูเหมือนจะเกิดมาเพื่อท้าทายด้วยการวิ่ง แต่สำหรับเราทุกคน เราต่างวิ่งตามหาอะไรอยู่เสมอ

และแน่นอน บางคนได้เหรียญทอง บางคนกลับ DNF(Do Not Finish) หรือบางคนก็แค่วิ่ง ก็เท่านั้นเอง

ผมเลิกหายปวดก้นกบอย่างรุนแรงเมื่อรู้ว่าผมควรจะวิ่งอย่างไรจากการดูวิดีโอในยูทูป แต่วิดีโอไม่ได้สอนทุกอย่าง ผมค่อย ๆ เก็บอาการเจ็บก้นกบนี้ไปทีละนิด ทีละนิด จนเมื่อเข้าสู่นาทีที่ 15 ร่างกายของผมเริ่มปรับตัว ในอัตราเร็วที่ผมวิ่งไหว ไม่ต้องสนใจว่าใครจะแซงหน้าผมไป เมื่อนั้นผมก็เลิกเจ็บก้นกบไปเอง

ผมยังไม่น่าจะไปถึงเป้าหมาย PACE 7 ในเร็ววัน แต่การวิ่งก็ทำให้ผมพบว่าการแข่งขันที่แท้จริงคือการพบระยะวิ่งของตัวเอง

มีคำกล่าวเท่ ๆ เกี่ยวกับการวิ่งไม่ทราบที่มาว่า “ทันทีที่คุณออกวิ่ง คุณจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป”

แต่อาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด

ทั้งไมโล มูราคามิ ลีกอินเตอร์ไฮและนักวิ่งหลายชีวิตในหนังสือ พิสูจน์แล้วว่าความตั้งใจหรือ Passion เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแต่มันไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตคุณได้แบบพลิกฝ่ามือ ‘คุณที่ไม่ใช่คนเดิม’ จำเป็นจะต้องผ่านการเคี่ยวกรำ รีดพิษ และมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ การอดทนความน่าเบื่อและความเจ็บปวดเหล่านั้นไปได้ต่างหาก ที่จะพาคุณไปพบกับคุณคนใหม่ที่หัวใจใหญ่กว่าเดิม ทั้งในลู่วิ่ง 400 เมตรหรือ 128,628 กิโลเมตร

และในหลายครั้งที่การ DNF ในการวิ่งทางไกลที่ชื่อ รายการแข่งขัน หรือ ชีวิตจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณคือผู้พ่ายแพ้ สำคัญที่ว่าวันนี้คุณได้เจอเหตุผลที่ออกวิ่งแล้วและเข้าใจระยะวิ่งที่จะทำให้คุณมีความสุขกับการก้าวเท้าในความเร็วของตัวเองแล้วหรือยัง

เพราะตราบใดที่คุณตัดสินใจออกวิ่งอีกครั้ง เท่ากับว่าคุณกำลังก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขต่ำกว่าวินาทีที่ 10 ในการแข่งขัน 100 เมตร หรือ 0.1% ของความฝันก็ตาม

PlayRead: Born to Run
เขียน: ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
สำนักพิมพ์: สารคดี

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี