ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
ไม่นานมานี้ Decode ได้เข้ามาสนทนาพูดคุยถึงทิศทางเนื้อหาในปีปฏิทินนี้ ผมได้ตั้งประเด็นว่าปีนี้จะมีเนื้อหาอะไรที่อยากสื่อสารออกไปพร้อมกับคำถามสำคัญว่า
“ตอนนี้อาจารย์เป็นพ่อแล้ว มีเหตุผลที่จะลดความเป็นนักอุดมคติหรือยัง ?”
ผมว่าเป็นคำถามปกติที่เกิดขึ้นทั่วไป เมื่อคนอายุมากขึ้นหรือเงื่อนไขในชีวิตเปลี่ยนไป ก็ย่อมทำให้คติความเชื่อที่เคยยึดถือเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน และในบริบทสังคมไทย เมื่อเราต้องคิดถึงเรื่องค่าใช้จ่าย การรับผิดชอบอะไรต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น มันจึงมีแนวโน้มที่ว่าคนที่อายุมากขึ้น หรือมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น ก็จะมีแนวโน้มเป็น “อนุรักษนิยมมากขึ้น” หรือกล่าวแบบสุภาพขึ้นก็คือเป็น “นักปฏิบัติมากขึ้น” ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรแต่กล่าวโดยสรุปคือ คุณควรเลิกฝัน แล้วโตได้แล้ว !
ผมไม่แน่ใจว่า เราเริ่มในการแบ่ง เรื่องของอุดมคติกับการปฏิบัติได้จริงเป็นสองขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เมื่อไร เพราะหากย้อนไป เมื่อหลายร้อยปีก่อนเราคงมองว่าการปกครองด้วยระบบอาณานิคมเป็นเรื่องปกติ เราคงมองว่าการที่สังคมจะไม่มีทาสถือเป็นเรื่องยิ่งกว่าอุดมคติ หรือการทำให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งและได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับผู้ชาย การทำให้คนลาคลอดได้ 90 วัน การทำให้คนรักษาพยาบาลฟรีก็ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกจัดวางว่าเป็นเรื่องอุดมคติ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้มาช้านาน จนกระทั่งวันแรกที่มันเริ่มเกิดขึ้นจริงก็ไม่เป็นเรื่องอุดมคติอีกต่อไป ดังนั้น คำว่า “อุดมคติ” กับการ “ปฏิบัติได้จริง” ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมันไม่ได้ห่างกันหรืออยู่ตรงกันข้ามแบบขาวดำแบบที่คนในยุคปัจจุบันเข้าใจ
ระหว่างผมอ่านหนังสือนิทาน เจ้าชายน้อย ให้ลูกสาวตัวน้อยวัย 4 เดือนฟัง
“มนุษย์เริ่มเพี้ยนเมื่อพวกเขาคิดว่าตัวเลขเป็นความจริงและน่าเชื่อถือ แต่เรื่องที่ง่ายที่สุดที่มนุษย์หลงลืมคือ สิ่งที่สำคัญมันไม่สามารถวัดได้ และหลายอย่างไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา”
”ถ้าคุณอธิบายว่าบ้านหลังนี้มีดอกไม้สวยแค่ไหน หรือมีกำแพงสีแดงที่แตกต่างสีแดงที่อื่นอย่างไร พวกผู้ใหญ่อาจเฉย ๆ แต่เพียงแค่คุณบอกว่าบ้านนี้ราคาแสนฟรังซ์ พวกเขาก็จะบอกทันทีว่า เป็นบ้านที่ยอดเยี่ยม”
ข้อความที่เรียบง่ายเหล่านี้ที่ยืนยันมานานนับร้อยปีว่า มันมีสิ่งที่สำคัญที่เราไม่สามารถเห็นด้วยตา หรือจับต้องได้ มีสิ่งสำคัญที่เราไม่อาจช่างตวงวัดได้แต่สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เราไม่ควรใช้ ความจริงในลักษณะที่ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้เท่านั้นจึงจะเป็นความจริง อย่าให้ “ราคาของบ้าน” บดบัง “กำแพงสีอิฐ” ของบ้าน
โลกนี้ยังมีสิ่งที่ควรเป็นมากมายหลากหลาย มากกว่าหนึ่งแนวทาง หรือมีความเป็นไปได้อื่น ๆ มากกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเรามาเป็นสิบเป็นร้อยปี
หรือที่เลนินเคยกล่าวว่า
“เราอาจมีสิบปีของการต่อสู้ที่สูญเปล่า แต่ความล้มเหลวที่ผ่านมาไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในไม่กี่สัปดาห์”
หากกล่าวโดยสั้นแล้ว มนุษย์เรามีความเป็นนักอุดมคติเสมอ และมันไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับการปฏิบัติได้จริง คำถามสำคัญคือ เราจะสามารถทำให้อุดมคติเกิดขึ้นจริง ได้อย่างไรในเบื้องต้นผมขอสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
- นักอุดมคตินิยมตั้งใจที่จะดำเนินงานตามวิสัยทัศน์และค่านิยมของพวกเขา ในขณะที่นักปฏิบัตินิยมมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายที่สามารถทำได้ในปัจจุบัน การร่วมมือระหว่างกันทำให้มุมมองเหล่านี้เสริมเติมกันอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งสองแนวคิดต่างเชื่อเรื่องเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงเพียงแต่มีความแตกต่างสัมพัทธ์กันในเรื่องเวลาเท่านั้น นักปฏิบัตินิยม มีความเชื่อสำคัญว่ามนุษย์มีอายุเต็มที่ ราว 80 ปี มีเวลาในการผลักดัน ช่วงที่มีทรัพยากรเต็มที่ แค่ 8-10 ปี ความเป็นไปได้ของพวกเขาจึงจำกัดลงในช่วงเวลานั้น แต่หากเรามองถึงการเปลี่ยนแปลงระยะยาว เงื่อนไขเวลาก็จะเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นไปได้ก็จะเปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ที่ยาวนานเมื่อเทียบสัดส่วน 8 ปี หรือ 40 ปี ไม่ใช่สิ่งที่แตกต่างกันแต่อย่างใด
- นักอุดมคตินิยมและนักปฏิบัตินิยมสามารถสร้างสมดุลระหว่างวิสัยทัศน์และความเป็นจริง นักอุดมคตินิยมให้แรงจูงใจและแนวทางในขณะที่นักปฏิบัตินิยมให้ข้อมูลเชิงลึกและการประเมินความเป็นไปได้ ซึ่งช่วยให้การตัดสินใจมีความสมดุล ขณะที่นักปฏิบัตินิยมมีความเชี่ยวชาญในการนำไอเดียเหล่านี้ไปปฏิบัติ ทำให้สามารถพัฒนากลยุทธ์ที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพในการจัดการกับความท้าทาย แนวทางปฏิบัตินิยมล้วนเต็มไปด้วยวิธีการแต่อาจปราศจากเป้าหมาย ขณะเดียวกันนักอุดมคติอาจสามารถเรียนรู้ใช้เครื่องมือของนักปฏิบัตินิยม
- นักอุดมคตินิยมส่งต่อแรงบันดาลใจและความยืดหยุ่นในการยืนหยัดในการแสวงหาวิสัยทัศน์ของตน ในขณะที่นักปฏิบัตินิยมเสนอความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความท้าทายและความล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพ แน่ล่ะ! ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักอุดมคติ หรือนักปฏิบัตินิยมจะเผชิญกับความล้มเหลว พวกเขาล้มเหลวได้เท่า ๆ กัน ในทางการเมือง “ทักษิณ ชินวัตร” ก็เป็นตัวอย่างของนักปฏิบัตินิยม แต่เขาเองก็ล้มเหลวหลายครั้งผ่านการถูกทำรัฐประหาร ขณะที่นักอุดมคติอย่าง “ปรีดี พนมยงค์” เอง ก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้น ความเป็นนักอุดมคติ หรือ นักปฏิบัตินิยม ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่การมีความฝันในการเปลี่ยนแปลง การมองโลกอย่างที่ควรเป็น การเจ็บปวดกับเรื่องราวของผู้คน การปล่อยวางผลประโยชน์ระยะสั้น และอคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างหาก ที่จะเป็นการเปิดโอกาสสู่ความสำเร็จได้
ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อจะย้ำให้เห็นถึงว่า เราไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะละทิ้งอุดมคติของเรา มันไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับความเป็นจริงอย่างขาว/ดำ และเป็นหน้าที่สำคัญของเราที่ต้องร่วมกันผลักดันไปสู่ทางเลือกใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม