เรื่องเล่า(ไม่)ต้องห้าม
ปิยวัฒน์ สีแตงสุก
ก่อนเริ่มเรื่องที่จะเล่า ผู้เขียนขอนิยามตัวเองว่าเป็น “คนนอก” ที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไกลเกินกว่าจะจินตนาการได้ว่า ทุกเช้าที่ต้องลืมตาตื่นขึ้นมาในบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีทหารถืออาวุธอยู่ทั่วทุกมุมถนนจะมีความรู้สึกเช่นไร
“คนนอก” เห็นภาพของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าที่พอจะปรากฏในสื่อ จุดโฟกัสอยู่ที่ภาพของทหารที่มีกำลังอาวุธครบมือ ควบคู่ไปกับภาพความเสียหายของบ้านเรือนหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอาวุธปืน หรือระเบิด ซึ่งสื่อและผู้สันทัดกรณีหลายรายไม่ว่าจะมาในรูปของนักวิชาการ หรือผู้ชม “คนนอก” มักกล่าวอย่างฟันธงไปเลยว่า ความเสียหายเหล่านั้นเป็นฝีมือ “โจรใต้” ไม่ผิดตัว
ถ้านับว่าเหตุการณ์ตากใบในปี 2547 เป็นจุดปะทุของความขัดแย้งรอบล่าสุดที่ส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มาถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลา 20 ปีแล้วที่ความขัดแย้งดำเนินมา นั่นหมายความว่า “คนใน” ที่เป็น Gen Z เกิดและเติบโตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังปี 2540 เป็นต้นมา อยู่ในบรรยากาศอันร้อนระอุนี้มาเกือบทั้งชีวิต
“พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ขณะนี้” เป็นคำถามแรกที่สมควรต้องไถ่ถาม แต่ลงลึกไปกว่านั้น “คนใน” อย่างพวกเขาเข้าใจความขัดแย้งที่ดำรงอยู่นี้อย่างไร และ “คนนอก” อย่างตัวผู้เขียนหรือใครอื่นที่กำลังอ่านอยู่จะเข้าใจปัญหาให้ได้สักครึ่งหนึ่งที่พวกเขาประสบพบเจอหรือไม่
อีแป็ง (นามสมมติ) เป็นคนนราธิวาส อยู่ในขวบวัยที่กำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ถึง 1 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 เขาและเพื่อนในขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) จัดกิจกรรมประชามติจำลองเรื่อง “เอกราช” ปาตานี สิ่งที่ตามมาแทบจะทันทีหลังจากข่าวแพร่ออกไปคือ การวิพากษ์วิจารณ์ต่อการใช้คำว่า “ปาตานี” และ “เอกราช” ในแบบสำรวจความคิดเห็น
“คุณเห็นด้วยกับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”
นี่คือข้อความในแบบสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวที่มีช่องให้ใส่เครื่องหมายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ภายใต้เพดานเสรีภาพในการพูดที่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว พอยิ่งปรากฏ “คำต้องห้าม” ที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงของรัฐไทย ขบวนนักศึกษาแห่งชาติจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ
คำว่า “ปาตานี” และ “เอกราช” ไม่ใช่คำที่ใส่เข้ามาอย่างไม่มีต้นสายปลายเหตุ คำทั้งสองเกิดจากความเข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความเข้าใจต่อปัญหาในพื้นที่ปัจจุบันของอีแป็งและเพื่อน บทสนทนานี้อาจจะช่วยให้เข้าใจเจตนาของพวกเขาได้บ้าง โดยตลอดทั้งบทความ (รวมถึงชื่อบทความ) จะขอเรียกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “พื้นที่ปาตานี” เพื่อให้สื่อสาร “เสียง” ของคู่สนทนาออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด
ความไม่ปกติของ “พื้นที่ปาตานี” ในความทรงจำ
อีแป็งเกิดในจังหวัดนราธิวาสช่วงปี 2000 ความทรงจำของเขาที่มีต่อบ้านเกิดและพื้นที่ปาตานีตั้งแต่วัยเยาว์ คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความแปลกแยก ความผิดปกติ และความขัดแย้ง ด่านตำรวจ-ทหารตั้งอยู่ทุกเส้นทางถนน ความรุนแรงปะทุขึ้นทุกหัวระแหง
ใครที่น่าสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ก็จะถูกปิดล้อมบ้าน หรือบางคนก็ถูกเรียกไปค่ายของทหาร กรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่ถูกเรียกไปค่ายจำนวนมาก แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถไม่มีพื้นที่ที่จะแสดงออกหรือสื่อสารได้ว่ากำลังประสบกับปัญหา เพราะรัฐปิดกั้นเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน โดยใช้กฎหมายพิเศษ หรือกฎอัยการศึกในการปกครองพื้นที่ปาตานี สิ่งนี้เป็นการเอารัดเอาเปรียบอย่างชัดเจนที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ส่วนอีแป็งเองก็ต้องเผชิญกับความรุนแรง แม้ตัวเขาจะเป็นลูกนักการเมือง แต่นั่นไม่เท่ากับว่าจะทำให้รอดพ้นจากความรุนแรงไปได้ ครั้งหนึ่งบ้านของเขาถูก M79 ยิงบนหลังคา
“มันชี้ชัดว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกใคร รัฐก็สามารถรังแกคุณได้ตลอด ผมเลยมองเห็นความผิดปกติของประเทศนี้ ผมอยากจะขับเคลื่อนหาคำตอบของความขัดแย้งที่ผูกมากับตัวผมเอง แต่ก็ยังไม่ได้เจอคำตอบมาถึงวันนี้”
เหตุการณ์ M79 เป็นภาพจำต่อความรุนแรงครั้งสุดท้ายก่อนได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศอินโดนีเซียในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น นั่นเป็นวันที่อีแป็งรู้แน่ชัดว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในบ้านเกิดของเขาไม่ปกติ
“ผมมองเห็นความปกติที่บ้านเขาที่ไม่เหมือนกับบ้านเรา”
การที่คนอินโดนีเซียสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกตินั้นเป็นสิ่งที่คนปาตานียากจะฝันถึง
ปัญหาการเมือง-ศาสนากับมุมมองของรัฐที่มุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย
ย้อนไปช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและแก้ไขปัญหาปากท้อง โดยเชื่อว่า ถ้าเศรษฐกิจดี ความสงบสุข-สันติสุขจะเกิดขึ้นตามมา
ทว่าอีแป็งเห็นต่างออกไป ปัญหาที่สั่งสมเรื้อรังมายาวนานในพื้นที่ปาตานีไม่ใช่ปัญหาปากท้อง แท้จริงแล้วเป็นปัญหาทางการเมืองมากกว่า ในพื้นที่มีคนที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากรัฐไทย กลุ่มคนที่ต้องการเอกราชก็คงมีอยู่ แต่พวกเขาไม่มีช่องทางที่จะสื่อสารออกไปได้ องค์กรปฏิวัติที่เกิดขึ้นหลาย ๆ แห่งเป็นองค์กรที่มีมาอย่างยาวนาน 50-60 ปี จนถึงทุกวันนี้พวกเขาก็ยังขับเคลื่อนตามแนวคิดหรืออุดมการณ์ที่พวกเขามีอยู่
“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานีมันเป็นปัญหาแบบเชิงลึก เป็นปัญหารากเหง้าที่มีอยู่มาตลอด”
ปัญหาอีกอย่างที่เชื่อมโยงกับปัญหาการเมืองคือเรื่องศาสนา ภาพของคนมุสลิมในสายตา “คนนอก” มักจะถูกผูกติดอยู่กับสงครามและความรุนแรงอยู่เสมอ แนวคิดของรัฐไทยก็มองว่าคนมุสลิมในพื้นที่ปาตานีเป็นผู้ก่อการร้าย ใครทำอะไรผิดพลาดเล็กน้อยจะถูกเรียกตัวไป
อย่างกรณีที่มีเยาวชนในพื้นที่ขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ อย่างสันติ ไม่ใช้อาวุธในการต่อสู้ ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดัน บีบบังคับ หลายคนกลายเป็นผู้ต้องสงสัยก็เพราะเหตุนี้
“รัฐบีบบังคับ เรียกคุย จนกระทั่งเขากดดันในชีวิต กรณีนี้ผมสัมผัสกับเพื่อนที่เคยรู้จักมา บีบเขาจนกระทั่งเขาต้องหนีออกไป และกลายไปเป็นผู้ต้องสงสัย เปรียบเสมือนกับรัฐถีบเขาให้ออกไป นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่เหมือนกันที่เกิดขึ้นในพื้นที่”
กอ.รมน. ซากตกค้างแห่งความมั่นคงจากโลกยุคสงครามเย็น
ในมุมมองของอีแป็ง รัฐพยายามจะสร้างปัญหา หรือทำให้เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่เพื่อที่จะดึงงบประมาณ จากการที่เขาสังเกตว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ใช้งบประมาณในแต่ละปีสูงมาก
“ถ้าหากว่าไม่มีความรุนแรงในพื้นที่ก็อาจจะถูกมองว่า คุณ (กอ.รมน.) ก็ไม่ต้องปฏิบัติการในพื้นที่แล้ว ส่วนตัวผมมองว่าปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นแบบนี้”
หากไล่ดูงบประมาณของ กอ.รมน. ย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2566 ใช้งบประมาณรวมแล้วกว่า 100,274,700,800 บาท[1] และล่าสุด งบประมาณปี 2567 แม้จะมีการปรับลดจากเดิม 5,112.7 ล้านบาท เหลือ 4,977.1 ล้านบาท แต่ก็ยังถือเป็นงบก้อนใหญ่ที่สุดของสำนักนายกรัฐมนตรี[2]
ครั้นลองย้อนประวัติกลับไปไกลกว่านั้นในยุคสงครามเย็น กอ.รมน. ถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2516 โดยการแปรสภาพจากกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) มาเป็น กอ.รมน. ภารกิจหลักคือการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ทำหน้าที่เป็นแนวรุกทั้งทางการเมือง การข่าว และจิตวิทยามวลชน ใช้ปฏิบัติการทาง “สงคราม” ควบคู่ไปกับการ “พัฒนา”
แต่ กอ.รมน. รูปโฉมปัจจุบันเกิดขึ้นในบริบทหลังรัฐประหาร 2549 จาก “พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551” กำหนดให้ กอ.รมน. มีสถานะเป็น “ส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” จากนั้นหลังรัฐประหาร 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดย “เข้าควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งระบบ” และให้ กอ.รมน. “กำหนดเองว่าสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย”[3]
เท่าที่อีแป็งจำความได้ กอ.รมน. เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ปาตานีอย่างมาก กรณีที่เห็นได้ชัดคือ การแทรกแซงเข้าไปยังพื้นที่การเรียนการสอนที่เรียกว่า “ตาดีกา” (TADIKA) ซึ่งเป็นศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเยาวชนในชุมชนมุสลิม โดยมีการเรียนการสอนในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ทาง กอ.รมน. จะเข้าไปปลูกฝังแนวคิดเรื่องความรักชาติ แต่ทุกวันนี้สื่อแพร่หลายมากขึ้น เยาวชนมีช่องทางเลือกรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น การปลูกฝังเรื่องราวทำนองนี้ก็อาจจะลดลง
กระนั้น การแทรกแซงในรั้วมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนมัธยมยังมีอยู่ อย่างเช่นบางชมรมของมหาวิทยาลัยถูกก่อตั้งขึ้นมา เพื่อจะดึงงบประมาณของ กอ.รมน. มาใช้ขับเคลื่อนกิจกรรม หรือถ้ามีนักศึกษาคนไหนเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะเรียกนักศึกษามาพูดคุยเพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งอีแป็งตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะเกิดจากการที่ กอ.รมน. มาล็อบบี้ผู้บริหารอีกทีหนึ่ง
“มันอาจจะเป็นการกดดันหรือบีบบังคับของ กอ.รมน. ไปยังผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะให้เสียบรรยากาศในการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา เรื่องนี้เป็นคำถามที่ผมตั้งมาอยู่ตลอด”
พื้นที่ปาตานีเต็มไปด้วยความหวาดระแวงจากฝ่าย กอ.รมน. หลายคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติเพราะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งการกระทำแบบนี้ กอ.รมน. ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการท้องถิ่น อย่างเช่นผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้กระทั่งโต๊ะอิหม่าม ซึ่งอีแป็งมองว่า นี่เป็นการบีบบังคับและกดดันจากฝ่าย กอ.รมน.
“ประมาณว่าถ้าคุณไม่ทำตามอย่างที่ กอ.รมน. ทำ คุณอาจจะโดนเด้งออกจากตำแหน่งนะ กอ.รมน. มีอำนาจที่จะจัดการชีวิตของคุณ”
แม้จะมีข้าราชการท้องถิ่นที่ยอมเสียหน้าที่การงานแล้วไปฟังเสียงประชาชนในพื้นที่บ้าง แต่ก็นับเป็นจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะยอม กอ.รมน. ดีกว่าต้องมาเสียการเสียงาน
“คนที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ กอ.รมน. ส่วนมากก็จะเป็นพวกข้าราชการที่เขากินดีอยู่ดี แต่ถ้าเราไปถามคนรากหญ้าหลาย ๆ คน บางคนเขาต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมามากกว่า เขาเป็นคนรักที่นี่ เขาก็ต้องมีสิทธิ์ที่จะกำหนดชะตากรรมของเขา มันก็มีอยู่คนที่คิดแบบนี้”
“ปาตานี” “เอกราช” และคดีความ
“เราเคลื่อนไหวทุก ๆ ผลประโยชน์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ปาตานีหรือว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
ขบวนนักศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้นมาก็เพราะการที่ประชาชนถูกคุกคาม หรือการที่รัฐไม่ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ดังที่เล่าถึงไปข้างต้น การเคลื่อนไหวหลัก ๆ เป็นประเด็นเกี่ยวกับด้านมนุษยธรรม เพื่อจะเป็นแรงผลักดันหรือเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชนในพื้นที่
แต่หลังจากจัดกิจกรรมประชามติจำลองได้ไม่นาน คดีความก็ตามมา อีแป็งโดนไป 3 ข้อหา ทั้งคดีอาญา ม.116 ยุยงปลุกปั่น ข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร และ พ.ร.บ.คอมฯ ส่วนเพื่อน ๆ ของเขาโดน ม.116 และข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร
สำหรับคำว่า “ปาตานี” ที่ปรากฏในแบบสำรวจความคิดเห็น อีแป็งกล่าวว่าเป็นชื่อเรียกพื้นที่บริเวณชายแดนใต้ที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งคนในพื้นที่ใช้เรียกกัน แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนชายแดนใต้ที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู ไม่ได้หมายความว่าต้องการแยกตัวออกมาเป็นรัฐแต่อย่างใด
ส่วนคำว่า “เอกราช” อีแป็งยืนยันว่า แบบสำรวจความคิดเห็นนั้นเป็นเพียงการถามคนที่มาร่วมงานว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อไปสู่การทำประชามติในเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่การถามคำถามนั้นเป็นการทำประชามติเลยแต่อย่างใด แต่ในการตีความของสื่อหลายสำนัก ส่วนมากจะพุ่งเป้าไปที่คำว่า “เอกราช” เป็นหลัก คำถามดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่รุนแรง หรือถึงขั้นมองว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ในความเป็นจริงจุดประสงค์ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติไม่ได้แบบนั้น
แต่พอมีสื่อมาสัมภาษณ์ขบวนนักศึกษาแห่งชาติมากขึ้นก็เริ่มมีคนที่คิดว่า ประเทศนี้ต้องเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็อาจจะยอมรับความเห็นต่างและเข้าใจความแตกต่างทางความคิดมากขึ้น อีแป็งมีความเห็นว่า ประเด็นนี้ต้องอธิบายและถกกันในสังคมให้ออกไปในวงกว้างกว่านี้
“กิจกรรมนี้เป็นการสื่อสารผ่านเวทีวิชาการ แต่จากการดำเนินคดีกับเรามันก็สะท้อนว่า รัฐมองเราเป็นพวกยุยงให้เยาวชนมีหลักคิดไปในแนวทางเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่เราแสดงออกว่าสื่อสารผ่านบนเวทีวิชาการมากกว่า พอเป็นแบบนี้แล้ว เราก็ต้องสู้คดีกันต่อไป”
มุมมองของ “คนนอก” และรัฐ
คนในพื้นที่ปาตานีมักจะถูกมองว่าเป็น “คนอื่น” ในชาติไทยมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาพของพื้นที่ที่ปรากฏออกในสื่อนั้นมีแต่ความรุนแรง และมักจะถูกตีตราว่าเป็นดินแดนของ “โจรใต้”
ความเข้าใจของคนนอกพื้นที่รวมถึงรัฐไทยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในพื้นที่อย่างอีแป็ง เขามีความเห็นว่า หากนิยามประเทศนี้ว่าใช้หลักการประชาธิปไตยในการดำรงชีวิตหรือในการปกครอง คนในสังคมก็ต้องยอมรับความเห็นต่างของคนหลายพรรคหลายพวก คนปาตานีควรมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกทางการเมือง หรือสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กีดกันคนปาตานีออกไป
“บางคนในพื้นที่เขาถูกตีตราว่าเป็นโจรใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะเซนซิทีฟมากในพื้นที่ คำนี้ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนภายนอก เป็นคนที่แปลกที่สุดในประเทศนี้ ฉะนั้น เราควรต้องมีสิทธิ์ที่จะสะท้อนบทบาท สะท้อนปัญหาของคนในพื้นที่ออกมา”
ในส่วนของรัฐไทยต้องเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ปิดกั้นแบบทุกวันนี้ เหตุที่รัฐไทยเปิดรูระบายให้แสดงออกทางความคิดได้น้อย เพราะรัฐอาจจะมองว่า ถ้าเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่แสดงออกในบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อาจจะทำให้ปัญหาในพื้นที่จบลงอย่างที่รัฐไม่ได้หวังไว้ การบีบบังคับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้คดีจึงเกิดขึ้นในหลายกรณี
สันติภาพชายแดนใต้เอาไงต่อ?
ความพยายามขับเคลื่อนประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ปรากฏมาเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สร้างสันติภาพชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 โดยแนวนโยบายดำเนินตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) เพื่อทำข้อตกลงสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่า ในปี 2568 ความรุนแรงในพื้นที่จะยุติลง และยกเลิกกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง
จนมาถึงเปิดวง “พูดคุยสันติสุข” ระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยกับคณะพูดคุยเจรจาสันติภาพของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ได้เห็นชอบใน 3 หลักการ คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยังดำเนินต่อไป ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 เดือน (ตั้งแต่ 20 เมษายน-19 กรกฎาคม 2567)[4]
แม้ดูจะมีการแก้ไขปัญหามากขึ้น แต่ ณ สถานการณ์ตรงหน้าในปัจจุบัน ทั้งปัญหาความรุนแรง การปิดกั้นของรัฐ และการตีตราจาก “คนนอก” ยังดำเนินต่อไป
ปลายทางของความขัดแย้งนี้จะจบอย่างไร…
สำหรับคนในพื้นที่อย่างอีแป็ง ยากจะจินตนาการว่าความขัดแย้งนี้จะยุติลงอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่จะมีบันไดแห่งความสำเร็จให้ปีนไต่ไปได้ง่าย ๆ แต่เบื้องต้นที่เขาคิดได้คือ การสร้างความเข้าใจต่อพื้นที่ให้คนนอกได้รับรู้เป็นสิ่งจำเป็น อนาคตของคนปาตานีจะเป็นอย่างไร คนปาตานีควรมีส่วนร่วมในการเลือก ไม่ใช่รัฐไทยมาเลือกให้อย่างเดียว เพื่อที่อย่างน้อยภาพของ “โจรใต้” ที่ติดกับพื้นที่ปาตานีจะได้ลบเลือนไปบ้าง
“พูดอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องให้คนในพื้นที่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดอนาคตของเขาเอง อย่างพวกเราเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อแสวงหาทางออก ไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่เอกราช พวกเราต้องการกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหา ในอนาคตจะเป็นยังไงมันก็ยังคงตอบได้ยาก ต้องสร้างความเข้าใจในพื้นที่กันต่อไป”
อ้างอิง
[1] เปิดงบ “กอ.รมน.” 10 ปี ตั้งแต่ 2556-2566 ใช้แล้วกว่าแสนล้านบาท (1 พ.ย. 2566), จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/333422
[2] สรุปสารพัดเรื่อง “ลับ” ที่ฝ่ายค้านข้องใจในการจัดงบ 67 กลาโหม-กอ.รมน. (20 มี.ค. 2567), จาก https://www.bbc.com/thai/articles/cn0w7zx5rzlo
[3] กอ.รมน.: จากยุคสงครามเย็น สู่ ไทยแลนด์ 4.0 หน่วยงานความมั่นคงนี้ มีไว้ทำอะไร (7 ต.ค. 2562), จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-49963299
[4] Policy Watch: สันติภาพชายแดนใต้, จาก https://policywatch.thaipbs.or.th/policy/government-3