Post-Election (1) การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมือง - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

การเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 แม้จะเป็นการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว แต่นับเป็น ย่อหน้าสุดท้ายของคำนำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป แม้จะไวเกินไปที่จะหาบทสรุป แต่สิ่งที่เราสามารถสะท้อนเบื้องต้นถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในทาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม หลังการเลือกตั้งก็มีส่วนที่ชัดเจนสามารถวิเคราะห์ต่อเพิ่มเติมได้เช่นกัน โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอพิจารณาเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด ซึ่งพลิกความคาดหมายเล็กน้อยแม้คาดการณ์ว่า พรรคก้าวไกลอาจได้ที่นั่งในสภามากกว่าที่ประเมิน แต่ไม่น่าได้คะแนนมากที่สุดในสภา ขณะเดียวกันพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมก็ได้คะแนนน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้เขียนขอสรุปประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้ดังนี้

1.อวสานทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย

คนชนบทเลือกรัฐบาลคนเมืองไล่รัฐบาล แนวความคิดนี้เคยเป็นที่นิยมในช่วงปี 2530-2550 ที่พยายามอธิบายถึงว่า จำนวนมากที่เลือกนักการเมืองจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และนำสู่การที่คนเมืองที่มีการศึกษาเป็นผู้ไล่รัฐบาลหรือกดดันเชิงนโยบายต่อไป ที่จริงแล้วแนวความคิดนี้เริ่มเสื่อมความนิยมตั้งแต่ช่วง ต้นทศวรรษ 2550 จากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของผู้คนที่อาศัยอยู่นอกเขตเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้คนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นคนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยืนยันสิทธิของตนเอง ในการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 แต่หลังจากนั้น กว่า 13 ปี ภาพการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ยืนยันว่า มันไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนบทกับเมืองอีกต่อไป มันกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้กดขี่ส่วนน้อยที่ยื้ออำนาจไว้ในมือ และผู้ถูกกดขี่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ชัยชนะของพรรคก้าวไกลกระจายไปในหลากหลายภูมิภาค หลากหลายพื้นที่ และไม่ใช่ความโกรธแค้นไม่พอใจเท่านั้น แต่มันเป็นความหวังที่เกิดขึ้นพร้อมกับการไตร่ตรองทางนโยบาย และการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

2.ปิดฉากการเมืองแนวประนีประนอมคุยได้กับทุกฝ่าย ในหลักสูตรรัฐศาสตร์ทั่วไป

เมื่อพูดถึงศิลปะทางการเมือง มักจะให้เครดิตหรือยกย่องนักการเมืองที่สามารถประสานประโยชน์ได้ทุกฝ่าย สงวนจุดต่าง ประนีประนอม ถอยคนละก้าว บรรลุเป้าหมายระยะสั้น ฯลฯ นับเป็นคำสอนหรือคุณลักษณะทางการเมืองอันพึงประสงค์ของนักการเมืองไทย อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อประชาชนให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองที่มีจุดยืนชัดเจน ตรงไปตรงมา แม้อาจไม่ใช่ทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ แต่ก็ดีกว่าการปล่อยให้ ชนชั้นนำไปคุยกันหลังม่าน บ่อยครั้งนโยบายที่ได้รับคำสัญญากลับไม่ถูกผลักดัน ส่วนสิ่งที่ไม่เคยสัญญาหน้าฉาก กลับกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนหลังจากมีอำนาจ วิถีปฏิบัติแบบนี้กำลังจะหายไป และประชาชนต้องการการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับพรรคการเมืองต่าง ๆ

3.ประชาชนมีความฝัน และจินตนาการมากขึ้น

เรื่องการเมืองและเรื่องปากท้องเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นจุดสิ้นสุดของการที่นักการเมืองคิดแทนประชาชนว่าอะไรสำคัญกว่ากันเมื่อประชาชนสามารถคิดหวังทุกอย่างพร้อมกันได้ ดังนั้นเรื่องใดยากเรื่องใดง่าย จึงไม่ใช่วางอยู่บนฐานผลประโยชน์การแบ่งเค้กของนักการเมืองอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องใดสำคัญที่สุดสำหรับประชาชนก็ควรถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา แม้อาจเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น เช่น การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร การขยายบำนาญประชาชน ฯลฯ แต่อุดมการณ์ของประชาชนที่ยกขยายเพดานแล้ว ย่อมกลายเป็นจุดเปลี่ยนในสังคมไทยว่า นักการเมืองจะไม่สามารถลดเพดานได้ตามอำเภอใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง หรือเรื่องการเมืองล้วนเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน

4.เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองแล้ว ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งในสังคมไทยและในระดับสากล ผู้คนโดยมากจะไม่สามารถย้อนกลับไปสู่ค่านิยมทางการเมืองแบบเก่าได้อีก

ไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับเฉพาะกลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้าเท่านั้น ความคิดทางขวาหรืออนุรักษนิยมเองก็ย่อมมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน หากเราย้อนอดีตไป ครั้งหนึ่งอนุรักษนิยมเคยสนับสนุนระบบทาส เมื่อสังคมก้าวหน้าขึ้น แม้พวกเขาจะมีความเป็นอนุรักษนิยมโดยเปรียบเทียบในปัจจุบัน แต่เพดานของความเข้าใจด้านการเมืองของพวกเขาก็จะยกระดับไปพร้อมกัน และยังรวมถึงจะนำสู่การถกเถียงประเด็นทางการเมืองที่ก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นกองทัพ การจัดการกลุ่มทุนผูกขาด การกระจายทรัพยากรต่าง ๆ การจัดการกับปัญหาการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อาจไม่เกิดขึ้นในทันทีแต่ความเข้าใจของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะเป็นเครื่องยืนยันว่าจะช้า จะเร็ว การเปลี่ยนแปลงย่อมจะมาถึงเมื่อความเข้าใจของผู้คนได้ยกระดับมากขึ้น

ในสี่ประเด็นข้างต้น เป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งได้วางรากฐานความคิดที่เปลี่ยนไปอย่างมากในแง่อุดมการณ์ทางการเมือง ที่เกิดจากการสะสมมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การต่อต้านรัฐประหาร การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ระหว่างปี 2563-2564 พวกเขาคนรุ่นใหม่ในเวลานั้น ที่ไม่มีอาวุธ ไม่มีทุน ไม่มีตำแหน่ง พวกเขาดันเพดานการต่อสู้ และกรุยทางสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เช่นเดียวกับทุกครั้ง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ยากที่จะเกิดการเปลี่ยนย้อนกลับอีก

ในบทความหน้าผู้เขียนจะพาพิจารณาถึงเงื่อนไขวิธีคิดทางด้านเศรษฐกิจที่ได้เปลี่ยนแปลงไปหลังการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา