ผู้หญิงในสนามผู้แทนชายแดนใต้ ถอนคำสบประมาท “อย่าไปเลือกผู้หญิง” - Decode
Reading Time: 2 minutes

การเมืองในทุกระดับ ทุกสนามการแข่งขัน มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในทุกสนาม การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 2566 ครั้งนี้ก็เช่นเคย ที่สัดส่วนผู้หญิงคิดเป็น 18.3% เมื่อเทียบจากสัดส่วนทั้งหมด ยิ่งในสนามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยแล้ว ผู้หญิงในสนามผู้แทน จากปากหมอเพชรดาว ส.ส.หญิงหนึ่งเดียวในชายแดนใต้จากบัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทยในรัฐสภาชุดที่ผ่านมาบอกว่า ผู้หญิงจะเจอความไม่พร้อมมากกว่าผู้ชาย “เพราะในอิสลาม ต้องขออนุญาตสามีก่อน” หมอเพชรดาวยังบอกอีกว่า ทั้งงานบ้าน งานเลี้ยงลูก ซึ่งยังเป็นงานของผู้หญิงส่วนใหญ่ จึงเป็นข้อจำกัดที่ผู้หญิงไม่ค่อยจะออกมาทำอะไรแบบนี้กัน

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนตัวยังเจอผู้สมัครชายบางคนพูดว่า “อย่าไปเลือก เลือกทำไม เขาเป็นผู้หญิง” ยิ่งทำให้ผู้หญิงในชายแดนใต้ที่ลงรับเลือกตั้งต้องการแรงสนับสนุนมากกว่าผู้ชาย ตรงนี้มีพื้นที่ให้ผู้หญิงน้อยจนแทบเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จนถึงผู้แทน บริบทพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เคยชินกับมีผู้ชายอยู่แถวหน้าในทุกโอกาส ไม่ง่ายนักที่เราจะเห็นผู้หญิงในเวทีเลือกตั้งแบบนี้ ย้อนไปเมื่อการเลือกตั้งวุฒิสภาฯ ปี 2542 เคยมีการถกเถียงกันอย่างหนัก ว่ามุสลิมะห์(ผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม) สามารถลงรับเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะจะไม่สอดคล้องกับหลักการของอิสลามที่ผู้ชายเป็นผู้นำ จนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีในขณะนั้นต้องออกหนังสือแถลงการณ์ ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ใช่ตำแหน่งผู้นำแต่คือผู้แทน

จะ “ผู้นำหรือผู้แทน” ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า ส.ส.คือสถานะที่อยู่แนวหน้า มีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันกฎหมาย โดยเฉพาะในวันที่สัดส่วนของประชากรหญิงในประเทศไทยมีมากถึง 51% แซงหน้าผู้ชายไปแล้ว แต่จำนวนผู้แทนในระดับต่าง ๆ กลับไม่สอดคล้องกับตัวเลขเหล่านี้เลย การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มีผู้สมัคร ส.ส.หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้จากพรรคใหญ่แค่สองคน คือเพชรดาว โต๊ะมีนา จังหวัดปัตตานีพรรคภูมิใจไทย และอามีเน๊าะ อารง จังหวัดนราธิวาส จากพรรคก้าวไกล

อามีเน๊าะ อารง จากพรรคก้าวไกลบอกว่า “บาดแผลและร่องรอยจากความรุนแรงในพื้นที่ตกอยู่กับผู้หญิงทั้งนั้น” จะในฐานะภรรยาที่ต้องสูญเสียสามี หรือลูกสาวที่ต้องสูญเสียพ่อ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะก่อปัญหาเรื้อรัง อย่างปัญหาครอบครัวที่ตามมาในภายหลัง อามีเน๊าะบอกว่า จะปล่อยให้ปัญหาหญิงหม้าย เด็กกำพร้า “เราจะปล่อยให้เรื่องนี้ เป็นเรื่องของผู้แทนผู้ชายจริงหรอ” เพราะโดยเพศหญิงเขามีความรู้สึกว่าการที่เพศหญิงออกมาพูดด้วยกันจะทำให้การเข้าถึงเป็นไปได้ง่ายมากกว่า เพราะตลอดการเยียวยาหลังจากปี 47 เป็นต้นมา “เราไม่ได้มองการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อย่างการสร้าง Safety net(ตาข่ายความปลอดภัย)” ให้กับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง มีมาแค่เยียวยา แล้วรีบจบ ๆ กันไป

เขายังกล่าวไปไกลถึง Safety net ที่ผู้หญิงจะต้องได้รับอย่างเป็นธรรม ยกตัวอย่างเรื่องการหย่าร้างในแบบของอิสลามที่สิทธิ์การหย่าจะอยู่ที่ผู้ชายฝ่ายเดียว หากผู้หญิงต้องการหย่าก็ต้องให้ผู้นำศาสนาเป็นคนดำเนินการ และผู้นำศาสนาจำนวนไม่น้อยก็เกลี้ยกล่อมให้ยกโทษขออภัยต่อกัน ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถออกจากวังวนแบบเดิมได้เสียที หนำซ้ำ การหย่าขาดที่ผู้ชายไม่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูกลับซ้ำเติมปัญหาให้ฝ่ายหญิงเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างกฎหมายไทย เมื่อศาลสั่งหย่า “ศาลยังระบุเลยว่าสิทธิ์การเลี้ยงลูกอยู่ที่ใคร และต้องรับผิดชอบค่าเลี้ยงดูในอัตราเท่าใด” แต่ปัจจุบันผู้หญิงที่ชายแดนใต้ยังห่างไกลกับจุด ๆ นี้ และเขาต้องการเป็นตัวแทนผู้หญิงที่เข้าไปในสภาเพื่อพูดเรื่องนี้

อาจารย์อสมา มังกรชัย ประจำคณะรัฐศาสตร์ม.อ.ปัตตานี ในฐานะคนทำงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นของผู้หญิงในพื้นที่ บอกกับเราว่า สิ่งที่เห็นชัดที่สุด หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงก่อตัวเมื่อปี 2547-2548 กลุ่มคนหรือภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันเพื่อทำงานเชิงประเด็นในพื้นที่ จึงเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมีกลุ่มผู้หญิงที่มากถึง 30 กลุ่ม โดยอาจารย์อสมาให้เหตุผลไว้ 2 ข้อ 1.ช่วงสดใหม่ของความรุนแรงกลุ่มทุนต่าง ๆ สนใจที่จะสนับสนุน 2.ประเด็นผู้หญิงมันเป็นประเด็นร่วมได้เร็วที่สุดในเวลานั้น ซึ่งล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี จากสถิติเมื่อธันวาคม 2563 มีหญิงหม้ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงแล้วกว่า 3,132 คน

แม้อาจารย์อสมาจะมีข้อสังเกตว่า ในช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 การรวมตัวของผู้หญิงในชายแดนใต้มีความเป็นเอกภาพน้อยลงไม่เหมือนช่วงแรก อาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขการรับได้หรือรับไม่ได้ ที่แต่ละกลุ่มมีความจำเพาะไม่เหมือนกัน อย่างเช่นการเอากลุ่มตัวเองรับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่

ซึ่งมีกลุ่มผู้หญิงบางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่จะใช้แนวทางนี้ในการขับเคลื่อนเพราะมองว่าท้ายที่สุดก็อาจต้องตกเป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐที่มีเพดานไม่สามารถพูดทุกเรื่องอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้บทบาทผู้หญิงหรือกลุ่มตัวแทนผู้หญิงในพื้นที่ถูกลดความสำคัญลงไป สิ่งที่ชัดที่สุด คือก่อนการรัฐประหาร ภาคประชาสังคมผู้หญิงยื่นข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัย อย่างตลาดหรือโรงเรียนต่อโต๊ะเจรจาสันติภาพและได้รับการตอบรับในขณะนั้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วมักเป็นผู้หญิง หมอเพชรดาวกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า นี่คือการขีดเส้นพื้นที่การปะทะ เพื่อให้ฝ่ายที่จับอาวุธทั้งสองฝ่ายต้องจัดการปัญหากันเอง

อามีเน๊าะยืนยันกับเราว่าสันติภาพแบบก้าวไกลคือสันติภาพที่ก้าวหน้า ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่ทุกฉบับ นี่คือหมุดหมายแรกในการถอดสลักกับดักที่ผูกไว้กับหน่วยงานความมั่นคง ทำให้เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองในระบบผู้แทนแบบพลเรือน สร้างกระบวนการสันติภาพที่ผู้แทนจากประชาชนมีส่วนร่วม โดยส่วนตัวอามีเน๊าะบอกว่าในฐานะผู้หญิง 1 เดียวในชายแดนใต้ของพรรคก้าวไกล หากได้รับการคัดเลือกเข้าไปในสภา ก็จะขอต่อรองอาสาสุดความสามารถที่จะเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพให้ได้ ทั้งในฐานะตัวแทนจากพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง และในฐานะตัวแทนของผู้หญิงในพื้นที่ด้วย “นี่ไม่ใช่สนามที่ใหญ่เกินตัว แต่เป็นสนามที่ต้องลงมือทำ”

อามีเน๊าะบอกว่า วันนี้เขาแทบไม่มี How to การเป็น ส.ส.หญิงในพื้นที่ เพราะที่แห่งนี้ไม่เคยมี ที่ผ่านมาก็มีแค่ระบบบัญชีรายชื่อ จะไปขอประสบการณ์ บทเรียน หรือแนวทางจากใครก็ไม่ได้ “ยอมรับตรง ๆ ว่าช่วงแรกก็ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน” จะเข้าหาคนอย่างไร จะปราศรัยอย่างไร มีผู้หญิงมาจับไมค์ ในที่แห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเล่าประสบการณ์ ให้เราฟังว่าในเวทีปราศรัยวันก่อน มีน้องนักศึกษาหญิงเดินเข้ามาถามว่า อยากเป็น ส.ส.หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้บ้าง ต้องทำอย่างไร เขาตอบว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำอย่างไรเพราะนี้เป็นครั้งแรก “ขอทำครั้งนี้ให้สำเร็จ แล้วจะเก็บไว้เป็น How to ให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ ออกมาทำอะไรแบบนี้บ้าง ไม่จำเป็นต้องลงสมัครกับพรรคก้าวไกลก็ได้” เขาเลยนิยามตัวเองว่าเป็นตัวเปิดตามภาษาวัยรุ่น “เดี๋ยวอามีเน๊าะเปิดเอง จะเป็นตัวเปิดให้ดูว่าจะเป็น ส.ส.หญิงต้องทำอย่างไร”

ส่วนหมอเพชรดาว จากตระกูลอย่างโต๊ะมีนา ซึ่งถือเป็นตระกูลการเมืองในพื้นที่ นับว่าตัวเองพอมีต้นทุนทางการเมืองอยู่บ้าง จากการเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทยในรัฐสภาชุดที่ผ่านมา และการตัดสินใจลงสมัครในระบบเขตครั้งนี้ แม้รู้อยู่แล้วว่าไม่ง่ายแต่ก็พร้อมเต็มที่ ความพร้อมของผู้หญิงต่อการตัดสินใจลงเลือกตั้งมีเงื่อนไขข้อจำกัดมากมาย “อย่างอิสลามก็ต้องผ่านการขออนุญาตจากสามีหรือพ่อเสียก่อน” แต่โดยส่วนตัวหมอเพชรดาวก็ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัวอย่างดี

หมอเพชรดาวเล่าว่า การลงเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับแรงเสียดทานน้อยกว่าครั้งตอนลงสมัคร ส.ว. อาจเป็นเพราะตนเองเป็น ส.ส.อยู่แล้ว และมีบทบาทอย่างสูงในรัฐสภาที่ผ่านมา ทั้งการหารือแก้ปัญหาในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ และการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายจนคลอดออกมาได้ แต่ก็ยอมรับว่ายังมีบ้างที่มีซุ้มเสียงว่า “อย่าไปเลือกผู้หญิง” แต่เมื่อตนเองขอคำอธิบายก็กลับไร้คำตอบ

หมอเพชรดาวบอกว่า ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.หญิงหนึ่งเดียวของพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ กล้าพูดได้เลยว่า หากภูมิใจไทยได้เป็นรัฐบาล “วาระเรื่องการพูดคุยสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติ” นำเรื่องนี้เข้าสภา หาทางออกให้กับทุกฝ่าย จะเป็นทางเดียวที่จะสามารถยุติความรุนแรงได้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะยังมีผู้หญิงในสนามไม่มากนัก แต่อาจารย์อสมา มองว่านี่ถือเป็นความก้าวหน้าที่ดี ที่เราเห็นผู้สมัคร ส.ส.เขตเพศหญิง พูดวาระที่ก้าวหน้าหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการพูดคุยเจรจาสันติภาพ เพราะนี่จะเป็นบันไดขั้นแรกที่พูดเสมอมา ว่าต้องการพื้นที่หรือตัวแทนของผู้หญิงบนโต๊ะเจรจา หาก ส.ส.เขตเป็นผู้หญิง ก็จะเท่ากับการยกระดับตัวแทนของภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ ผู้สมัคร ส.ส.เขตอย่าง เพชรดาว โต๊ะมีนา จากพรรคภูมิใจไทย และอามีเน๊าะ อารง จากพรรคก้าวไกล ซึ่งทั้งสองพรรคถูกนับว่าเป็นพรรคขนาดใหญ่

“ถ้าเกิดได้ผู้หญิงเป็นตัวแทนในครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดบทบาทของผู้สังเกตุการณ์บนโต๊ะเจรจาของผู้หญิงต้องเกิดขึ้น และต้องผลักดันให้มีตัวแทนของผู้หญิงในทุก ๆ ฝ่าย”