แสงอาทิตย์สาดถึงเราอย่างเหลือเฟือและเท่าเทียม แต่ประชาธิปไตยทางพลังงานยังไม่เกิด - Decode
Reading Time: 3 minutes

กระแสลมอื้ออึงในหุบเขาเมืองน่าน ทำให้ไฟฟ้าติด ๆ ดับ ๆ ตามบ้านเรือนอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะดับสนิทลง แต่บ้านหลังเล็ก ๆ ในสวนเกษตรอินทรีย์และโฮมสเตย์ “แดดจัดน้ำแล้ง” ที่อำเภอเชียงกลาง ยังมีไฟส่องสว่างสม่ำเสมอด้วยกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่กักเก็บจากโซลาร์เซลล์ระบบออฟกริด(Off Grid) ในช่วงกลางวัน อั๋น-กุลชาติ โหวธีระกุล ดึงสายชาร์จออกจากไอแพดแล้วส่งให้ปุ้มเพื่อนชีวิตของเขาอัพเดทกิจกรรมต่าง ๆ บนหน้าเพจของแดดจัดน้ำแล้ง แน่นอนว่ากระแสไฟทั้งหมดที่พวกเขาใช้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์

“แสงแดดเมืองไทยไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว แค่ดูทิศทางให้แผงโซลาร์เซลล์รับแดดทางทิศใต้ตามมุมของพระอาทิตย์ ตัวบ้านหลักใช้หนึ่งแผง ตรงที่ปั๊มน้ำใช้อีกแผง ไม่น่าจะต้องซื้อเพิ่มเติมอีกเพราะมันครอบคลุมชีวิตของผมแล้ว อายุการใช้งานคือ 25 ปี ใช้มา 9 ปีแล้วยังโอเคอยู่ ถ้าเรามีเงินเก็บ เทียบระหว่างเอาไปฝากแบงค์กับซื้อแผงโซลาร์เซลล์ ผมว่าซื้อแผงโซลาร์เซลล์คุ้มกว่ามาก”

ในเมื่ออั๋นกับปุ้มสามารถพึ่งตัวเองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบ 100% สวนกระแสกับค่าไฟในเดือนเมษายน 2566 ที่พุ่งทะลุกราฟกันทุกครัวเรือน แล้วเราจะทนผูกขาดกับระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ไปทำไม ในช่วงเวลาที่เหลือไม่กี่วันก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง อาจเป็นจุดเปลี่ยนสู่การเริ่มต้นใช้พลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายสร้างประชาธิปไตยด้านพลังงานไปพร้อม ๆ กัน เจาะประสบการณ์จริงจากสวนแดดจัดน้ำแล้งที่เป็นอิสระจากระบบสายส่งของการไฟฟ้า ไปจนถึงระบบออนกริด(On Grid) ที่ยังต้องเชื่อมต่อเข้าระบบไฟบ้าน จาก 3 ผู้รู้ในแวดวงพลังงานหมุนเวียน วินัย เตชะเกียรตินันท์ ผู้ประกอบการด้านโซลาร์เซลล์ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย

โซลาร์เซลล์ออฟกริดจากวอลเดน

ด้วยที่ตั้งของสวนอยู่ห่างไกลจากชุมชนและไม่มีไฟฟ้า รวมทั้งสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของสวนแห่งนี้ที่ประกาศชัดอยู่ในชื่อ “แดดจัดน้ำแล้ง” เป็นสาเหตุให้อั๋นตัดสินใจเลือกใช้พลังงานจากแสงแดดซึ่งธรรมชาติให้มาอย่างเหลือเฟือ เขาใช้เวลาศึกษาเรื่องโซลาร์เซลล์อย่างจริงจัง ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาทดลองทำ รวมทั้งไปศึกษาดูงานจากคนที่ใช้ระบบนี้อยู่ก่อนเพื่อนำไปปรับใช้กับสวนของตัวเอง

อั๋นเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันราคาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้กับระบบโซลาร์เซลล์ราคาถูกลงมาก เทียบกับเมื่อ 9 ปีก่อน ที่ราคาค่อนข้างแพงเพราะคนที่ใช้โซลาร์เซลล์ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อยที่ต้องการมีพลังงานเป็นของตัวเอง หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นานเขาจึงมั่นใจมากขึ้น โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ระบบออฟกริดที่ลงตัวกับวิถีชีวิตที่เร้นหลีกจากผู้คน เริ่มต้นสร้างบ้าน ทำสวนเกษตรและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ต่าง ๆ ที่เก็บเกี่ยวจากผืนดินของตัวเองโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก ราวกับหลุดออกมาจากวรรณกรรมเรื่องวอลเดน อั๋นยังค้นพบวิธีลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกและแบ่งปันแก่ผู้ที่สนใจทดลองใช้

“ผมใช้ระบบออฟกริดที่พึ่งตัวเอง 100% ใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งเก็บพลังงานซึ่งสมัยก่อนราคาค่อนข้างแพง แต่จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้แบตมือหนึ่ง ผมใช้แบตเตอรี่รีไซเคิล โดยไปหาตามร้านแบตมือสองที่ไม่สามารถนำไปใช้กับรถยนต์ได้แล้ว ที่ผมใช้แบตที่เกรดต่ำมากขนาดนี้ เพราะระบบโซลาร์เซลล์ไม่ได้ต้องการกำลังไฟสูง เป็นแค่แหล่งกักเก็บพลังงาน จึงทำให้ต้นทุนของแบตถูกมาก จากแบตมือหนึ่งราคากว่า 2,000 ผมซื้อแบตรีไซเคิลราคา 500 บาท แล้วพอมันเสื่อมสภาพสุด ๆ แล้ว ผมยังนำไปเปลี่ยนเป็นแบตลูกใหม่โดยเสียเงินแค่ 50 บาท เขาเป็นร้านที่ใจกว้าง”  

อั๋นเพิ่มเติมว่าแบตเตอรี่ที่เขาใช้จะมีอายุการใช้งานอยู่ประมาณ 4-5 เดือน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟและจำนวนแผงของโซลาร์เซลล์ด้วย สำหรับเขาใช้แบตเตอรี่แค่สองลูกเพราะความต้องการใช้ไฟจำกัดอยู่ไม่กี่กิจกรรม หลัก ๆ คือไฟส่องสว่างในบ้าน ชาร์จอุปกรณ์สื่อสาร และพัดลม แผงโซลาร์เซลล์จึงมีอยู่เพียงสองจุดหลัก ๆ คือที่ตัวบ้านกับตรงปั๊มน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงสวน แต่วิถีชีวิตแบบชาววอลเดนของอั๋นกับปุ้มอาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะระบบออฟกริดนั้นค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในตอนกลางคืน นอกจากนั้นกระแสไฟที่ได้ยังต้องใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบกระแสไฟตรง(Direct current-DC) ในขณะที่ครื่องใช้ไฟฟ้ามักเป็นกระแสสลับ(Alternating Current-AC) ดังนั้นอั๋นจึงแนะนำว่าระบบออฟกริดอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน

“เครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านผมจะเป็นกระแสตรง อย่างหลอดไฟก็เป็นกระแสตรง ถ้าเป็นกระแสสลับจะส่งไฟได้ดีกว่า การใช้โซลาร์เซลล์แบบที่ผมใช้อาจจะขาดความสะดวกความสบาย จะรีดผ้าก็ไม่ได้เพราะกำลังไฟไม่พอ แต่ว่ามันอยู่ที่การจัดการในการใช้ชีวิตของเรา ถ้าเรารีดผ้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องรีด ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าอยากใช้กำลังไฟมาก ๆ ต้องเพิ่มกำลังเงินเข้าไปให้มีแผงโซลาร์มากขึ้น แต่ถ้ายังอยากอยู่ร่วมกันกับการไฟฟ้า แล้วอยากพึ่งพาตัวเองด้วยก็ทำได้ คือใช้ระบบออนกริด”

โซลาร์ภาคประชาชน ที่ประชาชนรากหญ้าเข้าไม่ถึง

หากเงื่อนไขชีวิตไม่เหมาะกับระบบออฟกริดที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับระบบสายส่งเลย คนจำนวนมากจึงเลือกใช้ระบบออนกริด(On Grid) ที่เชื่อมกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า เป็นการใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์เสริมกับไฟฟ้าจากระบบ โดยเฉพาะปี 2566 ที่ค่าไฟพุ่งสูงเป็นประวัติการ ปรากฎการณ์นี้ทำให้คนชั้นกลางที่พอจะมีกำลังซื้อหันมาสนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบออนกริดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจของ วินัย เตชะเกียรตินันท์ ผู้ประกอบการด้านการรับติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ บริษัท เอ.ไอ.พาวเวอร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด

“ตอนนี้งานเยอะมาก เพราะประชาชนสนใจเรื่องโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้บิลค่าไฟแพงขึ้นทุกบ้าน ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์งานเข้าบริษัทเราตลอด ยาวไปจนถึงพฤษภา แถมลูกค้าที่แค่คุย ๆ กันไว้ แต่ยังไม่ตัดสินใจเพราะค่าใช้จ่ายสูง ปรากฎว่าช่วงนี้ลูกค้าบอกว่า รีบมาติดตั้งเลย”

วินัยเล่าถึงกระแสความตื่นตัวของผู้คนที่หันมาสนใจพลังงานแสงอาทิตย์ เหตุผลหลักคือต้องการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟแพง แถมในปัจจุบันค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังมีราคาถูกลงจนพอสู้ไหว เมื่อเทียบกับหลายปีก่อนที่ต้องลงทุนกันถึงหลายแสน

“ในมุมของประชาชนคืออยากจะใช้พลังงานฟรีจากธรรมชาติ แล้วทุกวันนี้อุปกรณ์ราคาถูกลงมาก หาซื้อได้ง่ายขึ้น แผงโซลาร์เซลล์หลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก 30 วัตต์ ไปจนถึง 50, 100, 120 ซึ่งแต่ก่อนเฉลี่ยแล้วราคาวัตต์ละประมาณ 100 บาท แต่ปัจจุบันวัตต์ละ 10 บาท แล้วถ้าซื้อในล็อตใหญ่อาจจะไม่ถึง เพราะฉะนั้นโอกาสในการเข้าถึงแผงโซลาร์เซลล์เลยมากขึ้น ทำให้คนหันมาสนใจ”

แต่การจะติดตั้งให้ถูกต้อง เต็มไปด้วยขั้นตอนทางราชการ วินัยถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการยื่นขอติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบออนกริด รวมทั้งการเข้าร่วม“โครงการโซลาร์ภาคประชาชน” ที่รัฐโปรโมทว่าชาวบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง และยังสามารถขายคืนให้แก่การไฟฟ้าได้ด้วย โดยเป็นแนวคิดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่รับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลาสัญญา 10 ปี ซึ่งในอดีตช่วงเริ่มต้นโครงการ รับซื้อเพียง 1.68 บาท ต่อหน่วย

“การเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนต้องเปลี่ยนมิเตอร์เป็นมิเตอร์ซื้อขายไฟ ที่มีกฎระเบียบเพิ่มเติมเข้ามา เริ่มตั้งแต่ยื่นจดแจ้งกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เรียกว่า “จดแจ้งยกเว้น” ต้องมีแบบคำนวณโครงสร้างจากวิศวกรโยธา ต้องเซ็นรับรอง ต้องขอถ่ายสำเนาบัตร กว.ของวิศวะโยธามา มีค่าใช้จ่ายพวกค่าวิชาชีพต่าง ๆ ขั้นที่สองคือต้องไปหาวิศวกรไฟฟ้าเพื่อออกแบบ Single line Diagram และเซ็นรับรอง ต้องขอบัตรประชาชนต่าง ๆ และมีค่าใช้จ่ายเพื่อเติมอีก จากนั้นจึงไปยื่นกับการไฟฟ้า หลังจากนั้นการไฟฟ้าก็จะตรวจเอกสารต่าง ๆ ซึ่งขั้นตอนในการเดินเรื่องต้องใช้เวลา ตามระเบียบ 30-45 วัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วหลายเดือน”  

พักหายใจกันก่อน เพราะขั้นตอนขอเข้าร่วมโครงการซื้อขายไฟจากการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนด้วยระบบโซลาร์เซลล์ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ขั้นตอนหลังจากยื่นแบบต่าง ๆ และการไฟฟ้าได้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จะติดต่อให้ประชาชนเข้าไปชำระเงินค่าธรรมเนียม 2,140 บาท รวม Vat ก่อนทำสัญญาซื้อขายไฟ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนเบิกมิเตอร์จากการไฟฟ้าเพื่อทำการติดตั้ง

บริษัทติดตั้งของวินัยต้องเข้าไปดูแล อธิบายการทำงานต่าง ๆ ในหลายขั้นตอน ในอดีตค่อนข้างยุ่งยาก แต่ปัจจุบันสามารถยื่นเอกสารออนไลน์ได้ แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือต้องนำตรวจที่หน้างาน เมื่อเปลี่ยนมิเตอร์เพื่อติดตั้งแล้ว ต้องทำการปิดเปิดระบบให้การไฟฟ้าดูว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ถ้าไฟตัด ไม่มีไฟย้อนไปภายนอกจนเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เรียกว่า COD(Commercial Operation Date) เมื่อผ่านเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว จึงมีการเชื่อมต่อแล้วสามารถซื้อขายไฟได้ กระบวนการทั้งหมดนี้แลกมากับค่าใช้จ่ายที่ชาวบ้านรายได้น้อยอาจจะเอื้อมไม่ถึง

“ปัจจุบันโซลาร์เซลล์แผงละประมาณ 9-12 บาท ต่อหนึ่งวัตต์ ราคาอินเวอร์เตอร์ประมาณ 8-10 บาท/วัตต์ อุปกรณ์จับยึดแผงโซล่าเซลล์(Solar Mounting) 2-3 บาท ค่าสายไฟ อุปกรณ์เซฟตี้ เบรคเกอร์ อุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าต่าง ๆ รวมทั้งพวกท่อต่าง ๆ และค่าแรงติดตั้งอยู่ที่ 3-5 บาท จากนั้นบวกเพิ่มในเรื่องค่าดำเนินการยื่นเรื่องอีก 20,000 -30,000 บาท แล้วแต่การคิดราคาของบริษัทที่รับติดตั้ง เพราะฉะนั้น 5 กิโลวัตต์ ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่แสนปลาย ๆ ถึงสองแสนบาท”

เมื่อชำระเงินเสร็จสิ้น ประชาชนผู้ซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าอย่างถูกต้องจึงเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า Net Billing มีอัตราซื้อไฟจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าราว 4-5 บาทต่อหน่วย ส่วนการขายไฟเกิดจากกระแสไฟของแผงโซลาร์เซลล์ที่เหลือใช้ คิดราคาหน่วยละ 2.2 บาท โดยแยกบิลค่าไฟการซื้อและการขาย นำยอดมาลบกันเป็นส่วนต่างที่ต้องชำระให้การไฟฟ้า

“โครงการโซลาร์ภาคประชาชน มีอัตราหน่วยที่ซื้อแพงขายถูก นอกจากนั้นยังมีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน ประชาชนธรรมดาไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว กฎระเบียบเหล่านี้ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบโซลาร์เซลล์ได้น้อย ทั้ง ๆ ที่ประชาชนพร้อมที่จะลงทุนติดตั้งเอง เพียงแต่ว่าติดขัดตรงกฎระเบียบเหล่านี้ สองคือค่าใช้จ่ายรวม แล้วเพิ่มขึ้นร่วมสองแสน”

ในทางกลับกัน แต่เดิมที่ประชาชนใช้มิเตอร์แบบจานหมุนที่ไม่ใช่มิเตอร์ดิจิทัลซื้อขายไฟของการไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ไหลผ่านอินเวอร์เตอร์จะสามารถจ่ายไฟย้อนเข้าไปในระบบของการไฟฟ้าได้ในกรณีที่ไฟเหลือใช้จากการใช้งาน เป็นเหตุให้มิเตอร์เดินถอยหลัง เลขหน่วยจึงลดลง กระบวนการนี้เรียกว่าการ “หักลบกลบหน่วย” (Net metering) ซึ่งองค์กรภาคประชาชนอย่างสภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค และกรีนพีซ ประเทศไทย สนับสนุนให้ใช้ระบบนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน เพราะมีความตรงไปตรงมา อัตราในการซื้อเท่ากับอัตราในการขายคืน หรือการเข้าออกของกระแสไฟสามารถหักลบกลบหน่วยกันได้ ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้ และเป็นระบบพลังงานที่ไม่ซ้ำเติมสภาพแวดล้อมให้เลวร้ายไปกว่านี้

ประชาชนเปิดรับพลังงานหมุนเวียน วอนรัฐอย่าบังแดด

“แม้ว่า กกพ.ที่เป็น Energy regulator หรือกระทรวงพลังงานเอง พยายามส่งเสริมโครงการโควต้าโซลาร์ภาคประชาชน แต่โครงการนี้ยังไม่ใช่กลไกการสนับสนุนที่นำไปสู่การยกระดับหรือการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนที่มีลักษณะกระจายตัวอย่างแท้จริง สิ่งที่กรีนพีซเสนอคือเปิดโอกาสให้มีกลไกสนับสนุนโดยใช้ระบบ “หักลบกลบหน่วย” (Net metering) ซึ่งเอื้อให้เกิดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับครัวเรือนหรือระดับชุมชน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของตัวเองด้วยการขายไฟฟ้าที่เหลือใช้เข้าสู่สายส่ง ซึ่งมันอาจจะไม่ถึง 4-5 บาท แต่ควรเป็นราคาที่ทำให้เกิดการคืนทุน แต่ตอนนี้คนที่ไม่ได้มีโควต้าไม่สามารถขายคืนได้ ดังนั้นระบบหักลบกลบหน่วยจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการกระจายศูนย์ทางพลังงาน ทำให้เกิดหน่วยธุรกิจย่อย ๆ ที่เป็น Social enterprise ด้านพลังงานเกิดขึ้น สร้างงานให้ชุมชน”

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย เสนอทางเลือกในการกระจายอำนาจด้านพลังงานไปสู่ประชาชน ผ่านระบบ Net metering นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่น ๆ  เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบกักเก็บพลังงาน(Energy storage) ซึ่งในระยะยาวจะเข้ามาแก้ปัญหาด้านพลังงานในมิติต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของค่าไฟและทำให้ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ลดลงได้ในอนาคต แม้จะมีประเด็นท้าทายในเรื่องของการลงทุนด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงาน แต่ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เห็นว่ามีความคุ้มค่าและยกระดับชีวิตประชาชนได้ในระยะยาว

“ถ้าเรามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลม แสงแดด ก๊าซชีวภาพ หรือพลังงานน้ำขนาดเล็ก สิ่งเหล่านี้ต้องการระบบกักเก็บพลังงานอยู่แล้ว เพราะว่าระบบพลังงานหมุนเวียนไม่ได้พร้อมใช้ 24 ชม. ระบบกักเก็บพลังงานอาจทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนในการลงทุนของระบบไฟฟ้า แต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าเราต้องการให้ระบบพลังงานของเรามีความยั่งยืน และมีความเป็นธรรมมากขึ้นกับประชาชน”

ธาราให้ข้อสังเกตว่าการสนับสนุนระบบ Energy storage ไม่ได้หมายถึงการละเลยระบบสายส่งที่มีอยู่ เพราะวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลในการลงทุน(Cost effective) ในการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างเป็นธรรมมากขึ้น คือการใช้ประโยชน์จากสายส่งที่มีอยู่ บวกกับการพัฒนา Smart grid ที่การไฟฟ้าให้ความหมายว่าคือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน  สามารถผนวกระบบกักเก็บพลังงานเข้าไปกับ Smart grid ได้ เป็นการช่วยให้ระบบสายส่งของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการตอบรับกับการผลิตไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ได้มากขึ้น ประเด็นสำคัญคือต้องเกลี่ยต้นทุนต่าง ๆ ให้สมดุลย์ เพื่อนำไปสู่ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

สำหรับเสียงสะท้อนจากคนทำงานด้านนโยบายสาธารณะเพื่อผู้บริโภคอย่าง อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เสนอทางออกจากระบบ Net Billing ให้เปลี่ยนมาเป็นระบบ Net metering เพื่อสนับสนุนให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน(Solar Rooftop) โดยรัฐต้องมีนโยบายในการคิดค่าไฟแบบราคาผลิตเท่ากับการรับซื้อไฟฟ้า และมีระยะเวลาการรับซื้อไม่ต่ำกว่า 20 ปี นอกจากนั้นยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติม ต่อสถานการณ์ของนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ ในวันที่ค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนพุ่งขึ้นที่ราคา 4.77 บาทต่อหน่วย (พ.ค.-ส.ค. 2566)

“ทั้งโลกตั้งเป้า Net zero(การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) อย่างจริงจัง แต่บ้านเรากลับสกัดคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ให้เข้าถึงพลังงานหมุนเวียน ประเทศอื่นสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงานเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ แต่บ้านเราสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลจนล้นสต็อค เพราะนโยบายด้านพลังงานไม่ยืดหยุ่น การใช้พลังงานหมุนเวียนเช่นระบบโซลาร์เซลล์ เป็นระบบที่ยืดหยุ่นและเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงพลังงานและพึ่งพาตัวเองได้ เป็นหลักการของประชาธิปไตยด้านพลังงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นการตอกย้ำว่าประชาชนกำลังอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการพลังงาน”

รองเลขาฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังได้เสนอทางออกต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานที่เกิดขึ้นในหลายแง่มุม ทั้งประเด็นที่รัฐต้องหยุดการเพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ถอดโรงเก่าออก โดยเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ในสัดส่วนเท่าเดิม เพื่อเป็นการเปิดทางให้พลังงานสีเขียวเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีรองรับพลังงานแบบกระจายตัว เช่น โซลาร์เซลล์ แปลงพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เป็นพื้นที่วางสายส่ง ให้เป็นพื้นที่กักเก็บพลังงาน(Storage) เพื่อกระจายให้พื้นที่ข้างเคียงได้

“รัฐต้องยกเลิกนโยบายพลังงานที่หากินกับระบบสายส่ง หรือโปรเจ็คท์การลากสายได้แล้ว หันมาลงทุนกับระบบกักเก็บพลังงาน เพิ่มแหล่งจำหน่ายเติมรถไฟฟ้ายานยนต์ให้กระจายทุกพื้นที่ กระทรวงการคลังต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดการประกอบการของรัฐวิสาหกิจจากการขายสินค้าหรือบริการของตัวเอง มาเป็นผลตอบแทนในเรื่อง Green energy และวัดผลงานและประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจแทน ถ้าการตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นอยู่ภายใต้กลุ่มทุนเดิม ประเทศอาจพ่ายแพ้ในทางเศรษฐกิจ แถมเป็น failed state ที่เกิดจากความโลภของคนใน แต่น่าดีใจที่การเลือกตั้งครั้งนี้หาเสียงในระดับนโยบายมากขึ้น ส่งผลต่อการปฏิรูปโครงสร้างของกลุ่มทุนที่ได้ผลประโยชน์ หน้าที่ของประชาชนคือการไปเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งต้องติดตาม ตรวจสอบให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง”

เหลืออีกเพียงอาทิตย์เดียวจะถึงวันเลือกตั้ง ประเด็นเรื่องการปฏิรูปพลังงาน และความหวังของประชาชนในการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรม อาจจะเป็นเวลาที่สุกงอมและพร้อมจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยด้านพลังงานกันเสียที นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างธารายังคงมองเรื่องนี้ด้วยความหวัง และยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการสร้างกระจายอำนาจทางพลังงานไปสู่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ กกพ.เปิดให้มีระบบหักลบกลบหน่วย(Net metering) หรือการตรวจสอบจับตามองแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP-Power Development Plan ฉบับใหม่ของประเทศไทย

“จะมีการเสนอ PDP หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศให้กับรัฐบาลใหม่ เราต้องตามไปดูว่าแผนนี้มีอะไรบ้าง เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ นำไปสู่การกระจายศูนย์ของพลังงานที่ทำให้สร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเป็น Prosumer (Professional + Consumer) ในด้านพลังงานหรือไม่ อย่างเช่นคนที่ใช้โซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าก็คือ Prosumer เราต้องจับตาดูให้ดีแบบห้ามกระพริบด้วยนะ เพราะมันจะไวมาก แล้วเราต้องไม่ประเมินตัวเองต่ำเกินไป การที่เราออกมาส่งเสียงเรื่องค่าไฟ และจับตามองเรื่องนโยบายพลังงาน จะทำให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล กำกับดูแลที่มันเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม”