Comuna 13 เศษส่วนของโคลอมเบียที่มีตัวตน - Decode
Reading Time: < 1 minute

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ผศ.ดร.บุญเลิศ  วิเศษปรีชา

​เมื่อพูดถึงประเทศโคลอมเบีย (Colombia) ผมคิดว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักประเทศนี้ แม้จะอยู่ในทวีปอเมริกาใต้แต่ในด้านฟุตบอลทีมชาติโคลอมเบียก็ไม่ได้โดดเด่นเหมือนอาร์เจนตินากับบราซิล เรื่องราวของโคลอมเบียที่คนไทยอาจจะรู้จักบ้างก็คือ (ครั้งหนึ่งเคย) เป็นประเทศที่ส่งออกโคเคนไปสหรัฐอเมริการายใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้การนำของราชายาเสพติดอย่างพาโบล เอสโคบา (Pablo Escobla) ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมเมื่อปี 1993 อีกทั้งยังมีเหตุสลดใจที่นักฟุตบอลทีมชาติโคลอมเบียถูกยิงตายกลางเมืองโดยมาเฟียเพราะทำเข้าประตูตัวเองจนทำให้ทีมชาติโคลอมเบียซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเต็งต้องตกรอบฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1994 

​ผมคิดว่า คนไทยไม่น้อยรวมถึงผมเอง จึงมีภาพจำว่าโคลอมเบียเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัย อาชญากรรมน่าจะเกิดขึ้นง่ายดายบนท้องถนน วันที่ 11-17 มีนาคม ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปประชุมวิชาการสาขามานุษยวิทยาที่เมืองเมะเดยิน (Medellin) เมืองใหญ่อันดับสองรองจากเมืองโบโกต้าซึ่งเป็นเมืองหลวง 

ก่อนเดินทางผมค้นข้อมูล ก็พบประกาศแจ้งเตือนของสถานฑูตอังกฤษเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของประเทศโคลอมเบีย เช่น ต้องเรียกแท็กซี่จากระบบจองล่วงหน้า เลี่ยงการโบกเรียกแท็กซี่ข้างถนนเพราะอาจตกเป็นเหยื่อของแก๊งค์เรียกค่าไถ่ ผมถึงกับอุทานว่า หนักกว่ามะนิลาอีกหรือนี่ 

​ทันทีที่ผมลงเครื่องที่สนามบินเมืองเมะเดยิน ตั้งสติเล็กน้อยตามประสบการณ์ที่เคยเจอความวุ่นวายในการเรียกแท็กซี่ที่สนามบินนินอย อาควิโน ในเมโทรมะนิลา ผมก็พบว่า ที่นี่มีการจัดการเป็นระบบทีเดียว แท็กซี่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแท็กซี่สังกัดสหกรณ์แท็กซี่ จอดรอคิวเป็นระเบียบ ไม่มีการตะโกนโหวกเหวก แย่งหรือชักจูงลูกค้า แถมราคาสำหรับการเดินทางเข้าเมืองก็รู้ล่วงหน้าชัดเจน เป็นราคาเดียวกับคนท้องถิ่น

จากเรื่องเล็ก ๆ เท่านี้ผมก็รู้สึกขึ้นมาได้ทันทีว่า ชื่อเสีย (ง) ของประเทศโคลอมเบียที่เราได้ยินนั้นไม่ค่อยเป็นธรรมกับชาวโคลอมเบียเท่าไรนัก

​มากกว่านั้น ทั้งในระดับเมืองและระดับประเทศ ต่างจัดการกับปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในอดีตได้อย่างยอดเยี่ยม ภาพสะท้อนที่ชัดเจนก็คือ สามารถแปลงย่านชุมชนแออัดที่ขึ้นชื่อเรื่องยาเสพติดและความรุนแรง ให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศต่างมาเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้ 

คอมูน่า 13 อดีตพื้นที่อันตรายที่กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว   

​เมืองเมะเดยิน เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศโคลอมเบีย อยู่ห่างจากเมืองโบโกต้า (Bogota) ซึ่งเป็นเมืองหลวงราว 400 กิโลเมตรเศษไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยี่ยมชม และแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับคือ ย่านคอมูน่า 13 (Comuna 13) ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ที่ไหล่เขาชานเมืองเมะเดยิน คาดการณ์ว่า ช่วงก่อนโควิดในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวประมาณวันละ 3,000 คน หรือประมาณ 1 ล้านคนต่อปีมาท่องเที่ยวที่ย่านนี้ โดยมากจะจองวอล์คกิงทัวร์ (walking tour) ที่มีคนท้องถิ่นเป็นผู้อธิบายสถานที่และเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น AirBnB Trip Advisor และ แพลตฟอร์มท้องถิ่นอย่าง Medellin City Tours

​คำว่า คอมูน่า (Comuna) Wikipedia แปลว่า Community แต่ผมอยากจะให้เข้าใจว่า เป็นเขตมากกว่า เพราะครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่าชุมชน อย่างคอมูน่า 13 ครอบคลุมพื้นที่หลายช่วงเขาและคอมูน่าก็ไม่ได้แปลว่าพื้นที่ชุมชนแออัด แต่เป็นการแบ่งเขตพื้นที่ อย่างในเมืองเมะเดยินเป็น 16 คอมูนา ด้วยความที่เป็นคนสนใจประเด็นคนจนเมือง เคยอ่านเรื่องชุมชนแออัดในประเทศอเมริกาใต้ที่อาศัยอยู่ตามชายเขา ผมจึงไม่พลาดที่จะมาเยี่ยมชมคอมูน่า 13 กับวอล์คกิงทัวร์ซึ่งไกด์ชาวเมะเดยินเป็นผู้เล่าเรื่อง 

​สิ่งแรกที่ต้องทึ่งก็คือ การเดินทางไปคอมูน่า 13 นั้นแสนสะดวก เพราะระบบรถขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าสาธารณะ ไปสิ้นสุดที่สถานีซาน ฮาเวียร์ (San Javier) แล้วต่อด้วยเคเบิ้ลคาร์ (cable car) หรือกระเช้าลอยฟ้าไปสู่ย่านชุมชนตามไหล่เขา กระเช้าแบบนี้อย่าเข้าใจผิดว่ารัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมคนไปท่องเที่ยวในย่านชุมชน เหมือนในหลายประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม ที่สร้างกระเช้าให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ

​แต่ที่เมะเดยิน เคเบิลคาร์ ซึ่งที่คนที่นี่เรียกว่า Metrocar เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชน Medellin Metro นั้น เปิดให้บริการในปี 2008 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้ที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขาชานเมืองให้เข้าเมืองได้สะดวก ด้วยหลักคิดสำคัญ คือ ที่ผ่านมาชุมชนที่อาศัยอยู่ตามทิวเขาถูกปล่อยให้อยู่ตามอัตภาพ เพราะพวกเขาเป็น “ผู้บุกรุก” มาสร้างบ้านเรือน และถูกทอดทิ้งโดยรัฐเข้าไม่ถึงงานที่เหมาะสมในเมือง ทำให้ขบวนการยาเสพติดเข้าหาชาวคอมูน่า 13 มาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผลิตและค้ายาเสพติด

​ดังนั้น แนวทางที่รัฐควรทำก็คือ การส่งเสริมให้พวกเขาได้เข้าถึงเศรษฐกิจของเมือง ซึ่งรูปธรรมหนึ่งก็คือ การลงทุนสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่อให้คนสามารถเดินทางเข้าเมืองได้สะดวก แทนที่จะต้องอาศัยรถคันเล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามไหล่เขา หรือเดินนับร้อยก้าว

​อีกรูปธรรมหนึ่งภายใต้หลักคิดเดียวกันว่า รัฐสนใจพวกเขา ภายใต้โครงการเปลี่ยนพื้นที่ของเมือง ก็ทำบันไดเลื่อนกลางแจ้ง ในพื้นที่แยกย่อยจากถนนและต้องเดินขึ้นบันได เทศบาลเมืองเมะเดยิน สร้างบันไดเลื่อนขึ้นหลายจุด เป็นระยะ ๆ ทำให้ย่นระยะเวลาและความยากลำบากบนภูเขาสูงถึง 384 เมตร จาก 25 นาที เหลือ 6 นาที

ชนะความรุนแรงด้วยศิลปะ 

​การทำโครงสร้างพื้นฐาน ดูจะเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดว่ารัฐมีความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวคอมูน่า 13 แต่หากย้อนกลับไปในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวคอมูน่าเต็มไปด้วยความตึงเครียด คุณลอร่า คาสโตร ไกด์นำทัวร์อธิบายให้ฟังว่า แต่เดิมราวทศวรรษ 1960 ชาวโคลอมเบียเผชิญปัญหาการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทจึงต้องลี้ภัยจากพื้นที่ชนบทเข้ามาอยู่ในเมือง รวมถึงพื้นที่ไหล่เขารอบนอกของเมืองเมะเดยิน

ทุกวันนี้คือคอมูน่า 13 แรงงานอพยพเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นแปลงเกษตร ทำทางสัญจรด้วยตนเอง เหมือนเป็นชุมชนที่ปกครองตนเอง โดยรัฐไม่ได้สนใจ ถูกปล่อยให้มีชีวิตยากลำบาก 

​กระทั่งขบวนการค้ายาเสพติด เห็นว่าพื้นที่ที่รัฐไม่สนใจปล่อยปละละเลยนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การผลิตและส่งออกโคเคน จึงทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ ราชาโคเคนอย่าง พาโบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) (1949-1993) ก็มีฐานสำคัญอยู่ที่เมะเดยิน เขาสร้างอิทธิพลในเขตนี้ด้วยการสร้างบ้านให้คนยากจน หางานให้ทำ พัฒนาโรงเรียน กลายเป็นนักบุญของชาวคอมูน่า 13 ที่ตกงานและจำต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผลิตและค้าโคเคน ว่ากันว่า เอสโคบาร์สามารถผลิตโคเคนและส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาได้ถึง 2,500 กิโลกรัมต่อวัน มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี  และค่อย ๆ สร้างอิทธิพลของตัวเองด้วยการติดสินบนและข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐให้เลือกว่า จะรับเงินหรือลูกปืน ทำให้กระบวนการยุติธรรมของโคลอมเบียไม่สามารถจัดการกับเขาได้

​แต่ด้วยความที่โคเคนระบาดเข้าไปที่สหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ จึงทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องการทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับโคลอมเบีย ซึ่งจะทำให้เอสโคบาร์สามารถถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกาได้ เขาขัดขวางการถูกส่งตัวทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งฆ่ารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่ใช้มาตรการทางกฎหมายกดดันเขา การระเบิดเครื่องบินจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 110 คน เพราะหวังจะลอบสังหารประธานาธิบดี และการยื่นข้อเสนอต่อรองว่าจะยอมถูกจองจำในคุกที่เขาสร้างขึ้นเองอย่างหรูหราเพื่อแลกกับการไม่ถูกส่งไปสหรัฐอเมริกา โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่เข้าใกล้เรือนจำของเขา ซึ่งทางการโคลอมเบียก็ยอมรับข้อตกลงนี้ แต่การที่เอสโคบาร์เรียกพ่อค้ายาเข้ามาพบและสังหารในเรือนจำของเขาเอง แสดงว่าเขายังก่ออาชญากรรมอีกจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทางการโคลอมเบียจู่โจมเพื่อจับกุมเขาส่งเรือนจำทั่วไป แต่เอสโคบาร์หลบหนีจากเรือนจำนี้ได้ทัน แต่ในเดือนธันวาคม ปี 1993 ก็ถูกวิสามัญขณะหลบหนีจากเซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งในเมะเดยิน 

​อย่างไรก็ดี การจบชีวิตของเอสโคบาร์ไม่ได้นำมาซึ่งความสงบในทันที เพราะขบวนการฝ่ายซ้ายติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลก็ยังมีอิทธิพลในพื้นที่ อีกทั้งอิทธิพลของพ่อค้ายา ซึ่งบางครั้งก็ขัดแย้งแล้วก็สังหารและล้างแค้นกัน จนทำให้เมเดะยินและคอมูน่า 13 เป็นพื้นที่อันตราย โดยเมเดะยินเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมสูงที่สุดในโลก ทำให้รัฐต้องพยายามเข้ามาสถาปนากฎหมายและอำนาจรัฐในพื้นที่ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึง ต้นทศวรรษ 2000 โดยเฉพาะในปี 2002 ที่ประธานาธิบดีคืออัลบาโร อุริเบ้ (Álvaro Uribe) ซึ่งเคยเป็นทั้งผู้ว่าการจังหวัดอานติโอเคีย (Antioquia) และนายกเทศมนตรีเมืองเมะเดยินมาก่อน มีนโยบายปราบปรามกองกำลังฝ่ายซ้ายและขบวนการยาเสพติดอย่างแข็งกร้าว รวมทั้งสนับสนุนกองกำลังกึ่งทหาร (paramilitary) ที่ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งขึ้นเพื่อสู้กับขบวนการฝ่ายซ้าย 

ปฏิบัติการเหล่านี้ก่อให้เกิดความรุนแรงเป็นบาดแผลครั้งใหญ่ต่อชาวคอมูน่า 13 และชาวเมืองเมะเดยิน เพราะการใช้อาวุธสงครามกวาดจับอย่างไม่เลือกหน้า ยังมีการจับกุม ทำร้าย สังหารคนบริสุทธิ์จำนวนมาก โดยปฏิบัติสะเทือนขวัญที่สุดคือ ปฏิบัติการโอรีออน(Operation Orion) ที่ใช้ทั้งรถถัง ในวันที่ 16-18 ตุลาคม 2002 ที่ฝ่ายรัฐดับไฟทั้งย่าน แล้วใช้เครื่องบินเฮลิปคอปเตอร์ 2 ลำ วนรอบฉายไฟตามบ้านเรือน กองกำลังอีก 3,000 นาย พร้อมอาวุธครบมือจู่โจมบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติการกับกองกำลังต่อต้านรัฐ ผลของปฏิบัติการนี้ ซึ่งกินเวลาถึง 3 วัน ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้ เด็กไม่สามารถไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ไม่สามารถไปทำงาน แม้กระทั่งออกมาซื้อกับข้าว ได้ยินแต่เสียงปืนตอบโต้กันสนั่นหวั่นไหว ภาพหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของปฏิบัติการนี้ก็คือ ภาพชาวบ้านใช้ไม้ชูผ้าขาวเพื่อขอให้ฝ่ายรัฐยุติปฏิบัติการพิเศษ

​อีกภาพที่ถูกวาดในหลายเวอร์ชั่นก็คือ ภาพสายตาของเด็กมองออกมาจากรูหน้าต่างที่ถูกยิงแตก เพราะบ้านเรือนถูกยิง พวกเขาไม่สามารถออกจากบ้านได้ และก็ไม่ทราบว่า ปฏิบัติการจะยุติลงเมื่อไร ผลของปฏิบัติการนี้ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการถึงจำนวนผู้เสียชีวิต แต่คาดว่ามีพลเรือนผู้บริสุทธ์ถูกสังหารแต่ถูกระบุว่าเป็นกำลังของฝ่ายติดอาวุธ รวมถึงมีคนที่ถูกทำให้สูญหายอีกราว 70 คน  

กองกำลังกึ่งทหารที่รัฐหนุนหลังยังมีปฏิบัติการนอกกฎหมาย เช่น จับคนที่ต้องสงสัยไปรีดเค้น แล้วสังหารนำศพไปฝังอำพราง กระทั่งหลายปีต่อมาทางการยอมรับว่ามีปฏิบัติการนอกกฏหมายจริง ถึงขนาดสามารถระบุและขุดค้นภูเขาซึ่งเป็นที่ฝังศพของผู้ที่ถูกองค์กรกึ่งทหารนี้สังหาร คาดว่ามีผู้สูญหายราว 150-300 คน ในช่วงปี 2002-2003

ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวคอมูน่า 13 ตกอยู่ในความหวาดผวา เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดปฏิบัติการพิเศษ 

​แต่ในสถานการณ์เช่นนั้น ชาวคอมูน่า 13 ไม่อาจต่อต้านได้อย่างเปิดเผย เพราะจะถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกันกับขบวนการค้ายาเสพติด สิ่งที่พวกเขาทำคือการต่อต้านด้วยศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะบนกำแพง (graffiti) รวมถึงร้องเพลงฮิปฮอปและการเต้นเบรคด๊านซ์ (breakdance) เพื่อสะท้อนความรู้สึกของพวกเขา รวมถึงการแขวนรองเท้าของคนที่สูญหาย กระทั่งรัฐบาลรับรู้ว่า ปฏิบัติการพิเศษสร้างบาดแผลมากกว่าแก้ไขปัญหา จึงเปลี่ยนเป็นการทำโครงการพัฒนาแทน 

​ปี 2003 ผู้ว่าการจังหวัดอานติโอเคีย จึงเปลี่ยนแนวมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้คนเข้าถึงโอกาสของการจ้างงานในเมืองได้ง่ายขึ้นดังที่เล่าไว้ข้างต้น พร้อม ๆ กับการสนับสนุนงานศิลปะในพื้นที่ กระทั่งงานศิลปะกราฟิตี้ที่สะท้อนบทเรียนความรุนแรง กลายเป็นจุดดึงดูดของนักท่องเที่ยว เพราะไม่ใช่ว่าบ้านไม่กี่หลังเท่านั้นที่มีภาพกราฟิตี้ (แบบในเมืองปีนังที่ต้องเดินหาว่า street art อยู่ที่ถนนสายไหนบ้าง) แต่ที่คอมูน่า 13 บ้านเรือนที่มีฝาบ้านหันสู่พื้นที่สาธารณะ ล้วนแล้วแต่มีภาพกราฟิตี้ทั้งสิ้น 

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับชุมชนแออัดผมมีข้อสงสัยว่า ต้นทุนของวัสดุสำหรับภาพ graffiti นั้นไม่ใช่น้อยและน่าจะเกินกว่าที่ชาวบ้านจะจ่ายกันเองได้ ก็ได้คำตอบว่า ภาคประชาสังคมมีส่วนในการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและพื้นที่ย่านนี้ หรือกล่าวได้เลยว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคเอกชนในช่วงนับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา  

การเข้ามาของนักท่องเที่ยว ซื้อของที่ระลึก ซื้ออาหาร ซื้อน้ำ ทำให้เศรษฐกิจในเขตคอมูน่า 13 ดีขึ้น กระทั่งผมถึงกลับไม่แน่ใจว่า ย่านนี้เคยเป็นชุมชนแออัดมาก่อนจริงหรือ

ก็ได้คำตอบจากไกด์นำทัวร์ว่า บ้านเรือนสมัยก่อนโทรมกว่านี้ ปลูกจากไม้อัด สังกะสี แต่เมื่อไร้ยาเสพติด ไร้ความรุนแรง ผู้คนมีงานทำ คุณภาพชีวิตของผู้คนก็ดีขึ้น 

​แน่นอนว่า เราคงไม่อาจปฏิเสธว่า การใช้กองกำลังเพื่อกดดันฝ่ายต่อต้านติดอาวุธ มีส่วนทำให้ขบวนการติดอาวุธอ่อนแอลง ต้องล่าถอยออกจากเมืองเมะเดยิน 

แต่บทเรียนสำคัญของที่นี่ก็คือ ความรุนแรงไม่อาจยุติได้ด้วยความรุนแรง แต่ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งดีงามและผนวกรวมคนที่เคยถูกละทิ้งมาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง