สัญญาใจนโยบายคนพิการ วัดใจ 2 ล้านกว่าเสียงชี้ชะตาก่อนเลือกตั้ง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2,027,500 คน คิดเป็นร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลประชากรประเทศไทย สำนักงานทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว ไม่ใช่จำนวนผู้พิการทั้งหมดในประเทศ ซึ่งนั่นก็ทำให้เห็นว่า ยังมีจำนวนผู้พิการที่ยังไม่เข้าถึงสวัสดิการได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การออกนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับคนพิการ ก็จะมีสัดส่วนคนพิการค่อนข้างน้อยที่จะไปออกนโยบายทางสังคมสำหรับผู้พิการ แล้วเมื่อนโยบายเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถตอบโจทย์คนพิการมากนัก

De/code ชวนฟังเสียงจากเวที “ประชาชนคนพิการอยู่ไหนในการเมืองไทย” พร้อมกับไปฟังมุมมองจากตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายสำหรับคนพิการ และตอบข้อสงสัยว่า ตกลงแล้วคนพิการอยู่ตรงไหนในนโยบายและมุมมองของรัฐ 

สวัสดิการด้านการศึกษาที่มี แต่ใช้(ไม่)ได้จริง

“แม้จะมีกฎหมายเรียนฟรี แต่ในความจริงไม่สามารถไปเรียนได้จริง ๆ เพราะไม่มีทางลาด ไม่มีลิฟต์ ไม่มีสิ่งที่คนตาบอดเดินได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงสถานศึกษาที่ยังไม่เอื้อให้ผู้พิการ”

จากสิ่งที่ ไมตรี คงเรือง เลขาธิการสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศรีสังวาลย์ พูดถึงนั้นทำให้เห็นว่า แม้จะมีกฎหมายที่พูดถึงสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการ แต่ในความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้พิการจะสามารถใช้สถานที่การศึกษาได้อย่างครอบคลุม โดยมีทั้งปัญหาการสถานศึกษาที่ไม่มีหลักการออกแบบที่คำนึงถึงอารยสถาปัตย์หรือการออกแบบเพื่อความเท่าเทียม ที่ทำให้คนพิการสามารถใช้สถานศึกษาได้อย่างสะดวกสบาย เช่น ไม่มีทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอุปกรณ์การเรียนที่ยังไม่เอื้อให้คนพิการบางประเภทไม่สามารถเล่าเรียนได้ เช่น ไม่มีหนังสือที่มีอักษรเบรลล์สำหรับการเล่าเรียนสำหรับบุคคลตาบอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาสถานศึกษาที่ยังไม่เอื้อให้ผู้พิการใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย

การเรียนร่วมสำหรับผู้พิการ ถือเป็นการสร้างประสบการณ์สำหรับการใช้ชีวิตในสังคมทั่วไปสำหรับผู้พิการ แต่ในความเป็นจริงนั้นยังไม่เอื้อ ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการสร้างการเรียนร่วมสำหรับผู้พิการ จะมีการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับประเภทความพิการและตามความชอบ นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมโรงเรียนตามเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง พัฒนาให้เป็นโรงเรียนคุณภาพที่ตอบโจทย์สำหรับการเรียนร่วมของคนพิการ เช่น มีครูที่เชี่ยวชาญในการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้พิการแต่ละประเภท เป็นต้น นอกจากนี้ในระหว่างเรียนจะมีการส่งเสริมการสร้างอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างเรียน

แต่อีกมุมมองของ ดร.สว่าง นาคพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอเกี่ยวกับนโยบายหลักสูตรการเรียนในรูปแบบ Home School หรือการเรียนรู้จากบ้านของตัวเอง ด้วยสาเหตุทั้งระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนมีความห่างไกล หรือประเภทความพิการต่าง ๆ ที่อาจไม่สะดวกในการเดินทางไปเรียนที่สถานศึกษา

ขายฝันนโยบาย วีลแชร์-ขาเทียม ตัวช่วยผู้พิการ

วีลแชร์ ขาเทียม หรืออุปกรณ์ที่ช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากขึ้น ล้วนแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อหรือซ่อมบำรุงต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้พิการอย่างมาก จึงทำให้ อนุสรี ทับสุวรรณ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนโยบายทางด้านการสนับสนุนงบสำหรับอุปกรณ์ที่ผู้พิการจำเป็นต้องใช้เพื่อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก เช่น ขาเทียม วีลแชร์ เป็นต้น และต้องเป็นอุปกรณ์ที่ต้องได้คุณภาพและเหมาะสม ซึ่งจะทำให้สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสำหรับการใช้ชีวิตได้จริง ๆ เพราะหากอุปกรณ์เหล่านั้นสร้างความเจ็บปวดหรือความไม่สะดวกสบายให้กับผู้พิการ สุดท้ายผู้พิการก็ต้องทนลำบากในการใช้ชีวิตต่อไป ทำให้การเลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพนั้นจึงสำคัญ

เพราะในอดีตตอนที่ อนุสรี อยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีเคสคนที่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ต้องใช้ขาเทียม แต่ขาเทียมนั้นก็ทำมาจากวัสดุที่ไม่สะดวกสบายในการเดินและเกิดอาการเจ็บขณะใช้งาน อนุสรี จึงได้ให้ความช่วยเหลือ โดยที่มีการจัดหาอุปกรณ์ที่มีวัสดุที่นุ่มขึ้น และมีโครงสร้างอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งทำให้ผู้พิการคนดังกล่าวสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำไมแค่การสนับสนุนให้แค่อุปกรณ์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับผู้พิการแต่ละประเภทด้วย

สางปมจ้างงานของผู้พิการในภาครัฐถดถอย

ต่อจากเรื่องสิทธิด้านการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการแล้ว ขั้นต่อไปที่จะทำให้คนพิการสามารถเลี้ยงชีพได้ คือ การจ้างงานคนพิการ ซึ่ง สุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงการจ้างงานสำหรับผู้พิการจากภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการจ้างงานที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ โดยในปีล่าสุดอัตราการจ้างของผู้พิการจากภาครัฐมีไม่ถึง 10% แต่ในทางกลับกันการจ้างสำหรับผู้พิการจากภาคเอกชนมีมากกว่า 90% หากเป็นไปได้นโยบายเรื่องการจ้างงาน ควรเป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้เป็นลำดับต้น ๆ เพราะการจ้างงานสำหรับผู้พิการ จะทำให้พวกเขาสามารถเลี้ยงชีพตนเองได้

นอกจากนี้ สุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ยังเสริมเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้พิการที่อยากจะขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกลับไม่สามารถเข้าถึงได้จริง ต้องไปซื้อต่อในราคาที่มากกว่าที่มากขึ้นจากผู้อื่น ซึ่งสิ่งนี้ก็ควรผลักดันให้ผู้พิการสามารถมีสิทธิ์เข้าถึงโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลได้อย่างครอบคลุมและราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้หากภาครัฐไม่อยากจ้างงานผู้พิการ ก็ควรมาเกื้อหนุนในเรื่องโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล อาจให้งวดละ 20 เล่มต่อผู้พิการ 1 คน สิ่งนี้ก็เปรียบเสมือนการจ้างงานหรือการหารายได้สำหรับคนพิการอีกงานหนึ่ง

ผู้ช่วยคนพิการ 1 : 695

ทั้งเรื่องสิทธิด้านการศึกษาและการจ้างงานจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่จริง ๆ แล้วนั้นยังมีคนพิการอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้พิการทางด้านการเคลื่อนไหวซึ่งในกลุ่มเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้ช่วยที่เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลด้วย แต่ในความเป็นจริงนั้นพวกเขาก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการผู้ช่วยได้เต็มที่ 

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ผู้จัดการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล พูดถึงนโยบายทางด้านผู้ช่วยคนพิการ จากสถิติผู้ที่มีความพิการด้านการเคลื่อนไหวในปี 2565 ช่วงอายุ 6-60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 92,000 คน แต่กลับมีผู้ช่วยสำหรับผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวจากภาครัฐ 1,571 คน ทำให้สัดส่วนของผู้ช่วยคนพิการ 1 คน อาจต้องดูแลผู้พิการถึง 695 คน 

ซึ่งจำนวนดังกล่าวสะท้อนถึงจำนวนผู้ช่วยที่ขาดแคลน โดยมีสาเหตุ เช่น ค่าจ้าง 50 บาทต่อชั่วโมง ด้วยจำนวนค่าจ้างนี้มันน้อยจนทำให้ผู้ช่วยดูแลคนพิการไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพียงอาชีพเดียว ซึ่งควรจะเพิ่มเป็น 150 บาทต่อชั่วโมง ที่เป็นค่าจ้างที่ทำให้ผู้ช่วยคนพิการสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยอาชีพเดียว นอกจากนี้ควรคัดสรรคนที่มีความเข้าใจคนพิการ และทำให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการขอใช้บริการสะดวกสบาย

แพ็คเกจเหมา ๆ มีงานทำ มีรายได้ เลี้ยงตัวเองได้

“ภูมิใจไทยต้องการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้”

อนุสรี ทับสุวรรณ พูดถึงนโยบายศูนย์ฝึกอาชีพที่สามารถนำไปเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้จริง เช่น การตัดเย็บเสื้อโหล เป็นต้น โดยจะมีศูนย์ฝึกอาชีพในด้านอื่น ๆ อีกสำหรับผู้พิการ โดยจะเน้นที่หลักสูตรเหล่านั้นต้องสามารถใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา ไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ที่พอเลี้ยงชีพได้ และหลักสูตรการเรียนจะมีการบูรณาการเกี่ยวกับด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าการขายสินค้าต่าง ๆ ของผู้พิการมากขึ้น

นอกจากนี้ในด้านของ ประสงค์ แก้ววิจิตร พรรคไทยชนะ ก็ได้หยิบยกเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีศูนย์คอยจัดหางานสำหรับผู้พิการ เพื่อทำให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงแหล่งงานได้ง่ายมากขึ้น และมีนโยบายลดหย่อนภาษีรายได้ 100,000 บาทต่อการจ้างงานผู้พิการ 1 คน ซึ่งจะเพิ่มอัตราการจ้างงานของคนพิการจากผู้ประกอบการต่าง ๆอีกด้วย

เบี้ยผู้พิการเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้พิการ แต่ในปัจจุบันจำนวนเงินไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยตัวแทนพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องการปรับเบี้ยผู้พิการจาก 800 – 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึง ศิริพงศ์ นานคงแนบ พรรคก้าวไกล ด้วยเช่นกัน โดยเขาได้พูดถึงที่มาของงบประมาณที่จะมาเป็นส่วนเพิ่มสำหรับเบี้ยผู้พิการและสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้พิการ

“เรานำเงินมาจากการเรียกคืนธุรกิจกองทัพ เช่น สนามมวย สนามม้า สนามกอล์ฟ เป็นต้น ถ้าเราเรียกเงินส่วนนี้คืนได้เราจะมีเงินกลับเข้ารัฐประมาณ 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้หารายได้จากงบกลาง ทำให้เรามีรายได้เข้ารัฐ 30,000 ล้านบาท และลดโครงสร้างที่ไม่จำเป็นเราจะได้เงินอีก 100,000 ล้านบาท ที่สำคัญเก็บภาษีความมั่งคั่งคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตราพิเศษ ถึงเวลาที่คนรวยต้องอุ้มคนจนคนที่ไม่มีโอกาสแบบเรา ๆ”

พื้นที่ปลอดภัยที่ต้องได้รับการซ่อมแซม

ตามสถิติแต่ละปี มีผู้สูงอายุหรือคนพิการหกล้มจากภายในบ้านตัวเองกว่า 3 ล้านราย จากสิ่งดังกล่าวทำให้พรรคชาติพัฒนากล้าเกิดความคิดที่จะมีนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน 

สวิชญา วาทะพุกกะณะ พรรคชาติพัฒนากล้า เล่าจุดเริ่มต้นของนโยบายอารยสถาปัตย์สำหรับผู้พิการว่า “มีว่าที่ผู้สมัคร สส.ของพรรคคนหนึ่ง ได้ไปเจอกับเรื่องราวของผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องไปเข้าห้องน้ำเอง แล้วบ้านก็เป็นไม้ที่เสื่อมโทรมแล้ว จนวันหนึ่งผู้สูงอายุคนนั้นได้กลับจากการเข้าห้องน้ำ แล้วไม้ทั้งแผ่นผุลงไปเลย ซึ่งข้างล่างเป็นน้ำคลอง ทำให้เขาจมน้ำเสียชีวิต”

ซึ่งจากเรื่องราวดังกล่าวทำให้เกิดนโยบายด้านอารยสถาปัตย์ สำหรับการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ หลังละ 50,000 บาท เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในบ้าน เช่น สร้างราวจับทางเดิน สร้างทางลาดสำหรับบุคคลผู้ใช้วีลแชร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้บ้านเป็นที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ทำให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลสามารถวางใจได้ว่า ผู้สูงอายุหรือผู้พิการในบ้านจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุในบ้านน้อยลง

สุดท้ายนี้ทิศทางของนโยบายที่ตอบโจทย์คนพิการจริง ๆ จะมีอยู่จริงได้ คงไม่ใช่เพราะเพียงแค่การนำเสนอนโยบาย แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่นโยบายขายฝันอีกต่อไป

สำคัญที่สุด คือ นโยบายเหล่านั้นต้องเอื้อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตหรือทำตามความฝันได้ไม่ต่างกับคนทั่วไป ทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้ ดังนั้นแล้วอนาคตของนโยบายต่าง ๆ จากเสียงของ ‘คนพิการ’ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเมื่อไหร่ เราก็ต้องคอยติดตามต่อไป

ที่มาภาพ: วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต