ก้าวข้ามCSR แบบเดิม ๆ เริ่มสร้างเศรษฐกิจฐานมนุษย์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในโลกของธุรกิจยุคใหม่ นอกเหนือจากผลกำไรแล้ว สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง คือผลกระทบต่อสังคมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงภารกิจใหม่ คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคมโลก 

ล่าสุด อ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam) ได้จัดงาน Asia Inclusive and Responsible Business Forum 2023 ขึ้น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก โดยเฉพาะแรงงานและเกษตรกร ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคธุรกิจ เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ความเป็นธรรมทางเพศ และความยืดหยุ่นต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ ผ่านกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งกรณีศึกษาที่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ภาคธุรกิจในเอเชีย ไม่ยอมตกขบวนสิ่งแวดล้อม เน้นทุนมนุษย์มากขึ้น

จักรชัย โฉมทองดี องค์การอ็อกแฟม ประจำภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทในเอเชียเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงแรงผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมในระดับโลก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ บริษัทต่าง ๆ ควรก้าวข้ามรูปแบบ CSR ลักษณะเดิม ๆ แบบโครงการสั้น ๆ แล้วจบไป หากแต่ควรผนวกรวมมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนประกอบสำคัญของโมเดลทางธุรกิจ

“งานประชุมนี้เน้นให้เห็นถึงวิธีการที่บริษัทเอกชนขนาดและรูปแบบต่าง ๆ จากไทยไปจนถึงไนจีเรีย จะสามารถและได้นำกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความสำคัญกับมนุษย์และโลกมาใช้มากขึ้น โดยไม่กระทบกับผลประกอบการทางการเงินของบริษัทเหล่านั้น” 

“เราเห็นว่าประเทศไทยและในเอเชียมีโจทย์และโอกาสทางธุรกิจใหม่เข้ามา หลายตลาดทั่วโลกต้องการที่จะเห็นความยั่งยืนในทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน ของราคาแพงขึ้น มันจำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนและตอบโจทย์ผู้บริโภคในหลายๆ ที่ และเราเห็นว่า แม้จะมีเรื่องของเงินเฟ้อในต่างประเทศ หรือความถดถอยทางเศรษฐกิจ ความต้องการที่จะตอบโจทย์ทางสังคมในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ไม่ได้ลดลง เราเลยรู้สึกว่า ภาคประชาสังคม รวมถึงอ็อกแฟม แล้วก็พันธมิตรต่าง ๆ จำเป็นต้องร่วมกันคิดกับภาคธุรกิจในการสร้างโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย”  

“อย่างในยุโรปหรืออเมริกา ต่อไปก็จะเป็นกฎแล้ว คุณต้องทำ Human Rights Due Diligence คือคุณต้องตรวจสอบเรื่องของห่วงโซ่อุปทานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และต่อไปก็จะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าคุณไม่มีกระบวนการเหล่านี้ คุณส่งเข้าตลาดเขาไม่ได้ ตลาดคุณหายทันที เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงวันนั้น จะทำอย่างไรให้พร้อม” จักรชัยกล่าว

ในการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาจากทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ Amru Rice Cambodia ผู้ผลิตและส่งออกข้าวอินทรีย์รายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ที่นอกจากจะมีการลงทุนกับเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน พร้อมให้การศึกษาและความมั่นคงทางการเงิน Amru Rice Cambodia ยังร่วมมือกับหน่วยงานความร่วมมือด้านเกษตรกรรมหลายฝ่ายในกัมพูชา เพื่อสร้างรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทางสังคมให้กับชุมชนที่บริษัททำงานด้วย

“เรากำลังพยายามสร้างระบบนิเวศที่ทุกคนในห่วงโซ่อุปทานได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย รูปแบบของเราส่งเสริมผลประโยชน์ทางการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับเกษตรกรผ่านการเป็นเจ้าของหุ้นโดยตรง โดยให้ราคาที่เป็นธรรม และค่าพรีเมี่ยมสำหรับพืชผลผ่านข้อตกลงการจัดหา เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนความหลากหลายในการเพาะปลูกซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมเทคนิครับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศให้กับเกษตรกรด้วย ซึ่งรวมถึงการใช้โรงเรือนและการปลูกพืชแซม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในชื่อว่า BlocRice ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2561 โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น และช่วยให้สามารถติดตามผลผลิตตั้งแต่ออกจากแหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค” กุนธี กัน รองประธาน AMRU Rice กล่าว

ในระยะแรกมีเกษตรกรเข้าร่วม 50 ครัวเรือน และขยายเป็น 500 ครัวเรือนจากสองชุมชนในปัจจุบัน เทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรมีเสียงมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน และช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างความร่วมมือกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการอื่น ๆ ได้ด้วย

ด้าน ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนของเอเชีย และผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทไทยยูเนี่ยน ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนบริษัทที่เรียกว่า “SeaChange” ซึ่งมุ่งส่งเสริมความยั่งยืน สร้างการจ้างงานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยติดตามดูแลเรื่องนโยบายจ้างงานแรงงานข้ามชาติที่ถูกหลักจรรยาบรรณและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง และให้การสนับสนุนแรงงานที่เป็นผู้หญิงด้วย รวมทั้งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพผ่านอาหารทะเลที่ยั่งยืน

“เราได้รับประโยชน์จากความรู้ของภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการตรวจสอบและการสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของเรา และเรายังได้ทำสัญญากับเรือประมงเพื่อส่งเสริมการใช้แรงงานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย การทำงานร่วมกันเป็นพื้นฐานในการสร้างโมเดลธุรกิจที่มีส่วนร่วมและยั่งยืน เราจำเป็นต้องร่วมมือกับทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และลูกค้า” 

หยุดภาพจำหญิงแกร่ง เพราะธุรกิจขับเคลื่อนโดยเพศใดก็ได้

นอกจากการจ้างงานที่เป็นธรรมและสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบนเวทีนี้ คือความเป็นธรรมทางเพศและการเสริมพลังให้กับผู้หญิง โดยเริ่มจาก Jaebee Furniture แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดังของประเทศไนจีเรีย ที่จัดตั้งขึ้นโดยจอย บามิเดล ซีอีโอของ Jaebee Furniture ผู้ซึ่งเกิดและเติบโตในครอบครัวผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับไฮเอนด์ เธอต้องการสร้างเฟอร์นิเจอร์ที่ใครก็เข้าถึงได้

หลังจากประสบความผิดหวังในชีวิตคู่ จอย บามิเดล หันมาริเริ่มทำโครงการ Skill Up และจัดตั้ง Jaebee Furniture School เพื่อสอนให้ผู้หญิงทำเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากเธอพบว่าผู้หญิงหลายคนที่เลิกรากับสามีมักจะมีชีวิตที่ไม่ราบรื่นนัก เธอจึงพยายามถ่ายทอดทักษะการทำเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถหารายได้ด้วยตัวเองได้

“เราทราบดีว่าการลงทุนด้านการศึกษาและการจ้างงานผู้หญิงมีความสำคัญมากในการสร้างผลกระทบทางสังคม เรามุ่งมั่นที่จะเป็นเวทีสำหรับผู้หญิงที่ด้อยโอกาสในชุมชนของเรา และนำหญิงสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเข้าสู่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของเรา การดูแลผู้คนในชุมชนทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและเพิ่มผลกำไรได้ แนวทางของเราคือการช่วยเหลือผู้คน เพราะเรารู้ว่าเมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น เราทุกคนจะได้รับประโยชน์”

“สิ่งที่คุณมีอยู่ในสมองและสองมือ ไม่มีอะไรจะพรากสิ่งเหล่านี้ไปจากคุณได้ ถ้ายังมีสติดีอยู่และมีทักษะ สิ่งเหล่านี้จะยังอยู่กับคุณ เพราะฉะนั้น ฉันจึงพยายามทำให้ผู้หญิงมีความมั่นคง เมื่อคุณช่วยเหลือคนอื่น เท่ากับคุณช่วยเหลือตัวเองด้วย” ซีอีโอของ Jaebee Furniture กล่าว

ด้าน ภิรมย์ ดีพรรณ ซีอีโอของ MUCH Mobile Healthcare ประเทศกัมพูชา ก็เป็นนักธุรกิจหญิงอีกคนหนึ่งที่พยายามเสริมพลังให้กับผู้หญิง ผ่านบริการด้านการดูแลสุขภาพที่บ้าน เนื่องจากในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงมักจะถูกพ่อแม่กีดกันไม่ให้ทำงาน และถูกบังคับให้แต่งงาน

“การลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพมีผลกระทบทางสังคมอย่างมาก ความสำเร็จของเรา [ธุรกิจ] นำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งนำไปสู่การกระจายทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ”

MUCH Mobile Healthcare ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่บ้านและส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานในพื้นที่ชุมชนที่ปลอดภัย และยังช่วยให้พ่อแม่ของผู้หญิงเหล่านั้นเข้าใจถึงความสำคัญของงานที่พวกเธอทำ

“จงจำไว้ว่าพวกคุณทำได้และอย่ายอมแพ้” ภิรมย์ ดีพรรณ กล่าวทิ้งท้ายในการเสวนา รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ชายสนับสนุนผู้หญิง และปลดล็อกศักยภาพของผู้หญิง

ทะลุเพดานมาตรฐานธุรกิจ ต้องใช้แรงจากภาครัฐ

แม้หลายธุรกิจจะมีศักยภาพในการส่งเสริมความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเพื่อหารายได้ แต่ภาคธุรกิจก็ยังคงประสบกับความท้าทาย ดังจะเห็นได้จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่แม้จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ และพยายามวางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน แต่ก็ยังต้องเผชิญกับระบบกฎหมายที่ไม่ทันต่อยุคสมัย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และการสวมสิทธิ์ที่ดิน

“ในขณะเดียวกัน ความท้าทายเราก็เจอ อย่างซีพีบอกว่า เขาทำ แต่คนอื่นเขาไม่ทำ คนอื่นเขามาฉวยโอกาส เขาออกจากข้าวโพดในเขตที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ คนอื่นก็มาสวมแทนเขา เพราะฉะนั้น การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มันก็ยังดำเนินต่อไปเหมือนเดิม ทั้งที่ตัวเขาถอยออกมา เพราะฉะนั้น มันก็เป็นโจทย์ร่วมว่า ภาคประชาสังคมจะทำอย่างไร ไปบีบให้เขาเปลี่ยน พอเปลี่ยนแล้วสถานการณ์โดยรวมมันไม่เปลี่ยน เราก็อาจจะต้องพูดกันต่อไปว่า ถ้ามีธุรกิจที่เริ่มเปลี่ยนแล้ว มันจะเปลี่ยนตัวนโยบายของรัฐหรือตัวกติกาของรัฐอย่างไร ซึ่งเราเห็นว่าเป็นประโยชน์มากในการที่จะไปขบคิดกันต่อ” จักรชัยกล่าว 

ในฐานะผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมมานาน จักรชัยมองว่า การที่ภาคประชาสังคมก็ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ภาคธุรกิจก็ถือว่ามีประโยชน์ในแง่ของการตรวจสอบ แต่เนื่องจากภาคประชาสังคมอยู่ใกล้กับปัญหา ก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว แต่ต้องนำความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหานั้น ๆ มาช่วยคิดหาทางออกร่วมกันด้วย

“สิ่งที่เราอยากจะเริ่มก็คือว่า จริงที่เราจะต้องเปลี่ยน แต่เราเริ่มจากเอกชนก่อน เมื่อเอกชนเขาเริ่มปรับแล้วก็ทำเป็นตัวอย่างแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐแล้วว่าต้องยกระดับมันขึ้นมา ต้องทำให้มันเท่ากัน รายไหนเล็กอาจจะต้องมีการสนับสนุน มีการเกื้อกันแบบไหน เพื่อให้มันยกระดับขึ้นมาได้ เพราะอย่างหลายครั้งเรามองเรื่องต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มันมีต้นทุนที่เพิ่มเข้าไปในธุรกิจจริง คนสายป่านยาว คนมีทุนเยอะ อาจจะทำได้เลย แต่มันต้องลงทุนไปก่อน ประโยชน์มาทีหลัง อาจจะนานถึง 30 ปี คนอยู่มาเป็นร้อยปี ลงทุน 30 ปี น่าลงทุน แต่ธุรกิจที่ทำมา 2-3 ปี จะลงทุนอย่างไร อีก 10 ปีจะอยู่ไหม ตรงนี้แหละภาครัฐจะต้องเข้ามา เรื่องนี้กลายเป็นโจทย์ร่วมไปแล้ว”

“ผมคิดว่ามันต้องดันไปคู่กัน เดิมบางทีภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ บางทีก็ดันไปถึงภาครัฐ แต่สิ่งที่เราเจอมาตลอดก็แบบนี้ ทำไม่ได้หรอก มันเพิ่มต้นทุน เดี๋ยวการแข่งขันจะไปสู้กับต่างชาติได้อย่างไร เพิ่มค่าแรงแล้วจะไปสู้กับต่างประเทศอย่างไร คุณคุยกับเอกชนไหมล่ะ เอกชนเขามีความคิดริเริ่มแบบไหน เขาลงทุนไปแบบไหน แล้วที่สำคัญก็คือมันไม่ใช่แค่เสียงดังอย่างเดียว ต้องทำให้ภาครัฐตระหนักว่าเรื่องแบบนี้เป็นไฟต์บังคับ” จักรชัย สรุป

แม้การสร้างระบบในธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อทุกภาคส่วนตลอดซัพพลายเชน แต่วันนี้ Oxfam และเครือข่าย รวมถึงผู้ประกอบการหลายแห่ง กำลังมองเรื่องที่ใหญ่ไปกว่านั้น 

เพราะความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ผลสำเร็จ หากขาดการมองปัจจัยอื่นอย่างรอบด้าน จนเกิดคำนิยามใหม่อย่าง “เศรษฐกิจฐานมนุษย์” ระบบที่จะเกื้อให้ภาคธุรกิจมองเห็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ อย่างมนุษย์ทุกอุตสาหกรรม

ที่มาข้อมูลและเนื้อหา : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย