หนีห่าวแม่สอด-เมียวดี ที่ไปไกลได้แค่ Friend Zone - Decode %
Reading Time: 4 minutes

จากเดิมที่เน้นการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในพื้นที่และชาวเมียนมาที่แวะเวียนข้ามสะพานมา แต่ภายหลังการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอดได้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าชายแดน มีความพยายามให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุน สนับสนุนงบประมาณ กระทั่งร่างกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนแม่สอดกลายเป็น “ทำเลทอง” ที่มีราคาที่ดินพุ่งทะยานแตะหลัก 20-30 ล้านบาทภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จนมีการลงทุนจากนักธุรกิจมากมาย อสังหาริมทรัพย์ถูกพัฒนา และเติบโตจนไม่เห็นเค้าโครงเดิมของเมืองชายแดน

ด้วยตำแหน่งแห่งที่ ๆ เชื่อมโยงสู่เมืองใหญ่ทั้งหลาย อาทิ พื้นที่ติดเมียนมาด้านทิศตะวันตกที่เชื่อมโยงไทยสู่อาเซียน เส้นทางบกแม่สอด-เมียวดีที่มีการปรับโครงสร้างไว้รับการขนส่งสู่ย่างกุ้ง เส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อไปยังอินเดียและอาเซียนตะวันออก รวมถึงแรงงานราคาถูกที่ไหลเวียน เข้าสู่พื้นที่แม่สอดอย่างไม่ขาดสายที่ทำให้แม่น้ำริมเมยคึกคักกว่าที่เคย

หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป พัฒนาการของเขตเศรษฐกิจแม่สอดกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวังนัก ทั้งจากความ “เข้าใจผิด” ที่มีต่อพื้นที่ ๆ ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายบางอย่างในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นไม่ตอบโจทย์ จวบจนการเข้ามาของ “ทุนจีน” ฝั่งชายแดนเมียนมา เกิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยง หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ “เมืองชเวโก๊กโก่” ที่ทำให้พื้นที่ทำเลทองที่ไทยเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นในแม่สอด โยกย้ายไปอยู่ที่ฝั่งเมืองชเวโก๊กโก่แทน และไทยกลายเป็นเพียง “ทางผ่าน” ไปสู่เมียนมา หาใช่เสือตัวที่ห้าอันน่าเกรงขามแต่อย่างใด

“คนจีนเข้ามาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งเลย หมู่บ้านจัดสรรใหญ่โต
หลังละห้าสิบหกสิบล้าน มีอาคารพาณิชย์ให้คนที่เข้ามาทำงาน
มีทาวน์เฮ้าส์ให้พักอาศัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร”

การยกระดับพื้นที่ชายแดนเมียนมามีทั้งผลดีผลร้าย และผลกระทบนั้นสั่นคลอนเป็นวงกว้าง ทั้งเศรษฐกิจในพื้นที่ ความเป็นไปของคนเมียนมาในพื้นที่ทั้งในเรื่องอาชีพและการใช้ชีวิต แรงนั้นกระแทกกระเทือนมาถึงชายแดนไทย หากแต่ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเป็นผลดีหรือร้าย บอกได้เพียงว่ามีเฟืองอะไรที่ขยับ มีอะไรบ้างที่หายไป ตั้งอยู่ และกำลังเกิดขึ้น 

De/code จึงลงพื้นที่สำรวจอำเภอแม่สอดและแม่ระมาด ตะเข็บชายแดนจังหวัดตากที่ห่างจากชเวโก๊กโก่เพียงแค่ริมเมยกั้น ในวาระที่เข้าใกล้ช่วงเวลาเปิดด่านพรมแดนไทย-เมียนมา สำรวจถึงการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ของชายแดนแม่สอด อาทิ การขนส่งสินค้า เกษตรกรรม และทุนจีนที่กำลังเฟื่องฟูอยู่อีกฟากของชายแดน

แรงกระแทกจากสงคราม
การเติบโตของทุนจีนที่ทิ้งคนเมียนมาไว้ข้างหลัง?

เมืองชเวโก๊กโก่ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเมียนมาและจีน ในช่วงปี พ.ศ. 2557 เพื่อที่จะยกระดับพื้นที่ทางเศรษฐกิจและขยายโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ภาคคมนาคม ภาคโลจิสติกส์และภาคการค้า ภายใต้นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) หรือชื่อเดิม One Belt One Road ที่มีแนวคิดในการสร้างเมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ เป็น One Stop Service ที่ครบครันทั้งที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบ ศูนย์กลางความบันเทิงครบวงจร แหล่งท่องเที่ยว โกดังสินค้า แหล่งรวมสินค้าปลอดภาษี กระทั่งบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายขนาดใหญ่

การเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเมืองชเวโก๊กโก่ ส่งผลให้อาชีพในชายแดนผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด หากแต่อาชีพเหล่านั้นกลับเป็นอาชีพที่ค่อย ๆ ผลักคนท้องถิ่นให้ไกลบ้านออกไปเรื่อย ๆ รวมถึงผลพวง จากสงครามที่ทำให้คนเมียนมาต้องพลัดถิ่น และห่างไกลจากทางกลับบ้านของพวกเขาเข้าไปทุกที

“มันไม่ได้เป็นเมืองของเขาแล้ว มันเป็นเมืองจีนไปแล้ว” 

ความรู้สึกของ บะบา เด็กหนุ่มชาวเมียนมาวัย 16 ปีที่มีต่อบ้านเกิด แต่เดิมเขาอาศัยอยู่ที่บ้านตอตะเล หนึ่งในจุดปะทะระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกองทัพเมียนมา ด้วยเศษซากกระสุนและเขม่าดินปืน ทำให้เขาและครอบครัวกว่าเก้าคนต้องอพยพลี้ภัยมาอยู่ที่ชายแดนฝั่งไทย

หลังอพยพเข้ามาที่ชายแดนไทย บะบาก็เข้ารับการศึกษาที่ศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าวแห่งหนึ่งในแม่สอด แต่ด้วยความยากจนของครอบครัว เขาจึงต้องออกจากระบบการศึกษาในปีนี้ และเร่งหางานเพื่อจุนเจือครอบครัว แม้โอกาสและทางเลือกในอาชีพจะมีเพียงน้อยนิดก็ตาม “ถ้าแม่เขาให้ออก มีงานอะไรก็ต้อง ทำไปก่อน” บะบาเล่าถึงอนาคตในการทำงานของตนเอง

แต่ด้วยทุนจีนที่เข้ามาเปลี่ยนบทบาทของชายแดนเมียนมาให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ชายแดนเมียนมาไม่ได้มีเพียงงานภาคเกษตรกรรมหรือขนส่งเท่านั้น การเกิดขึ้นของเมืองใหม่ได้สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ หรือกระทั่งบ่อนคาสิโนเองที่ก็กลายเป็นหนึ่งในแหล่งทำงานที่คนเมียนมาร์มากหน้าหลายตาเข้าไปจับจองพื้นที่การทำงานกัน

“เมื่อก่อนตอนไม่มีคาสิโนก็ไม่ค่อยมีงานที่ฝั่งนั้น
แต่พอมีคาสิโนเขาก็เข้าไปทำงานแจกไพ่ รับจ้างนั่งจองโต๊ะพนัน
หรือเป็นยามที่นั่น เด็กอายุ 17-18 ปีเขาได้เงินเยอะกว่าครูอีก  

ฮันนี่จอ ครูที่ศูนย์การเรียนแห่งหนึ่งเล่าถึงบรรยากาศการทำงานของคาสิโนที่เธอเคยได้ยินมา

บะบาก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยเข้าไปทดลองทำงานที่คาสิโนด้วยเช่นกัน “วันแรกที่ไปทำงานเห็นกลุ่ม คนจีนเยอะมาก” บะบาเล่าถึงครั้งแรกที่ได้เข้าไปในคาสิโน ก่อนหน้านั้นเขาได้ถูกชักชวนจากน้าของเขาที่กำลังทำงานอยู่ที่คาสิโน ว่าคาสิโนแห่งนี้กำลังต้องการแรงงานแบกของและรายได้ดี แม่ของบะบาจึงตัดสินใจให้เขาเข้าไปสมัครงาน

“ที่ให้เขาไปก็เพราะเงินดี ถามว่ารู้มั้ยว่ามียาเสพติดก็รู้ส่วนหนึ่ง
แต่เราก็มั่นใจในเด็กที่เราเลี้ยงเขามา และที่นั่นก็มีน้าเขาอยู่ด้วย”

แม่ของบะบาเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ตัดสินใจให้บะบาไปทำงานที่คาสิโน

วันแรกที่บะบาเข้าไปในคาสิโน เขาเห็นว่าคนที่ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนและคนไทย ส่วนคนเมียนมาก็จะเป็นลูกจ้าง ซึ่งก็ดูค่อนข้างมีอิสระในการทำงาน เพราะตัวเขาเองก็สามารถกลับมานอนที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่คาสิโนตลอดทั้งวัน รวมถึงการสมัครงานที่ไม่ต้องใช้เอกสารใดเลย คาสิโนจะดูแค่รูปร่างหน้าตาและอายุ ซึ่งคนที่อายุใกล้เคียงกับเขานั้นน้อยมาก ทั้งยังได้ยินเรื่องเล่าถึงการข่มขู่ของคาสิโน หากไม่ยอมทำงานตามที่พวกเขาต้องการ “มีเพื่อนที่เคยทำงานที่คาสิโนมาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนเขาทำงานที่นั่นไปได้สักพักแล้วรู้สึกไม่ชอบ เลยพยายามจะออกมา แต่ก็โดนคนจีนที่ดูเหมือนคนเฝ้าประตูไม่ยอมให้ออก ทั้งยังมีการ์ดเฝ้าประตูมายัดยาใส่อีก และอ้างว่าเพื่อนเขามียาจะต้องทำงานรับใช้ไปก่อน” บะบาเล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

บะบาทดลองงานได้เพียงสามวันก็ไม่ได้ไปทำงานอีก เพราะว่าแม่ของเขาไม่ต้องการให้ทำงานนี้อีกแล้ว แม้จะทำให้มีรายได้มาพอยาไส้ แต่มันเสี่ยงกับชีวิตของบะบา และงานคาสิโนไม่สามารถสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับครอบครัวได้ ซึ่งสำหรับบะบาเอง เขาก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เพราะว่าเขาก็ไม่อยากเกี่ยวข้องกับงานนี้นัก ทั้งยังรู้สึกไม่ชอบที่คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่อาศัยที่เมืองของเขา หรือมาสร้างตึกรามบ้านช่องต่าง ๆ ที่มีแต่ความเสี่ยงที่เยาวชนอาจต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือขบวนการค้ามนุษย์

“สำหรับคนจีนมันดีอยู่แล้ว โอกาสของเขามันดีอยู่แล้ว
แต่มันไม่ดีกับคนพม่าอย่างเรา เพราะเราไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาของไปขายที่นั่น
เพราะร้านค้าก็เป็นของเขา ขายก็โดนปรับแน่นอน คนพม่าไม่มีโอกาสอะไรเลย”

แม่ของบะบาเล่าให้ฟังถึงมุมมองที่มีต่อการเกิดขึ้นของคาสิโนชายแดน

นอกเหนือไปจากความเสี่ยงของการหลุดเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ของแรงงานในชายแดนไทย-เมียนมา
ในภาคเศรษฐกิจไทยก็ยังได้รับแรงกระแทกอย่างต่อเนื่อง และแรงกระแทกดังกล่าวก็มีทั้งดีและร้าย
ซึ่งก็นับเป็นหมุดหมายใหญ่ของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ณ ปัจจุบัน

จากเสือตัวที่ห้าแห่งอาเซียนสู่ทางผ่า
มิตรภาพไทย-เมียนมาที่ไปไกลได้แค่ “Friend Zone”

ไทย-เมียนมานั้นเป็นเพื่อนบ้านและคู่ค้าทางธุรกิจกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงเป็นแหล่งของคนพลัดถิ่นจาก
เมียนมาที่กลายมาเป็น “แรงงานราคาถูก” ที่เป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดที่จะทำให้ไทยกลายเป็นเสือตัวที่ห้าของอาเซียนได้ หากแต่ความไม่สงบทางการเมือง รัฐประหาร วิกฤตทางเศรษฐกิจ โรคระบาด กระทั่งเมืองชเวโก๊กโก่ที่โตขึ้นจากอิทธิพลทุนจีน ได้หยุดชะงักพัฒนาการของภาคเศรษฐกิจในแม่สอด และจากเสือกลายเป็นลูกเสือ
จากฐานผลิตภาคอุตสาหกรรมกลายเป็นเพียง “ทางผ่าน” ของรถพ่วงสิบล้อที่มีปลายทางเป็นชเวโก๊กโก่ ไม่ใช่ประเทศไทย

“ที่เมืองชเวโก๊กโก่บูม ๆ มาก็ประมาณห้าปีได้แล้ว
หลังจากจีนมาทำสัญญาระยะยาวกับรัฐกะเหรี่ยง
ก็เริ่มก่อสร้างเยอะขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของเขา” 

ราเชนทร์ เป็งมอย เจ้าของธุรกิจขนส่งสินค้าและรับซื้อพืชไร่ เล่าถึงช่วงแรกที่เขาเห็นถึงปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงในชายแดนเมียนมา และแรงกระแทกที่เขาได้รับจากเมืองที่เติบโตอย่างไม่หยุดหย่อน

หลังจากเปลี่ยนพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การค้าชายแดนเมียนมานั้นเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ทั้งที่มาจากการลงทุนของนักธุรกิจ การส่งออกสินค้าเกษตร และการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการจากคนเมียนมาที่มีต่อสินค้าไทย จนมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าแตะเจ็ดหมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งชเวโก๊กโก่ก็เติบโตเช่นกันแต่ด้วยความเร็วที่ต่างจากไทยมาก

“คนจีนเข้ามาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งเลย หมู่บ้านจัดสรรใหญ่โต
หลังละห้าสิบหกสิบล้าน มีอาคารพาณิชย์ให้คนที่เข้ามาทำงาน
มีทาวน์เฮ้าส์ให้พักอาศัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร”

แม้จะมีจุดติดขัดในการส่งออกสินค้าเกิดขึ้น การรัฐประหารเมียนมาปี พ.ศ. 2563 ทำให้การนำเข้าขนส่งระหว่างไทยและเมียนมาเกิดการชะลอตัว มีการปิดสะพาน มีการห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภท อาทิ ผงชูรส เครื่องดื่มชูกำลัง กระทั่งรถจักรยานยนต์ แต่การจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ชายแดนกลับไม่ได้หดตัวนัก รวมถึงสินค้าบางประเภทจากไทยก็ยังคงนำเข้าไปที่เมียนมาอย่างต่อเนื่อง

“สินค้าส่งออกตอนนี้หลัก ๆ จะเป็นพวกวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูน ซีเมนต์ หิน และก็พวกเม็ดพลาสติก” แม้ชเวโก๊กโก่จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนคล้ายเมืองพัฒนาแล้ว การก่อร้างสร้างอาคารก็ยังไม่หยุดนิ่ง ราเชนทร์เล่าต่อว่า รถพ่วงขนส่งที่เข้ามารับสินค้าและวัสดุก่อสร้างนี้มีราว ๆ สามสิบถึงสี่สิบคันต่อวัน โดยกระจายผ่านสามอำเภอหลักคือ แม่ระมาด แม่สอด และพบพระ (ท่าสองยางและอุ้มผางในอนาคต) เพื่อเร่งการก่อสร้างให้ทันกับสถานการณ์โรคระบาดที่ใกล้จะคลี่คลาย รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ผ้า รองเท้าแตะ ครีมบำรุงผิว สบู่ โทรศัพท์มือถือ น้ำมัน ที่เป็นสินค้าที่คนเมียนมานิยมและสร้างมูลค่าการค้าชายแดนได้อย่างมหาศาล ซึ่งสินค้าเหล่านี้ได้กระจายไปทั่วประเทศเมียนมา อาทิ เนปยีดอ ตองจีในรัฐฉาน 

ซึ่งหากดูจากรายงานสรุปมูลค่าการส่งออก ณ ด่านถาวรแม่สอดจังหวัดตากของปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยทำเงินได้จากการส่งออกวัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นมูลค่ารวมกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เปิดการค้าชายแดนมาเลย ทว่าเศรษฐกิจที่เติบโตของแม่สอดไม่ได้เกิดจากการออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐ หากแต่เป็น “ความโชคดี” ที่ธรรมชาติสรรสร้างให้ไทยมีชายแดนที่ส่งออกสินค้าได้ง่ายที่สุด 

“ในเมื่อรัฐกระตุ้นให้ที่นี่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันก็ควรจะง่ายและคล่องตัว
หากข้อจำกัดเยอะก็ส่งผลกระทบกับงานขนส่ง ซึ่งปัญหามีราคาค่อนข้างสูง”

ปัจจุบัน นอกเหนือไปจากสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้าง เรายังไม่สามารถบอกได้ว่ามีอิทธิพลไทยเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ฝั่งเมียนมาอย่างไรบ้าง หากแต่ทุนจีนนั้นเริ่มขยับคืบคลานใกล้พรมแดนไทยขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเห็นได้จากร้านอาหารจีนในแม่สอด หมู่บ้านจีน กระทั่งคอนโดนิรนามที่ผุดขึ้นแบบแปลกประหลาดในพื้นที่อำเภอแม่สอด “ก็มีสร้างคอนโดฝั่งไทยให้นักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการ เป็นคอนโด ของทุนจีนติดแนวตะเข็บชายแดนเลย เห็นแล้วที่สองที่เป็นคอนโดใหญ่โต เพราะบางทีนักท่องเที่ยว ข้ามไปฝั่งนู้นแล้วมีปัญหาที่พัก เขาก็จะข้ามมาพักที่ฝั่งไทย” ราเชนทร์ยกตัวอย่าง

“การสั่งงานจากบนลงล่าง” บริบทพื้นที่
ที่ถูกมองข้าม ปัญหาก้อนใหญ่ที่รัฐยังมองไม่เห็น 

มุมมองในมิติเศรษฐกิจของรัฐที่มีต่อแม่สอดนั้นยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความเข้าใจต่อบริบทพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ หรือกระทั่ง “การทำการบ้าน” ว่าภาคเศรษฐกิจนั้นเป็นไปอย่างไร ใครควรจะเป็นผู้เล่นหลัก ใครควรเป็นตัวสำรอง การเติบโตของการค้าชายแดนไม่ได้มีเพียงเม็ดเงินเท่านั้นที่ควรเก็บออม “โอกาส” บางอย่างที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ต้องตักตวงไว้ด้วยเช่นกัน

“ถ้าเราไม่เอาโอกาสนี้มาทำให้มันเป็นเศรษฐกิจ
พื้นฐานของพื้นที่ โอกาสเหล่านี้มันก็จะหายไป”

เหมา – เฉลิมวัฒน์ ตรีรัตน์วัฒนา เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก เล่าถึงปรากฎการณ์มูลค่าการนำเข้าส่งออกที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่นั่นอาจไม่ดีพอที่จะสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับการค้าชายแดนไทย

เขาอธิบายถึงสาเหตุที่ในช่วงห้าปีหลังมานี้ ชายแดนแม่สอดมีตัวเลขมูลค่าการนำเข้าส่งออกที่สูงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ช่องทางการติดต่อทางการค้า อาทิ เมียนมา-จีน เมียนมา-อินเดีย ปิดตัวลง และมีเพียงช่องทางเดียวที่ยังเปิดนั่นก็คือ ชายแดนแม่สอดที่ติดกับเมียนมา ซึ่งนั่นทำให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่ส่งของจากไทยไปถึงเมืองใหญ่ได้รวดเร็วที่สุด รวมไปถึงสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา การควบคุมสินค้าบางอย่างในประเทศก็เข้มข้นขึ้น ชายแดนแม่สอดก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ ๆ จะนำของเหล่านั้นเข้าไปง่ายที่สุด มันจึงกลายเป็นทำเลทองไปโดยปริยาย

หากแต่รัฐไทยกลับมุ่งความสนใจไปที่การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมา เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ หากแต่หลักใหญ่ของเศรษฐกิจในแม่สอดนั้นคือ การค้าขายและการนำเข้าส่งออก ซึ่งความพยายามของรัฐในเวลานี้จึงคล้ายเป็นเรื่องที่สูญเปล่าและสูญเสียทรัพยากรอันล้ำค่าไป

อย่างเช่น ไทยเคยมีความพยายามที่จะสร้าง “คอนเทนเนอร์ยาร์ด” ขึ้นมาเพื่อรองรับสินค้า แต่การลงทุนต่าง ๆ ยังไม่เกิดขึ้นที่ฝั่งไทยมากนัก ไม่มีคนจากเมียนมา คนจีนจากเมียนมามาจับจ่ายใช้สอยที่ฝั่งไทย แม่สอดจึงไม่ใช่ปลายทางของนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุน แต่เป็นเพียงจุดแวะพักสำหรับเดินทางไปที่ฝั่งเมียนมาเท่านั้น ฉะนั้นปัญหาใหญ่ของไทยไม่ใช่ภาคธุรกิจ แต่เป็นความเข้าใจของรัฐต่อบริบทพื้นที่ต่างหาก

รวมไปถึงความพยายามของรัฐที่ทำให้แม่สอดกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
แต่ดูเหมือนว่าจะเป็น “เขตพิเศษแบบหยอก ๆ” ที่ใช้งานไม่ได้จริงเอาเสียเลย

“เมียนมาเขาไม่ได้มีกติกาที่ซับซ้อน ทำให้พื้นที่ในการค้าขายน่ะมันง่าย เพราะฉะนั้นกติกาใด ๆ ในไทย ยิ่งผลักดันให้นักลงทุนและนักค้าขายข้ามไปอยู่ในพื้นที่ที่ง่ายกว่า” ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไร้บัตร เป็นการประสานงานที่ต้องผ่านส่วนกลาง ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินในแม่สอด (เช่น พื้นที่ ๆ จะลงทุนไปคาบเกี่ยวกับป่าสงวน ทำให้ไม่สามารถออกโฉนดได้) ล้วนเป็นข้อกำหนดที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจนั้นเติบโตได้ช้าตามวิสัยของเฉลิมวัฒน์ อย่างไรก็ดี การมีเงื่อนไขหรือกติกาไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หากแต่เราต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่มีอยู่ว่าเป็นอย่างไร คนพื้นที่นั้นว่าต้องการสิ่งใด และรัฐจะสนับสนุนพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

“ทรัพยากรเราดี เรามีถนนที่ดี เรามีหน่วยงาน
และบุคลากรราชการเก่ง ๆ อยู่ตรงนี้เต็มไปหมด
แต่จะทำยังไงเพื่อสนับสนุนบุคคลากรเหล่านี้
สนับสนุนคนที่สร้างเศรษฐกิจในประเทศไทยให้ดีขึ้น”

หากจุดแข็งของเขตเศรษฐกิจเมียนมาอยู่ที่การเปิดพื้นที่และอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจคาสิโน เราสามารถทำให้ฝั่งชายแดนแม่สอดเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้หรือไม่ หากเขาต้องการหมอเขาสามารถมาที่โรงพยาบาลฝั่งแม่สอดได้หรือไม่ มีรถโรงพยาบาลรับส่ง มีล่ามคอยแปลภาษารองรับความแตกต่างทางภาษาได้หรือไม่ 

ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะทำ ณ เวลานี้ คือการทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในฝั่งเมียนมามาเกิดที่ฝั่งเราให้ได้ หรือในภาคขนส่งก็มีรถที่เข้ามาลงสินค้าที่บ้านเรา ซึ่งผลที่จะตามมาจากสิ่งเหล่านี้คือ คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย รถพ่วงเข้ามาเติมน้ำมัน หรือกระทั่งมีแรงงานเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น นักลงทุนก็จะเข้ามาเพราะสินค้าต่าง ๆ อยู่ที่ฝั่งไทย ธุรกิจและพื้นที่ก็จะเติบโตและต่อยอดไปได้ และแม่สอดก็จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พิเศษจริง ๆ เสียที

“เราจะจัดระเบียบเศรษฐกิจอย่างไรให้เกิดขึ้นกับบ้านเราได้ดี
คนจับจ่ายใช้สอยอยู่จุดไหน จะสนับสนุนเรื่องการลงทุน
หรือเศรษฐกิจค้าปลีก มันน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า”