เหลือไว้เพียง...โหลยาดอง โนนหนองลาด(หลัง)น้ำลด ชีวิตคนกำลังหดหาย - Decode
Reading Time: 4 minutes

น้ำที่ระบายจากเขื่อนอุบลรัตน์เข้าท่วมชุมชนบ้านโนนหนองลาดเมื่อปลายปี 2565 จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จวนจะเข้าฤดูแล้งอีกรอบ การเยียวยาจากรัฐยังไม่ครอบคลุมชาวบ้านทุกหลังคาเรือน อีกทั้งวิสาหกิจซึ่งเป็นรายได้หลักของชุมชนไม่ถูกนับเป็นองค์ประกอบของการเยียวยา

เมื่อจุดรวมพลของบ้านโนนหนองลาดไม่ได้ถูกใช้เพื่อสังสรรค์หรือทำกิจกรรมใด ๆ แต่กลับใช้เป็นศูนย์พักพิงฤดูน้ำหลากถาวร ศาลากลางชุมชนที่บ้านโนนหนองลาด ถูกปลูกขึ้นบนปูนสูงกว่า 2 เมตร เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำท่วมที่กำลังมาถึงและมีท่าทีว่าจะหนักขึ้นทุกปี

ในน้ำมีปลา แต่ในนายังมองไม่เห็นรัฐ มากกว่าความเสียหายต่อที่นา บ้านทรงสูง และส่งผลตรงถึงรายได้ของชุมชนอย่างเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชน คือชาวบ้านเริ่มทยอยกันโยกย้ายออกจากหมู่บ้านเพื่อหนีน้ำ นิเวศวัฒนธรรมของชุมชนชนบทในจังหวัดขอนแก่นกำลังจะหายไป เพราะภัยพิบัติจากธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้หรือรัฐไม่ได้ควบคุม

วิสาหกิจสุราชุมชนที่(อาจจะ)หายไป

บ้านโนนหนองลาด ตั้งอยู่ใน ต.บ้านขาม อ.บ้านน้ำพอง จ.ขอนแก่น แม้หมู่บ้านจะอยู่ห่างจากเขื่อนอุบลรัตน์ถึง 80 กิโลเมตร แต่เพราะที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นปากน้ำ คือลำน้ำห้วยทรายมาบรรจบกับลำน้ำพองพอดี ประจวบกับบริเวณชุมชนถือเป็นเขตต่ำที่สุดในพื้นที่ หมู่บ้านแห่งนี้จึงต้องเป็นพื้นที่รับน้ำแต่ไหนแต่ไรไปโดยปริยาย

ตั้งแต่ปี 2560 พ่อสวาท อุปฮาด ปราชญ์ชุมชนบ้านโนนหนองลาด ทำสถิติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้าน แม้ฤดูน้ำหลากจะเป็นหนึ่งในฤดูปกติของพื้นที่ ที่น้ำจะมามากกว่าช่วงไหน แต่ในช่วง 5 ปีหลังผลกระทบจากสภาวะโลกรวนและการบริหารจัดการน้ำของทางรัฐ ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นเมืองบาดาลอยู่ราว 2 เดือน เป็นประจำทุกปี

“แต่ก่อนจะมีฤดูน้ำหลากมาอย่างนี้เหมือนกัน แต่สมัยก่อนจะเป็นน้ำป่า พอเป็นน้ำป่ามันอยู่ไม่นานน้ำก็ลดแล้ว แต่ตอนปี 2554 กับตั้งแต่ปี 2560 เป็นการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ สิ่งนี้มันเลยเป็นคำถามต่อการบริหารจัดการน้ำจากรัฐมากกว่า” พ่อสวาท กล่าว โดยในช่วงเดือนกันยายน 2565 เขื่อนอุบลรัตน์ ระบายน้ำเพิ่มสูงสุดที่ 35 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยเป็นแบบขั้นบันได

แต่เดิม ชาวบ้านโนนหนองลาดเป็นเกษตรกรที่มีข้าวเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลัก บวกกับการขับเคลื่อนจากพ่อสวาทในการนำภูมิปัญญาชุมชนดั้งเดิมอย่างเหล้าพื้นบ้านต่าง ๆ (สาโท เหล้าขาว เป็นต้น) รายได้หลักหมื่นจากข้าว 3-4 ตันต่อปีของชุมชน ถูกยกระดับด้วยการแปรรูปเป็นสุราชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนต่อปี

โดยวิสาหกิจชุมชนโนนหนองลาดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกเป็นวิจัยเมล็ดพันธุ์ สำหรับการจดทะเบียนพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ สำหรับการลดต้นทุนในการทำเกษตร ไม่ต้องไปซื้อเมล็ดพืชผักมาปลูกจากข้างนอก และส่วนที่สองเป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สุราของชุมชน

แต่น้ำท่วมในปี 2565 ส่งผลให้ข้าวที่จะต้องออกรวงในปีนั้นหายหมด ข้าวที่นำมาทำเป็นเหล้าจึงมีเหลือน้อย ไม่สามารถนำบ่ม กลั่น เป็นสุราชุมชนได้ รายได้ส่วนนี้จึงหายไปพร้อมกับน้ำที่มาถึง แม้การเยียวยาจะมาแบบล่าช้าแต่ก็มาถึง แต่มาถึงเฉพาะแค่ที่อยู่อาศัยในชุมชน วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นรายได้หลักของชาวบ้านนับ 20 ราย นับเป็นครึ่งหนึ่งของครัวเรือนที่อยู่ในหมู่บ้านโนนหนองลาด กลับไม่ถูกนับในสมการการเยียวยาครั้งนี้

“การเยียวยาครั้งนี้เขาครอบคลุมแต่ที่อยู่อาศัย ซึ่งวิสาหกิจชุมชนไม่ได้ถูกนับเป็นที่อยู่อาศัย แต่ความสำคัญของมันคือแหล่งรายได้ของชุมชน ปีนี้เราก็ต้องลงขันช่วยกันออกเงินเพื่อที่จะคงสภาพให้การผลิตเหล้าชุมชนดำเนินต่อไปได้บางส่วน”

พ่อสวาทเล่าต่อว่า การซ่อมแซมอาคารวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นโรงผลิตสุราพื้นบ้านครั้งนี้ เป็นการลงขันจากชาวบ้านเพียงอย่างเดียว ใครมีมากก็ให้มาก ใครมีน้อยก็ให้น้อย แม้จะซ่อมแซมอาคารให้เหมาะสมสำหรับการผลิตสุราได้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้เต็มระบบเหมือนอย่างเดิม ด้วยเงินทุนจากชาวบ้านทำให้ซ่อมแซมได้เพียงบางส่วน เพียงแต่จำเป็นจะต้องให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสถานภาพของลูกค้าและการมีอยู่ของวิสาหกิจชุมชนไม่ให้หายไป

“เราเริ่มทำตั้งแต่จำความได้ก็ 6 ขวบ สมัยก่อนคือไม่ใช่คนต้มนะ ก็เป็นคนหยิบของ คนคอยดู เราโตมากับมันจนเราผลักดันให้เป็นวิสาหกิจชุมชนได้ แต่วันนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังหายไปเพราะรัฐจัดการทรัพยากรน้ำผิดพลาด ถ้าหากวิสาหกิจชุมชนนี้หายไปมันไม่ได้หมายถึงรายได้ชาวบ้านหายไปอย่างเดียว แต่ของดีในท้องถิ่นกำลังจะหายไปด้วย”

เหล้าของชุมชนโนนหนองลาดมีความหมายเท่ากับชีวิต เพราะในทุกกิจกรรมของชุมชนต่างมีเหล้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบเสมอ พ่อสวาทจึงกล่าวว่า การหายไปของสมุนไพร ข้าว และกรรมวิธีในการผลิตสุราชุมชนแห่งนี้หายไป นั่นจึงหมายถึงชีวิตของชุมชนได้หายไปด้วย

เมื่อการลืมตาอ้าปากของชุมชนด้วยตนเอง อย่างการสร้างวิสาหกิจสุราชุมชนโนนหนองลาด กำลังถูกทำให้ล่มสลายเพราะน้ำที่ระบายจากเขื่อน ในวันที่รัฐอยากให้ชุมชนพึ่งพาตัวเอง แต่ไม่เกิดการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสม

เพราะนอกจากไหเหล้าที่ลอยคว้างไปตามน้ำที่มิดหลังคาบ้านเรือนกว่า 2 เมตร คือคนในชุมชนเริ่มทยอยออกจากพื้นที่ ในวันที่น้ำพัดพารายได้ รวงข้าว และความเป็นชุมชนออกจากพื้นที่

หลังน้ำลด-รายได้หด-คนหาย

บ้านโนนหนองลาด มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 40 กว่าครัวเรือน มีคนที่เข้าร่วมวิสาหกิจกว่าครึ่งของคนในชุมชน แม้ชาวบ้านส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุในขณะที่วัยรุ่นไปเติบโตในเมืองใหญ่ แต่ปัจจุบันกลุ่มคนที่ทยอยออกจากหมู่บ้านเพราะหนีน้ำท่วม กลับเป็นกลุ่มคนอายุ 40-60 ปี ที่ยังพอมีเรี่ยวแรงและหวังจะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านอกหมู่บ้าน

จากการสำรวจของพ่อสวาท จนถึงปัจจุบันมีคนออกจากชุมชนไปมากกว่า 26 คน ไม่ต่ำกว่า 10 ครัวเรือน นั่นหมายถึงคนในพื้นที่เริ่มมองไม่เห็นโอกาสที่จะมีชีวิตที่มั่นคงได้ในชุมชนมากขึ้น นับแค่ในปี 2565 มีคนออกจากชุมชนไปถึง 6 คน และเป็นสาเหตุเดียวกันทั้งหมดคือต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในที่ ๆ ไกลทุ่งนา

ในอีกมุมหนึ่ง ปัญหาคนโยกย้ายออกจากพื้นที่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่พึ่งพบแต่อย่างใด ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนพื้นที่ชนบทที่ปราศจากการกระจายอำนาจของรัฐไทย ส่งผลให้คนจำนวนมากต่างมุ่งเข้าสู่เมือง ทว่าในภายหลัง กลุ่มคนที่ออกมากลับเป็นคนที่มีอายุมากขึ้น บางคนใกล้เข้าสู่วัยเกษียณ จึงเป็นคำถามว่าเหตุใด กลุ่มคนใกล้วัยเกษียณถึงเลือกออกจากพื้นที่ที่ตนเองเกิดและโตมาเกินครึ่งชีวิตในบั้นปลาย ในวันที่การหางานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

และคำตอบของบ้านโนนหนองลาด คือพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ รังแต่จะสร้างหนี้ สร้างความเสียหายต่อฐานะทางการเงิน เพราะน้ำท่วมไม่เว้นแต่ละปี

“ในมุมหนึ่งการผลักดันวิสาหกิจชุมชนนี้มันเหมือนการพยายามดึงคนให้อยู่กับชุมชน อย่างคนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเหล้าพื้นบ้านมันสำคัญยังไง บางคนออกไปอยู่เมืองตั้งแต่ยังเล็ก แต่กับคนที่อยู่มานาน คนเฒ่าคนแก่ มันรู้สึกผูกพันนะ แล้วคุณคิดดูสิ ขนาดความผูกพันยังรั้งพวกเขาไว้ไม่ได้เลย แล้วในวันที่วิสาหกิจชุมชนต้องหยุดชะงัก ความคิดที่ว่าการที่เขาอยู่บ้าน เขาสามารถมีงาน มีเงิน มีกินได้เหมือนกันมันหายไป คนก็เริ่มออกจากหมู่บ้านมากขึ้นทุกที” พ่อสวาทกล่าว

ขายที่ขายนา ไปตายเอาดาบหน้าในเมืองกรุง

เมื่อท้องนาเสียหาย การฟื้นฟูเยียวยาครั้งแล้วครั้งเล่าเริ่มส่งผลกระทบหนักต่อสถานะทางการเงินของชาวบ้าน หลายคนเลือกที่จะขายที่นาของตนเพื่อแลกกับเงินก้อนไปตั้งตัวมากกว่านำเงินครั้งแล้วครั้งเล่ามาหมุนจ่ายกับการดูแลรักษาความเสียหายจากน้ำท่วม

พ่อสุวิทย์ โทเมือง และ แม่แดง-สมภาร อันทเจตถ์ คู่สามีภรรยา ซึ่งเป็นชาวบ้านโนนหนองลาดวัยใกล้เกษียณอีกคู่หนึ่งที่เลือกเส้นทางในข้างต้น และวันนี้เป็นครั้งแรกที่พ่อสุวิทย์และแม่แดงได้กลับมาดูบ้านหลังเดิมจากน้ำท่วมครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2565

ทั้งคู่เลือกที่จะกำเงินก้อนสุดท้ายไปประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้างที่จังหวัดสมุทรปราการ แม้จะมีความเหน็ดเหนื่อยอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็ยังมีเงินหมุนเข้ามาในกระเป๋าพอให้จับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

ในอดีต บ้านของพ่อสุวิทย์และแม่แดงประกอบอาชีพทำขนมจีนน้ำยาไปขายที่ตลาด ในบ้านที่ร่องรอยจากน้ำท่วมยังคงอยู่ ถัดไปจากห้องที่ก่ออิฐปูนขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นห้องที่แม่แดงหลับนอน มีเครื่องทำเส้นขนมจีน เครื่องจักรสีเขียวขึ้นคราบสนิมที่ต้องทิ้งไว้ให้เจอกับน้ำท่วมครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเพราะเครื่องจักรนี้มีน้ำหนักมาก ต่อให้ยกขึ้นมาไว้บนที่สูงได้ก็ใช่จะมีที่รองรับน้ำหนักพอ เครื่องมือทำมาหากินที่มีทั้งความทรงจำและความรักในวันนี้ กลับกลายเป็นเศษเหล็กที่รอวันนำไปชั่งกิโลฯ ขาย

“ถามว่าเสียใจไหม มันเป็นความคิดถึงมากกว่า แต่ก่อนบ้านเราจะทำขนมจีนไปขายที่ตลาด มีทั้งน้ำยา น้ำยาป่า แกงเขียวหวาน ที่ซื้อเครื่องมาเพราะว่ามันขายได้เยอะเลยต้องเอาเครื่องมาทำเส้นเอง พอวันนี้น้ำมาเราขายไม่ได้ พอนานเข้าหลายปีเราเริ่มไม่มีต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบมาทำ อีกทั้งต้องเอาเงินมาโปะซ่อมบ้าน ก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง” แม่แดงเล่าถึงความทรงจำระหว่างเครื่องทำขนมจีนกับครอบครัว

ปัจจุบันแม่แดงกลับมาอยู่ที่โนนหนองลาดเพราะประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้างต่อไปไม่ไหวด้วยอายุที่มากขึ้น พ่อสุวิทย์จึงรับจ้างก่อสร้างคนเดียวที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากกลับมา แม่แดงได้ย้ายมาอยู่กับหลานสาวซึ่งภายในบ้านหลังนั้นก็ยังปรากฎร่องรอยของน้ำท่วมที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม

ในอดีต พ่อสุวิทย์มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง เขาหวังว่าหลังเกษียณอยากมาทำไร่ไถ่นาในที่แปลงผืนนี้ เป็นความฝันของพ่อสุวิทย์ที่จะตื่นมาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่ตนเองหว่านไว้ แต่ต้องจำใจขายไปก่อนเพราะภาระหนี้สินที่รุมเร้ากำลังเรียกร้องมากกว่าความฝันที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า

แปลงของพ่อสุวิทย์อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขามากนัก เดินออกไปเพียงครู่หนึ่งก็ถึง ทว่า ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลมากว้านซื้อที่ดินรอบชุมชนค่อนข้างเยอะ ซึ่งที่ดินหลังชุมชนเกือบทั้งหมดโดนกว้านซื้อไปหมดแล้ว รวมถึงที่ดินแปลงนั้นของพ่อสุวิทย์ด้วย

แม้จะยื่นเรื่องร้องขอการเยียวยาจากอุทกภัยไปยังหน่วยงานภาครัฐ แต่เม็ดเงินที่ได้มาจำนวนหลักพันนั้นก็ไม่เพียงพอแต่อย่างใด พ่อสุวิทย์ยังต้องกลับไปประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้าง เพื่อที่จะนำเงินมาหมุนกับหนี้สินที่ยังเหลืออยู่ ทั้งค่างวดรถและค่าใช้อื่น ๆ ในขณะที่สายตาของพ่อสุวิทย์และแม่แดงยังบ่งบอกความคิดถึงชีวิตในบ้านเกิดที่ผ่านมา แม้วันนี้จะเป็นเพียงความทรงจำก็ตาม

“ยังไงมันก็ต้องเอาซ่อมบ้านก่อน ถ้าไม่มีบ้านแล้วจะไปนอนที่ไหน แต่ว่านอนแล้วจะทำอะไรกินอันนี้เราไปต่อไม่ได้ ถามว่าหน่วยงานรัฐเขามาช่วยเหลือ เขาก็ไม่ได้ครอบคลุมขนาดนั้น เราก็ต้องไปหาเงินมาเพิ่มอยู่ดี”

คำพูดที่ว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว คงเปรียบได้กับน้ำที่ระบายจากเขื่อนอุบลรัตน์หนนี้ ที่ส่งผลให้ใบหญ้าและรวงข้าวกลายเป็นพืชใต้น้ำ ชีวิตของคนใกล้เกษียณอย่างน้อย 2 คนในชุมชนโนนหนองลาด ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิด หาเงินมาประทังชีวิตและผ่อนหนี้สินที่คงค้าง

นอกจากการจัดการทรัพยากรน้ำที่ผิดพลาดจากทางรัฐ เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นถึงมาตรการการเยียวยารวมถึงการสื่อสารที่เข้าไม่ถึงชาวบ้าน เมื่อรัฐไม่อาจแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมนี้ได้เพียงลำพัง การร่วมมือกับชุมชนจะเป็นไปได้ไหมในวันที่ราชการไทยยังออกคำสั่งแบบ Top-Down

เยียวยาแบบสุ่ม ไม่ครอบคลุม รัฐสื่อสารยาก

ปัจจุบัน ชุมชนโนนหนองลาดอยู่ในขั้นตอนของการจ่ายค่าเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ ต่ออาคารที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย แต่การเยียวยาที่ว่ายังคงพบปัญหามากมาย

พ่อสวาทกล่าวว่า ทุกหลังคาเรือนได้ในชุมชนได้รับความเสียหายคล้ายกันหมด ทว่า เงินเยียวยาที่ได้รับกลับไม่เท่ากัน เกณฑ์การวัดระดับความเสียหายที่ประเมินโดยเจ้าหน้าที่รัฐกลับมีข้อสงสัยหลายประการ

“แม้ว่าเงินที่ได้มามันไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด แต่การได้เงินตรงนี้มามันทำให้สามารถซ่อมแซมบางส่วนที่เสียหายได้ แต่บางหลังได้แค่พันเดียว บางหลังได้เป็นหลักหมื่น พอเราไปดูก็เห็นว่าเสียหายพอ ๆ กันเลย ชาวบ้านก็รวมตัวกันไปเรียกร้องเรื่องค่าเสียหายอยู่เหมือนกันว่าเขาใช้มาตรวัดตรงไหนในการระบุว่าความเสียหายเท่าไหร่ถึงได้ค่าชดเชยเท่านี้”

การชดเชยค่าเสียหายจากน้ำท่วมที่เกิดในบ้านโนนหนองลาด แม้จะมีผู้ตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐเข้ามาสำรวจแล้ว ก็ยังต้องมีชาวบ้านทำเอกสารไปยื่นให้กับหน่วยงานรัฐอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อสวาทมองว่าเป็นการทำเอกสารซ้ำซ้อน ทั้งที่น้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารทรัพยากรน้ำของทางรัฐเอง เหตุใดจึงมีการผลักภาระเอกสารให้กับประชาชนอีกต่อหนึ่ง

ชาวบ้านส่วนมากที่อาศัยอยู่ปัจจุบันถึงไม่มีกลุ่มวัยรุ่น แต่การเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ยังพอทำได้ ยกเว้นบางหลังคาเรือนที่ผู้อาศัยเป็นเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่การเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากมาก นี่เป็นอีกประการหนึ่งที่พ่อสวาทมองว่าการสื่อสารของรัฐต่อประชาชนเข้าถึงยากเกินไปและไม่ครอบคลุม

“คือเขา(หน่วยงานรัฐ) แจ้งมาว่าจะโอนค่าเยียวยาเข้าระบบพร้อมเพย์ ให้สามารถไปกดได้ที่ตู้ ATM เลย แต่บางคนเขายังไม่มีบัตร ATM อย่างยายคนนั้นอายุก็ 80 กว่า แล้วอยู่คนเดียว การที่เขาจะรู้จักระบบพร้อมเพย์จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ช่วงแรกที่จ่ายเงินเยียวยาก็มีการตกหล่นกันหลายคน จนภายหลังต้องเป็นพวกเราเองที่ต้องมีตัวแทนประสานงาน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเยียวยาครั้งนี้”

พ่อสวาทกล่าวว่า หน่วยงานรัฐประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นมีการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้นให้เพียง 20 ครอบครัว เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท ในขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นกับ 48 ครอบครัว

เช่นเดียวกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทางรัฐส่งมาให้เพื่อบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับชุมชน ถึงอย่างนั้น อุปกรณ์ดังกล่าวทั้งเครื่องสูบน้ำ เรือแบน ไปจนถึงอุปกรณ์ยังชีพอื่น ๆ ยังติดข้อจำกัดซึ่งเป็นเงื่อนไขของภาครัฐ ที่ไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านในฐานะผู้ที่ต้องอยู่และเรียนรู้กับน้ำท่วมมาโดยตลอดไม่สามารถมีส่วนร่วมกับกระบวนการบรรเทาอุทกภัยนี้

แม้น้ำจะลดไปแล้วแต่ร่องรอยยังคงอยู่ ไม่ใช่แค่รอยคราบน้ำขังบนผนังบ้าน แต่เป็นการจัดการของภาครัฐที่ยังคลุมเครือและไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการภัยครั้งนี้ อีกทั้งยังมีหลายส่วนที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาผลักดันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง ทั้งเงินเยียวยา สิ่งของเครื่องใช้ กลายเป็นว่าการเยียวยาครั้งนี้ เกือบทั้งหมดเกิดจากชาวบ้านต้องไปทำเรื่อง ยื่นเอกสาร และควักเงินเข้าเนื้อตัวเองกันแทบทุกคน

น้ำท่วมกำลังจะมาในปลายปี 2566 ที่ยังต้องกังวล แต่ชุมชนยังคงต้องคำนวณถึงน้ำที่จะต้องใช้ในฤดูแล้งที่กำลังจะถึงในเร็ววัน ความไม่แน่นอนของพื้นที่ที่รัฐยังไม่แน่ใจว่า จะกำหนดทิศทางบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างไรกันแน่

อนาคตโนนหนองลาด สถานะ ‘ทุ่งรับน้ำ’ ที่รัฐมอบให้ แต่ไม่ถูกจัดการ

แม้วันนี้บ้านโนนหนองลาดจะเป็นอีกพื้นที่ที่รัฐเห็นแล้วว่ามีปัญหาเกิดขึ้น สำคัญไปกว่านั้นคือเรื่องของการจัดการปัญหามากกว่า ว่าควรจะเกิดกระบวนการแก้ไขนี้อย่างไรเพื่อให้ปัญหาคลี่คลายโดยเร็ว

ข้อเสนอประการแรกของพ่อสวาท คือแก้ไขการสื่อสารของภาครัฐกับประชาชนให้เข้าถึงง่าย คืออย่างน้อยที่สุด การจัดการเรื่องเอกสารหรือการบรรเทาต่าง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐควรให้การสนับสนุนมากกว่านี้ เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่นี้ยังเป็นชนบท การเข้าไปทำเอกสารถึงในตัวเมืองมีค่าใช้จ่ายสำหรับชาวบ้าน รวมถึงผู้คนที่อาศัยในชุมชนส่วนมากเป็นคนแก่และเด็ก

กระบวนการสำคัญที่พ่อสวาทอยากให้เกิดขึ้น คือการร่วมมือการจัดการน้ำระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ไม่ใช่แค่เมื่อน้ำมาแล้วจะต้องจัดการร่วมกัน แต่การปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ควรมีการปรึกษาชาวบ้าน ในวันที่ชาวบ้านต้องเป็นผู้เสียหายจากน้ำที่ไหลเข้ามา ทำอย่างไรให้การจัดการทรัพยากรน้ำนี้สร้างความเสียหายได้น้อยที่สุดกับทุกคน เช่นเดียวกับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง พื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนควรจะได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยเช่นกัน

แม้ภัยพิบัติคือสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติซึ่งควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พ่อสวาทยืนยันอีกเสียงว่าเป็นเรื่องของการจัดการที่ไม่ควบคุมมากกว่าควบคุมไม่ได้เสียมากกว่า

“หลังจากนี้มันคือการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เราก็คงต้องไปติดตาม สอบถามถึงการเข้าไปออกแบบการจัดการน้ำในฐานะภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น จนไปถึงอาจจะเกิดเวทีสำหรับการพูดคุยของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ แต่ก็ไม่ฟันธงว่าเสียงของเราจะดังมากพอให้เขาได้ยิน มันก็ยังเป็นเรื่องที่ยังต่อสู้กันต่อไป”

และข้อเสนอสุดท้าย คือการแก้ไขกฎระเบียบเงื่อนไขต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งการดำเนินงาน การเยียวยา ซึ่งสามารถปรับได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

พ่อสวาทกล่าวว่า หากน้ำมาอีกปี วิสาหกิจชุมชนจะต้องได้รับผลกระทบอีกครั้ง นั่นหมายถึงเงินเยียวยาก็ต้องมาจากชาวบ้านเพราะวิสาหกิจชุมชนไม่ได้ถูกนับเข้าข่ายที่อยู่อาศัย ในขณะที่ปีนี้รายได้หลักของชาวบ้านจากวิสาหกิจสุราชุมชนนี้ไม่ได้ถูกเปิดใช้อย่างเต็มระบบ รายได้ที่เข้ากระเป๋าก็น้อยลงแต่เงินที่ต้องใช้กลับออกไปมากขึ้น สักวันวิสาหกิจชุมชนนี้จะเงียบหายลง การดึงผู้คนในหมู่บ้านให้เข้ามาส่วนร่วมกับความเป็นชุมชนก็จะลดน้อยลงไปอีก

“มันคือการจัดลำดับความสำคัญของภาครัฐ ถ้าเขามองเห็นความสำคัญเขาก็สามารถเพิ่มเติมหรือแก้ไขเรื่องเหล่านี้ลงไปได้ แต่วันนี้มันคือคำถามว่าเขามองเห็นความสำคัญเรื่องพวกนี้ขนาดไหน ความเป็นชุมชนชนบทที่วัฒนธรรมจะไปต่อหรือสูญหายไป พวกเขามองเรื่องเหล่านี้ไว้ว่าอย่างไร”

ไหเหล้าที่ตั้งทิ้งไว้อยู่ภายนอกวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนหนองลาด คือรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด ในวันที่คราบเหล้าในไหเปลี่ยนเป็นแห้งกรัง ไม่นานหลังจากนี้อาจเหลือแต่เพียงไหไม่มีเหล้าบรรจุอยู่ในนั้น นอกจากพืชพันธุ์วัตถุดิบที่นำมาบ่มหรือกลั่นไม่เหลือ อาจเป็นผู้คนที่ทยอยออกจากหมู่บ้านไปเยอะขึ้นทุกขณะ

จากยอดข้าวในไร่นา ถึงการอยู่รอดความเป็นชุมชนชนบทอีกแห่งในจังหวัดขอนแก่น บ้านโนนหนองลาดกำลังอยู่บนทางแยกที่ทางหนึ่งน้ำกำลังจะมา อีกทางหนึ่งคนกำลังโยกย้ายออกไป จำเป็นที่จะต้องภาครัฐเข้ามาอุดรูหรือสร้างทางเลือกใหม่ให้ชุมชนนี้อยู่รอดต่อไป โดยไม่ล่มสลายจากการบริหารจัดการที่ควบคุมไม่ดี

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 ชาวบ้านโนนหนองลาดกำลังเร่งปลูกข้าวแปลงใหม่อีกครั้ง เพื่อหวังให้ได้วัตถุดิบมาทำภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับชุมชน แต่ก่อนที่รวงข้าวจะตั้งท้องอีกครั้งในปลายปี เราไม่อาจรู้ได้ว่าวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จะเต็มไปด้วย ไห โหล ที่ดองเหล้าไว้เต็มชั้นวางหรือน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน แต่ที่แน่ ๆ มีอนาคตของบ้านโนนหนองลาดวางเป็นเดิมพัน