เขย่าถุงเงิน สปสช. เหยียบคันเร่งสวัสดิการข้ามเพศ - Decode
Reading Time: 2 minutes

การข้ามเพศไม่ใช่ความอยาก แต่เป็นความจำเป็น เป็นคำพูดไม่เกินจริงจากปากคำของคนข้ามเพศที่ต่างคนต่างสถานะทางสังคมและต่างเลือกเกิดไม่ได้ การข้ามเพศจึงมีราคาที่ต้องจ่าย ในขณะที่หลายประเทศไป “ไกล” ถึงการมีรัฐสวัสดิการ แต่ประเทศไทยยังมีคำว่า “รอ” และ “ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการข้ามเพศได้อย่างถูกวิธี”

“อย่างน้อยควรมีสวัสดิการด้านฮอร์โมนอย่างทั่วถึงหลายจังหวัด เพราะฮอร์โมนราคาก็ไม่ได้สูง มันก็น่าจะอยู่ในสิ่งที่รัฐสามารถสนับสนุนได้ เช่น ผู้หญิงที่เขามีปัญหาเรื่องฮอร์โมนหรือตัดมดลูกรังไข่ เขาก็ต้องได้รับฮอร์โมนเหมือนกัน แต่อาจจะคนละอันกัน ดังนั้นฮอร์โมนจึงเป็นเรื่องทั้งจำเป็นทางกายและทางใจของคนข้ามเพศเช่นกัน” มน กล่าว

De/code พูดคุยกับ ณชเล บุญญาภิสมภาร ผู้หญิงข้ามเพศ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย และ มน ชายข้ามเพศวัย 51 ปี ที่จะออกมาแสดงถึงความจำเป็นในการผลักดันกระบวนการข้ามเพศให้เป็นหนึ่งในสวัสดิการของรัฐ และช่องว่างของปัญหาที่แม้ว่าไทยจะถือว่าเป็นสวรรค์ของคนข้ามเพศ แต่สวัสดิการของคนข้ามเพศก็ยังคงเป็นเพียงแค่ฝันของคนข้ามเพศในไทย

ทัศนคติ เงิน ครอบครัว ‘ด่านแรก’ ของคนข้ามเพศ

เรื่องราวการตัดสินเป็นชายข้ามเพศของมนเริ่มต้นหลังจากเขาอายุ 40 ปี ที่ซึ่งข้อมูลในตอนนั้นมีน้อยมาก และสังคมยังไม่ได้เปิดรับชายข้ามเพศมากขนาดนั้นเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน ทำให้เขามีความกังวลใจมากมายทั้งเรื่องสังคม ครอบครัว การเงิน และความปลอดภัยในการเปลี่ยนแปลงหลังจากอายุ 40 ปี โดยมนได้เล่าให้เราฟังว่า เขาได้พบกับปัญหาต่าง ๆ

โดยเฉพาะปัญหาข้อมูลที่น้อยและเป็นไปในเชิงลบ ทำให้แทบจะไม่มีการประชาสัมพันธ์ในระยะเวลา 10 ปีก่อน และด้วยความที่ “มน” มีความต้องการอยากเปลี่ยนแปลงเพศของตัวเองหลังเขาอายุ 40 ปี ก็ทำให้ข้อมูลยิ่งหายากเข้าไปอีกว่า หากได้รับฮอร์โมนหรือผ่าตัดหน้าอกออกในวัยนี้จะเป็นอย่างไร แล้วจะเจอปัญหาอะไรไหม ทำให้เขามีความกังวลตรงส่วนนี้มาก อีกทั้งการประชาสัมพันธ์สำหรับโรงพยาบาลรัฐสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพศในตอนนั้นค่อนข้างพบเห็นได้ยาก ส่วนใหญ่จะมาจากโรงพยาบาลเอกชน และข้อมูลในสื่อที่ได้รับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นในเชิงลบและมีราคาแพง และไม่ใช่ความจำเป็นทางการแพทย์ ทำให้มีความกังวลใจในการไปโรงพยาบาลเพื่อสอบถามข้อมูลและเข้ารับกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพศ

หลังจากนั้นมนก็ได้รู้ข้อมูลจากในกลุ่มชายข้ามเพศที่ส่งต่อกันมาเกี่ยวกับการผ่าตัดหน้าอกจากโรงพยาบาลรัฐที่มีราคาถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ทำให้เขาได้ไปทำการผ่าตัดหน้าอกออกที่โรงพยาบาลรัฐ แต่ก็ได้ผลลัพธ์ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่ แต่เขาก็ไม่อยากไปแก้ไขแล้วเพราะไม่อยากเจ็บตัวเพิ่มและเสียเงินและเวลาไปกับการพักฟื้นอีกครั้ง ก็สื่อถึงการผ่าตัดแปลงเพศ อาจจะต้องมีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังซึ่งต้องแลกกับ ความเจ็บปวด เงิน เวลา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่ซ่อนอยู่ อีกทั้งความเครียดหรือความวิตกกังวลที่ตามมาจากผลของการผ่าตัด

นอกจากนี้การเข้ารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็พบเจอกับอีกปัญหา คือ ทัศนคติกับการกระทำของคนให้บริการทางการแพทย์ที่เป็นเชิงลบ โดยตอนที่เขาได้ไปผ่าตัดหน้าอก ได้มีนักศึกษาแพทย์เข้ามาดูตอนเขามาปรึกษาผ่าตัดหน้าอกขณะที่เขาถอดเสื้ออยู่ โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากเขา หลังจากนั้นก็มีปัญหาเรื่องทัศนคติกับคำถามแปลกๆจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ และการกระทำจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ โดยในตอนนั้นมนได้ไปฉีดฮอร์โมนตามปกติ แต่ได้มีผู้ช่วยพยาบาลชายทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ เช่น การนำมือมาไว้บนก้นของเขาและฉีดยาอย่างยืดยาด ทำให้เขาตัดสินใจว่า การฉีดฮอร์โมนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของเขา

อุปสรรคและข้อจำกัดที่มน เล่าให้ฟังทั้งเรื่องข้อมูลที่น้อยสำหรับคนข้ามเพศวัย 40 ปีขึ้นไป และทัศนคติของผู้ให้บริการทางแพทย์สำหรับคนข้ามเพศ ทำให้พวกเขาต้องฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆมากมาย ซึ่งก็ควรมีสวัสดิการและการพัฒนาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพศที่ทำให้คนข้ามเพศรู้สึกสบายใจ และไม่ต้องลำบากในการที่จะเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ

เมืองหลวงทางการแพทย์กระจุก

เมื่อเขาได้ตัดสินใจตัดหน้าอกออกไปแล้ว เขาก็ตัดสินใจเข้ารับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ให้ตรงกับใจของเขา แต่มนอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ความลำบากก็เพิ่มขึ้นไปอีก หลังจากการรับฮอร์โมนที่ต้องมีการตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศชาย เพราะจากประสบการณ์ของมนที่เคยไปที่โรงพยาบาลเอกชนแถวบ้าน ก็พบว่าโรงพยาบาลไม่มีโปรแกรมสำหรับการตรวจฮอร์โมนสำหรับชายข้ามเพศ ด้วยปัญหาความรู้ไม่เพียงพอ ทำให้การตรวจก็ไม่ได้ตามผลที่เขาต้องการ เขาจึงจำเป็นต้องไปที่สถานให้บริการทางการแพทย์ สำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

ดังนั้น โรงพยาบาลในจังหวัดที่มนอาศัยอยู่ไม่มีบริการ ทำให้เขาตัดสินใจเลือกซื้อฮอร์โมนจากแหล่งที่ไม่ได้มาจากโรงพยาบาล เพราะสามารถตอบโจทย์การใช้งานของเขาได้มากกว่าการใช้บริการจากโรงพยาบาลในจังหวัดที่เขาอยู่ อีกทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองกับราคาที่โดนบวกเพิ่มกับบริการการตรวจฮอร์โมนในส่วนที่เขาไม่ต้องการอีกด้วย นอกจากนี้เขายังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง เพื่อไปตรวจสถานบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะสำหรับคนข้ามเพศอีกด้วย

แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้อยู่บ้าง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับคลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี สานพลังภาคีเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ให้บริการสุขภาพบุคคลเพศทั้ง 4 ภาค เข้าไปให้ข้อมูลสำหรับกระบวนการข้ามเพศให้กับทั้งโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดเชียงใหม่ ,โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต ลดขั้นตอน และลดค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางสำหรับคนข้ามเพศ

เขย่า สปสช. แค่ฮอร์โมนฟรี! ไม่พอ

ก่อนหน้าที่โครงการของณชเลจะยื่นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาระบบหลักประกันแห่งชาติให้ครอบคลุมเกี่ยวกับกระบวนการข้ามเพศของคนข้ามเพศต่อภาครัฐ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำหรับคนข้ามเพศที่ประสบความสำเร็จ เช่น

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำงานเกี่ยวกับ HIV ทำให้เราจะได้เห็นการเกิดคลินิกชุมชนเกี่ยวกับ HIV  ในต่างจังหวัด แล้วก็ผลักดันให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนข้ามเพศ ตอนแรกยังมีแค่การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV แต่ก็มีหลายคนและหลายหน่วยงานผลักดัน

จนกระทั่งมีการผลักดันจนมีการเพิ่มบริการด้านการตรวจฮอร์โมนขึ้นมาเพิ่มเติมอีกด้วย แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับคนข้ามเพศ เพราะความจำเป็นของคนข้ามเพศมีมากกว่านั้น ทั้งในเรื่องการได้รับฮอร์โมน การให้คำปรึกษาสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพศและปัญหาทางใจ การผ่าตัดแปลงเพศ และอื่น ๆ ที่ยังต้อง “รอ” ต่อไปในอนาคต

ทางโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทยได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยได้มีการยื่นเรื่องภาครัฐ ผ่านการนำข้อมูลที่ได้จากชุมชนของกลุ่มคนข้ามเพศ นำมาทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยได้ยื่นต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ และกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ไปได้ไกลกว่าการตรวจ HIV และฮอร์โมนเพศ

หลังจากได้ยื่นเรื่องกับทางภาครัฐแล้ว ต่อไปก็เรื่องก็จะส่งต่อไปที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ณชเลเล่าเกี่ยวกับขั้นตอนของสิทธิทางด้านสุขภาพจะสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า 

“สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)จะมีการประเมินว่า ตอนนี้มีโรคอุบัติใหม่หรือการรักษาอะไรที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำเป็นต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย แล้วมันจะคุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่ กระบวนการสำหรับคนข้ามเพศในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประเมิน และทำการศึกษาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่อคน หากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมจะคุ้มค่ากับงบประมาณหรือเปล่า”

โดยโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย จะเป็นคันเร่งที่จะคอยสื่อสารและติดตามผลเกี่ยวกับความคืบหน้าของสวัสดิการที่ยื่นไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ความฝันของคนข้ามเพศ แต่เกิดเป็นสวัสดิการที่ทำให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงกระบวนการข้ามเพศได้อย่างไร้กังวลทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายและการครอบคลุมของแต่ละพื้นที่

“เราไม่ต้องการแค่ฮอร์โมนฟรี เราอยากได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการข้ามเพศทุกกระบวนการที่จะทำให้คนข้ามเพศไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง รวมถึงการศัลยกรรมแปลงเพศด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาคนข้ามเพศถูกบังคับให้ต้องเลือกเสมอ ถ้าเราไม่มีเงิน เราก็ไปใช้บริการที่ราคาถูก ซึ่งอาจมีคุณภาพไม่ดีหรือต้องเลือกเรากินยาคุมแทนการได้รับฮอร์โมนที่ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้ส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าวันนี้เราจะได้แค่ฮอร์โมนฟรีก็ไม่เป็นเป็นไร เพราะสิ่งนี้ก็คงต้องใช้เวลา แต่โครงการเราก็ยังจะคอยเป็นแรงผลักดันให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการกระบวนการข้ามเพศอย่างถูกต้อง” ณชเล กล่าว

จากทางเลือกที่หลายคนมองว่า ไม่จำเป็น ทั้งที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้มันเป็นความจำเป็นสำหรับคนข้ามเพศทั้งทางกายและทางใจ ทำให้รัฐจำเป็นต้องเข้ามารองรับและโอบรับคนข้ามเพศเหล่านี้ด้วย เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในประชาชน และเป็นหนึ่งในคนที่จะพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน

แล้วทำไมพวกเขาถึงไม่มีสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับคนข้ามเพศ สิ่งนี้ก็เป็นจุดมุ่งหมายที่คนข้ามเพศหลายคนอยากให้ไปถึง ในวันที่พวกเขาสามารถเข้าถึงการปรับเปลี่ยนร่างกายทางเพศของตัวเองได้ โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านการเงินหรือปัจจัยทางด้านพื้นที่และสังคม สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยเป็นสวรรค์สำหรับคนข้ามเพศอย่างแท้จริง