เมืองหลวง เมืองไม่น่าอยู่ของคน(ไร้บ้าน) - Decode
Reading Time: 2 minutes

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย

เมืองใหญ่อันดับที่ 73 ของโลก

ด้วยพื้นที่กว่า 1,568.7 ตร.กม.

ประชากรกว่า 5.6 ล้านคน

เป็นคนไร้บ้านไปแล้วกว่า 2,000 คน โดยประมาณ

ถ้าคนไร้บ้านสะท้อนความล้มเหลวของสวัสดิการรัฐ กรุงเทพมหานครก็คงเป็นเมืองที่มีปัญหาไม่ใช่น้อย

De/code คุยกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับสภาวะคนไร้บ้านหลากมิติในเมืองหลวง พร้อมร่วมตั้งคำถามให้ทุกคนได้ลองตอบกันในใจว่า ‘เมืองน่าอยู่’ ในแบบของคุณหมายถึงเมืองแบบไหนกันแน่

เมืองของคนถูกทิ้ง

“ไม่มีใครอยากอยู่ริมถนนหรอก แต่การที่เขาเลือกวิธีนี้นั่นแปลว่าพื้นที่ปลอดภัยเราน้อย”

นี่คือมุมมองของศานนท์ที่มีต่อคนไร้บ้าน ซึ่งคำว่ารู้สึกปลอดภัยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความปลอดภัยทางด้านร่างกาย แต่ยังรวมไปถึงความรู้สึกปลอดภัยภายในจิตใจ ที่สภาวะแวดล้อมของเมืองส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยทุกคน เพราะปัญหาคนไร้บ้าน เร่ร่อน หรือไร้ที่อยู่อาศัย จะเรียกพวกเขาด้วยชื่อใดก็ไม่ใช่ปัญหาในระดับปัจเจก หากแต่เป็นปัญหาของเมืองในภาพใหญ่ทั้งสิ้น

“เราคงไม่โรแมนติกว่าไม่มีคนไร้บ้านเลย มันเป็นสภาวะ และเราต้องทำให้เขากลับสู่การมีงาน มีบ้านเหมือนเดิมได้ สังคมควรมีทุกอย่างรองรับ เพราะมันไม่ใช่ตราบาปของชีวิตของพวกเขาเลย” ศานนท์ ว่า

หากอ้างอิงจากผลการเก็บข้อมูลของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพบว่า คนไร้บ้านที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ กล่าวคือ เพิ่งเข้าสู่สภาวะไร้บ้านเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีเพียง 5-10% เท่านั้นที่เป็นคนไร้บ้านถาวรแล้ว

คน 90% นี้เอง จึงเป็นโจทย์เรื้อรังที่ศานนท์ต้องการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เศรษฐกิจมีแต่จะถดถอยและถดถอย ที่นอกจากจะทำให้เกิดคนจนเมืองกันถ้วนหน้าแล้ว ก็ยังส่งผลให้เกิดคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกด้วย 

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือเรื่องความปลอดภัยทางจิตใจ หรือ mental security โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งความเปราะบางและผันผวนแบบนี้

“ผมไม่ได้บอกว่าเขาเป็นจิตเวชนะ แต่นึกสภาพจิตใจของบางคนที่เคยประสบความสำเร็จมาก ๆ แล้วมันพัง ก็ทำให้เขาเป็นคนไร้บ้านเลยก็มีเหมือนกัน เราก็ต้องไม่ลืมมองตรงนี้ด้วย”

ศานนท์ กล่าว ก่อนอธิบายเสริมว่าต้องมีการดำเนินการด้านคนไร้บ้านทั้งหมด 6 มิติ ตั้งแต่ มิติด้านฐานข้อมูล มิติด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มิติด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน มิติด้านอาชีพ มิติด้านสุขภาพ ไปจนถึงมิติการบูรณาการช่วยเหลือของหน่วยงานสนับสนุนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งจำต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน

เมือง(กำลัง)พัฒนา?

ด้วยความเป็นกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่จำกัด และมักถูกจับจองไปเกือบหมด การหาพื้นที่เพื่อทำสวัสดิการสังคมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างบนหน้ากระดาษ

แต่ก่อนแต่ไร กรุงเทพมหานครเช่าพื้นที่บริเวณแม้นศรีเพื่อสร้างจุดบริการอิ่มใจ (drop in) ด้วยราคา 2.5 ล้านบาท/เดือน เป็นหลัก ทว่าปัจจุบันมีการร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมูลนิธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างกระจกเงา หรืออิสระชน ในการทำจุดสวัสดิการครบวงจรเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง

ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร) ตรอกสาเก หัวลำโพง และถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ 14 ตุลา เพื่ออุดช่องโหว่หลังเจอปัญหามีเชลเตอร์แต่คนไม่ไปของ พม. เหตุเพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลและมีรถเมล์ผ่านเพียงสายเดียว

“บางคนอาจจะอยากได้บ้าน บางคนอาจจะอยากได้ข้าว บางคนอยากได้แค่พื้นที่ซักผ้า อาบน้ำให้สบายตัว เพราะถ้าเขาตัวสะอาด เขาอาจจะไปสมัครงานได้สักวันหนึ่งก็ได้ หน้าที่ของเราคือสร้างจุดสวัสดิการที่รองรับความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้เขากลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง”

ศานนท์ กล่าว ก่อนอธิบายต่อว่า มีอีกหนึ่งไอเดียที่ตนสนใจนำมาพัฒนาเพิ่มเพื่อมุ่งสู่การฟื้นฟูหลากมิติ คือ การสร้าง recycle hub หรือพื้นที่สำหรับทิ้งเฟอร์นิเจอร์เก่า โดยศานนท์มองว่าสิ่งเหล่านั้นยังไม่ใช่ขยะหากแต่เป็นสินค้าที่ยังคง upcycle หรือซ่อมได้ ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นห้างหรือคาเฟ่รีไซเคิล ที่สามารถสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านไปในตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม ศานนท์ยังคงมองว่า การมีจุดบริการนั้นยังไม่ตอบโจทย์สังคมโดยรวมอย่างที่ควรเป็น เพราะความจริงอีกด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ ข่าวเชิงลบของคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการคุกคาม หรือการขู่กรรโชกทรัพย์คนที่เดินผ่านไปมา ที่สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยแก่คนในสังคมในการใช้พื้นที่เมืองร่วมกัน และปัญหาเหล่านี้จำต้องได้รับความสนใจไม่ต่างกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาเมืองให้น่าอยู่เพื่อทุกคน

“หลายคนมองว่าเราสปอยล์คนไร้บ้านเกินไป มันทำให้คนไร้บ้านเยอะขึ้น เราจึงต้องทำสองมาตรการควบคู่กัน หนึ่ง จุดฟื้นฟูที่อำนวยสวัสดิการดูแลคนไร้บ้าน และสอง มีเทศกิจหรือตำรวจคอยดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน”

เมืองเพื่อมนุษย์

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องหันกลับมามองร่วมกันอาจเป็นนิยามของคำว่า เมืองน่าอยู่

เมืองน่าอยู่ อาจหมายถึง เมืองที่มีสวนสาธารณะให้ไปทำอะไรก็ได้ยามว่าง

เมืองน่าอยู่ อาจหมายถึง เมืองที่เดินทางไปไหนมาไหนแล้วไม่เจอรถติด รองรับทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

เมืองน่าอยู่ อาจหมายถึง เมืองที่มีจุดบริการสาธารณะสุขเข้าถึงง่าย อนุญาตให้ผู้อาศัยไม่ต้องฝืนแข็งแรงตลอดเวลาเพราะห่วงว่าจะกระทบชีวิตและการทำงาน

เมืองน่าอยู่อาจหมายถึง เมืองธรรมดาที่รองรับความเป็นมนุษย์ของเรา

แต่ตอนนี้เมืองธรรมดาอาจยังไม่มีอยู่จริง จะมีก็แต่เมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน 24/7 วนไปวนมาทุกวัน พัฒนาไปข้างหน้าแบบทิ้งให้ผู้อาศัยเจ็บปวด และเหนื่อยล้า ทว่าชินชา จนหากใครยกธงขาวขึ้นมาพวกเขาเลยกลายเป็นผู้แพ้

ศานนท์เองก็รู้ความจริงข้อนี้อยู่เต็มอก เพราะปัญหาใด ๆ ก็ตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ปลายทางทั้งสิ้น สิ่งสำคัญที่ศานนท์อยากทิ้งท้ายจึงวกกลับมาสู่ความสามัญพื้นฐาน นั่นก็คือการคืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้แก่ทุกคน ผ่านสวัสดิการรัฐที่มองทุกคนเท่ากัน

และความสามัญนี้ ไม่ควรถูกผลักดันเพียงแค่ในเมืองหลวงเพียงเท่านั้น

“ถ้าเราไม่ปรับสวัสดิการ ไม่ปรับระบบสาธารณสุข ไม่ปรับระบบการศึกษา สภาวะเหล่านี้ก็จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าจะท้องถิ่นไหนก็ต้องทำสิ่งเหล่านี้ได้เอง” ศานนท์กล่าว ก่อนจะจากกันไป

“ทำไม่ทำ ได้ไม่ได้ สุดท้ายปัญหามันอยู่บ้านเราอยู่ดี ก็ต้องทำ”