สำนึกใหม่ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ผู้แพ้ในเพลงชื่อยาว

[ดวงดาวเดียวดาย] ประพันธ์ สุนทรฐิติ

ลมหนาวมีคุณสมบัติพิเศษ ให้ความขี้เกียจทำงานหนักมากขึ้น เคยรู้สึกเหมือนกันไหม ยามที่ตัวเองหมุนติ้ว ๆ อยู่บนที่นอนในยามเช้า แม้แต่เสียงนกเสียงกาปลุกแล้วปลุกเล่า ก็ไม่สามารถพาให้ร่างของเรา ทะลึ่งลุกขึ้นมาจากที่นอนได้ เราเรียกฤดูหนาวนั้นว่า ฤดูดูดวิญญาณ เพราะจะเป็นช่วงที่ร่างกายรู้สึกอ่อนแออ่อนไหว ไม่พร้อมจะปะทะกับฝักบัวในยามเช้า นี่แค่นึกถึงการอาบน้ำตุ่มในสมัยเด็ก ยังพาให้ขนหัวลุกซู่ เขาจึงชอบมีคำพูดประมาณว่า

หนาวนี้ให้กอดใคร หนาวในให้กอดตัว

ช่างกินใจคนไม่มีคู่เสียจริง เรานี่ก็หยอกเย้าเล่น พอให้ข้ามพ้นปีใหม่มา บางคนยึดมั่นถือมั่นจริงจัง ว่าปีใหม่จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ

แต่แหม่! ผ้าปูที่นอนในปีเก่ายังไม่เปลี่ยน เสื้อผ้าหน้าผมในปีเดิม ก็ยังคงเดิมอยู่จนข้ามปี เรียกว่าลงภาพสวดมนต์ข้ามปีกันแต่หัวค่ำ แต่ตอนดึกเมาเอกเขนก หนุนขวดเบียร์ขวดเหล้าหลับกันจนเช้า นั่นมันเป็นแบบนั้น

แต่ก็อย่างว่า มันเป็นเรื่องที่โลกเขาบัญญัติกันขึ้นมา ทั้งวันเดือนปีสัปดาห์ชั่วโมงวินาที เชื่อว่าโลกในเนื้อแท้จริง ๆ ทั้งเปลือกนอกเปลือกในเขาหาได้รู้เรื่องด้วยไม่ เพราะอย่างไรเสีย เมื่อพระจันทร์ในปีเก่าล่วงไป พระอาทิตย์ในปีใหม่ก็จำต้องหวนกลับมาเช่นเดิม เรียกว่าเมื่อคนจากอีกฟากโลกเฉลิมฉลองเสร็จ คนอีกฟากก็ส่งเสียงเฮรับต่อกันทันที

มันคงเป็นอย่างนี้ติดต่อกันมาแต่นานนม และคงไม่มีใครเคยจดบันทึกเอาไว้ ว่าเราเริ่มต้นสวดมนต์ข้ามปีกันมาตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อไหร่ หรือจุดพลุเฉลิมฉลองปีใหม่กันครั้งแรกที่ไหน

นั่นล่ะบางเรื่องเราก็ทำ ๆ ต่อ ๆ กันมา โดยที่ไม่ได้สนใจกันถึงต้นสายปลายเหตุว่าอะไร ยังไง

บางคนว่าเดือนมกราคม เป็นเดือนแห่งปฐมนิเทศปี บางคนไทยว่าสงกรานต์เป็นปีใหม่ บางคนไทยในที่นี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องกันมา บางคนก็มีความเชื่อเช่นนั้น

แต่แล้วทั้งหมดทั้งมวล ก็เป็นเรื่องความเชื่อที่ค่อนข้างเฉพาะส่วนบุคคล ไม่มีอะไรถูกผิด เขาจึงเรียกว่ามีแบบฉบับสากล และแล้วฉบับท้องถิ่น เอาเป็นว่าน่ารักดูดีกันไปคนละแบบ ชอบแบบไหนก็ยึดตามเอาแบบนั้น ดูวางใจเป็นกลาง ๆ ดี ยิ่งหากเป็นนักนิยมการเฉลิมฉลองด้วยแล้ว ยิ่งชอบอกชอบใจไปกันใหญ่ เพราะจะตั้งวงสรวลเสเฮฮากันได้ในทุกเทศกาล

บ้านเรามักจะเป็นแบบนั้น แล้วบ้านเธอล่ะ เป็นเหมือนกันหรือเปล่า เรียกว่าสรวลเสกันได้ตั้งแต่งานผ้าสีดำยันผ้าสีชมพู แหม่วันนี้เราก็มาแปลก เขียนหยอกเย้ามาแต่ต้นปี แค่อยากจะบอกว่า ปีเก่าเองก็ดี ปีใหม่เองก็ไม่ใช่ว่าจะดีกว่า เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือตัวเราที่จะข้ามพ้นขีดเส้นวันเดือนปี เป็นคนแบบไหน หรือพร้อมแค่ไหนที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าหากเป็นคนเช้าอย่าง เย็นอย่าง ต่อให้มีปีใหม่ทุกวัน มันก็คงจะเป็นปีล่ะอย่าง วันล่ะอย่างวันยันค่ำ ถ้าไม่ลุกขึ้นมา เปลี่ยนแปลงความคิดตัวเองเสียตั้งแต่วินาทีนี้ แล้วเอาแต่ขีดเส้นเริ่มต้นใหม่ให้กับอนาคตอยู่ตลอด บางทีอาจไร้อนาคตไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวก็ได้

เพราะฉะนั้นไม่ต้องรอให้พ้นปี กลางปี ปลายปี เรียกว่าเริ่มคลี่คลายตัวเองเลย ตั้งแต่ที่เริ่มคิดได้น่าจะดีที่สุด

เวลาชีวิตของคนเรามันยาวกว่ายุงก็จริง แต่พอมันดับวูบไป มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากยุงตัวนึง คือดับแล้วก็หายวูบไปจากโลกทันที ดีหน่อยก็คงแต่ว่าคน ๆ นั้น เขาได้ทิ้งความดีอะไรเอาไว้ให้เราได้พูดถึงกันบ้าง เรียกว่าพูดถึงนานหน่อย ก็แสดงว่าเขามีเรื่องให้เราได้พูดถึงกันบ่อย พูดถึงน้อยหน่อย ก็สุดแท้แต่ว่าพวกเราคิดถึงเขาอยู่บ่อย ๆ ไหม

นั่นเหตุผลมันอาจอยู่ตรงนั้น แม้ความดีจะไม่เคยเหือดแห้ง แต่ความดีก็มีสิทธิ์ที่จะถูกลืมเลือนได้ หากผู้ที่จดจำ เป็นคนขี้ลืมด้วยแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ในเมื่อเจ้าตัวเขาเป็นคนขี้ลืม ใช่ไหมล่ะ หรือว่าไม่จริง ขนาดบางที เราเองยังหลง ๆ ลืม ๆ ในเรื่องบางเรื่องกันเลย เขาจึงว่า อย่าไปยึดเอาความดีของเราเป็นที่ตั้ง เพราะมันอาจจะไม่ใช่ความจริงแท้ที่สุดสำหรับใคร

คือความดีมันก็แตกแขนงไปกว้างมาก อิสระจนยิบย่อยไปหมด ผู้ร้ายดี ก็มีเหตุผลของผู้ร้าย ผู้ดี ดี ก็มีเหตุผลในอีกแบบ มันแยกย่อยไปหมด เอาเป็นว่า วงจรของความดีร้าย มันก็ทำหน้าที่หมุนติ้วอยู่รอบตัวเรา สิ่งสำคัญที่สุดเลย คือสำนึกในความคิดที่มีต่อความดี และความไม่ดีของเรา ว่ามันมีมากน้อยเพียงใดนั่นสำคัญที่สุด แม้บางครั้งเราจะแยกแยะมันไม่ออกก็ตาม

แต่เมื่อเราได้สัมผัสจับต้องกับมันเข้าเมื่อไหร่ เป็นไปไม่ได้เลยว่า ๆ จะแยกแยะ ระหว่างน้ำกับน้ำมันไม่ได้ เพราะอย่างน้อย ๆ หากต่อมรับรู้ทางจมูกของเราเกิดเสีย มือของเราเองก็น่าจะสัมผัส แยกแยะเข้ากับความหนืดเหนียวของน้ำมัน หรือแม้แต่น้ำเปล่าได้ ไม่ทางรสสัมผัสหูตาลิ้นจมูกกายใจ มันก็คงต้องมีเข้าสักทางสิ ไม่ว่าทางไหนก็ทางนึงชี้ช่องให้เรา ๆ ได้เห็น โดยส่วนตัวเรามีความเชื่อเช่นนั้น

เอาน่า พอโตขึ้นมาหน่อย ลองสังเกตดู สำนึกบางอย่างในตัวของเรานี่แหละ ที่มันจะคอยเตือนเราอยู่ร่ำ ๆ ว่า เฮ้ยสิ่งนี้ดีนะ สิ่งนี้ไม่ดีแหละ สิ่งนี้คุ้มค่า สิ่งนี้อย่าไปแลกเปลี่ยนเอามาเลย เมื่อก่อนเราก็ไม่เคยสังเกต จวบจนกระทั่งเริ่มรู้สึกว่า บทเรียนต่าง ๆ ในตัวของเรา อันที่จริงล้วนแล้วแต่มีคงคลังสำนึกกักเก็บอยู่

ขอให้พิจารณาไตร่ตรองดูกันด้วยสติจริง ๆ ก็จะมองเห็น ว่าชั่วโมงบินแห่งชีวิตนี่ สอนอะไรต่อมิอะไรให้แก่เรามากมาย บาดแผลร่องรอย สิ่งต่าง ๆ เองก็เหมือนเป็นครูแห่งชีวิต ถ้าไม่ละทิ้งไปเสีย คืออย่ามองข้ามผ่านไป ทั้งความดีความไม่ดี เรียกว่าถ้ารู้จักสังเกตก็จะเห็น เพื่อนที่ว่าใจร้ายกับเรา เขาก็สอนอะไรบางอย่างให้แก่เรา คนที่ดีมีน้ำใจ ก็สอนให้เราได้เห็นเหมือนกันว่า ความดีนั่นมันจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง

จริง ๆ พอโตขึ้น ความดีไม่ดี มันก็เปลี่ยนแปลงรูปร่างไป จากที่เคยเข้าใจว่า แบบนี้ดีที่สุด ก็กลับกลายเป็นว่าไม่ใช่อีกแล้ว ซึ่งบางครั้ง ความเข้าใจของเรา ก็ออกมาในรูปแบบของความพึงพอใจในความเห็นส่วนตัว แต่จะว่าไป ก็อย่างที่พูดมาในข้างต้นว่า เราทุกคนก็ต่างมีตัวรู้ดีรู้ร้ายอยู่ในจิตใต้สำนึก แทบจะไม่ต้องพูด อันเบียดเบียนกัน บางทีมันก็เบียดมาจากเหตุผล ความจริงคนเราแท้ ๆ มันก็ไม่ใคร่จะเป็นภาระของใครหรอก ไม่รู้ว่าคิดเหมือนกันไหม ทุกตรงต่างก็อยากจะมีที่อยู่ที่ยืนของแต่ละคน เพราะจุดยืนในที่นี้ คนไม่ดีเองมันก็ต้องการ ไม่แพ้คนดี ๆ ที่บางทีแล้วเขาก็ต้องการแสดงจุดยืนเป็นตัวอย่างให้ได้เห็น

แต่อย่างว่า ดีจริง ๆ มันก็มีบริบทรูปร่างแบบหนึ่ง อันไม่ดีเองก็หนึ่ง ถ้าเราอยู่ในท่ามกลางสิ่งไหนแล้ว รู้สึกว่าไม่เร่งเร้า ร้อนรุ่ม สิ่งนั้นก็น่าจะนำพาความสุขมาให้ แต่ถ้าหากอยู่แล้ว รู้สึกมืดมน มืดครึ้ม ก็แทรกตัวออกมา ใช้สติปัญญาทบทวนดูให้ดีอีกที เชื่อว่าเราทุกคน ต่างมีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะบริหารจัดการความคิด ในระดับเบื้องต้น อันนี้คือผิวจริง ๆ ผิวอ่อน ๆ ที่เราน่าจะพอผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง

เราเองก็เชื่อมั่นหนักหนาว่าถ้าหากว่าผู้ที่มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ อ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้ น่าจะมีอะไรบางอย่างในตัวหนังสือ ทำหน้าที่สะกิดใจกันได้อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย