อ่านประวัติศาสตร์และการเมืองไทยผ่านหนังสือ 10 เล่ม - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

2 ปีที่ผ่านมา ผมเขียนแนะนำหนังสือน่าอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองไทย ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยทำเป็นธรรมเนียมส่วนตัวว่าจะแนะนำปีละ 10 เล่มด้วยกัน ปี 2566 ก็ขอสานต่อธรรมเนียมเดิม โดยปี 2565 นั้นถือเป็นปีที่มีความคึกคักอีกปีหนึ่งของแวดวงหนังสือแนวการเมืองและประวัติศาสตร์ มีหนังสือดี ๆ น่าตื่นเต้น เข้มข้น และเปิดหูเปิดตาให้เรามองการเมืองไทยในมุมมองใหม่อย่างกระจ่างแจ้งขึ้นมากมายหลายเล่มด้วยกัน แต่ผู้เขียนขอคัดมานำเสนอ 10 เล่มเด่น ดังต่อไปนี้

1.ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอชีวิตและการลี้ภัยในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์
ทามารา ลูส เขียน ไอดา อรุณวงศ์ แปล (อ่าน)

ขอเอ่ยถึงเล่มนี้เป็นเล่มแรก เพราะเป็นหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกกล่าวขวัญและเรียกเสียงชื่นชมมากที่สุดเล่มหนึ่งของปี หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาในโลกภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2016 ในชื่อ Bones Around My Neck : The Life and Exile of a Prince Provocateur โดยสำนักพิมพ์ Cornell University Press แต่เพิ่งมีโอกาสเผยโฉมในภาคไทยโดยสำนวนแปลอันเฉียบขาดของคุณไอดายิ่งทำให้หนังสือกึ่งชีวประวัติกึ่งประวัติศาสตร์สังคมการเมืองเล่มนี้อ่านออกรสเป็นอย่างยิ่ง ในแวดวงวิชาการด้านไทยศึกษานั้น อาจารย์ทามารา ลูส เป็นที่รู้จักอย่างดี เพราะหนังสือเรื่อง Subject Siam: Family, Law, and Colonial Modernity in Thailand ของเธอนั้นเป็นหนังสือวิชาการที่ผสานทฤษฎีและการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม และทำให้เราเข้าใจสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐโบราณมาสู่รัฐสมัยใหม่ในสภาวะการล่าอาณานิคมที่มาพร้อมกับระบบกฎหมาย วัฒนธรรม และวิธีคิดที่ลักลั่นและพลิกผัน

มาในเล่มใหม่นี้ ผู้เขียนยังพาเราท่องไปในประวัติศาสตร์สยามในยุคอาณานิคม และข้ามไปยังประเทศอื่นผ่านชีวิตของสมาชิกราชวงศ์ที่มีสีสันและโลดโผนที่สุดคนหนึ่งจนกระทั่งต้องลี้ภัยออกนอกราชอาณาจักรสยามที่ตนเองรักยิ่ง นั่นคือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หลายคนอาจจะรู้จักชีวิตของเจ้านายคนนี้จากการที่เขาเป็นผู้ถวายคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 แต่ผู้เขียนสืบค้นและนำเสนอให้เห็นเรื่องราวที่พ้นไปจากประวัติศาสตร์ราชสำนักแบบผิวเผิน หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เพียงบันทึกชีวิตของเจ้าคนหนึ่ง แต่คือบันทึกประวัติศาสตร์สยามช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่การเมืองสั่นไหวมากที่สุดยุคหนึ่ง ทั้งยังทำให้เราเห็นความซับซ้อนและผลกระทบที่การเมืองแบบอาณานิคมมีต่อชีวิตของประเทศและปัจเจกทั่วทั้งโลก โดยสยามก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เป็นหนังสือที่ไม่ควรพลาด

2.รัฐสยดสยอง (มติชน)

ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์

เล่มนี้มีความโดดเด่นตรงที่ใช้แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายในสังคมไทยมากนัก คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ของ ‘อารมณ์‘ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการทำกันมาอย่างยาวนานแล้วในต่างประเทศ ความรู้สึก ผู้เขียนนำแนวคิดนี้มาเจาะลึกชีวิตของผู้คนและรัฐสยามในยุคที่กำลังแปรเปลี่ยนจากรัฐจารีตมาเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งผู้นำรัฐในขณะนั้นมีความปรารถนาอยากให้ประเทศสยามถูกมองจากตะวันตกว่าเป็นรัฐที่ศิวิไลซ์ มิใช่รัฐป่าเถื่อนล้าหลัง การใช้แนวคิดใหม่ช่วยให้เรามองเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยสายตาที่ผิดแผกแตกต่างออกไป เช่น แนวคิดเรื่องความสยดสยองในกฎหมายตราสามดวง กลไกการจัดการซากศพและสิ่งปฏิกูล โรคระบาด และการลงทัณฑ์ราษฎรด้วยวิธีการที่ป่าเถื่อนผิดมนุษย์ เราได้เห็นบทบาทของกรมสุขาภิบาล โรงพยาบาล และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของรัฐในมุมมองใหม่ บทที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับผู้เขียนบทความคือ บทที่ว่าด้วยกลไกในระบบยุติธรรมของรัฐไทยในยุคจารีตที่เน้นการใช้ความรุนแรงโหดร้ายเพื่อควบคุมราษฎรให้สยบยอม เช่น การเฆี่ยน การตัดอวัยวะ การถอดเล็บ การนำศพนักโทษไปสับให้ละเอียดและโยนให้นกแร้งและสุนัขกิน ฯลฯ ซึ่งการลงทัณฑ์ที่ล้าหลังเหล่านี้ แม้จะถูกทยอยยกเลิกไปในสมัยที่รัฐสยามปรับตัวให้ศิวิไลซ์ขึ้น แต่การใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวยังคงอยู่ โดยเฉพาะโทษกบฏต่อแผ่นดิน ซึ่งถือว่าร้ายแรงกว่าโทษอื่น ๆ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้แล้วก็ชวนคิดถึงรัฐสยามในห้วงเวลาปัจจุบันไม่น้อย

3.พจนานุกรมสร้างชาติ: อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (มติชน)

มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง

ใครสนใจเรื่องการเมืองของภาษา ไม่ควรพลาดเล่มนี้ รอมานานแล้วที่จะมีคนศึกษาค้นคว้าเรื่องการเมืองในพจนานุกรม อย่างรอบด้าน เจาะลึก จนมาเจอหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนสำรวจและตีแผ่อุดมการณ์รัฐไทยที่สร้างและสืบสานผ่านเครื่องมืออย่างพจนานุกรม ซึ่งเป็นมากกว่าการอธิบายศัพท์ แต่คือ กลไกในการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ภาษา ตั้งแต่การสะกด การออกเสียง และการสอดแทรกคำนิยามให้ซึมเข้าไปในความคิดของประชาชน สิ่งที่งานชิ้นนี้ทำได้ดีคือ ชี้ให้เห็นว่าอุดมการณ์รัฐไทยก็มิได้หยุดนิ่ง หากมีความพยายามปรับเปลี่ยนความหมายของ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ให้สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญ มันมีการขับเคี่ยว และท้าทายอุดมการณ์รัฐไทยแบบทางการเสมอ ผ่านคำนิยามและการเมืองของภาษาจากคนกลุ่มต่าง ๆ กระทั่งการทำพจนานุกรมฉบับทางเลือกทั้งหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลวัตของการเมืองวัฒนธรรมในสังคมไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

4.เจ้า พ่อค้า ชาวนา นายทุน และเครือข่าย (สยามปริทัศน์)

ชัยพงษ์ สำเนียง

เล่มนี้ช่วยฉายภาพประวัติศาสตร์เศรษฐกิจล้านนาได้เป็นอย่างดี อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในคอลัมน์นี้ว่าหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจดี ๆ ในช่วงหลังนั้นมีน้อยลง จากที่เคยเฟื่องฟูอยู่ในยุคทศวรรษ 2520-2530 ไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่เจาะลึกลงไปยังระดับภูมิภาค เล่มนี้จึงมาช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ได้อย่างดี โดยเป็นการนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงไปช่วงยาวจากอดีตถึงปัจจุบัน เราได้เห็นความสำคัญของการขยายตัวของเส้นทางรถไฟที่นำมาสู่การขยายตัวของการค้าและการสะสมทุน การก่อตัวของนายทุน ผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง และตัวละครอื่น ๆที่ขับเคลื่อน และแปรเปลี่ยนเศรษฐกิจในภาคเหนืออย่างน่าสนใจและมีสีสัน

5.อุปถัมภ์ค้ำใคร การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง (มติชน)

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ 

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับงานวิชาการเกี่ยวกับการเมืองในท้องถิ่นไทย ชื่อของอาจารย์เวียงรัฐคือชื่อที่ไม่ต้องแนะนำกันมากความ เพราะเธอคือหนึ่งในผู้บุกเบิกการศึกษาการเมืองเรื่อง “เจ้าพ่อ” ในยุคทศวรรษ 2530 ที่การปรากฏตัวของนักธุรกิจกึ่งนักเลงในฐานะตัวแสดงทางการเมืองสำคัญกลุ่มใหม่ได้เข้ามาเขย่าและกำหนดชะตากรรมของการเมืองไทยอย่างน่าตื่นเต้นและชวนให้ต้องหาคำอธิบายกันอย่างจริงจัง หลังจากงานชิ้นบุกเบิกที่ทำให้เราเข้าใจการเมืองแบบเจ้าพ่อและเครือข่ายอย่างกระจ่างชัดในครานั้น อาจารย์เวียงรัฐยังทำงานวิจัยภาคสนามมาอย่างต่อเนื่องร่วม 2 ทศวรรษ ทำให้เธออยู่ในฐานะที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของการเมืองแบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่ง งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร 2557 จากมิติของระบบอุปถัมภ์ ใครที่สนใจเรื่องการเมือง “บ้านใหญ่” และข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายกับพรรคการเมือง รวมถึงสนใจว่าคณะรัฐประหารคสช. ใช้การเมืองแบบอุปถัมภ์อย่างไร นี่คือหนังสือที่ต้องอ่าน

6.More Than rural Textures of Thailand’s Agrarian Transformation (University of Hawaii Press)

Jonathan Rigg

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานวิชาการที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงในภาคชนบทของไทยกับวิกฤตความขัดแย้งการเมืองไทยร่วมสมัยถูกตีพิมพ์เผยแพร่หลายชิ้น ที่โดดเด่นก็ได้แก่งานของ Andrew Walker เรื่อง Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (แปลเป็นไทยแล้วในชื่อ ชาวนาการเมือง โดยฟ้าเดียวกัน) และของ Chareles Keyes เรื่อง Finding Their Voice: Northeastern Villagers and the Thai State (Silkworm Books) งานชิ้นนี้ของ Rigg คือการศึกษาสำคัญที่เข้ามาสมทบส่วนและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานที่สมบูรณ์ ลึก และรอบด้านที่สุด ข้อถกเถียงและข้อค้นพบในหนังสือเล่มหนึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาภาคสนามอย่างต่อเนื่องของผู้เขียน ในพื้นที่สิบกว่าหมู่บ้านครอบคลุมถึง 3 ภูมิภาค ภาคชนบทของไทยซึ่งเป็นเป้าหมายของการ “พัฒนา” อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ได้เปลี่ยนรูปแบบของครอบครัว วิถีชีวิตและสำนึกของผู้คน ความสัมพันธ์ทางสังคมไปอย่างมหาศาลในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา งานชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นประเด็นอัตลักษณ์ทางชนชั้นและความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นที่แปรเปลี่ยนอันเนื่องมาจากพลวัตของสังคมชนบทและภาคเกษตรที่ไม่หยุดนิ่ง ในแง่หนึ่งมันชวนให้เราเห็นอย่างเด่นชัดว่าหากอยากเข้าใจความพลิกผันของการเมืองไทย ก็ต้องเพ่งพินิจไปที่ความเปลี่ยนแปลงในภาคชนบทของไทยให้ถ่องแท้ เป็นงานที่ควรแปลเป็นไทยอย่างยิ่ง

7.ทุนนิยมเจ้า (ฟ้าเดียวกัน)

ปวงชน อุนจะนำ

คอลัมน์นี้ เคยแนะนำถึงเล่มนี้ไปแล้ว สมัยที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand (University of Wisconsin Press, 2020) จึงไม่อยากกล่าวซ้ำมากจนเกินไปถึงความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนักวิชาการชั้นนำด้านไทยศึกษาบางท่านกล่าวยกย่องให้เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการเมืองไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่ได้รับการันตีจากรางวัลอันทรงเกียรติอย่าง Henry J. Benda Award (ซึ่งมอบให้กับหนังสือวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชย  ฉบับภาษาไทยนี้ ต้องถือว่าดีกว่าภาษาอังกฤษเสียอีก เพราะมีการขยายความเพิ่มเติมรายละเอียดอย่างสมบูรณ์ เป็นงานที่หนักแน่นทั้งในเชิงแนวคิดทฤษฎีและข้อมูล โดยอธิบายถึงวิวัฒนาการของการแปรสภาพของสถาบันกษัตริย์ของไทยจากสถาบันจารีตตามแบบศักดินาไปเป็นสถาบันกษัตริย์แบบกระฎุมพี งานชิ้นนี้ตอบคำถามสำคัญในเรื่องการปรับเปลี่ยนคุณค่า การแสวงหาการสนับสนุนจากกระฎุมพีและการเมืองมวลชน รวมถึงการสะสมทุนและแสวงหากำไรในตลาด การสร้างเครือข่ายธุรกิจที่มาพร้อมกับการครองอำนาจนำทางการเมืองของราชสำนัก หากงานวิชาการที่ดี คืองานที่ช่วยยกระดับบทสนทนาในสังคมให้มีคุณภาพมากขึ้น งานชิ้นนี้ก็เข้าข่ายนั้น

8.ราษฎรปฏิวัติ (มติชน)

ณัฐพล ใจจริง

หนังสือเล่มนี้รับประกันด้วยชื่อคนเขียน อาจารย์ณัฐพล ใจจริง คือ หนึ่งในนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผลิตงานอย่างสม่ำเสมอและหนักแน่นที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน เป็นคนที่อ่านเอกสารประวัติศาสตร์เป็นกิจวัตรและเสาะแสวงหาข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในเล่มใหม่นี้ ผู้เขียนยังคงรักษาคุณภาพได้เหมือนเคย โดยพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจความคิด ความฝัน และอุดมการณ์ของนักปฏิวัติในอดีตกาลตั้งแต่รุ่นกบฏ รศ.130 สมาชิกคณะราษฎรหลายคนที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และความคิดของเยาวชนไทยในยุคสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 น่าชมเชยตรงที่มีการใช้เอกสารเรียงความ วารสาร นิตยสาร และหนังสือหายากในสมัยอดีตมาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้คนให้ผู้อ่านได้สัมผัสแบบจับต้องได้ เล่มนี้ช่วยสร้างสะพานเชื่อมในทางจินตนาการระหว่างการเมืองของอดีตกับปัจจุบันได้อย่างทรงพลังและงดงาม

9.Amnesia: A History of Democratic Idealism in Modern Thailand (State University of New York Press).

 Arjun Subrahmanyan

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปลายปี 2564 แต่ผู้เขียนขอจัดอยู่ในรายการแนะนำด้วยเพราะกว่าจะเผยแพร่ถึงมือผู้อ่านก็ล่วงเข้าปี 2565 แล้ว นี่คือหนังสือที่ควรอ่านคู่กับ ราษฎรปฏิวัติ ของณัฐพล ใจจริง เพราะมันคือบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงตอนเดียวกัน และต่างกล่าวถึงอุดมคติและความใฝ่ฝันของสามัญชนในการสร้างสังคมที่งดงามหลังการปฏิวัติ 2475 ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้ด้วยอคติส่วนตัวเล็กน้อย เพราะรู้จักกับอาจารย์อรชุน ผู้เขียนงานชิ้นนี้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้วยกัน ได้เห็นเบื้องหลังการทำงานค้นคว้าเอกสารประวัติศาสตร์อย่างอุตสาหะของเขาด้วยความชื่นชม แต่เหนือสิ่งอื่นใด หนังสือเล่มนี้ช่วยรื้อฟื้นและให้ที่ทางกับสามัญชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างน่าชื่นชม หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เน้นไปที่ผู้นำ และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ให้แต่ภาพที่สวยงามของการเมืองหลัง 2475 ตรงกันข้ามมันให้น้ำหนักกับคนธรรมดาสามัญ และสำรวจตรวจสอบข้อจำกัดของการปฏิวัติ เรื่องราวของครูรุ่นใหม่ นักการเมืองที่เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้นำแรงงาน ผู้หญิง ที่ล้วนได้แรงบันดาลใจจากคลื่นการปฏิวัติและลุกขึ้นมาลงแรงร่วมกันพยายามก่อร่างสร้างสังคมใหม่ตามอุดมคติที่พวกเขาปรารถนา แน่นอนว่าเรื่องราวนี้ไม่ใช่นิยายโรแมนติก เพราะมันคือประวัติศาสตร์ของผู้คนที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว แม้หนังสือจะตั้งชื่อว่า “ความจำเสื่อม” เพื่อสะท้อนถึงกระบวนการที่รัฐไทยและกลุ่มอนุรักษ์นิยม-รอยัลลิสต์ลบเลือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสามัญชนในอดีต แต่เนื้อหาในหนังสือกลับทำให้เราเห็นความหวัง เพราะแม้การต่อสู้ในอดีตหลายช่วงหลายตอนจะล้มเหลว แต่อุดมคติในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้คนไม่เคยหายไปจากสังคมไทย

10.There’s Always Spring: เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน (iLaw)

iLaw

ปิดท้ายด้วยหนังสือเล่มนี้จาก iLaw และทีม Mob Data Thailand ซึ่งจัดทำอย่างสวยงามและตั้งใจ ลำพังแค่รูปประกอบในหนังสือเล่มนี้ ก็มีคุณค่าแก่การหามาอ่านและครอบครองแล้ว และหากพิเคราะห์ภาพถ่ายเหล่านั้นให้ละเอียด ผู้อ่านก็อาจเห็นเรื่องราวและความจริงมากมายที่สะท้อนผ่านรูปเหล่านั้น หากปี 2563-2564 คือปีแห่งความเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวและประชาชนผู้อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ปี 2565 ก็อาจถูกเรียกว่าเป็นปีแห่งความสงบนิ่ง แต่มันมิใช่ความสงบที่สยบยอม แต่เป็นความนิ่งที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวในท่วงท่ารูปแบบใหม่ หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการจับอุณหภูมิทางสังคมที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่เหมาะแก่การอ่านในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ เพื่อย้อนกลับไปทบทวนว่า เราเดินผ่านอะไรมาร่วมกันบ้าง