เพราะเป็นแรงงานข้ามชาติ เราล้วนเปราะบางอย่างไร้พรมแดน - Decode
Reading Time: 4 minutes

เมื่อแรงงานข้ามชาติ ถูกลดทอนความสำคัญ ทั้งในแง่ของค่าแรง การคุ้มครองทางกฎหมาย ไปจนถึงการตระหนักถึงการมีอยู่ของพวกเขา 

มากไปกว่านั้น เราอาจไม่เคยรับรู้เลยว่า ไม่เพียงแต่ประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เราทุกคนเองก็อาจเป็นหนึ่งในแรงงานข้ามชาติ เมื่อการโยกย้ายสู่ประเทศอื่นคือความหวังที่ดีกว่า

ฟังเสียงของแรงงานข้ามชาติ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่มาข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทย คนไทยที่ไปแสวงหารายได้จากช่วงว่างฤดูเก็บเกี่ยว และคนไทยที่เป็นแรงงานนอกระบบ จากกิจกรรม “คนทำงานข้ามชาติ: เราทุกคนล้วนเปราะบางอย่างไร้พรมแดน” จัดโดย สหภาพคนทำงาน และ Migrant Working Group (MWG) ในวันแรงงานข้ามชาติสากล(18 ธันวาคม) ที่ผ่านมา

เพราะความเปราะบางที่ว่า ได้เกิดขึ้นแล้วกับพวกเราทุกคน

เป็นแรงงาน ที่ไม่ถูกนับเป็นแรงงาน

“ข้ามมาที่ไทยมันดีกว่าอยู่แล้ว อย่างน้อยที่นี่ก็มีงานให้ทำ” คำบอกเล่าของ สู่เขื่อน แรงงานชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร ถึงสาเหตุที่เลือกโยกย้ายจากบ้านเกิดมาทำมาหากินที่นี่

แรงงานชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ส่วนใหญ่มีทักษะการสื่อสารภาษาไทยในระดับเบื้องต้น จากการใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้ดูเป็น คนแปลก มากไปกว่านี้ในสังคม

แรงงานชาวกัมพูชา ถูกจัดอยู่ในหมวดของแรงงานชาติอื่น ๆ ตามสถิติแรงงานต่างด้าว ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 55,571 คน ซึ่งทำงานด้านงานกรรมกรมากที่สุด สู่เขื่อนตั้งคำถามว่า เขานับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มาทำงาน แล้วถ้าเป็นการรับเรื่องร้องเรียน พวกเขาเคยได้นับหรือไม่

คนงานกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ทำงานและอาศัยอยู่ในซอยกีบหมู ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีผู้ใช้แรงงานอิสระ โดยเฉพาะกรรมกรก่อสร้าง มารวมตัวกันมากที่สุดในเขตเมืองหลวง ต่างประสบพบเจอกับปัญหาเหมือนกันหมด คือการถูกเอารัดเอาเปรียบ ถึงแม้จะเข้ามาอย่างถูกกฎหมายผ่าน ตม. ก็ตาม แต่นั่นใช่ว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับแรงงานชาวไทยหรือชาติอื่น ๆ

เมื่อพวกเขาได้รับปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐมักจะโยนปัญหากันไปมา แล้วท้ายที่สุดปัญหาของพวกเขาจะไม่ได้รับการแก้ไข บางครั้งเป็นการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม การยกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

การเข้ามาทำงานของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่เพียงแค่ด่านแรกก็ดูเหมือนจะเกิดกระบวนการที่ทำให้พวกเขา จะไม่สามารถเป็นแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมายได้แล้ว

ช่องโหว่ของการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานข้ามชาติ เริ่มต้นตั้งแต่พ้นเขตแดนระหว่างประเทศ แรงงานชาวกัมพูชาหลายคนเล่าว่า บางครั้งนายหน้าที่พาเข้ามาทำงานจะเป็นคนเก็บเงินสำหรับการทำเอกสาร แต่เกือบทุกครั้งที่การเข้าเมืองของพวกเขา กลับมีเม็ดเงินที่ต้องจ่ายมากกว่าปกติ เป็นค่าผ่านทางที่แรงงานหลายคนนิยามว่า ‘เขารู้กัน’

เมื่อเขตชายแดนที่ห่างไกลจากเมืองหลวง ในวันที่รัฐไทยยังไปไม่ถึงการกระจายอำนาจ ผสมผสานกับการตระหนักถึงความสำคัญและการมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติ ช่องโหว่นี้จึงเปรียบเสมือนหลุมลึก ที่ส่งเสียงดังแค่ไหน ก็ไม่อาจไปถึงหอคอยงาช้างได้ และกลายเป็นการคอร์รัปชั่นที่ยังไม่แก้ไขเสียที

สู่เขื่อน เล่าว่า บางครั้งเขาจะโดนเรียกเก็บเงินระหว่างเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นเงินที่มากกว่าเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะค่าวีซ่า ที่ปกติจะจ่ายอยู่ที่ 2,900 บาท แต่บางครั้งเมื่อกลับไปที่ประเทศบ้านเกิดและกลับเข้ามาอีกรอบ ก็โดนเรียกจ่ายในจำนวนเงินที่มากขึ้นเกือบเท่าตัว หรือบางครั้งอาจสูงถึง 12,000 บาท

หลายครั้งที่นายหน้าที่พาพวกเขามาเป็นคนเรียกเก็บเงิน แต่บ่อยครั้ง ที่แรงงานชาวกัมพูชาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยเองต่างหากที่เป็นคนขูดรีดพวกเขาเสียเอง

ในขณะที่ รายได้ของแรงงานข้ามชาติในอัตรารายวัน มีราคาอยู่ที่ 353 บาท และโอที 44 บาท ต่อชั่วโมง แต่ความเป็นจริง เกิดชั่วโมงการทำงานฟรีจำนวนมาก ที่พวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างโดยเฉพาะค่าโอที แรงงานหลายคนต้องทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยปราศจากเงินค่าล่วงเวลา

ไปจนถึงการละเมิดทางกฎหมายทั้งในเรื่องสิทธิแรงงานและการดูแล เยียวยาต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงานไทย เมื่อการเข้ามาทำงานในประเทศไทยกลายเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องยินยอมเงื่อนไขหลายประการ เพียงเพื่อจะได้เม็ดเงินส่งกลับไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิด แต่เมื่อหักลบกับสิ่งที่พบเจอ กลายเป็นว่าการมาค้าแรงข้ามพรมแดน กลับบีบรัดพวกเขาทั้งทางตรงและทางอ้อม

“พวกเราหลายคนไม่รู้เรื่องประกันสังคมเลย นั่นเป็นทางเดียวที่ถ้าหากเราเจ็บป่วย หรือครอบครัวเจ็บป่วยเรายังพอหาทางได้ ไปจนถึงเงินบำนาญ รายละเอียดพวกนี้เราถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้เลย พอไปถึงทางรัฐ รัฐก็โยนกันไปมา พอมาถามนายจ้าง นายจ้างก็ไม่ทำให้” สู่เขื่อนกล่าว

ปัญหาของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะของชาวกัมพูชาที่ได้มาพูดคุยในวันนี้ มีอุปสรรคเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่จะมี นายหน้า-ตม.-กระทรวงแรงงาน คำถามสำคัญคือในสามเหลี่ยมนี้มี 2 มุมที่เป็นหน่วยงานของรัฐและดูแลหน้าที่ตรงนี้โดยตรง แต่การเอารัดเอาเปรียบกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานฝีมือในการสร้างรายได้จำนวนมหาศาลในประเทศไทย

นำไปสู่การขบคิดเรื่องใหญ่กว่านั้น สิ่งที่แรงงานชาวกัมพูชาเจออาจหมายประเทศไทย กำลังละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษชนมาโดยตลอดหรือเปล่า

ไม่จ่ายส่วย เดี๋ยวจบไม่สวยนะน้อง

แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาหลายคน นอกเหนือจากจะไม่สามารถเข้าถึงการได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานแล้ว ทุก ๆ คนต่างล้วนเคยเป็นผู้ที่ถูกกฎหมายกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะจาก ผู้พิทักษ์กฎหมาย

เหตุการณ์ที่ถูกนำมาพูดถึง เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา คือเหตุการณ์ทลายแรงงานต่างด้าวในซอยกีบหมู เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมากที่ตกเป็นผู้ต้องหาในครั้งนี้

แรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมากจากการทลายโดยกระทรวงแรงงานในครั้งนั้น ทำให้พวกเขาถูกทำให้กลายเป็น แรงงานต่างด้าวเถื่อน ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบไม่ถูกวิธี แต่ใช่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะเข้ามาทำงานแบบไม่ถูกวิธี แต่กระบวนการซึ่งผ่านนายหน้าของพวกเขาเหล่านี้ ถูกทำให้ไม่ถูกวิธีต่างหาก

“เราหาหลักฐานยืนยันไม่ได้ว่าเราเข้ามาทำงานถูกวิธี พาสปอร์ตเราก็อยู่ที่นายจ้าง เขาเอาไปแล้วบอกว่าจะเอาเป็นหลักประกัน แต่พอเราโดนจับแล้วไม่เห็นจะมาช่วยเราเลย” เสียงจากจีวอน แรงงานชาวกัมพูชาที่ประสบปัญหานี้

จากคำบอกเล่าของกลุ่มแรงงาน หลายคนพบเจอกับเหตุการณ์เดียวกัน เมื่อหาหลักฐานยืนยันไม่ได้ว่าพวกเขาเข้ามาทำงานในประเทศนี้อย่างถูกกฎหมาย หากทำให้ถูกต้องคือการส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่พวกเขาถูกจับเข้าไปไว้ที่สน. และถูกบังคับให้จ่ายเงินเป็นจำนวน 3,000 บาทต่อคน เพื่อที่จะทำให้เรื่องเงียบและสามารถประกอบอาชีพต่อได้ที่นี่

“เวลาเรื่องไปจบที่ สน. มันต้องจบด้วยเงินตลอด แล้วแต่ละครั้งเขาเรียกคนละ 3,000-5,000 บาท ถามจริง ๆ ว่าแรงงานอย่างพวกเราที่ได้เงินเป็นรายวันจะเอาจากที่ไหนไปจ่าย แค่ลำพังให้พอเหลือกินก็ไม่เหลือแล้ว อย่าว่าแต่เหลือเก็บเลย” จีวอน กล่าว

หลายครั้งที่แรงงานเหล่านี้ถูกร้องเรียนละกลั่นแกล้ง จีวอนเล่าเสริมว่า มีครั้งหนึ่งที่พวกเขาเคยโดนจับเพราะแรงงานชาวไทยไปแจ้งตำรวจว่า พวกเขาแย่งงานแรงงานชาวไทย เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีแรงงานชาวกัมพูชาถูกนำตัวไป สน.ทั้งหมด 140 คน และถูกเรียกเงินไปคนละจำนวนหลายพันบาท

ในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 สหภาพคนทำงาน และ Migrant Working Group (MWG) ได้ยื่นหนังสือไปถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องข้อเสนอที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความเป็นธรรมแก่แรงงานกลุ่มนี้มากขึ้น ได้แก่

  • 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเร่งรัดพิจารณาการดำเนินคดีกับบริษัทนายหน้าที่ฉ้อโกงบุคคลที่ต้องการหางานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 344 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา 
  • 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีกลไกการคุ้มครองแรงงาน ในฐานะพยาน ที่ชัดเจน ในกรณีที่แรงงานออกมาให้ข้อมูลการเรียกเก็บผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ “ส่วย” และการใช้อำนาจนอกเหนือที่กฎหมายกำหนดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานและพื้นที่ต่าง ๆ 
  • 3. ให้ดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างที่มีการจ้างงานคนต่างด้าวผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลคันนายาว ไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 รวมถึงการตรวจสอบการเก็บส่วยในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

เมื่อสืบสาวหาความถึงต้นตอของปัญหา เราจะพบว่า ไม่ใช่ที่ไหนไกล แต่ปัญหาเกิดจากระบบของประเทศไทยเอง ทั้งระบบราชการ ระบบตรวจคนเข้าเมือง และระบบตำรวจ หลายครั้งที่ระบบเหล่านี้ทำให้แรงงานข้ามชาติ กลายเป็นแรงงานต่างด้าวเถื่อน ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเข้ามาตามตรอกออกตามประตูของระบบประเทศไทยทั้งหมด

จำนวนเงินหลักพัน ทั้งในชื่อของ ‘ส่วย’ หรือ ‘ค่าปิดปาก’ บางทีอาจเป็นจำนวนเงินที่ต้องแลกมาซึ่งการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ที่เม็ดเงินแลกมาซึ่งอายุขัยของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้

ระบบนายหน้า ปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ

ปัญหานายหน้า ถือเป็นปัญหาที่แรงงานทุกคนประสบพบเจอมา ไม่ใช่แต่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทย แต่แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานที่ต่างชาติ ก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน

วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 กลุ่มคนงานที่เดินทางไปเก็บสตรอเบอรีฟาร์มและเก็บผลไม้ป่าในฤดูกาลเบอร์รีในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมต่อประธานกรรมาธิการการแรงงาน นายสุเทพ อู่อ้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เพื่อเยียวยาและบรรเทา พร้อมเร่งจัดการปัญหานี้ ที่มีผู้เสียหายซ้ำซ้อนหลายปี

ไผ่ แรงงานชาวไทยที่ลงชื่อไปทำงานเก็บเบอร์รีป่าที่ประเทศสวีเดน เล่าถึงปัญหาที่พบเจอ เริ่มตั้งแต่ข้าวปลาอาหาร ไปจนถึงที่อยู่ สวัสดิการที่ไม่เพียงพอหรือต่างจากที่นายหน้าเคยให้คำสัญญาไว้ นำไปสู่การสิ้นเนื้อประดาตัวและเป็นหนี้สิ้นเพิ่มจากความต้องการปลดหนี้ในการไปค้าแรงงานที่ต่างประเทศหนนี้

“ข้าวจาน ไข่สองใบ นี่เป็นเรื่องจริงนะครับ เราต้องอยู่กันแบบนั้นกันหลายเดือน จากที่บอกว่าอาหารฟรีทุกมื้อ มีข้าวมียาเลี้ยงดู สุดท้ายพวกผมจ่ายกันเองหมดเลย เก็บถึงขนาดข้าวทุกเม็ดที่พวกผมกิน”

เป็นอีกปีที่แรงงานเก็บเบอร์รีป่าในประเทศฟินแลนด์และสวีเดน มาเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงค่าแรงและโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง แรงงานชาวไทยจำนวนมาก ต้องทำงานวันละ 18 ชั่วโมง ในการเก็บเบอร์รีให้ได้ตามยอด ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่ไม่คุ้นชิน มีหลายคนล้มป่วยไป แต่ยังต้องพยุงร่างกายไปทำงาน

“อย่างค่ายที่ผมอยู่ เขาไปกันผัวเมียนะ เท่าที่คุยกันคืออยากเก็บเงินให้มาปลดหนี้ ให้ลูกได้กินได้ใช้ เขาเก็บได้ประมาณ 5 ตัน ในระยะเวลา 2 เดือนกว่า ๆ นะ แต่ได้เงินเพียง 20,000 กว่าบาท ตอนที่นายหน้ามาบอกเราบอกว่าได้เงินแสน นี่ขนาดเก็บได้ 5 ตันยังได้แค่ 20,000 กว่าบาท พวกผมก็เป็นหนี้เลยนะสิ” หัสดี แรงงานชาวไทยที่ไปค้าแรงเก็บเบอร์รีที่สวีเดน กล่าว

ปัญหาของนายหน้าจากกลุ่มแรงงานเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์และสวีเดน คือการโฆษณาเกินจริง รวมไปถึงการจ่ายเงินที่ไม่ตรงกับยอดของเบอร์รีที่เก็บได้ จากเงินแสนที่หวัง กลายเป็นสร้างภาระหนี้เพิ่ม ไผ่ยังกล่าวต่อว่า ในขณะที่หนี้ของพวกเขามีดอกเบี้ยขึ้นเรื่อย ๆ แต่เงินค่าค้างชำระที่นายหน้าต้องจ่ายให้พวกเขา กลับไม่เพิ่มขึ้นเลย

วิธีการที่นายหน้าใช้กับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ คือการบังคับเซ็นสัญญาที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสัญญาอะไร บางครั้งก็นำเอาลายเซ็นของเราไปพรินต์หรือเขียนทับลงบนสัญญาฉบับอื่น ๆ ในด้านของกลุ่มแรงงานเก็บเบอร์รีป่าที่ฟินแลนด์และสวีเดน คือการบังคับสร้างหนี้ นับตั้งแต่วันที่เซ็นสัญญาหากคุณไปหรือไม่ไปก็ตาม เท่ากับคุณติดเงินนายหน้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 90,000 บาท

ในขณะที่กลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา จีวอนกล่าวว่า มีการใช้ลายเซ็นเพื่อที่จะทำเอกสารต่าง ๆ โดยนายจ้างอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการจัดการ และบางครั้งอาจไม่ได้รับความยินยอมด้วยซ้ำ มีเพื่อนของจีวอนหลายคน ที่ถูกบังคับให้ลาออก โดยในเอกสารการลาออกนั้นปรากฎลายเซ็นของเพื่อนเขาไปแล้วเป็นการยินยอมว่าลาออกเอง ทำให้นายจ้างหรือนายหน้าไม่จำเป็นต้องชดเชยเงินแต่อย่างใด

แรงงานกลุ่มนี้ ถือเป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างรายวัน หรือบางครั้งอาจไม่ได้ค่าจ้างด้วยซ้ำ การมีงานให้ทำถือเป็นทางรอดเดียว ที่จะทำให้พวกเขาได้ประคับประคองชีวิตท่ามกลางพิษเศรษฐกิจที่มากขึ้นทุกปีได้ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาถูกมัดมือชกในการเข้าสู่กระบวนการหลอกหลวงของนายหน้าหลากหลายบริษัท เพื่อที่จะมาใช้แรงงานฟรี หนำซ้ำยังถูกเก็บเงินเพิ่มด้วย

ซึ่งต้องกลับไปถามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในด้านนี้มากที่สุดอย่าง กรมการจัดหางานและกระทรวงแรงงาน เหตุการณ์ต่าง ๆ นี้ไม่ใช่เกิดเพียงครั้งหรือ 2 ครั้ง แต่มันเกิดมาทุกปี ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องและยื่นข้อเสนอทุกปีเช่นเดียวกัน

นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าไม่ใช่แค่คนต่างชาติที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศเราเท่านั้นที่โดนเอารัดเอาเปรียบ เพราะขนาดคนไทยด้วยกันเอง ยังถูกขูดรีดจนสิ้นเนื้อประดาตัวไปเลยก็มี

ทลายความเปราะบางไร้พรมแดน อ้าแขนรับ ‘เราคือแรงงานเหมือนกัน’

สิ่งสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่การตระหนักถึงวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี หรือวันแรงงานข้ามชาติสากล ในขณะเดียวกัน แรงงานข้ามชาติทุกคนต่างพยายามมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการขูดรีดและข้อจำกัดต่าง ๆ ในทุก ๆ วัน

โบ้ แรงงานนอกระบบชาวไทย ประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้าง กล่าวว่า ถึงจะเข้ามาร่วมกิจกรรมและอยู่ในสหภาพแรงงานไม่นาน ทว่า เขาได้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของกลุ่มแรงงานในการรวมตัวของพวกเราทุกคน

โบ้เป็นอีกคนหนึ่งที่หาเช้ากินค่ำ หากวันไหนมีงานก็ได้กิน หากวันไหนหัวหน้าไม่โทรตามไปทำงานหรือหากงานไม่เข้า เงินเก็บที่มีเหลือน้อยนิด ก็ค่อย ๆ หมดลงไป

“เงิน 300 กว่าบาทมันไม่พอกินหรอก แล้วยิ่งค่าครองชีพในกรุงเทพฯ มันเพียงพอจริง ๆ หรือ อย่าว่าแต่พอเก็บเลย มันไม่พอกิน ทั้ง ๆ ที่เราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกัน เราอยากพอมีเงินเก็บให้ได้สร้างเนื้อสร้างตัวตอนแก่ งานอย่างนี้มันทำได้ไม่ถึงอายุเท่าไหร่หรอก สังขารคุณก็ไม่ไหวแล้ว”

ประเด็นร้อนในช่วงเวลาเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมาหลังจากนโยบายขึ้นค่าแรงของพรรคเพื่อไทย ได้จุดกระแสชาวโซเชียล ที่เสียงแตกออกเป็นหลายด้าน ในฐานะแรงงานที่มีผลโดยตรงต่อค่าแรงรายวัน โบ้คิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร

“ว่ากันตามตรง ต่อให้ 600 มันก็ยังใช้ชีวิตได้ยากนะ ถ้าไปถึงตรงนั้นได้มันก็ดี อย่างน้อยเพดานค่าแรงตรงนี้จะเขยิบไปเรื่อย ๆ เราหวังว่าเป็นอย่างนั้น ในทางปฏิบัติ การขึ้นค่าแรงก็ไม่ใช่ว่าทำได้ง่าย แต่อย่าลืมนะว่าคนอย่างพวกผมไม่ได้ทำงานทุกวัน 600 บาทที่ว่าอาจหมายถึงเดือนนั้นผมได้งานแค่ 15 วัน ก็เป็นเงิน 9,000 กว่า ๆ แล้วคุณนึกภาพวันนี้ที่ได้แค่ 300 บาทสิ มันไม่มีทางอยู่ได้เลย”

ความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ นอกจากปัจจัยทางด้านการเงินที่ไม่ได้เอื้อกับพวกเขานัก หลายครั้ง ภาระหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องแบกรับอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า

สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวถึงช่วงเวลาที่ตนเองติดคดีมาตรา 112 และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่เขาเจอในนั้น แต่มีอยู่กรณีหนึ่งที่เขาจำได้และเล่าถึงปัญหาที่สะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทยได้ชัดเจน

“เป็นพ่อลูกคู่หนึ่ง เราเห็นแล้วว่าเด็กคนนี้ทำไมถึงเข้ามาอยู่ในคุกได้ ดูยังไงก็อายุไม่ถึงแน่ ๆ แต่ก็คุยไปคุยมาจนรู้ว่า พ่อเขาต้องโกหกอายุเพื่อให้ลูกชายย้ายเข้ามาอยู่ข้างในด้วยกัน เพราะถ้าลูกอยู่ข้างนอกเขาจะไม่มีใครดูแลเลย”

“มันเป็นปัญหาของรัฐไทยมาก ๆ กับการจัดการอำนาจที่มองไม่เห็นได้ไม่ดี หรือบางครั้งเห็นแล้วด้วยซ้ำแต่ไม่จัดการ เราจะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐเอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ยอมจัดการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ตรง ๆ” สมยศกล่าว

เขาทิ้งท้ายว่า ทำอย่างไรให้คนเท่ากัน ทำอย่างไรให้พี่น้องแรงงานของเราอยู่ดีกินดีได้ ทางออกหนึ่งคือการที่เราต้องร่วมมือกัน อำนาจต่อรองของคน ๆ เดียวอาจไม่มากพอ แต่ถ้าของเรา 10 คน 100 คน 10,000 คน อย่างน้อยฟันเฟืองเล็ก ๆ เหล่านี้ก็ไม่ต่างจากโรงงานหนึ่งแน่นอน

วันที่ 20 ธันวาคม 2565 สหภาพคนทำงาน และ Migrant Working Group (MWG) ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกร้องข้อเสนอ ถึงปัญหาหลักที่แรงงานข้ามชาติพบเจอ เป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องจัดการและสร้างความเป็นธรรมให้กับแรงงานข้ามชาติทุกคน

“สุดท้ายนี้ สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติขอเรียกร้องให้เราทุกคนตั้งแต่ในภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงเพื่อนประชาชนทุกหนแห่ง ใช้หลักการสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง มิใช่ความเชื่อในลัทธิชาตินิยม มองคนให้เท่ากับคนและสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่าเราล้วนต่างคือพี่น้องในวังวนการดิ้นรนทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพเฉกเช่นเดียวกัน และเราจะไม่มีวันหลุดพ้นจากปัญหาเดิม ๆ หากเราไม่ผนึกกำลังแล้วร่วมมือกันแก้ปัญหาของคน 99% ไปด้วยกัน เพื่อที่สักวันหนึ่งเส้นพรมแดนจะต้องไม่ขวางกั้นความมั่นคงในปากท้องของคนทำงาน” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์แรงงานในวันแรงงานข้ามชาติสากล

อ้างอิง

อ่านแถลงการณ์แรงงานในวันแรงงานข้ามชาติสากล

สถิติจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565