สวัสดิการ(HPV)ล่องหน หลายพันคนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง - Decode
Reading Time: 2 minutes

หลายคนอาจจะคิดว่า มะเร็งปากมดลูก คือภาระและความเสี่ยงที่ผู้หญิงต้องแบกรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมยังเป็นมะเร็งเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ที่ทำให้สตรีไทยเสียชีวิตจากวันละกว่า 8-10 ราย แต่นั่นถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

หนึ่ง เพราะความเสี่ยงเหล่านั้นสามารถเลี่ยงได้

สอง เพราะความเสี่ยงเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้มีเพศกำเนิดหญิงเพียงเพศเดียว

มะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีการผลิตวัคซีนที่สามารถป้องกันได้แล้วก็ตาม ด้านภาครัฐเองก็มีความพยายามผลักดันให้การฉีดวัคซีนป้องกันเป็นสวัสดิการรัฐสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แต่กลับถูกระงับหรือทำให้ล่องหนไปจากสารระบบเมื่อพบกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อใหม่อย่างโควิด-19 จนไม่อาจมีใครยืนยันได้ว่าสวัสดิการนั้นยังมีอยู่จริงหรือไม่กันแน่

De/code จึงได้ยกหูโทรศัพท์หา ศาสตราจารย์ น.พ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ กรกนก คำตา นักกิจกรรมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และความเป็นธรรมทางเพศ เพื่อมาไขรหัสการเข้าถึงวัคซีนของชาวไทย และตั้งคำถามร่วมกันว่า ในขณะที่วันเวลาล่วงเลยผ่านไปแต่ทำไมเรายังแก้ไขปัญหานี้กันไม่ได้เสียที

แรกพบสบตา ทำความรู้จัก HPV

“มะเร็งปากมดลูกถือเป็นมะเร็งที่จัดการได้ง่ายที่สุด และรักษาได้หายขาดถ้าเราเจอในระยะเริ่มแรก แต่ทุกปียังมีผู้หญิงไทยตายจากมะเร็งปากมดลูก คุณว่ามันน่าเสียใจไหมครับ” หมอภิเศก ว่า

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า โรคมะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เชื้อ Human Papilloma Virus หรือที่รู้จักกันในชื่อ เชื้อ HPV ที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ เช่น มะเร็งทวารหนัก หูดอวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่ ทั้งในเพศชายและหญิง โดยเชื้อ HPV จะใช้เวลากว่า 10 ปีในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ (ในกรณีที่เชื้อไม่หายไปเอง) เรียกว่า “ระยะก่อนมะเร็ง” 

อย่างไรก็ตามด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ นักวิทยาศาตร์สามารถพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกัน HPV ขึ้นมาได้ หมอภิเศกจึงอธิบายว่าทางออกของปัญหามะเร็งปากมดลูกนั้นมีอยู่ 2 ทางนั่นก็คือ

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV โดยวัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดให้กับเด็กผู้หญิงอายุ 9 – 14 ปี หรือกับผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน อย่างไรก็ตามจากการวิจัยพบว่าการฉีดวัคซีนในเด็กเพียง 2 โดส ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอ ต่างจากวัยผู้ใหญ่ที่ต้องฉีด 3 โดส เพื่อให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้
  2. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 30-60 ปี เพราะแม้จะติดเชื้อ HPV แต่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ติดเชื้อก็จะสามารถหายขาดได้เกือบ 100%

ทว่าการเข้าถึงวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สามารถทำได้ง่ายอย่างที่ทางการแพทย์อยากให้เป็นจริงหรือไม่ หากพิจารณาจากภาระและปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ อย่างรายได้กับค่าฉีดวัคซีน ในส่วนนี้ กนกพร คำตา หนึ่งในผู้เรียกร้องให้ภาครัฐจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมให้กับผู้ที่ต้องการฉีดทุกคน ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้เราฟัง

รู้ทันในวันที่สาย

“เราเข้ารับการตรวจหาเซลล์ที่ผิดปรกติ ผลออกมาคือเราติดเชื้อ HPV ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน เราขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าสามารถเข้ารับการฉีดได้หรือไม่ แต่คุณหมอบอกว่าเราควรได้ฉีดตั้งแต่อายุน้อยกว่านี้แล้ว”

กรกนก กล่าว ก่อนเล่าต่อว่า ตนเพิ่งรู้ว่าควรไปฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ก็ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่ง ณ เวลานั้น กรกนกเองก็เคยมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว และหากกรกนกต้องการฉีดในเวลานั้นก็ไม่สามารถทำได้ เพราะค่าฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV รวม 3 เข็มของโรงพยาบาลเอกชนมีมูลค่าอยู่ที่ 7,000 (โดยประมาณ) นั่นหมายความว่าค่าฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกในครั้งนี้จะสูงกว่าค่าขนมในแต่ละเดือนของกรกนกเสียอีก

นอกจากนี้กรกนกยังเสริมอีกว่า หากผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเป็นเด็กและเยาวชน ก็อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงวัคซีนนี้โดยไม่ขอเงินผู้ปกครอง เพราะค่านิยมไทยที่มองว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องต้องห้าม จนทำให้บทสนทนาเรื่องเพศที่ควรจะมีระหว่างคนอายุน้อยและคนที่มีความรู้มากกว่าไม่เกิดขึ้น และเมื่อมีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ คนที่จะถูกตราหน้าก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจากลูกหลานของพวกเขาเอง

“ค่านิยมไทยยังคงมองเซ็กส์เป็นเรื่องต้องห้าม โดยเฉพาะกับผู้หญิง และค่านิยมนี้จะครอบหัวเราไปจนกว่าจะถึงวันแต่งงาน เราจะต้องไม่มีเรื่องเพศสัมพันธ์อยู่ในหัว ดังนั้นเราจึงไม่สามารถบอกกับพ่อแม่ได้ว่าเราต้องการเงินไปฉีดวัคซีนนี้เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์“

กรกนก กล่าว ก่อนสรุปว่าคนที่สามารถมีกำลังซื้อหรือเข้าถึงวัคซีนนี้ได้จึงเป็นคนที่สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ทว่าด้วยค่าแรงของประเทศไทยที่สวนทางกับราคาวัคซีน 7000 ที่มีอาจต้องเก็บไว้ เพื่อนำไปใช้ชีวิตก่อนแทน

“คนที่มีเงินหรือคนที่สามารถเข้าถึงเงินโดยที่ไม่ต้องอธิบาย แน่นอนว่าพวกเขามีสิทธิ์ฉีดตั้งแต่อายุยังน้อย ในขณะที่คนไม่มีงบประมาณหรือทุนในชีวิต เวลาที่ผ่านไป อายุที่มากขึ้น ประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ที่มากขึ้น ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และการฉีดวัคซีนในตอนนี้ก็อาจไม่มีประโยชน์อีกต่อไป”

ทั้งนี้คนไทยได้มีเฮอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกกับเด็กผู้หญิง ป.5 ทุกคนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ทว่าแผนนั้นกลับชะงักไปเมื่อมีโรคระบาดใหม่อย่างโควิด-19

ล่องหนแต่มีอยู่จริง

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อครั้งที่หมอภิเศกยังเป็นประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย หมอภิเศกได้เซ็นข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องของการกวาดล้างมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย และมีการดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงนี้มากพอสมควร ทว่าเมื่อมีเหตุสุดวิสัยอย่างโรคระบาดโควิด 19 เข้ามา กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ตระเตรียมไว้ก็ชะลอตัวไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ณ เวลานั้น กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมสร้างนโยบายฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ให้กับเด็กผู้หญิงในระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะมีจำนวน 400,000 คน คนละ 2 โดส รวมเป็น 800,000 โดสต่อปี เป็นนโยบายที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะจัดหาวัคซีนให้เด็ก ป.5 ทุก ๆ ปี”

“ต้องฝากบอกอีกอย่างหนึ่งนะครับว่า การฉีดวัคซีนใน ป.5 ตอนนี้กว่าจะลดลงได้ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 20 ปี ด้วยเหตุที่ว่าวัยนี้ไม่ใช่วัยที่จะเป็นมะเร็ง แต่เป็นวัยที่เราสามารถป้องกันเขาจากการเป็นมะเร็งในอนาคตได้”

หมอภิเศก อธิบาย ทว่าหากถามถึงความคืบหน้าแล้วล่ะก็ แม้กระทั่งคนในอย่างหมอภิเศกเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าในปัจจุบันมีการดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดแล้ว แต่ตนก็ยังยืนยันว่านโยบายเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยน หรือยกเลิกไปหากแต่เป็นเพียงการหยุดชั่วคราวเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามกรกนกกลับมองว่า การนำร่องฉีดให้แค่นักเรียนหญิงนั้นไม่เพียงพอ

มุ่งหน้าสู่เป้าหมายเดียว

“การที่ภาครัฐมองว่านโยบายที่ให้ฉีดเด็กผู้หญิง ป.5 เพียงพอแล้วเป็นความคิดที่มักง่าย” 

กรกนก กล่าว ก่อนอธิบายเพิ่มว่า ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนนี้ยังมีอยู่มาก และไม่ใช่แค่เพียงผู้ที่มีเพศกำเนิดหญิงเท่านั้น เพราะการติดเชื้อ HPV สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ และไม่ว่าใครก็ต่างมีความเสี่ยงกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามการเดินหน้าฉีดเด็กหญิงอายุน้อยยังต้องใช้เวลาถึง 20 ปีเป็นอย่างต่ำ ทั้งยังใช้งบประมาณมหาศาลกว่าจะเห็นผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรม หลายคนจึงมองว่า อย่าเพิ่งได้คืบจะเอาศอกเลยดีกว่าไหม? แต่กรกนกก็ยังคงยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ในเชิงรุก ให้ไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 เพราะรัฐที่ดีที่ทุกคนเสียภาษีให้ จะต้องมีความพยายามในการส่งเสริมให้วัคซีนนี้เป็นรัฐสวัสดิการอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

“ตอนที่รัฐบาลยังไม่ได้เริ่มนโยบายนี้มันก็มีคนใช่ไหม คนเหล่านั้นคือชีวิตที่ตกหล่นและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่พวกเขาควรจะได้รับ การฉีดป้องกัน HPV เป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะเพศหญิงหรือชาย เพราะฉะนั้นทุกคนควรมีโอกาสในการฉีด HPV ฟรีแบบไม่จำกัดอายุ”

ด้าน น.พ.ภิเศกเองก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าวัคซีนป้องกัน HPV ควรถูกจัดเป็นรัฐสวัสดิการที่ไม่ว่าใครก็ควรเข้าถึงได้ เพื่อไม่ให้ชีวิตใดต้องร่วงหล่นในขณะที่มีทางป้องกัน ทั้งยังไม่ได้เกินความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ยุคปัจจุบัน และยังคงเฝ้าหวังให้รัฐสวัสดิการที่หล่นหายกลับมาปรากฎให้เห็นอีกครั้งในเร็ววัน

“ผมเห็นด้วย 100% เลยครับว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกควรเป็นรัฐสวัสดิการ และหากเรามีงบประมาณเพียงพอก็ควรฉีดทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะเชื้อ HPV มีอยู่ทั่วไปและติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผมเคยได้คุยกับคนที่ดูแลเรื่องนี้ เขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ ที่ว่ามีปัญหาอะไรต่าง ๆ ซึ่งยังหาคนที่จะให้คำตอบที่แท้จริงไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าเขามีความตั้งใจอย่างสูงในการที่จะให้วัคซีนนี้กลับมาครับ ผมมั่นใจจริง ๆ ครับ”

ในท้ายที่สุดแล้ว ความจริงที่ไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้ คือยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่าหลายพันคนต่อปีในวันที่มีทางป้องกันมากมาย ในวันนี้เราสามารถพูดเต็มปากเต็มคำว่าการทำงานและความพยายามของภาครัฐในครั้งนี้กำลังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถทำให้อีกหลายร้อยหรือพันชีวิตไม่ร่วงหล่นอีกต่อไปได้หรือไม่ คงต้องให้เวลาและผลงานเชิงประจักษ์เป็นเครื่องพิสูจน์

ประชาชนยังเฟ้นหา เฝ้ารอ และจ้องมองอยู่เสมอ