สนพ.เล็ก แต่ 'Passion ใหญ่' บทสนทนานิยายยูริกับ lily house. - Decode
Reading Time: 2 minutes

เมื่อพูดถึงนิยายวาย สำหรับหลาย ๆ คนคงจะนึกถึงนิยายชายรักชายหรือที่เรียกว่ายาโอย (Yaoi) ขึ้นมาโดยทันที หากแต่จริง ๆ แล้วนิยายวายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในขอบเขตชายรักชายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนิยายประเภทหญิงรักหญิงหรือที่เรียกว่ายูริ (Yuri) ด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมานิยายแนวยูรินั้นจะมีผู้อ่านน้อยกว่านิยายแนวยาโอยมาก หากแต่ในช่วงหลังมานี้นิยายยูริก็ดูจะได้รับความนิยมมากขึ้น จนมีสำนักพิมพ์ของตัวเอง หนึ่งในนั้นก็คือสำนักพิมพ์ lily house. ซึ่ง De/code ได้มีโอกาสสนทนากับคิว-กองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ lily house. บอกเล่าถึงแรงจูงใจในฐานะผู้ผลิตนิยายยูริ รวมไปถึงจุดเริ่มต้นของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งนี้ด้วยตนเอง

เริ่มจาก Passion ท่ามกลางทุ่งลิลี่

“เราเป็นหนึ่งคนในคอมมูนิตี้หญิงรักหญิง พูดตามตรงก็คือเราเป็นเลสเบี้ยน เราก็ชอบที่จะอ่านหนังสือแนวหญิงรักหญิงมาตั้งแต่เด็ก ที่เรียกว่าแนวยูริอย่างนี้นะค่ะ”

คิวเริ่มอธิบายถึงจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของการหันมาทำสำนักพิมพ์ยูริ โดยทั้งหมดเริ่มจากการที่คิวนั้นเป็นเลสเบี้ยน ส่งผลให้อยากอ่านนิยายยูริ แต่ในตลาดกลับไม่ค่อยมีนิยายแนวนี้ให้อ่านเสียเท่าไหร่

“มันเหมือนเป็นความฝันตั้งแต่เด็กว่าเป็นไปได้โตขึ้นก็อยากจะตั้งสำนักพิมพ์หรือทำงานที่เกี่ยวกับหนังสือแนวนี้ เพราะว่าตอนเด็กมันไม่มีอะไรให้อ่าน พอโตมาประจวบกับที่ช่วง 2020 โควิดเริ่มระบาดหนักตอนนั้นก็เลยได้คุยกับเพื่อนว่าหาอะไรทำกันดีไหม ก็เลยมาคุยกันว่าเรามาทำสำนักพิมพ์กันดีกว่า ก็เลยได้ออกมาเป็น lily house. พอเราได้อ่านของพวกนี้แล้วเรารู้สึกชื่นชอบด้วยมันเลยได้มาทำงาน ณ ตรงนี้”

เนื่องจากสำนักพิมพ์ lily house. เกิดมาจากความชอบในนิยายยูริ ทำให้ lily house. มีวิธีการเลือกงานเพื่อตีพิมพ์ที่แตกต่างจากสำนักพิมพ์ใหญ่ โดยคิวได้เปิดเผยว่าการเลือกงานของตัวสำนักพิมพ์นั้นจะเน้นไปที่ความชื่นชอบและอยากเผยแพร่ของทีมงานเป็นหลักมากกว่าคำนึงถึงความต้องการของตลาด

“ส่วนมากงานที่เราเลือกเราจะเลือกแนวที่กองบรรณาธิการอ่านแล้วชอบคือ อ่านแล้วอยากเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแบบนี้แหละคะ แล้วที่บรรณาธิการของ lily house. ที่ส่วนมากจะชอบ ๆ กันก็จะอ่านแนวแฟนตาซีหน่อย แต่หลัก ๆ ก็อ่านได้หมดแนวไหนที่เราว่าสนุก เราก็เอาเข้ามาเหมือนกัน อย่างคิวก็มีตัวอย่างงานที่ชอบอยู่สองชิ้นเรื่องแรกจะเป็นนิยายไทยเรื่อง ซ้อนศกุน จะเป็นแนวพีเรียดไทย ก็จะเป็นแนวความรักของเด็กวัยเรียนสองคน ที่อยู่ในสมัยที่ความรักของเพศเดียวกันมันยังไม่เป็นที่ยอมรับ ตัวเรื่องก็ซึ้งกินใจ นักเขียนก็ถ่ายทอดความรักของนางเอกทั้งสองออกมาได้ดีมาก เรื่องนี้ไม่มี E-Book มันมีแค่ฉบับตัวเล่ม อีกเรื่องหนึ่งเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อ สายใยรักดั่งเส้นโซบะ อันนี้เป็นการ์ตูนเล่มเดียวจบ เป็นการ์ตูนรวมเรื่องสั้นแนว Girls’ Love หลาย ๆ เรื่องในเล่ม อันนี้อ่านได้ทุกเพศทุกวัยเลย”

การขับเคลื่อนด้วยความชอบนี้เอง ทำให้คิวสามารถพูดได้เต็มปากว่าวงการนิยายยูริขับเคลื่อนด้วย Passion เป็นหลัก และไม่ใช่แค่ในฝั่งของสำนักพิมพ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักเขียนด้วย โดยคิวได้บอกว่านักเขียนนิยายยูริส่วนมากเป็นคนในคอมมิวนิตีหญิงรักหญิงที่มีแรงขับในการเขียนนิยายเพื่อแสดงตัวตนออกมาสู่สังคม

“ถ้าเป็นนักเขียนนิยายไทย ส่วนมากเป็นเพศหญิง แทบจะ 90% เราคิดว่าส่วนมากคนที่เขียนแนว Girls’ Love คิดว่าจะประมาณ 90% ที่เป็นคนในคอมมูน จะต่างจาก Boys’ Love ที่หลายครั้งนักเขียนเป็นผู้หญิง แต่เขาชอบแนวชายรักชายเพราะตัวตนของเขาชอบผู้ชาย เขาก็เลยอาจจะชอบเห็น Boys’ Love เห็นผู้ชายรักกัน แต่ในแง่ของหญิงหญิงเราคิดว่าคนที่เขามาเขียน ณ ตรงนี้ ก็จะเป็นคนที่เขาอยู่ในคอมมูนด้วยเอง ก็จะแบบขับเคลื่อนด้วย Passion ด้วยการที่เป็น Sapphic/Lesbian อะไรแบบนี้น่ะค่ะ ทำให้ถึงเราจะเล็ก แต่ Passion เราไม่แพ้ใครแน่นอน (หัวเราะ)

ตอนนี้นักเขียน Girls’ Love ในไทยมีเยอะมาก ทำให้ทางเรา (lily house.) มีอะไรให้ทำตลอด เรารู้สึกได้ว่านักเขียนทุกคน เขามี Passion กับงานที่เขียน มีนักเขียนบางคนเขาออกหนังสือเดือนละเล่ม”

แต่นอกจาก Passion ของนักเขียนนิยายยูริแล้ว คิวก็ยังพบอีกว่าในช่วงหลังมานี้นิยายยูริขยายตัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขาขึ้นของตลาดนิยายหญิงรักหญิง

พร้อม ๆ กับนักเขียนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น คิวก็พบว่าในช่วงหลังมานี้นิยายยูริก็ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“เราเพิ่งมารู้สึกแค่สองสามปีที่ผ่านมานี้เองว่า Girls’ Love เพิ่งจะได้รับความนิยมมากขึ้น เหมือนเพิ่งจะถูกเห็น เพราะเมื่อก่อนไม่มีใครสนใจเลย (หัวเราะแห้ง ๆ) อันนี้พูดตรง ๆ ทุกคนก็ไปทางชาย-ชาย หมด ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดทำซีรีส์หรือว่าสำนักพิมพ์ส่วนมากก็ตาม”

โดยคิวได้อธิบายว่าการที่ได้รับความนิยมมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามีนักเขียนมากขึ้น ซึ่งการที่นักเขียนมีมากขึ้นก็ทำให้งานแนวยูริมีความหลากหลายขึ้น นักอ่านก็มากขึ้น สำนักพิมพ์ก็เพิ่มขึ้น เมื่อมีสำนักพิมพ์แล้วก็ทำให้คนหลาย ๆ คนเห็นว่ามีคนพยายามจริงจังกับการผลักดันนิยายแนวหญิงรักหญิงไปสู่ตลาด ทำให้คนที่อยากเขียนผันตัวมาเขียนงานมากขึ้น แล้วงานก็เพิ่มขึ้น กลายเป็นวงจรในการเติบโตของตลาดนิยายยูริ

“เพราะมันมีคนมาทำตรงนี้จริงจัง ไม่ใช่แค่ตัว lily house. นะคะ ในระยะหลังสำนักพิมพ์หญิงหญิงก็เพิ่มขึ้นตัวนักเขียนก็มีจำนวนมากขึ้น งานมันหลากหลายมากขึ้น ผู้อ่านก็มากขึ้น พอบูมขึ้น คนกลุ่มอื่นอาจจะเป็นผู้จัดซีรีส์หรือสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ เขาก็เล็งเห็นว่ามันมีแนว Girls’ Love ที่มันขายได้อยู่”

ซึ่งความนิยมนี้เองคิวได้เห็นชัดขึ้นจากการไปจัดงานหนังสือในเดือนตุลาที่ผ่านมา ซึ่งก็สร้างความประหลาดใจให้กับคิวไม่ใช่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้ชายถึงครึ่งหนึ่ง

“งานหนังสือที่ผ่านมา เป็นงานแรกที่เราได้ไปออก มันเป็นความฝันว่าเราทำสำนักพิมพ์ เราก็อยากที่จะไปออกงานหนังสือ บอกตามตรงว่าค่อนข้างผิดคาดทั้งตัวลูกค้าเอง และกระแสตอบรับ ตอนแรกเราก็คิดว่าเราเอาบูธเดียวก็พอ คงไม่ค่อยมีใครมา แต่ก็รู้สึกว่าลูกค้ามากันเยอะ แล้วก็ค่อนข้างผิดคาดที่ลูกค้าเรา แทบจะครึ่งหนึ่งเป็นผู้ชาย ก็คือเป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่ง ผู้ชายครึ่งหนึ่ง มันก็ได้รับรู้ว่ามันไม่ใช่แค่จะมีคนอ่านแค่กลุ่มเล็ก ๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าลูกค้าเรา คนอ่านเรา มีมากกว่าที่คิดไว้เยอะ”

สำหรับคำอธิบายว่าทำไมถึงมีนักอ่านผู้ชายเยอะ คิวได้อธิบายว่าน่าจะเหมือนกรณีของนิยาย Boys’ Love ที่คนอ่านเป็นผู้หญิงแล้วมีรสนิยมชอบผู้ชาย สำหรับผู้ชายที่ชอบผู้หญิงก็ไม่แปลกเสียเท่าไหร่ที่จะอยากจะอ่านนิยาย Girls’ Love ด้วย ซึ่งคิวก็มองว่าเป็นการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศแบบหนึ่ง ซึ่งสำหรับคิวนิยายยูริเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในจุดนี้

ไม่ใช่แค่ความชอบ แต่ยังเป็นกระบอกเสียงของความหลากหลาย

ด้วยการที่วงการนิยายยูริในไทยนั้นมีตลาดที่เล็ก จนถึงขนาดที่ในยุคที่เกิดการแอนตี้นิยายวาย นิยายยูริซึ่งจัดเป็นนิยายวายประเภทหนึ่งไม่โดนลูกหลงเพราะไม่มีสินค้าในตลาด การเป็น Lesbian ส่วนหนึ่งที่ต้องเผชิญจึงดูจะเป็นเรื่องของการไม่ถูกมองเห็นจากสังคม ทำให้การขับเคลื่อนวงการนิยายยูริที่เป็นไปด้วยความชอบส่วนตัว ได้กลายเป็นกระบอกเสียงของกลุ่ม Lesbian ไปด้วยในตัวเอง ซึ่งคิวเห็นด้วยในประเด็นนี้

“เราคิดว่าสำนักพิมพ์หรือว่านิยายยูริในตอนนี้มันเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่ทำให้คนรู้ว่ามีเราอยู่ตรงนี้ในสังคม ถึงมันจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่เราคิดว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสียงให้คนที่เขาไม่เคยเห็นเรา ให้ได้เห็น”

ทั้งนี้คิวยังไม่ใช่แค่หวังว่าจะเป็นแค่เป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มคนนอกคอมมูนิตี้หญิงรักหญิงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังรู้สึกโดดเดี่ยวด้วยเช่นกัน และคิวก็หวังว่าตัว lily house. จะเหมือนกับโอเอซิสที่ช่วยปลอบประโลมพวกเขาเหล่านั้นให้พวกเขารับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้

“การได้ออกงานหนังสือของเราในรอบนี้ คิวรู้สึกว่าการที่มี lily house. อยู่ มันก็อาจทำให้เด็กหรือว่าผู้ใหญ่เองก็ตามที่เป็นคนในคอมมูนเดียวกับเรา แต่ไม่ได้รู้จักว่ามันมีแนวหญิงรักหญิงอยู่ เขาได้เจอเรา เขาก็รู้สึกว่ามันมีอยู่นะ มันเหมือนเป็นโอเอซิส อย่างหนึ่งที่ทำให้เขารู้ว่ายังมีพวกเดียวกับเขาอยู่นะที่มีความชื่นชอบแบบเดียวกับเขาอยู่ ก็เป็นอะไรที่น่าดีใจ และน่ายินดีด้วย”

ภาพประกอบ: สำนักพิมพ์ Lily House