ทบทวนคลื่นกระแสรัฐสวัสดิการ ปี 2565 - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในปี 2565 การต่อสู้เรื่องรัฐสวัสดิการยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสำคัญที่ยังจำเป็นต้องย้ำเตือนคือแม้ว่าอาจยังไม่ได้สัมผัสถึงนโยบายที่เป็นรูปธรรม แต่การต่อสู้ได้ยกระดับและเพดานของการต่อสู้ให้การต่อสู้เพื่อการสร้างรัฐสวัสดิการในมิติต่าง ๆ กลายเป็นที่พูดถึงและยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง หากทำการสรุปประเด็นขับเคลื่อนที่เกี่ยวพันกับเรื่องรัฐสวัสดิการที่ถูกพูดถึงในวงกว้างสามารถสรุปสามประเด็น ประเด็นแรกคือประเด็นบำนาญ ประเด็นที่สองคือ เรื่องล้างหนี้ กยศ. และเรียนมหาวิทยาลัยฟรี ส่วนประเด็นที่สามคือประเด็นการขยายวันลาคลอด 180 วัน บทความนี้จะทำการทบทวนว่าประเด็นทั้งสามถูกผลักดันไปในแนวทางใดบ้างในสังคม

ประเด็นข้อเสนอบำนาญถ้วนหน้า

ข้อเรียกร้องว่าด้วยหลักการบำนาญถ้วนหน้า แม้จะถูกนำเสนอต่อพรรคการเมืองตั้งแต่ช่วง ปี 2562 หลังการเลือกตั้งทั่วไป โดยการลงชื่อของภาคประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายร่วมกับ การยื่นร่างประกบของพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งทำให้กฎหมายบำนาญทุกฉบับถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรี  เหตุผลสำคัญก็ไม่พ้นเรื่องของงบประมาณ ความจำเป็นเร่งด่วน ที่ชีวิตของผู้สูงอายุมากกว่า 11 ล้านคนไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องสำคัญในสายตาของรัฐบาล และในปี 2565 นี้เอง รายงานผลการศึกษาของกรรมาธิการว่าด้วยเรื่องบำนาญถ้วนหน้าก็ถูกนำเข้าสภา แต่ภายใต้เงื่อนไขเกมส์การเมืองของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทำให้สุดท้ายร่างรายงานการศึกษาไม่ได้ถูกนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร และล่าสุด กรรมาธิการสวัสดิการฯ ได้เสนอกรอบระยะเวลาการพัฒนาสู่ระบบบำนาญแห่งชาติ ว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ถึงแม้ว่าเงื่อนไขในรัฐสภาจะไม่คืบหน้า แต่ปัจจุบันหลายพรรคการเมืองได้นำแนวนโยบายบำนาญถ้วนหน้าปรับเข้าสู่นโยบายหลักของพรรคการเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประเด็นล้างหนี้กยศ. และมหาวิทยาลัยฟรี

เมื่อประมาณเดือนกันยายน ได้มีข้อเรียกร้องจากเครือข่ายแนวร่วมเรียนฟรี (CanFree) ผ่านศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการ “ล้างหนี้กยศ.” และ “เรียนมหาวิทยาลัยฟรี” โดยหลักการเริ่มต้นที่ปัญหาของการที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นหนี้การศึกษาในระดับสูง นักศึกษาที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนยิ่งถูกผลักให้เป็นหนี้ ขณะเดียวกันกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาใช้งบประมาณนับหมื่นล้านในรอบสิบปีผ่านการจ้างทนายเพื่อทำการดำเนินคดี ยึดทรัพย์ เรื่องราวของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สูญเสียที่ดิน ทรัพย์สินเพื่อเป็นเบี้ยปรับ และดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาเดียวกันได้ประกาศล้างหนี้เพื่อการศึกษาให้แก่คนมากกกว่า 40 ล้านคน เริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 7 แสนบาท ในกรณีของประเทศไทยนั้นแม้จะมีข้อถกเถียงในทางศีลธรรมและบางส่วนยังมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าสิทธิพื้นฐาน แต่ข้อเรียกร้องในครั้งนี้ได้ผลักเพดานครั้งใหญ่ในสังคมไทย โดยหลายภาคส่วนได้รับหลักการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี และในช่วงปลายปี พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย นับเป็นสองพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีจุดยืนสนับสนุนการล้างหนี้ กยศ.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยแม้จะไม่มีจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนในช่วงแรก แต่ภายใต้การขยับของเพดานของสังคมทำให้พรรคการเมืองมีท่าทีที่สนับสนุนมากขึ้นในเวลาต่อมา โดยล่าสุด พรบ.กยศ.ฉบับใหม่ที่นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ได้ลดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับและคนค้ำ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการขับเคลื่อนที่ท้าทายในดันเพดานการพูดคุยของผู้คนอย่างมากมาย

การเพิ่มสิทธิวันลาคลอด 180 วัน

ข้อเสนอเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วันไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นข้อเสนอที่ถูกส่งต่อผ่านพรรคอนาคตใหม่ถึงก้าวไกลมาก่อนแล้วในปี 2562-2564 แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมามากนัก และเป็นข้อเสนอทางกฎหมายที่ถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรีเช่นเคย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2565 ข้อเสนอนี้ถูกบรรจุในแนวนโยบายของพรรคก้าวไกลอีกครั้ง และนำสู่ข้อถกเถียงสำคัญว่า นโยบายนี้จะให้ประโยชน์แก่ผู้หญิงจริงหรือไม่ จะถูกปฏิเสธการจ้างงานหรือไม่ หรือองค์กรธุรกิจขนาดเล็กจะสามารถยอมรับเงื่อนไขนโยบายนี้ได้หรือไม่ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าในปี 2565 ผู้คนมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ปกป้องสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น และชี้ให้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากผู้หญิงมีวันลาที่เหมาะสม จนสามารถเก็บงานของตนเองไว้ได้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้ชายและมีชีวิตส่วนของตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีอันจะเป็นผลดีกับสังคมในระยะยาวด้วย ข้อเสนอนี้กลับกลายเป็นเรื่องพื้นฐานไม่ใช่เรื่องผิดแผกแปลกประหลาดแต่อย่างใดในยุคสมัยนี้ และภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพรรคการเมืองอีกหลายพรรคก็ล้วนขานรับนโยบายนี้

ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นสำหรับการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการในปี 2565 เพดานที่ขยับขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อพวกเราส่งเสียง เราถึงจะมีสิทธิ์ได้อะไร เมื่อพวกเรารวมตัวกัน อภิสิทธิ์ชนจะไม่สามารถคิดแทนเรา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปี 2566 จะเป็นปีแห่งการต่อสู้และความสำเร็จของประชาชน