โลดแล่นตีลังกาตามยุคสมัย ย้อนทวนศัพท์ 'เกิด' ใหม่และ 'ตาย' จาก - Decode
Reading Time: 3 minutes

จงบอกความแตกต่างระหว่างคำว่า สุดจ๊าบ อย่างตึงเลยครับจารย์ และ ปังมากแม่ (10 คะแนน)

ปฎิเสธไม่ได้ว่าเราได้เห็นคำศัพท์เกิดใหม่ขึ้นแบบรายวัน เป็นศัพท์ใหม่ ความหมายใหม่ ให้ผู้คนสามารถหยิบจับมาใช้ได้ตามต้องการ ทั้งยังเพิ่มสีสันและอรรถรสในการสนทนาแบบไทย ๆ

แต่ในบางครั้ง ภาษาไทยก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ภาษาไทยอย่างที่เคยจำได้ เพราะใครเล่าจะไปรู้จักคำว่า ผีซ้ำด้ำพลอย ผล็อยหลับ หรือทู่ซี้ กัน?

และนี่คือวินาทีที่อีกหนึ่งความจริงปรากฏขึ้นมา

ความจริงที่พวกเราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ในขณะที่มีคำศัพท์เกิดใหม่มากมาย ก็มีคำศัพท์อีกหลายคำกำลังเลือนหายไป จนใครหลายคนไม่คุ้นหูคุ้นตาอีกต่อไปแล้ว

De/code ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับ อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสู้รบทางภาษาในหลากมิติผ่านสิ่งที่เรียกว่า พลวัตทางภาษา ในวันที่ภาษาไทยโลดแล่นตีลังกาตามยุคสมัย และหล่นหายไปตามกาลเวลา

ภาษาที่ไม่ขยับ คือภาษาที่ไร้ชีวิต

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนเลยว่า ปัจจัยเรื่องการอ่าน (รวมไปถึงการเข้าถึงการอ่าน) นั้นมีอยู่มากมาย แต่ ณ วันนี้ เราจะมามองความเป็นไปนี้ผ่านมุมมองภาษาศาสตร์ ที่สามารถอธิบายได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า พลวัตทางภาษา หรือการเปลี่ยนแปลงของภาษา ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติไม่ว่าจะกับภาษาใดบนโลกใบนี้กัน

การใช้ภาษา ที่ไม่ว่าจะเป็นการพูด อ่าน เขียนที่คงอยู่ตามแบบฉบับเดิม หรือผิดเพี้ยนไปจากเก่า ก็ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้ภาษานั้นมีอยู่ต่อไป เพราะวินาทีที่ภาษานั้นไร้ซึ่งการขยับเขยื้อน โต้เถียง หรือแม้แต่ช่วงชิงอีกต่อไป ก็จะถือว่าภาษานั้นได้ ตาย จากโลกนี้เป็นที่เรียบร้อย

ยกตัวอย่างเช่น หากเราหยิบงานรุไบยาต ของโอมาร์ คัยยาม บทกวีภาษาเปอร์เซีย ที่แปลโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 มาอ่านในวันนี้ หลายคนอาจพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ศัพท์แสง หรือคำบางคำในบทกวีนั้นอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเสียเท่าไร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด เพราะความลื่นไหลทางภาษาที่ปรากฎระหว่างยุคนี้ ได้สะท้อนพลวัตทางภาษาที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง

“สมัยครูก็ไม่มีคำสแลงแบบปัจจุบัน คำสแลงก็จะเป็นแบบสมัยของครู สมัยเด็ก ๆ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นเราไม่ต้องไปวิตกว่า ‘อุ๊ยตายแล้ว ภาษามันจะไม่เหมือนเดิม’ เพราะขนาดเราไม่ได้ใช้ภาษาสมัยพ่อขุนราม หรือสมัยสุโขทัยกัน ดังนั้นภาษาในยุคนี้ก็ได้เปลี่ยนไปตามผู้ใช้ และสภาพสังคมโดยอัตโนมัติเช่นกัน” อาจารย์ชมัยภร ว่า

“ถามเหอะเดี๋ยวนี้คนพูดกูมึงเนี่ย มีเด็กวัยรุ่นคนไหนไม่พูด เมื่อก่อนผู้ใหญ่ตกใจจนหัวหงอก ได้ยินทีโอยแทบเป็นลม เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเป็นลมแล้วค่ะ (หัวเราะ) เพราะว่ามันยอมรับไปแล้วว่าเราไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะเขาถนัด เขาอยากใช้”

‘ภาษาเขียน’ vs. ‘ภาษาพูด’

สิ่งหนึ่งที่สำคัญเมื่อพูดถึงพลวัตทางภาษา คือการตระหนักถึงความแตกต่างระหว่าง ‘ภาษาเขียน’ และ ‘ภาษาพูด’ ซึ่งจะทำให้เราพบอีกข้อเท็จจริงหนึ่งทางภาษาศาสตร์ที่ว่า ภาษาเขียนมักเกิดการเปลี่ยนแปลงช้ากว่าภาษาพูด

ภาษาเขียนนั้นเต็มไปด้วยหลักการต่าง ๆ ในการใช้งาน ทั้งยังมีการคอยชำระคำศัพท์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากการคัดลอกหนังสือโดยอาลักษณ์ในอดีต นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม ยังต้องมีลักษณะเป็นเหตุเป็นผลที่ทางองค์กรทางภาษายอมรับเสียก่อนถึงจะมีการนำไปใช้ต่ออีกด้วย

ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีปรากฎการณ์ทางภาษาเขียนครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ไทยมาแล้ว โดยในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับการสะกดคำในภาษาไทยให้กะทัดรัด และลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการปรับใช้จากภาครัฐ แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมเสียเท่าไร และในท้ายที่สุดก็ไม่อาจบังคับใช้ได้เป็นเวลานาน และถูกปัดตกไปในท้ายที่สุด

“หลายคนมองว่ามันไม่ดีเลย น่าเกลียดน่าชังมาก นักเขียนไม่ยอมเขียนหนังสือไปก็มากในสมัยนั้น” อาจารย์ชมัยภร ยืนยัน

ในขณะเดียวกัน ภาษาพูดกลับเปลี่ยนแปลงไปแบบรายวันเนื่องด้วยปัจจัยแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะการเข้ามาของภาษาต่างประเทศ การพิมพ์ผิด หรือการเล่นคำ ที่แม้ใครจะอยากห้ามไม่ให้เปลี่ยนเพียงใด ก็ไม่อาจห้ามได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจารย์ชมัยภรมองว่า ภาษาพูดของคนรุ่นใหม่นั้นเปลี่ยนแปลงด้วยความเร็วแบบก้าวกระโดดอยู่ตลอด โดยบางทีใครหลายคนก็ไม่รู้ตัวว่าคำที่สร้างขึ้นนั้นมาจากไหนด้วยซ้ำไป

“ถ้าเราสังเกตพัฒนาการภาษาของเด็กสมัยนี้เนี่ย เราจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เขาพยายามสร้างขึ้นมา มันสร้างมาจากสภาพแวดล้อมของเขานั่นแหละ เขาไม่ได้สร้างมาจากไหนไกล เพราะฉะนั้นครูจะไม่ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาษาของเด็ก ๆ เลย”

“เอาคำนี้ดีกว่า เล่นคำนี้ดีกว่า ‘แกงกันเถอะ’ แล้วแกงเนี่ยจริง ๆ มันไม่น่าจะมาเลยใช่ไหม เรามีความรู้สึก ‘แกงมันมาได้ไง’ มันก็อาจจะมาจาก ‘แกล้ง’ หรือเปล่า ซึ่งมันมาแล้วเดี๋ยวก็ไป คำพวกนี้ถ้าอยู่ไม่นานก็แปลว่ามันไม่มีรากพอ มันก็เลื่อนไป มันก็เปลี่ยนคำใหม่ไปเรื่อย

“คนที่สร้างคำขึ้นมาก็คงสนุกมาก ก็คงรู้สึกว่า ‘อุ๊ย ลองพูดแบบนี้ดีกว่า’ พูดคำว่า ‘ดี’ ไม่ได้ก็กลายเป็น ‘ดือ’ เพื่อให้เสียงมันดัดจริตขึ้น มันเหมือนเสียงฝรั่ง ‘พูดเสร็จมันมันส์ดีแหะ เอ๊ย เราก็พูดกันดีกว่า’ ธรรมชาติมันก็อย่างนี้แหละค่ะ” อาจารย์ชมัยภร ย้ำ

นอกจากนี้อาจารย์ชมัยภรยังอธิบายอีกว่า ปรากฎการณ์ศัพท์ชายแท้ vs ศัพท์กะเทยเองก็เป็นหนึ่งในพลวัตทางภาษาที่เห็นได้ชัด ทั้งยังตอกย้ำอีกว่าภาษานั้นมีอำนาจในการสร้างความเป็นพวกเขา-พวกเรามากเพียงใด

“ภาษามีอำนาจเฉพาะกลุ่มของตัวเอง เราเข้าไปฟังโดยไม่รู้เรื่องเราก็จะไม่รู้สึกอะไรเลย ถ้ากลุ่มนั้นแข็งแรง ยิ่งใหญ่ และมีพลัง คำหรือภาษาที่ถูกใช้ในกลุ่มนั้นก็จะคงอยู่และแพร่หลาย และหากคนภายนอกเห็นดีกับคำเหล่านั้นอีกที เมื่อนั้นภาษาเฉพาะกลุ่มก็จะเคลื่อนเป็นภาษาทั่วไปที่ถูกใช้อย่างกว้างขวาง แนวคิด ทัศคติ น้ำเสียงที่ติดมากับคำเหล่านั้นก็จะถูกส่งต่อไปในอาณาบริเวณที่กว้างขึ้นเช่นกัน”

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ หากพูดถึงการใช้ภาษา (รวมไปถึงวรรณกรรม) เป็นเครื่องมือทางการเมืองและสังคม นั่นก็คือ ช่วง 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา 

ในส่วนนี้อาจารย์ชมัยภรอธิบายว่า ณ เวลานั้นมีภาษาจัดตั้งเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมักเป็นคำที่แปลมาจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น พวกเราจงรวมกันเข้า คำจัดตั้งเหล่านี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นปรากฎ

“คนในสมัยนั้นใช้คำจัดตั้งกันอย่างหมั่นเขี้ยวมากเพราะถูกกดดันมานาน แต่พอถึง 6 ตุลา ภาษาพวกนั้นก็ยังอยู่นะ อยู่ด้วยความคับแค้นแล้วก็ค่อย ๆ ปรับตัวกันไปตามสภาพสังคม”

‘ศึก’ ที่เลี่ยงไม่ได้

และเมื่อมีคำว่าเก่าใหม่ คำถามที่ผุดขึ้นมาถกเถียงอยู่เรื่อย ๆ ในสังคมจึงไม่พ้นคำถามที่ว่า สุดท้ายแล้วคนไทยจำเป็นต้องรู้คำศัพท์ภาษาไทยมากเพียงใดกัน? 

นี่คือวินาทีที่คำว่า ‘คลังศัพท์น้อย’ ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่กลุ่มคนหรือบุคคลไม่เข้าใจคำศัพท์ในภาษาที่ตัวเองพูด อย่างไรก็ตาม แม้แต่คำที่ถูกใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางภาษาศาสตร์เองก็ยังถูกตั้งคำถาม เพราะมีการถกเถียงว่าเราจะใช้ไม้บรรทัดใดในการวัดความมากน้อยของคลังศัพท์ของคนอื่นโดยไม่ให้เป็นเพียงขี้เลื่อยทางความคิด ที่คนรู้มากมีไว้เพียงข่มคนที่รู้น้อยกว่าตนกัน?

ซึ่งในส่วนนี้อาจารย์ชมัยภรได้สรุปไว้อย่างกระชับให้เราแล้ว

“สำหรับครูนะ คลังศัพท์น้อย คลังศัพท์มาก มันเป็นเรื่องของตัวเขาเองคนเดียว ถ้าเขาคลังศัพท์น้อยแล้วสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ เขาก็ต้องไปหาศัพท์มาจนได้ กว่าเขาจะสื่อสารได้มันก็ต้องพัฒนาศัพท์อีกนานเชียว”

“ส่วนคนอีกกลุ่มที่ยังใช้ศัพท์ได้ คนที่มีคลังคำศัพท์เยอะก็พยายามแสดงภูมิ เพื่อให้ศัพท์เหล่านี้มันมีหน้าที่ มีพื้นที่ของมันอยู่ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งศัพท์น้อย พูดเท่าไรคนก็ไม่ค่อยรู้เรื่องก็คงพยายามหาศัพท์เข้ามาเพื่อให้ทุกคนรู้เรื่องให้ได้ มันก็จะเกิดการสู้กันของภาษา ซึ่งเป็นปกติมาก ถ้าฝ่ายไหนชนะก็ชนะไป ถ้าฝ่ายไหนแพ้ก็แพ้ไป คนในสังคมส่วนใหญ่ใช้ภาษาอะไร อันนั้นก็ชนะ” 

เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ระดับภาษาว่าสวยงาม สูงต่ำ หรือเก่าใหม่ หากแต่เป็นสารที่มันสื่อออกไป อันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังมากมายที่บางครั้งก็ยากจะควบคุม

สู้’ จนตัวตาย

“คนใช้ภาษาต้องมีสติ” อาจารย์ชมัยภร ว่า เพราะ ศึกของการใช้ภาษาจะไม่มีวันสิ้นสุด และจะยังคงเกิดขึ้นซ้ำไปมาตราบใดที่ภาษานั้นยังไม่ตาย และสิ่งที่เราทุกคนต่างทำได้คือการปล่อยให้พลวัตทางภาษาทำงานของมันต่อไป และไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

โดยคนใช้ภาษาถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ผู้บริหารหรือผู้กุมอำนาจในการใช้ภาษา เช่น สถาบันการศึกษา ผู้บริหารประเทศ รวมไปครูบาอาจารย์ที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าเข้าเจ้าของภาษา และผู้ใช้ภาษาที่ไม่ได้เป็นอะไรก็ตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ หากแต่มีอำนาจในการสร้างภาษาและคำศัพท์ใหม่ ลบเลือนละทิ้งให้มันหายไป แถมยังมีจำนวนคนมากกว่าผู้กุมอำนาจมากกว่าเท่าตัว

“หากผู้บริหารหรือผู้กุมอำนาจในการใช้ภาษา เช่น สถาบันการศึกษา ผู้บริหารประเทศ รวมไปครูบาอาจารย์ที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าเข้าเจ้าของภาษา ไม่เข้าใจผู้ใช้ภาษา กล่าวคือผู้ที่ไม่ได้เป็นอะไรก็ตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ หากแต่มีอำนาจในการสร้างภาษาและคำศัพท์ใหม่ ลบเลือนละทิ้งให้มันหายไป แถมยังมีจำนวนคนมากกว่าผู้กุมอำนาจมากกว่าเท่าตัว เมื่อนั้นความขัดแย้งจะเกิดขึ้น

“คนที่อยู่ด้านบนกดดันคนที่อยู่ด้านล่าง ภาษานั้นพูดไม่ได้ ภาษานี้ไม่เหมาะสม มันวิบัติเกินไปแล้ว ภาษาที่ถูกมองว่าวิบัติอาจจะแผ่ขยายมากกว่าเดิมเพราะความโมโหก็ได้ แต่หากถามว่าใครชนะในศึกครั้งนี้ คนที่จะตัดสินก็คือสังคม”

หากภาษาเป็นเหมือนกับดาบที่ไม่ว่าฝ่ายไหนก็หยิบขึ้นมาฟาดฟันอีกฝ่ายได้ ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์ชมัยภรอยากจะฝากทุกคนไว้จึงเป็นการ รู้เท่าทันภาษา ไม่ตกเป็นเหยื่ออารมณ์เมื่อได้ยินสิ่งที่ไม่อยากได้ยิน ได้ฟังน้ำเสียงที่ไม่อยากฟัง และมีความพยายามในการเข้าใจสารที่ติดมากับการบอกกล่าวเหล่านั้น พร้อมย้ำถึงกลุ่มคนด้านบนอีกครั้งว่า

“คนที่คุมภาษาควรมีความรู้ในด้านภาษาแบบถ่องแท้ มีวิสัยทัศน์ ใจกว้าง เมื่อนั้นพวกเขาก็จะเข้าใจไปโดยปริยายเองว่า การมีขึ้นหรือเกิดใหม่นั้นเป็นไปตามธรรมชาติเสียยิ่งกว่าอะไร เป็นผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงอย่างใจเย็น แล้วเมื่อนั้นจะไม่มีการตีโพยตีพายจระเข้ฟาดหางใด ๆ เกิดขึ้น”

เพราะแน่นอนว่าในบริบทเชิงอำนาจ อย่างไรเสียฝ่ายผู้บริหารภาษาย่อมมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายผู้ใช้ หากด้านบนไม่รับฟัง ด้านล่างก็ย่อมไม่พอใจ

ทว่าอาจารย์ชมัยภรยังคงเฝ้าหวัง ให้มีวันที่ทั้งสองฝ่ายรับฟังกันได้ ไม่ว่าจะด้วยสุนทรียสนทนา หรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนพูดคุยความเห็นในระดับเล็กหรือใหญ่ เมื่อนั้นความขัดแย้ง โมโหโกรธา หม่นหมองข้องใจใด ๆ ก็จะได้รับการเยียวยา

เพราะการใช้ภาษาอย่างชาญฉลาดจะผสานรอยร้าวที่แยกแตกคนเป็นหลายฝ่าย หาจุดร่วมกันในความเห็นที่ไม่เคยลงรอย แล้วนำไปสู่การเข้าใจกันและกันในที่สุด