เลือดแห่งการตีตรา - Decode
Reading Time: 3 minutes

อย่าไปเป็นนะกะเทย อย่าไปเป็นนะเกย์

เป็นแล้วเดี๋ยวก็ไปขายตัวแล้วก็เป็นเอดส์ตายอีก

ดูสิขนาดกาชาดเขายังไม่รับบริจาคเลือดเลย แสดงว่าเลือดมันชั่วแค่ไหนเขาถึงไม่เอา

เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศไทยพบกับวิกฤตเลือดหมดคลังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางกลุ่มถูกกีดกันการบริจาคเลือด พร้อมข้อความที่ระบุว่า ‘ไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร’ บนเว็บไซต์ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย เพราะเพศสภาพของพวกเขา

De/code ได้ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับ ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ พนักงานขายบริการและนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เกี่ยวกับประเด็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในกระบวนการบริจาคเลือด ที่มาในรูปแบบการตีตราบุคคลเพศหลากหลาย เข้ากับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ซ้อนทับแต่ไม่ซับซ้อน

“ตั้งแต่มีคำว่าเกย์กะเทยขึ้นมาบนโลกใบนี้ คำที่ติดตัว ตีตรา และเหมารวมคือคำว่า เกย์กะเทยเป็นบาป เป็นเอดส์ตาย แล้วก็ยังจะเป็นผู้มักมากในกาม” พี่ต้น ว่า

ประวัติศาสตร์การตีตราเพศหลากหลายในไทยนั้นมีมานานชนิดที่ว่าหากให้หาต้นตอก็คงจะหาไม่เจอ ทว่าผลผลิตที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นนั้นกลับเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นทางภาษาและคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง และลดทอนความเป็นมนุษย์ การสร้างนโยบายและระเบียบในสังคมที่ผลักไสให้เป็นคนชายขอบ หรือการระบายภาพว่าพวกเขามีตราบาปติดตัว ที่ทำให้ทั้งเขาและคนรอบข้างต้องทนทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต

ทว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถือเป็นก้าวสำคัญในฐานะเหตุการณ์ที่ส่งต่อมรดกการเหยียดหยามและมองคนไม่เท่ากันมาจนถึงวันนี้ ก็เป็นเหตุการณ์ใดไปไม่ได้เลยนอกจาก การแพร่ระบาดของ โรคเอดส์ หรือการติดเชื้อ HIV เมื่อปี 2527 หลังพบผู้ป่วยเอดส์รายแรกเป็นชายรักชายอายุ 28 ปี ที่เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้การตีตราเพศหลากหลายในสังคมไทยเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

“พอเป็นเกย์เขาก็เลยหาว่าเกย์เป็นผู้แพร่เชื้อ และถ้าใครเป็นเกย์ก็เป็นเอดส์ตาย เป็นพวกมักมากในกาม ทำให้มีอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าเพศอื่น มันมาพร้อม ๆ กันเป็นแพ็คเกจการตีตราในหน้าประวัติศาสตร์ไทย” พี่ต้น เสริม

และเมื่อไม่นานมานี้ประวัติศาสตร์ก็ได้ซ้ำ ประวัติศาสตร์กลับไม่เปลี่ยน เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคที่ชื่อว่า ฝีดาษลิง หลังผู้ตรวจพบเชื้อเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมากับคำตีตราอีหรอบเดียวกับตอนรู้จักโรคเอดส์ใหม่ ๆ ไม่มีผิดเพี้ยน

อย่างไรก็ตามการตีตรากลุ่มคนเข้ากับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีแค่เพศหลากหลายเท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่มักถูกตราหน้าว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้ออย่างมีนัยยะสำคัญก็คือ คนขายบริการทางเพศ เพราะคนทั่วไปมักมองว่า พวกเขามีเพศสัมพันธ์มากกว่าคนอื่น ทั้งยัง ไม่มีความรู้ ปฎิเสธที่จะป้องกัน และ เห็นแก่เงิน

“สมมตินะ มีคนมาบอกว่า ไม่ใส่ถุงยางอนามัย เพิ่มให้ห้าร้อย คนก็คิดว่า Sex worker น่าจะเอา แต่ความเป็นจริงแล้ว ตามสถิติของสาธารณะสุข Sex Worker เป็นคนที่มีโอกาสติด HIV น้อยกว่ากลุ่มอื่นด้วยซ้ำไป” 

พี่ต้น ยืนยัน ก่อนเสริมว่า สังคมมักหลงลืมว่า ไม่ว่าจะใคร เพศไหน ที่ทำอาชีพอะไรก็ตามแต่ ถึงจะใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ 100% เพราะยังมีโรคทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบริเวณอื่นนอกจากอวัยวะเพศอยู่ด้วย ดังนั้นการตีตราและดูแคลนว่าคนขายบริการทางเพศจะเห็นแก่เงินจนไม่ป้องกัน และเป็นผู้แพร่เชื้อหลักก็อาจจะผิดที่ผิดทางไปหน่อย

โดยหากอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจาก HIV INFO HUB เว็บไซต์ที่พัฒนาโดยกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและระบบข้อมูล  กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะพบว่า พนักงานบริการชายมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ 3.8% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากบุคคลหนึ่งมีอัตลักษณ์ทับซ้อนที่เป็นทั้งผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ขายบริการ บุคคลนั้นก็จะโดนสังคมตีตราแบบยกกำลังสองโดยทันที

“ถ้าเป็นเพศหลากหลายที่ขายบริการ โดนหนักกว่าเดิมแน่นอนค่ะ อีกหนึ่งภาพเหมารวมของ LGBT คือไม่ประสบความสำเร็จ โตขึ้นก็ต้องขายตัวกิน ภาพแบบนี้มันก็จะตามมาพร้อม ๆ กัน แล้วพอแนวคิดเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำไปซ้ำมา สังคมมันก็จะตีตราไปโดยอัตโนมัติแบบทับซ้อน สองชั้น สามชั้นไปเลย”

วิวัฒนาการถอยหลัง

“พี่เคยโดนรอบนึงที่เชียงใหม่ รอบแรกคือไม่ผ่านเลย เขาเห็นเดินมาเป็นกะเทยเขาไม่เอาแล้ว ไม่แม้กระทั่งจะได้กรอกคัดกรอง แต่มารอบสามรอบสี่พี่ไม่ยอม พี่ก็เข้าไป เขาก็กลัวเราด่าเลยให้เราเข้าไปพร้อมแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงโดยใช้หลักว่า เวลากากบาทว่าคุณเคยมีเพศสัมพันธ์ตรงทวารหนักกับเพศชายหรือไม่ ก็กากบาทว่าไม่เคย ก็จบ”

นี่คือประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติของพี่ต้นในฐานะหนึ่งในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ประกอบอาชีพเป็นคนขายบริการ หลังกาชาดอ้างตามหลักสากลที่ประเมินออกมาแล้วว่า กลุ่มชายรักชาย (mlm) ที่ไม่ว่าจะเป็นชายไบเซ็กชวลหรือเกย์ ก็เป็นบุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HIV สูงมากกว่ากลุ่มอื่น

“ถ้าเรามีใจจะไปบริจาคเลือด เราไม่ใส่อาชีพอยู่แล้ว ตามหลักการของกาชาดเขาไม่ได้กีดกันคนขายบริการ แต่เขากีดกันคนบางเพศแบบเฉพาะเจาะจง”

พี่ต้น ว่า ฉะนั้นหากอ้างอิงจากคำกล่าวของพี่ต้นแล้ว จะพบว่าเรื่องอาชีพไม่เป็นปัญหา แต่จะเป็นที่เพศเสียมากกว่าในบริบทประเทศไทย อย่างไรก็ตามกาชาดไทยไม่กีดกันแค่เพียงกลุ่มชายรักชายอีกต่อไปแล้ว หากแต่ห้ามมิให้คนข้ามเพศบริจาคเลือดด้วยเช่นกัน

ถ้าให้เรียกว่าเป็นวิวัฒนาการแบบถอยหลังก็คงไม่เกินจริง

“คือทุกอย่างมันอยู่ที่เอกสาร ตรงเพศสัมพันธ์พี่ก็แค่ไม่ติ๊ก บอกเขาว่า ‘ไม่เคยครับ’ มันก็จบ แต่คนที่เจอปัญหาจะเป็นผู้ชายข้ามเพศกับผู้หญิงข้ามเพศอย่างนั้นเขาชัดเจน เพราะถ้าเป็นเกย์ยังอ๊อบแอ๊บได้ แต่การแต่งกาย รูปลักษณ์ของคนข้ามเพศยังไงเขาก็โดนปฏิเสธตั้งแต่เริ่มต้นเลย”

ในส่วนนี้พี่ต้นยังเล่าให้ฟังอีกว่า มีหนังสือปฎิเสธการรับเลือดถึงเครือข่ายผู้ชายข้ามเพศ โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มคนข้ามเพศใช้ฮอร์โมนมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้มีครรภ์ และเด็กในท้องได้ 

“ก่อนหน้านี้ผู้มีหญิงข้ามเพศได้บัตรผู้บริจาคเลือดที่เขียนถ้อยคำตีตราว่า ‘ไม่สามารถบริจาคเลือดได้อย่างถาวร’ น่าเกลียดนะพี่ว่า มีประทับตรามาอีก เป็นพี่คงไม่พกหรอกนะ” พี่ต้น เสริม

และเมื่อโอกาสเสี่ยงเลือดเสียสูงกว่า ก็ย่อมมีปัญหาเรื่องงบประมาณตามมา อย่างไรก็ตามสิ่งที่กาชาดทำกลับไม่ใช่ความพยายามลดแรงต้านเหมือนในต่างประเทศที่มีการอนุโลมให้หากชายรักชายไม่มีเพศสัมพันธ์ และคนข้ามเพศไม่ได้รับฮอร์โมนในช่วง 3 เดือน หากแต่กีดกันไปตั้งแต่แรกเพื่อตัดปัญหา

“พี่ว่ามันแปลกมาก กระบวนการทางการแพทย์คุณจะไม่ตรวจอะไรหน่อยเลยหรอ ไม่ว่าจะหญิง ชาย หรือเพศหลากหลาย ไม่ว่าใครก็กินฮอร์โมน กินอาหารเสริมด้วยกันทั้งนั้น หรือชายหญิงก็มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้ แต่เขาก็ยังมุ่งเป้าไม่ให้บุคคลข้ามเพศและชายรักชายเป็นหลัก

“ในต่างประเทศถึงจะมีอนุโลม แต่คำถามมันก็เหมือนเดิมอะพี่ว่า คนเรามันโกหกได้ มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพื่อให้ภาพลักษณ์เขาดีขึ้นแค่นั้นเอง แต่พอมองประเทศไทยก็เป็นประเทศขี้เกียจเนอะ ขี้เกียจจัดการเพิ่ม ขี้เกียจเปลี่ยนแปลง นี่พี่ก็ตีตราเขานะ (ขำ)”

มากกว่าลมปาก คือมรดกที่ส่งต่อ

“การไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศและชายรักชายบริจาคเลือดเป็นการเลือกปฏิบัติ และลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเหตุแห่งเพศอย่างชัดเจน โดยใช้ภาพเหมารวมและอคติทางเพศเป็นตัวตัดสินมากกว่าความเป็นจริง

“ทุกคนควรได้เข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ได้รับการคัดกรองอย่างเท่าเทียมกัน แต่นี่ดันใช้อคติทางสังคมมาตัดสินไปก่อน มันไม่ยุติธรรมอยู่แล้วค่ะ” 

พี่ต้นยืนยัน ก่อนอธิบายเพิ่มว่านโยบายและระเบียบปฏิบัติเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการผลิตซ้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำ และย้ำมายาคติทางลบที่ถูกหล่อหลอมมา หากแต่ยังเป็นหลักฐานให้กับสังคมที่มีอคติต่อเพศหลากหลายหยิบยกขึ้นมาอ้างเมื่อต้องการแสดงการไม่ยอมรับต่อไป

เป็นมรดกแห่งการเหยียดที่ประทับไว้ในเชิงวิชาการ ที่ส่งผลต่อระบบโครงสร้างทางสังคมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งการออกนโยบายต่าง ๆ เพราะมันเป็นหลักฐาน

“พ่อแม่ก็จะบอกว่า อย่าเป็นกะเทยนะ ถ้าเป็นมันจะไม่ดี ขนาดกาชาดเขายังไม่รับเลือดเลย เขาก็จะสอนลูกแบบนี้ พอไปโรงเรียนครูก็จะสอนว่าใครเป็นกะเทยก็จะเป็นเอดส์ตาย โตขึ้นไปก็ทำได้แค่ขายบริการ เห็นไหมกระทั่งกาชาดเขายังไม่รับเลือดเลยมันส่งผลต่อการเรียนรู้ของสังคม และกดทับเพศหลากหลายไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุดเพราะมันเป็นหลักฐานสำคัญว่ากาชาดมีทั่วโลกอะ

“อย่าลืมนะว่าเวลาเขาอ้าง เขาอ้างเชิงวิชาการว่า ‘เนี่ย กลุ่มนี้เสี่ยงมากกว่า’ แต่เสี่ยงมากกว่าแล้วยังไงอะ ทุกคนมีความเสี่ยงเหมือนกันหมด แล้วทำไมคนบางกลุ่มถึงโดนกีดกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”

ไม่ว่าใครก็คือคน

ทางออกที่พี่ต้นอยากเห็นนั้นเรียบง่าย หากแต่ทำยาก นั่นก็คือการยกเลิกระเบียบที่กีดกันนี้ไป แล้วให้ทุกคนที่มีใจอยากบริจาคเลือดได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองอย่างเท่าเทียมกัน ใครจะเป็นเลือดแบบไหนก็ให้เป็นไปตามกระบวนการทางการแพทย์ในการตรวจสอบ

“เวลาชายหญิงไปบริจาคเลือดก็ใช่ว่าเขาจะใช้เลือดนั้นทันที เขาก็ต้องเข้ากระบวนการอยู่ดี แต่นี่ปิดกั้นตั้งแต่เริ่มแรก มันไม่ยุติธรรมในเมื่อกระบวนการทางการแพทย์มันมีอยู่แล้ว แต่มันมีกฎประหลาดที่ละเมิดสิทธินี่ขึ้นมา ก็แค่ยกเลิกมันไป”

พี่ต้น กล่าว ก่อนเสริมว่า ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบายและออกกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ผ่านการเอาสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้งแล้วออกแบบตาม หาใช่การออกแบบตามเพศ ให้มนุษย์ทุกคนได้รับสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกันแทนการออกแบบตามกรอบเพศทวิลักษณ์ กล่าวคือ ชายหญิงจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ในขณะที่ผู้ที่มีความลื่นไหลหรือปฏิเสธกรอบเพศตามขนบกลับถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ มากมายไปโดยปริยายในกฎหมายที่มองไม่เห็นตัวตนของพวกเขาแม้แต่น้อย

“ยกเลิกกฎละเมิดสิทธิทุกสิ่ง เริ่มต้นได้เลยที่กาชาด หรือมาตรา 17 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่อนุญาตให้สามารถเลือกปฏิบัติได้ด้วยเหตุแห่งศาสนาและความมั่นคง มีหลายอย่างที่รัฐทำได้เพื่อมองเห็นทุกคนเป็นคนเท่ากันค่ะ”

แต่จะเปลี่ยนที่รัฐอย่างเดียวโดยที่สังคมยังคงเต็มไปด้วยอคติก็คงไม่ได้ ก่อนจะจากกันไปพี่ต้นจึงบอกว่า การลบอคติที่ถูกฝังรากลึกมานานนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ไม่มีสิ่งใดสายเกินไปในสังคมที่อยากเปลี่ยนแปลง

“เวลาเรากรีดเลือดออกมามันเป็นสีแดงเหมือนกัน ไม่มีกลุ่มเพศหลากหลายคนไหนกรีดเลือดออกมาแล้วเป็นสีม่วง สีชมพู เมื่อเรามองว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกันแล้ว เราจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและเคารพกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากเอาไว้”