เลือกตั้งที่บราซิล: ภาพสะท้อนการเมืองโลก - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ผลการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาท่ามกลางความลุ้นระทึกของคนบราซิลและผู้สังเกตการณ์ทั่วโลก แคมเปญหาเสียงครั้งนี้เป็นไปอย่างตึงเครียด เผ็ดร้อน รุนแรง และยืดเยื้อ กระทั่งต้องตัดสินใจการเลือกตั้งรอบที่สองเพื่อหาผู้สมัครที่ชนะเสียงข้างมากเด็ดขาด (บราซิลใช้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสองรอบแบบเดียวกับประเทศฝรั่งเศส คือในรอบแรก หากไม่มีผู้ชนะที่ได้เสียงเกินครึ่งของผู้ลงคะแนน จะต้องมีการแข่งขันในรอบที่สอง)

ด้วยจำนวนประชากรกว่า 200 ล้านคนทำให้บราซิลเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอันดับ 4 บวกกับการเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคทำให้การแข่งขันครั้งนี้ถูกจับตาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะผลการเลือกตั้งย่อมส่งผลสะเทือนกว้างไกลในโลกที่มีการขับเคี่ยวทางอุดมการณ์อย่างร้อนแรงในสมัยปัจจุบัน

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าอดีตประธานาธิบดีลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือที่เรียกขานกันสั้น ๆ ว่า “ลูลา” ซึ่งมีแนวนโยบายมาทางซ้าย สามารถโค่นนายชาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัด และมักถูกเรียกว่าเป็น “ทรัมป์แห่งบราซิล” ลงได้สำเร็จ (ผมเคยเขียนถึงโบลโซนาโรแล้วในคอลัมน์นี้เกี่ยวกับความล้มเหลวของเขาในการจัดการปัญหาการระบาดโควิด)

แม้ว่าลูลาจะชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ง่ายที่จะบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก (deep polarization) ดังสะท้อนได้จากคะแนนการเลือกตั้ง ที่มีคนเลือกเขามาเกินกึ่งหนึ่งอย่างฉิวเฉียด คือ 50.9% ในขณะที่ผู้แพ้อย่างโบลโซนาโร ยังคงได้คะแนนมาสูงถึง 49.1% ทั้งที่เขาดำเนินนโยบายเอียงขวาอย่างสุดโต่ง ทั้งปลุกกระแสความเกลียดชัง บั่นทอนการทำงานของสถาบันประชาธิปไตย โจมตีชนกลุ่มน้อย มีทัศนะเหยียดเพศหญิง มีลักษณะอำนาจนิยม ล้มเหลวในการบริหารประเทศช่วงโควิดจนทำให้คนบราซิลเสียชีวิตจากโรคระบาดโควิด-19 สูงเป็นอันดับสองของโลก (รองจากสหรัฐฯ เท่านั้น) สนับสนุนการครอบครองอาวุธปืน สนับสนุนการรัฐประหารในอดีต และยังมีแนวนโยบายที่เอื้อการลงทุนของกลุ่มทุนโดยไม่สนใจด้านการปกปักรักษาป่าแอมะซอนซึ่งเป็นปอดของโลก จนทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วในสมัยที่เขาครองอำนาจ

การเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของบราซิลในทศวรรษ 1980 ที่ประธานาธิบดีผู้ดำรงตำแหน่งไม่สามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้แล้ว ยังเป็นการแข่งขันที่ผลการเลือกตั้งออกมาสูสีมากที่สุดด้วย สะท้อนสังคมที่แบ่งขั้วสูงมากขึ้นกว่าในอดีต

ภาวะการแบ่งแยกแตกขั้วรุนแรงเช่นนี้สะท้อนให้เห็นผ่านการแข่งขันเลือกตั้งในหลายประเทศ ไม่ว่าจะในเกาหลีใต้ สหรัฐ ฯลฯ รวมถึงในประเทศไทยของเราด้วย

นักวิชาการในหลายสาขาทั่วโลกหันมาสนใจสภาพการเมืองแบ่งขั้วเช่นนี้มาสักพักแล้ว โดยแนวโน้มเริ่มปรากฏชัดตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์การลงประชามติ Brexit การขึ้นมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาในลาตินอเมริกาและในภูมิภาคอื่น ๆ เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน

เวลาเราพูดถึงการเมืองแบบแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก เราไม่ได้พูดถึงการแบ่งข้างหรือความขัดแย้งแบบปรกติ เพราะขึ้นชื่อว่าการเมือง อย่างไรเสียก็หนีความขัดแย้งไม่พ้น แต่ในสังคมที่มีภาวะแบ่งขั้วร้าวลึกนั้น การเมืองจะไม่ใช่การแข่งขันในเชิงนโยบายแบบปรกติอีกต่อไป แต่มันจะถูกทำให้เป็นเสมือน “สงคราม” ระหว่างฝ่ายเขากับฝ่ายเรา ระหว่างมิตรกับศัตรู การเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องขาวกับดำ จนไม่เหลือพื้นที่ตรงกลางอีกต่อไป ในสังคมเช่นนี้ การแข่งขันทางการเมืองจะตึงเครียดและเร่าร้อน เพราะต่างฝ่ายต่างมองว่าเดิมพันของการขับเคี่ยวเอาชนะกันนั้นสูงเหลือเกิน หากฝ่ายตรงข้ามชนะ ฝ่ายเราจะไม่เหลือที่ยืน โลกจะแตกสลาย จึงจะต้องเอาชนะกันให้แตกหักกันไปให้จงได้

สังคมใดที่เข้าสู่ภาวะแบ่งขั้วร้าวลึกแล้ว ยากที่จะก้าวออกมาได้ง่าย ๆ เปรียบเสมือนกับดักขั้วตรงข้าม ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อสายใยทางสังคมระหว่างผู้คน การเมืองก็เป็นอัมพาตและอ่อนแอ ขับเคลื่อนอะไรก็ไม่ได้เพราะไม่มีเจตจำนงร่วมกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่จะทำงานร่วมกัน และเศรษฐกิจก็มักจะหยุดชะงักหรือกระทั่งถดถอยเพราะความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและสภาวะไร้ฉันทามติเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศ   

 

อุปสรรคของการลดความแตกแยกแบ่งขั้วในการเมืองบราซิลในยุคของลูลานั้นมีหลายประการ เริ่มตั้งแต่การบริหารเศรษฐกิจให้ทุกฝ่ายพอใจ สังคมบราซิลนั้นมีความเหลื่อมล้ำสูงมากประเทศหนึ่งของโลก ในยุคที่เขาเคยเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรกและสมัยสอง เขาได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะผู้นำขวัญใจคนจน เพราะมีนโยบายหลายอย่างที่ช่วยคนบราซิลหลายสิบล้านคนหลุดพ้นจากความอดอยากยากจนมาได้ ผ่านการสร้างสวัสดิการสังคม การให้เงินช่วยเหลือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โครงการบ้านและอาหารสำหรับครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งเขาหาเสียงในรอบนี้ว่าจะรื้อฟื้นโครงการเพื่อคนจนเหล่านี้กลับมาใหม่ทั้งหมด แต่จะนำรายได้มาจากไหน คำตอบก็คือ เขาประกาศจะเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อนำมาใช้จ่ายสร้างระบบสวัสดิการทางสังคม ซึ่งการดำเนินแนวทางนี้ แน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งแรงต่อต้านจากภาคธุรกิจ ชนชั้นสูง และชนชั้นนำในสังคม

อีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่คือ กระแสความนิยมในตัวโบลโซนาโร ซึ่งยังมีฐานประชาชนสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น และพรรคขวาจัดของเขาก็เป็นพรรคที่กุมเสียงมากที่สุดในสภา การที่รัฐบาลฝ่ายก้าวหน้าของลูลาจะผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย หลังผลการเลือกตั้งออกมา โบลโซนาโรยังมีท่าทีที่ไม่แสดงความยินดีกับลูลาทันที แถมผู้สนับสนุนเขายังขับรถบรรทุกไปปิดถนนหลายจุดทั่วประเทศเพื่อประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จนทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบเหตุบุกรัฐสภาในประเทศสหรัฐฯ ของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จนเป็นที่อื้อฉาวไปทั่วโลก

ความกลัวเช่นนี้แม้จะสงบลงชั่วคราว แต่ก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะตลอดเวลาที่โบลโซนาโรอยู่ในอำนาจ เขามักจะจงใจสร้างข่าวปลอมและเผยแพร่ข้อมูลเท็จอยู่ตลอดเวลาว่า มีความพยายามโกงเลือกตั้งในบราซิลเพื่อสกัดกั้นเขาและโค่นล้มเขา เขามักจะกล่าวว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะเอาเขาลงจากตำแหน่งได้ การปลุกกระแสให้ผู้สนับสนุนเขาเชื่อ (ทั้งที่ปราศจากหลักฐานใด ๆ ) ว่าเขาถูกโกงเลือกตั้งนี้นับว่าบั่นทอนสถาบันและกระบวนการประชาธิปไตยของบราซิลอย่างมาก (เช่นเดียวกับที่ทรัมป์ทำในสหรัฐฯ) ผลการสำรวจล่าสุดพบว่าผู้สนับสนุนโบลโซนาโรถึง 3 ใน 4 ไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้ง

ความแตกแยกร้าวลึกในบราซิลจึงเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ และเป็นภาพสะท้อนของการเมืองในโลกยุคปัจจุบัน ที่ภาวะเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และเทคโนโลยีการสื่อสารได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้แต่ละสังคมตกอยู่ในสภาพแบ่งขั้วสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อดีของสังคมการเมืองบราซิลคือ ไม่ว่าจะขัดแย้งรุนแรงกันเพียงใด แต่คนไม่ยอมรับการแก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหารอีกต่อไป การยึดอำนาจด้วยกำลังของกองทัพเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในบราซิลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 (ซึ่งส่งผลให้ทหารเข้ามายึดครองอำนาจยาวนานถึง 21 ปี) ซึ่งในตอนนั้นทั้งชนชั้นกลาง นักธุรกิจ และสื่อมวลชนล้วนสนับสนุนการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของทหาร แต่ในยุคปัจจุบัน ไม่มีกลุ่มใดสนับสนุนการรัฐประหารอีกต่อไป ทำให้สังคมยังเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ถอยหลังเข้าคลอง