'อูยองอู' ไม่ได้อยู่ในชีวิตจริง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ท่ามกลางกระแสซีรีส์เกาหลีเรื่องดังที่พูดถึงบุคคลออทิสติก ไม่เพียงแต่มีความจำที่โดดเด่นและความสามารถเข้าขั้นอัจฉริยะ แต่เรื่องราวยังดำเนินไปรอบ ๆ คนใกล้ชิด เพื่อน ครอบครัว หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ในรูปแบบคนรักได้อย่างน่าสนใจ ชวนให้พวกเราแฟนซีรีส์สงสัยว่าในชีวิตจริงนั้น คนออทิสติกกำลังเผชิญกับอะไร แตกต่างจากตัวละครที่ปรากฎในหน้าจอมากน้อยแค่ไหน มีความจริงระหว่างบรรทัดในบทสนทนาของตัวละครหรือไม่ ? 

De/code พาไปสำรวจโลกอีกใบที่ทับซ้อนกับชีวิตปรกติประจำวันของเรา ผ่านบทสนทนากับ ชัชชญา สิริวัฒกานนท์ หรือ บลูม NGOs ที่ทำงานในประเด็นแรงงานกับองค์กรระหว่าประเทศ ผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นออทิสติก และนอน-ไบนารี่ (Non-binary) 

ออทิสติก + นอน-ไบนารี สำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชาย-หญิง

เมื่อบลูมอายุ 5 ขวบ หมอวินิจฉัยว่าเธอมีอาการออทิสติก บลูมบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้นั้นไม่ง่ายเลย บลูมตอบตัวเองในเวลานั้นได้ว่าตัวเองอาจไม่ได้ชอบเล่นเหมือนเด็กผู้หญิงในวัยเดียวกันได้อย่างไม่ยากเย็น บลูมใช้สรรพนาม They / them ในการเขียนอีเมลล์ที่ทำงาน นิยามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็น Non-Binary แต่เพิ่งจะไม่กี่ปีมานี้เอง ที่เขาเปิดเผยกับสังคมอย่างสนิทใจว่าตัวเองเป็นออทิสติก

“มันยากกว่ามาก อย่างน้อยเรื่องเพศสังคมค่อนข้างเป็นเรื่อง ‘Main Steam’ แล้ว มีความเข้าใจเกิดขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว ในขณะที่ 1 ใน 5 ของ Non-Binary นิยามตัวเองว่าเป็นออทิสติก สังคมส่วนใหญ่ก็ยังคงมีภาพจำต่อคนออทิสติกว่าถ้าไม่อัจฉริยะไปเลย ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปเลย  และซีรีส์เรื่องนั้นก็ยิ่งตอกย้ำกับสังคมว่า เรามีอัตลักษณ์ มีบุคลิกภาพกันแค่นั้นจริง ๆ”

นี่คือความหลากหลาย เหมือนเรื่องเพศ ออทิสติกเองก็มีเฉดสีเป็นแบบ SPECTRUM

“ไม่อยากให้มองว่าออทิสติกเป็นโรค อยากให้มองว่าเป็นความหลากหลายของระบบประสาท เหมือนความหลากหลายในเรื่องเพศ มีเฉด มีความต่าง มันคืออัตลักษณ์ คือตัวตนของเรา ไม่อยากให้มีภาพจำว่าออทิสติกมีแค่สองแบบ คือถ้าไม่อัจฉริยะไปเลยก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปเลย” บลูมเริ่มอธิบายให้เข้าใจภาพกว้างของเรื่องราวอย่างเป็นมิตร 

อย่าปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษา ให้สนับสนุนพวกเราแทน ให้การเรียนรู้ การเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ มันง่ายสำหรับเรามากขึ้น เช่น บางคนอ่อนไหวต่อเสียงดัง ก็ช่วยลดเสียงให้เขา ถ้าบางคนชอบหยิบจับ ก็อาจหาอะไรให้เขาถือ แนวคิดการรักษาออทิสติก มาจากรากเดียวกันกับที่อยากรักษาคนที่เป็นเกย์ให้กลับมาชอบผู้หญิง การพยายามทำลายอัตลักษณ์ ทำเหมือนคนออทิสติกเป็นโรคอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าหรือการฆ่าตัวตายได้ มีหลายคนที่กำลังเจอกับปัญหาแบบนี้ พยายามให้แน่ใจว่าการทำงาน การสื่อสาร มันเป็นมิตรกับเขาจะดีกว่าการมองว่าเขาป่วยเป็นโรค แล้วพยายามรักษาเขาให้หายจากโรคนี้”

เฉดสีของความหลากหลาย อัตลักษณ์ที่ทับซ้อน

ดูไม่เหมือนคนเป็นออทิสติกเลย ถ้าไม่บอกก็มองไม่ออก นี่อาจเป็นความรู้สึกชุดแรกเมื่อเราได้ทำความรู้จักกับบลูม

ความน่าสนใจจึงไม่ใช่เพราะบลูมมีรูปลักษณ์ภายนอก การแต่งตัว น้ำเสียง วิธีการพูดคุยเป็นอย่างไร แต่เรามีภาพจำกับคนออทิสติกแบบไหนมากกว่า บลูมชวนเรามองเปรียบเทียบเรื่องความหลากหลายของระบบประสาท เหมือนความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ เราอาจจะเจอคนออทิสติกที่เก่งเลข จนถึงเกลียดเลข เราอาจจะเจอคนออทิสติกที่ชอบไปดูคอนเสิร์ตมาก ๆ จนถึงเกลียดเสียงดัง แม้แต่ในประเทศไทย เรามีคนออทิสติกที่เก่งเรื่องการสื่อสาร สามารถทำหน้าที่เป็นล่ามได้ดี ชอบเข้าสังคมและลงประกวดเวทีนางงามมาจนเจนสนาม บางคนอาจต้องการความช่วยเหลือแค่ขอให้แจกแจงงานให้ละเอียด (เหมือนที่เราอยากจะอ้อนวอนขอเจ้านายและลูกค้าของเราเหมือนกัน) 

อูยองอูที่หายไประหว่างบรรทัด

เมื่อซีรีส์เรื่องนี้ออกฉาย คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีในแวดวงของคนออทิติกคือ ทำไมทีมงานไม่คัดเลือกนักแสดงออทิสติกจริง ๆ มารับบทอูยองอู ?

เรามีนางแบบ มีนางงาม มีนักคณิตศาสต์ มีจิตรกร มีนักดนตรี มีล่ามที่เป็นออทิสติก ข้อกังวลเรื่องของความสามารถหรือไม่มีคนออทิสติกที่สนใจจะทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงตัดทิ้งไปได้เลย กำแพงด่านสุดท้ายที่เหลืออยู่ คือทัศนคติของคนที่อยากทำซีรีส์เกี่ยวกับคนออทิสติก แต่ขาดความเข้าใจและมีภาพจำที่ผิด ๆ เกี่ยวกับออทิสติกเสียเอง

ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนซีรีส์วายที่ตัวละครเอกมักมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นคนตรงเพศ (straight) หรือไม่ แม้แต่บุคลิกของอูยองอูก็เป็นการสร้างภาพจำที่อันตราย ต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เป็นอัจฉริยะที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นปรกติ มีความชอบอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ ภาพลักษณ์ที่ตอกย้ำตลอดหลาย 10 ตอนนี้จึงอาจสร้างภาพจำที่ตกหล่นความเข้าใจเกี่ยวกับคนที่เป็นออทิสติกไปอย่างน่ากังวล

“มีเรื่องหนึ่ง คือตัวละครเอกไม่มีปากเสียง โดนเอาเปรียบ โดนรังแกบ่อยมาก อยากจะบอกว่าความจริงมีคนออทิสติกจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิและเสียงของตัวเอง พวกเราสู้มากนะ” บลูมหัวเราะพลางชี้ให้เห็นว่า เราต่างมีความผิดปกติเป็นของตัวเอง การเข้าใจตัวเอง และโอบรับความหลากหลายของผู้อื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ในยุคหลังโควิด บุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากพบปัญหาของเด็กที่มีภาวะออทิสติกเทียม สมาธิสั้น มีปัญหาในการเข้าสังคม ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ยาก มีพัฒนาการต่าง ๆ ช้าเมื่อเทียบกับช่วงวัย ในยุคที่เราใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและอยู่กับหน้าจอเกือบตลอดเวลา เราอาจกำลังเจอกับปัญหาความท้าทายด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบประสาทและสมองมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งคนหนึ่งคนย่อมเผชิญหน้ากับภาวะและปัญหาที่มีความทับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นเรื่องของอัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) จึงอาจต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างจริงจังมากขึ้น

“คนหนึ่งคนอาจมีปัญหาในหลายระดับและหลากหลายมิติ  เช่น แรงงานข้ามชาติอาจเจอปัญหาการไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของเขา คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นแรงงานนอกระบบด้วย หรือพี่น้องชาติพันธุ์ที่ถูกบังคับให้เป็น sex worker ด้วย แม้แต่ตัวของผมเองที่เป็นออทิสติก และเป็น Non-Binary ด้วย แม้แต่คนในกลุ่มออทิสติกเอง ส่วนหนึ่งก็มีความเข้าใจเรื่องเพศน้อย หรือในมุมกลับกัน คนที่อยู่ในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็อาจไม่เข้าใจในประเด็นความหลากหลายของคนที่เป็นออทิสติกเช่นเดียวกัน” บลูมกล่าว

“ตอนเราไปต่างประเทศ ตามป้ายรถเมล์มีปุ่มให้กดฟังเสียงว่าอีกกี่นาทีรถเมล์สายอะไรจะมา มีอักษรเบรลล์สื่อสารกับคนตาบอดให้สามารถเดินทาง ช่วยเหลือตัวเองสะดวก การออกแบบที่คำนึงถึงทุกคน (universal design) จึงสำคัญมาก  รวมทั้งภาวะสมาธิสั้น ภาวะออทิสติกเทียม และความหลากหลายของระบบประสาทในรูปแบบอื่น ๆ เราอยากเห็นงานออกแบบที่คำนึงถึงความหลากหลายตรงนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน” 

รื้อมายาคติ personal preference ที่ไม่ ‘personal’ เสมอไป

เวลาที่เราบอกว่าเราอยากได้ลูกชาย แล้วเขาเลือกอัตลักษณ์ทางเพศแบบอื่นจากที่เราคาดหวัง บางทีเราต้องสำรวจเหมือนกันว่าเราไม่ได้แค่อยากได้ลูกชาย แต่เราอยากจะควบคุมไปถึงความชอบของลูกของเราด้วยรึเปล่า แม้แต่เวลาที่เราบอกว่ามันเป็นความชอบส่วนตัวของเรา อย่าลืมสังเกตที่มาของความชอบ ลองสำรวจดี ๆ ว่ามันมาจากไหน ตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่า “ทำไม” หรือ อะไรกำหนดความชอบของเราแบบนั้น เพราะเราต่างมีรสนิยมส่วนบุคคลกันได้ โดยไม่มีถูกผิด แค่รู้เท่าทันและอย่าใช้มันตัดสินความชอบของคนอื่นก็พอ

อย่ามองเราเป็น ‘วัตถุทำบุญ’ แค่เคารพเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

“มึงทำให้คนที่เป็นออทิสติกเสื่อมโทรม เพราะมีคนเพศแบบมึง” 

นี่คือคำพูดหนึ่งที่บลูมรับรู้ด้วยตนเองจากคนที่อยู่ในชุมชนออทิสติกด้วยกัน ประโยคนี้เป็นการสะท้อนความไม่เข้าใจในประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจนมาก ในประเด็นการทำความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อน จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน และต้องทำความเข้าใจมิติปัญหาของคนอื่น ๆ ในสังคมไปด้วยกัน ในส่วนของคนออทิสติกนั้น อย่ามองเราเป็นวัตถุทำบุญ ต้องแยกออกไปจากสังคม ต้องเอาไปรักษา ไม่อย่างนั้นคนออทิสติกจะเกลียดตัวเองมาก ไม่อยากให้มองว่าออทิสติกเป็นโรคที่ต้องรักษา ไม่เกี่ยวกับบุญกรรม อยากให้ช่วยอำนวยความสะดวก (facilitate) และเข้าใจว่าคนออทิสติกมีเฉดที่หลากหลายมากจริง ๆ อยากให้ช่วยทลายมายาคติและภาพจำเหล่านี้ไปด้วยกัน”

“ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องเพศ เรื่องออทิสติกอย่างทะลุปรุโปร่ง แค่เคารพในฐานะคนคนหนึ่ง ให้โอกาสตัวเองได้ทำความรู้จักเรา และให้เราได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างสมศักดิ์ศรีก็พอ”