'โอกาส' สร้างจากพื้นที่ร้าง - Decode
Reading Time: 3 minutes

WE GREEN by we!park

ยศพล บุญสม

หากเราลองสำรวจรอบเมืองของเราดี ๆ อย่างการลองเดินสำรวจไปตามซอกเล็กซอกน้อยของเมือง เราจะค้นพบว่า แท้จริงแล้วเมืองที่ดูหนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ ก็ยังมีพื้นที่ร้างที่รอการพัฒนาอยู่อีกหลายแห่ง ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะที่ดินขนาดเล็กที่แทรกตัวอยู่ตามชุมชน พื้นที่เหล่านี้ถูกทิ้งร้างเพราะส่วนหนึ่งยากต่อการพัฒนาเป็นอาคารสูงเนื่องจากเข้าถึงไม่ได้โดยรถยนต์ หรือเป็นที่ของเอกชนหรือรัฐที่กำลังรอโอกาสของการพัฒนาในอนาคตจากพื้นที่รอบ ๆ และในอีกกรณีคือที่เศษเหลือจากการพัฒนา เช่น จากการตัดถนน สะพาน ทางด่วน และทางรถไฟ 

ที่ดินเหล่านี้มีศักยภาพต่อการที่จะพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของเมืองในรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบริบท เพื่อฟื้นฟูย่านและเมืองในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ยิ่งด้วยภาษีที่ดินที่เกิดขึ้น กำหนดให้เอกชนที่เป็นเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีหากปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 0-50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.3% หรือคิดเป็นล้านละ 3,000 บาท เป็นต้น จึงเป็นตัวเร่งให้ที่ดินของเอกชนเหล่านี้ต้องนำมาพัฒนา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าช่องโหว่ทางกฏหมายทำให้เราเห็นการเปลี่ยนที่ดินร้างเหล่านี้ ด้วยวิธีที่ไม่ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์หรือเพิ่มศักยภาพให้กับเมืองนอกจากเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว บ้างถม บ้างตัดต้นไม้เดิม สู่การเป็นสวนเกษตร สวนกล้วย สวนมะนาว เพียงเพื่อต้องการลดหย่อนภาษีเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่หากมีมาตรการ แนวทาง (guideline) ตลอดจนนโยบายกระตุ้นจากรัฐ (incentive policy) ที่เหมาะสม จะสามารถสร้างการพัฒนาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันได้

เราไม่อาจฝากภาระและความหวังทั้งหมดไว้ที่รัฐในการเป็นทั้งผู้กำกับนโยบายและคุมทรัพยากร และเป็นผู้พัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะแต่เพียงผู้เดียว เพราะนอกจากจะไม่สอดคล้องกับความต้องการและปัจจัยที่หลากหลายของเมืองแล้ว ยังไม่สามารถทำได้ทันกับความท้าทายที่เมืองเผชิญ 

เราจึงจำเป็นต้องมีวิธีการของการพัฒนาที่ต่างไปจากเดิม 

1. Clear Goal 

กำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างเกณฑ์กับตัวชี้วัดในการกำกับการพัฒนาพื้นที่ร้างเหล่านั้นสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของเมือง ซึ่งต้องมีฐานข้อมูลที่ขัดเจนเพื่อชี้เป้าและมีมาตรวัดที่มากกว่าในเชิงปริมาณ แต่ต้องครอบคลุมในเชิงคุณภาพด้วย อย่างระยะการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ต้องเดินได้ใน 10-15 นาที รวมถึงความสามารถในด้านอื่น ๆ เช่น การเป็นพื้นที่ซับน้ำ การดูดซับคาร์บอน การกรองฝุ่น ตลอดจนสามารถช่วยกระตุ้นในทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ 

2. Connecting Resources with Multi-stakeholders 

เชิ่อมทรัพยากรและความร่วมมือจากหลาย stakeholder เพราะในเมื่อรัฐเองมีทรัพยากรทั้งเงิน ที่ดิน และองค์ความรู้ที่จำกัด มันจึงจำเป็นที่จะเชื่อมความสามารถและทรัพยากรที่สมาชิกในสังคมได้มีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพร่วมกัน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาชีพ วิชาการ 

3. Incentive Policy and Facilitator 

เพื่อกระตุ้นให้แต่ละภาคส่วนมาสร้างพื้นที่สีเขียวร่วมกัน รัฐจึงควรเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้คุมทรัพยากรมาสู่ผู้เอื้ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นผ่านการให้ Incentive Policy และสนับสนุนเครื่องมือที่หลากหลายต่อสมาชิกในสังคมให้เข้ามาแบ่งปันทรัพยกรที่แต่ละฝ่ายมี และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำพื้นที่สีเขียว เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี เงินทุนสนับสนุน การสร้างองค์ความรู้ การให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วม เป็นต้น 

4. Decentralize and Empowerment 

สิ่งสำคัญคือการกระจายอำนาจ องค์ความรู้ เครื่องมือ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพบุคลากรทั้งในภาครัฐและธุรกิจตลอดจนชุมชน เยาวชน วิชาชีพ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำพื้นที่สีเขียว ให้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สีเขียวให้เมืองต่อไปอย่างยั่งยืน

5. Evaluation 

ต้องมีการประเมินผลของการจัดทำพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อรัฐและสังคมว่าคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้จริงจากการลงทุนร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเหล่านั้น อีกทั้งเพื่อปรับปรุงแนวทางการทำงานและตัวชี้วัดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ 

6. Growing New Culture and Awareness 

การปลูกจิตสำนึกสาธารณะต่อการชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราได้จริง เห็นในวัฒนธรรมของการกระจายอำนาจและลงมือทำที่ใครๆ ก็สามารถมีส่วนในการสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวสาธารณะนี้ได้ ให้เป็นกระตุ้นค่านิยมที่จะสนับสนุนสิทธิ์และกระบวนการที่ทุกคนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเมืองร่วมกันได้ 

7. Platform 

เราอาจถึงเวลาที่ต้องมีกลไกกลางที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของรัฐ ที่จะมาเป็นผู้เชื่อมทรัพยากรของสมาชิกในเมืองเพื่อมาทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ

ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจากระบบการรวมศูนย์สู่การกระจายอำนาจและเชื่อมทรัพยากรให้ใคร ๆ ก็สามารถริเริ่ม ลงมือทำ ในการเปลี่ยนพื้นที่ร้างที่จะสร้างประโยชน์ต่อตัวเขาและสังคมไปพร้อมกันได้

เปลี่ยนวิธีการคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวแบบรายโครงการ สู่การสร้าง Ecosystem ที่ไม่ได้มองแค่การเปลี่ยนกายภาพ แต่ทำให้เกิดห่วงโซ่ของการทำ โดยมีเครื่องมือ มีguideline และยังสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถได้ประโยชน์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นรูป การสร้างพื้นที่รูปธรรม และการดูแลรักษา

ตัวอย่างกรณีศึกษาในการเปลี่ยนพื้นที่ร้างสู่พื้นที่สีเขียวสาธารณะขนาดเล็กใกล้บ้าน โดย we!park (Platform ในการเชื่อมทรัพยากร เพื่อทำให้คนไทยเข้าถึงสวนในระยะเดินถึง สนับสนุนโครงการโดย สสส.) 

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการทำให้คนทุกคนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะในระยะเดินถึงได้ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ร้างขนาดเล็กในชุมชนผ่านกระบวนการร่วมหารือและเชื่อมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน we!park ได้เข้าไปเป็นตัวกลางในการทำงานกับพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ 

  1. การขึ้นรูป (Initiate) ในการหาและวิเคราะห์ที่ดินผ่านการเดินสำรวจและประเมินจากฐานข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นเพื่อวางแนวทางการพัฒนา 
  2. การสร้างพื้นที่รูปธรรม (Implementation) ตลอดจนหานักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญ อันนำมาสู่การของบประมาณและการระดมทุน 
  3. การดูแลรักษา (Maintain) วางแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน

ปัจจุบันมีพื้นที่นำร่องอยู่ 5 พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ 

  1. สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ : สวนสาธารณะระดับชุมชน จากที่ดินบริจาคสู่ต้นแบบสวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park) ดำเนินการแล้วเสร็จผ่านการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพ โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้ให้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างร่วมกับการระดมทุนผ่าน platform “เทใจ”
  1. พื้นที่สวนสุขภาพชุมชนโชฎึก : เป็นพื้นที่ออกกำลังกายและสนามเด็กเล่นริมคลองผดุงกรุงเกษมของชุมชนบริเวณย่านตลาดน้อย ที่ผ่านการออกแบบร่วมกับนักศึกษาและนักออกแบบมืออาชีพด้วยการสนับสนุนงบก่อสร้างโดยภาคเอกชน 
  1. สวนป่าเอกมัย : สวนสาธารณะริมคลองแสนแสบที่พัฒนาจากพื้นที่เศษเหลือจากการตัดสะพานข้ามคลอง ที่พัฒนาแบบร่วมกับชุมชนจากแบบที่ชนะเลิศจากการประกวดแบบ (ปัจจุบันอยู่ในช่วงตั้งงบประมาณการก่อสร้างโดยกรุงเทพมหานคร) 
  1. ลานกีฬาแสงทิพย์ : ลานกีฬาใต้ทางด่วน (พื้นที่ร้างใต้ทางด่วนที่พลิกฟื้นสู่ลานกีฬาด้วยการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่และการสนับสนุนของเอกชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่กำลังขยายผลสู่ระยะที่ 2
  1. สวนสานธารณะ : พื้นที่สร้างสรรค์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากที่ดินเอกชนอนุญาตให้ใช้ชั่วคราว 12 ปี ที่นำมาสู่การระดมทุนและความร่วมมือในการเปลี่ยนพื้นที่กองขยะของย่านคลองสาน สู่พื้นที่เรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์ในย่านวัฒนธรรม ที่กำลังขับเคลื่อนสู่พื้นที่จุดรวม (node) แห่งใหม่ของชุมชนและย่าน ในการเป็นพื้นที่สุขภาวะและพื้นที่เอนกประสงค์ ทั้งสามารถเล่นกีฬา เป็นที่พักผ่อน เป็นแปลงปลูกผักสมุนไพร และเป็นพื้นที่คัดแยกขยะ เป็นต้น 

ทั้ง 5 พื้นที่นำร่องเหล่านี้ กำลังถูกถอดบทเรียนเพื่อขยายผลสู่การเปลี่ยนพื้นที่ร้างอื่น ๆ ทั่วกรุงเทพมหานครและในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผ่านกลยุทธ์ของการผสานทรัพยากรร่วมกัน เพื่อทำให้พื้นที่ร้างสร้างโอกาสให้กับทุกคนและเมืองอย่างแท้จริง ที่มุ่งหวังให้การทำพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อจากนี้ ไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้หรือเพิ่มขึ้นแค่ในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่คือโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่จะมาพลิกเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่อนาคตที่เราทุกคนมีส่วนในการคิดและสร้างไปด้วยกัน เป็นการลงทุนที่ต้องทำร่วมกันวันนี้ เพราะเวลาและทรัพยากรมีจำกัด ท่ามกลางความท้าทายที่มีมาก การผสานพลังลงมือทำร่วมกันอย่างชาญฉลาดจึงสำคัญยิ่ง