โครงสร้างพื้นฐาน 'สีเขียว' ในเมืองใหญ่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

WE GREEN by we!park

ยศพล บุญสม

การพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่แค่ปลูกต้นไม้คงยังไม่ดีพอ ท่ามกลางความท้าทายของเมือง แท้จริงแล้วพื้นที่สีเขียวเป็นได้มากกว่านั้น

ทุก ๆ ครั้งของการพัฒนาเมือง สิ่งที่เราจะสูญเสียไปไม่ใช่แค่ธรรมชาติหรือพื้นที่สีเขียว แต่คือความสามารถที่จะทำให้เมืองอยู่ร่วมกับความท้าทายของสิ่งแวดล้อมและโอกาสที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

การสูญเสียพื้นที่สีเขียวนำมาซึ่งปัญหาของสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องเกาะความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากป่าคอนกรีตที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและเข้ามาแทนที่พื้นที่ซับน้ำของเมือง ส่งผลต่อปัญหาน้ำท่วม ขาดพื้นที่ผลิตอาหารในเมือง ฝุ่นควันที่มากขึ้น ผู้คนขาดพื้นที่สุขภาวะที่จะทำให้เราได้ฟื้นฟูกายและจิตใจจากการได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ยังไม่นับรวมถึงการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ในเมืองที่ส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศเมืองที่เสียไป ที่นับวันความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเติบโตของเมืองยิ่งมีมากขึ้น รวมถึงปัญหาสภาวะโลกรวนที่เรากำลังเผชิญ 

มากกว่า ‘ปลูกต้นไม้’ คือฟื้นฟูเมือง

การสร้างพื้นที่สีเขียวให้เมืองจึงเป็นมากกว่าการปลูกต้นไม้ทำสวนสาธารณะหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณอย่างที่เราหรือรัฐเข้าใจ แต่มันมีนัยสำคัญต่อการฟื้นฟูเมือง เพิ่มขีดความสามารถของเมืองให้อยู่ร่วมและอยู่รอดอย่างยั่งยืนกับความท้าทายของสิ่งแวดล้อมเมืองที่กำลังมาถึง เราจึงต้องมีเป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่มากกว่าเชิงปริมาณ แต่คือกลยุทธ์ต่อการฟื้นฟูเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพของเมืองในหลากมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

พื้นที่สีเขียวจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) ที่สำคัญไม่แพ้โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเมืองอย่างถนนและระบบสาธารณูปโภคอื่น ที่เราต้องลงทุนอย่างจริงจัง

คำนิยาม ของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure : GI) การใช้ธรรมชาติ ในที่นี้คือพื้นที่สีเขียวมาใช้ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของเมือง GI จึงเป็นเสมือนโครงสร้างเชิงพื้นที่ที่นำเอาประโยชน์จากธรรมชาติมาสู่ประชาชน เราอาจแบ่งหน้าที่ของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวได้เป็น 4 ประเภท 

1. Social Infrastructure 

คือ พื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของคนทุกเพศทุกวัยให้เกิดกิจกรรมการรวมกลุ่ม กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ พื้นที่ประเภทนี้ได้แก่ ลานกิจกรรม พื้นที่สวนสาธารณะ และสนามเด็กเล่น 

2. Health Infrastructure 

คือ พื้นที่สุขภาวะ ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญา ของผู้คนในเมือง พื้นที่ประเภทนี้ได้แก่  สวนบำบัด สวนสุขภาพ และลานกีฬา 

3. Food Infrastructure 

คือ พื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัยให้ผู้คนในเมืองได้บริโภคอาหารที่ดีมีคุณภาพเพื่อสุขภาพที่ดี พื้นที่ประเภทนี้ได้แก่ พื้นที่เกษตรในเมือง (urban farm) ที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่ทำร่วมกันของคนเมือง และในขณะเดียวกันยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนไปด้วย

4. Environmental Infrastructure 

คือ พื้นที่ที่ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมือง ในการดูดซับน้ำในหน้าฝน ช่วยกรองฝุ่น ช่วยลดความร้อนให้เมือง ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ในเมือง 

ทั้งนี้ เราสามารถพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่ ๆ หนึ่งให้สามารถผสมผสานหน้าที่และมีหลายบทบาทร่วมกันได้ (multi-function) เพื่อให้การลงทุนคุ้มค่าต่อความท้าทายที่มีมากในเมือง และที่สำคัญเราสามารถผสาน Green Infrastructure เหล่านี้ไปกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของเมืองในหลากหลายขนาด Green Buffer ตั้งแต่พื้นที่โซนนิ่งของเมืองเพื่อกันไว้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ทำการเกษตร ที่นอกเหนือจะเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรแล้วยังช่วยกันการขยายตัวของเมืองให้กระชับอีกทางหนึ่ง 

  • Green Plain พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในเมือง เป็นสวนสาธารณะระดับเมืองที่รองรับคนและกิจกรรมจำนวนมาก อีกทั้งสามารถเป็นพื้นที่รับน้ำและพื้นที่ธรรมชาติของเมืองได้
  • Green Link พื้นที่ที่เป็นเส้นทางยาวพาดผ่านไปตามส่วนต่าง ๆ ของเมือง เพื่อเป็นทั้งสวน ทางจักรยาน และทางเดินเชื่อมต่อการสัญจร กิจกรรม ตลอดจนระบบนิเวศในเมือง 
  • Green Pocket พื้นที่ขนาดเล็กที่แทรกซึมไปตามชุมชนให้เข้าถึงได้ในระยะเดินถึง เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดไม่เกิน 2 ไร่ เป็นสวนสาธารณะในระดับชุมชนที่เน้นกิจกรรมให้ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ 
  • Green Building พื้นที่สีเขียวที่ผสานไปกับอาคารทั้งบนหลังคาและช่องเปิดต่าง ๆ ของอาคาร เพื่อให้การเติบโตของเมืองสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงส่งผลดีต่อคนที่อาศัยในอาคารนั้น ๆ แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองด้วย ซึ่งพื้นที่สีเขียวในอาคารเหล่านี้สามารถเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้คนมาทำกิจกรรมเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่สร้างสรรค์ เป็นสวนบนดาดฟ้า (Rooftop farm) และสวนทางตั้งได้ 

บ้านเขา 

เราเห็นในหลายเมืองทั่วโลกที่ใช้การพัฒนาพื้นที่สีเขียวเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเมืองหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนเมืองกันไปเลยทีเดียว เราเลยอยากมาชวนดูตัวอย่างเมืองต่าง ๆ ที่ทำสำเร็จไปแล้ว

  • สิงคโปร์ คือ หนึ่งในเมืองต้นแบบของการใช้การพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พลเมือง เแต่ทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่ดึงดูดคนเข้ามาทำงาน อยู่อาศัย  เป็นหมุดหมายสำหรับการประชุมนานาชาติหรือ Works destination ที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นมูลค่าและเป็นการสร้างแบรนดิ้งที่สำคัญของเมือง ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
  • จีน ใช้นโยบาย Sponge City ในการผนวกพื้นที่สีเขียวเข้ากับการพัฒนาและวางผังเมืองเพื่อทำให้เมืองยืดหยุ่นต่อการรับมือจากภัยพิบัติทางน้ำ ใช้พื้นที่สีเขียวในการบำบัดน้ำ สร้างสมดุลธรรมชาติและเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของเมืองและเศรษฐกิจของเมือง
  • นิวยอร์ก ใช้การปรับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อเป็นโครงสร้างสีเขียวอย่างรางรถไฟลอยฟ้า (The High Line) ที่ไม่เพียงเป็นพื้นที่สวนสาธารณะแห่งใหม่ของเมือง แต่ยังช่วยฟื้นฟูย่าน ดึงดูดการลงทุน และเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโลก 
  • ปารีส กับนโยบายการกระตุ้นให้เกิดพื้นที่ผลิตอาหารในเมือง (Urban farm) โดยการใช้พื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำให้กลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่มีชุมชนร่วมกันดูแล รวมถึงพื้นที่บนหลังคาหรือดาดฟ้าที่ไม่เพียงผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับคนเมืองไว้บริโภคเท่านั้น แต่ยังสร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้กับเมือง

บ้านเรา 

ในกรณีของกรุงเทพมหานคร เมืองที่มีประชากรกว่า 12 ล้านคน มองไปทางไหนก็มีแต่สิ่งปลูกสร้างและความหนาแน่น ที่แทบจะหาพื้นที่โล่งว่างหรือพื้นที่สีเขียวได้ยาก อีกทั้งอัตราเร่งของการเกิดขึ้นของสวนสาธารณะในบ้านเราก็น้อยและช้ามากถ้าเทียบกับการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น อาจเป็นเพราะว่าบ้านเราไม่ได้มองว่าพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าได้หากเทียบกับการลงทุนด้านอื่น จึงไม่แปลกที่เมืองอย่างกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวในเชิงปริมาณและสัดส่วนการกระจายตัวต่ำกว่ามาตรฐาน โดยปัจจุบันเรามีพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณคิดเป็น 6.9-7 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ราว 9 ตารางเมตรต่อคน (สิงคโปร์ อยู่ที่ 60 ตารางเมตรต่อคน) 

ส่วนการกระจายตัวของพื้นที่สีเขียวที่เอื้อให้คนเข้าถึงได้ในระยะ 500 เมตรหรือเดินถึงได้ไม่เกิน 10 นาที กรุงเทพมหานครได้เพียง 13% ของพื้นที่เมือง (กรุงโคเปนเฮเกนสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะในระยะเดินถึงครอบคลุม 80% ของพื้นที่เมือง) 

.