"บีบเราจนหายใจไม่ออกแล้ว" เช็กความรู้สึกไรเดอร์ในวันที่ต้องออกมาประท้วง (อีกแล้ว) - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เครียด ระแวง กลัวจองรอบไม่ได้”
“ไม่จองรอบ โดนจ่ายงานน้อยลง”
“ระบบมันบีบเราจนหายใจไม่ออกแล้ว”

ไรเดอร์แกร็บ ชุมนุมเรียกร้องบริษัทที่ตึกธนภูมิยกเลิกระบบ “จองรอบ” และ “แบชคู่” หรืองานคู่ ขณะที่การเรียกร้องปัญหาเดิมอย่าง “ค่ารอบ” และการดูแลสวัสดิภาพทางถนนยังคงไม่มีความคืบหน้ามากนัก

วันนี้ 3 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มไรเดอร์แกร็บ หลากหลายพื้นที่ เช่น จากแกร็บบางจาก กลุ่มเคลื่อนที่เร็ว สาทร อ่อนนุช รวมตัวปิดระบบ และชุมนุมที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนเคลื่อนตัวไปยังตึกธนภูมิ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง และแสดงจุดยืนว่าระบบการจองงาน และการรับงานคู่นั้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ ชั่วโมงการทำงาน และสวัสดิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น

De/code ลงพื้นที่พูดคุยกับไรเดอร์ที่มาร่วมชุมนุม พร้อมกับให้พวกเขาเลือกบอกเล่าความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่เปิดเผยตัวตน เพราะการเปิดเผยตัวตนของไรเดอร์เมื่อต้องพูดถึงการถูกเอาเปรียบจากแพลตฟอร์มนั้น มีความเสี่ยงถูกแบน หรือไม่ถูกจ่ายงานอีก

ความรู้สึก: เสียใจ
“เครียด และระแวง กลัวจองรอบไม่ได้”

ตลอดเวลาที่ A (นามสมมติ) วิ่งไรเดอร์พื้นที่สาทรเพื่อดูแลเลี้ยงดูสมาชิกของครอบครัว 5-6 คน ตาแดงก่ำ เห็นชัดถึงความเหนื่อยล้าของร่างกาย เธอทำรายได้อยู่ในระดับที่โอเค 1,000 บาทโดยเฉลี่ยต่อวัน ไม่มากไม่น้อย มีเวลาหายใจหายคอ เพื่อจะปลีกเวลาไปทำอย่างอื่นได้ คำว่า “งานอิสระ” ในรูปแบบและลักษณะการทำงาน ซื้อใจเธอ และคิดว่ามันเข้ากับชีวิต แม้ต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันก็ตาม

แต่เมื่อไม่นานมานี้ สัก 3 สัปดาห์ที่ผ่านทา ระบบออกฟีเจอร์ใหม่ เพื่อให้ไรเดอร์ได้กด “จองงาน” คำอธิบายจากไรเดอร์ คือ ทุกๆ วัน ต้องกดจองรอบเวลาที่จะทำงาน ซึ่งแล้วแต่ว่าจะทำกี่ชั่วโมง การจองนั้นมีพื้นที่จำกัดต่อ 1 ชั่ว
เวลส และเป็นการจองทำงานในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทำให้ทุกคนต้องแย่งกัน เหตุผลเพราะว่า การได้รอบจอง ระบบมีการจ่ายงานมากกว่าการไม่จอง

“มาวันนี้ อยากให้ยกเลิกรอบจอง เพราะเราเคยจองไป 12 ชม. 9 โมงเช้า ถึงสามทุ่ม แต่เราไม่สามารถออกก่อนหมดเวลาได้ เพราะจะถือว่า ‘ขาดงาน’ ซึ่งหากขาดงาน 5 ครั้ง จะถูกแบน”

“เมื่อวานรู้สึกเหมือนป่วย ครั่นเนื้อตัว เพราะเหนื่อย แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะกลัวโดนแบน ตอนนี้เครียด และระแวงมาก เวลาต้องจองรอบ เพราะบางทีรอบหมดแล้ว ก็ต้องจำยอมไปวิ่งแบบปกติ ซึ่งงานมันเข้าน้อยกว่า หลายคนรอจองเลยหลังเที่ยงคืน เราไม่ไหว นอนก่อนแล้วตื่นมาจอง”

“นอกจากนี้ พอจองรอบงานแล้ว จำเป็นต้องทำให้รอบ หรือทำงานให้ได้ตามเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้ ที่เรามาทำเพราะอิสระ แต่ตอนนี้ยังเจอลดค่ารอบ และกฎที่เยอะมากมาย แถมทำงานมากกว่าเดิม แต่เงินได้เท่าเดิม แถมยังต้องทำงานทุกวัน ”

ความรู้สึก: โกรธ
“บีบเราจนหายใจไม่ออก มันเป็นสิทธิของเราถึงต้องมาวันนี้”

“โกรธที่ถูกเอาเปรียบ ทั้งรายได้ และเวลา” B ไรเดอร์จากกลุ่มบางจาก ฉะฉานตรงไปว่าจำยอมเสียรายได้วันนี้พันกว่าบาท เพื่อตรงมาที่ตึกธนภูมิ รวมพลังกับเพื่อนไรเดอร์เรียกร้องการยกเลิกการจองรอบงาน และงานคู่ เพราะทำให้เขาเกิดการทำงานที่ไม่เป็นธรรม

“พวกผมวิ่งงานกัน 10 ชม.ต่อวัน เหนื่อยมาก กลับมาถึงบ้านต้องรอเที่ยงคืนเพื่อจองรอบงาน ไม่งั้นไม่ทัน แล้วต้องมาเจองานแบชคู่อีก บางทีได้แบช 1 บาทก็มี แต่ได้งานแต่ละที่ คือไกลกันมาก มันไม่ควรมีระบบนี้ตั้งแต่ เหมือนเข้างานเป็นกะ”

“เราทำมาหากินอยู่กับเวลา แต่วันนี้ผมปิดระบบ เพื่อรวมตัว ที่ผ่านมาคุณบีบเรามามากแล้ว บีบเราจนหายใจไม่ออก เราจึงต้องมาวันนี้”

B บอกว่าไม่เคยคิดต่อว่าเพื่อนไรเดอร์ที่ไม่มารวมตัวกันวันนี้ บางคนจำเป็นต้องหาเงิน หรือ เอาเงินในช่วงที่บริษัทเพิ่มค่าแรงให้ระหว่างที่มีการชุมนุม เพราะการมารวมตัวกันมีเป้าหมานเพื่อให้ไรเดอร์ทุกคนนั้น ได้รับสวัสดิการและสวัสดิภาพการทำงานที่ดีขึ้น สิทธิการรวมตัวตรงนี้ ถ้ามารวมตัวกันเยอะ สิทธิที่อยากได้ก็อาจจะได้โดยเร็ว

ความรู้สึก: โกรธ
“ระบบจองงานมันข้อเสีย ไม่จอง ก็โดนจ่ายงานน้อยลง”

4 ปีพอดีๆ ที่ไรเดอร์นาม C จากอ่อนนุชลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน มาเป็นไรเดอร์อาชีพด้วยเหตุผลเหมือนๆ ทุกคน งานอิสระ ทำเยอะได้เงินเยอะ (ในตอนแรก) แต่ทุกวันนี้ความจริงอีกด้านของงานที่ถูกบอกว่าเป็นหุ้นส่วนค่อยๆ ปรากฎออกมา เช่นเดียวกับความจริงของระบบจองงาน และงานคู่

“สมมติเราจองงานเราได้งาน 20 ชิ้น ถ้าเราไม่จอง งานหายไป 10 ชิ้น แล้วยังมีการบังคับเวลา และเปอร์เซ็นต์งานด้วยที่ต้องทำให้ถึง ซึ่งบางทีถ้าจองได้พื้นที่ที่ไม่เคยไป ระบบเอไอก็ก็ไม่ค่อยจ่ายงาน หรือไม่จ่ายงานอีก เพราะว่าไม่มีข้อมูลว่าเราเคยวิ่งพื้นที่มาก่อน 3 ชม.อาจจะได้สัก 1 งาน”

“วันนี้ยอมเสียเงิน เสียรายได้ การมาเรียกร้องมันมีอาจทำให้เราได้จริงๆ”

“พรเทพ ชัชวาลอมรกุล” แกนนำกลุ่มเคลื่อนที่เร็ว

บรรยากาศการชุมนุมยืดเยื้อจนถึงช่วงบ่าย เพราะไรเดอร์ต้องการให้ผู้บริหารลงมาพูดคุยและเจรจา “พรเทพ ชัชวาลอมรกุล” แกนนำกลุ่มเคลื่อนที่เร็ว บอกว่า ก่อนหน้าการชุมนุมมีการพูดคุยเรื่องการขอให้ยกเลิกการจองรอบงาน และงานคู่ “บริษัทรับรู้มาตลอด และขอไม่ให้มาชุมนุม แต่เราก็ยังต้องมาวันนี้ เพราะเขาไม่แก้ไข” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้ มีการออกโปรโมชั่นให้ทั้งผู้บริโภค และเพิ่มค่ารอบให้ 20 บาท

ทำไมถึงทำได้ทันที ก็ทำได้หนิ”

สำหรับการเรียกร้องครั้งนี้ ขยายความลงรายละเอียด คือ 1.) ต้องการให้แพลตฟอร์มยกเลิกระบบการจองงานที่ยังไม่ชัดเจน ไม่ตอบโจทย์คำว่างานอิสระ หรือกระจายทั่วถึง มีการจำกัดสิทธิ์ ไรเดอร์ไม่มีพื้นที่ประจำวิ่ง หรือต้องหางานไปเรื่อย ๆ เนื่องจากระบบเอไอยิงงานไม่เข้า หากไปพื้นที่ใหม่ ระบบการจอง ทำให้คนที่ทำไรเดอร์เป็นอาชีพเสริมต้องเสียโอกาส เพราะต้องจองล่วงหน้า

2.แบชคู่ หรืองานคู่ ที่ไรเดอร์บอกว่าควรให้เป็นทางเลือกมากกว่า เพราะตอนนี้ติดมากับระบบจองงาน จึงจำเป็นต้องรับ และระบบคอมพิวเตอร์ทำให้ไรเดอร์รับงานพร้อมกัน แต่ได้ระยะทางที่ไกลกันมาก ไม่คุ้มกับค่าแรง และเวลา รวมถึงต้องรองรับอารมณ์ของลูกค้าเมื่อได้อาหารช้า หรือของละลาย อาหารไม่ร้อน

นอกจากนี้ยังคงพูดถึงเรื่องค่ารอบที่หายไปเช่นเดิม พรเทพบอกด้วยว่า ตอนนี้กลุ่มกำลังร่วมกับรัฐในการร่างกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองการทำงานของไรเดอร์ด้วย

การชุมนุมของเหล่าไรเดอร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิให้เกิดรูปแบบการจ้างงานที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่แพลตฟอร์มประกาศลดค่ารอบ นอกจากนี้ คือประเด็นการได้ประกันอุบัติเหตุแบบมีเงื่อนไข หรือสวัสดิการอื่น ๆ แม้แต่การพิจารณาว่าพวกเขาถือเป็นพนักงานของบริษัทหรือไม่ ในเมื่อพวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎทุกอย่างที่แพลตฟอร์มกำหนด ซึ่งประเด็นนี้เคยมีการเข้าไปพูดคุยกับกระทรวงแรงงานแล้ว แต่ยังคงได้คำตอบว่า “มันคืองานใหม่” ทั้ง ๆ งานนี้เข้ามาแล้วมากว่า 10 ปี ขณะที่คำกล่าวที่บอกว่าพวกเขาคือ หุ้นส่วน คือ พาร์ทเนอร์ หรืองานนี้เป็นอิสระนั้น กำลังค่อยๆ ทำให้พวกเขาเข้าใจว่า “มันอาจไม่จริง”

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมต่อเนื่องถึงช่วงบ่าย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ตัวแทนผู้บริหารบริษัท แกร็บ ประเทศไทย แจ้งกลุ่มไรเดอร์ขอเวลาในการพิจารณาข้อเรียกร้องอีก 15 วัน จึงจะให้คำตอบ จนทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจ และพากันลงมาปิดถนนเพชรบุรีทั้ง 6 เลนทำให้การจราจรไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านไปได้ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกต้องยูเทิร์นรถกลับ

ล่าสุด เวลาประมาณ 17.45 น. ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ผู้ชุมนุมสลายตัวแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเตือนว่ามาเข้าสู่พื้นผิวจราจรนั้นมีความผิดทางกฎหมาย ผู้ชุนนุมรับฟัง และสลายตัวในเวลาต่อมา