ท่ามกลางพันล้านดวงสู่ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก - Decode
Reading Time: < 1 minute

Space for Thai

นิศาชล คำลือ

ความรัก, ผี และมนุษย์ต่างดาวคงเป็น 3 สิ่ง ที่ถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน เราไม่อาจรู้ถึงการมีอยู่จริงของพวกมัน บ้างก็บอกว่าเคยได้เห็น, เคยได้ยิน หรือเคยได้สัมผัส แต่ก็ไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงหรือไม่

นิยามของความรักนั้นไร้ขอบเขต พอ ๆ กับเรื่องผี จนแม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจสรุปได้ว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ ในขณะที่มนุษย์ต่างดาวดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์การมีอยู่จริงด้วยวิทยาศาสตร์ได้มากที่สุดใน 3 อย่างนี้

หากมองตามตรรกะ มันคงเป็นเรื่องแปลก ถ้าดาวฤกษ์ประมาณพันล้านดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา มีแค่ดวงอาทิตย์ของเราเราเท่านั้นที่มีดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ มันคงเหมือนเราถูกรางวัลที่ 1 หลายครั้งติดต่อกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะฉะนั้นโอกาสที่โลกของเราจะเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในกาแล็กซีทางช้างเผือก หรือในจักรวาล ที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ๆ 

แต่คำว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น แบคทีเรีย ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่มีภูมิปัญญาที่ซับซ้อน เช่น มนุษย์ โดยในที่นี้ คำว่ามนุษย์ต่างดาว ผู้เขียนกำลังหมายถึง สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเทียบเคียงกับมนุษย์โลกในปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลที่ผู้เขียนสนใจเรื่องมนุษย์ต่างดาวนั้นมาจากความสงสัยที่ว่า มนุษย์เราอยู่อย่างเดียวดายในจักรวาลนี้จริงหรือ?

วาฬที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก โลกที่โดดเดี่ยวที่สุดในจักรวาล

หลายท่านอาจเคยได้รับรู้เรื่องของวาฬที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลกมาบ้างแล้ว มันคือวาฬที่ส่งเสียงด้วยความถี่ 52 เฮิรตซ์ ซึ่งสูงมากสำหรับวาฬทั่วไปที่ส่งเสียงประมาณ 12-25 เฮิรตซ์ ส่งผลให้วาฬตัวอื่น ๆ ไม่ได้ยินเสียงของมัน ทำให้มันกลายเป็นวาฬที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลกไปโดยปริยาย ซึ่งการที่มันไม่สามารถติดต่อกับวาฬตัวอื่นได้ ก็ไม่ได้แปลว่าวาฬตัวอื่น ๆ ไม่มีตัวตนอยู่จริง ฉะนั้นการที่เราไม่สามารถติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวได้ ก็อาจไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ต่างดาวไม่มีอยู่จริง

“ความจริงแล้วโลกของเราอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดบอดของกาแล็กซีทางช้างเผือก สมมุติว่ามนุษย์ต่างดาวมีเทคโนโลยีเทียบเท่ากับมนุษย์เราในปัจจุบัน และต่อให้ดาวทุกดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือกมีมนุษย์ต่างดาวอยู่ ตลอดระยะเวลา 1 ปี จะมีดาวเพียงแค่ 14 ดวง เท่านั้น ที่จะสามารถเจอโลกของเราได้” – ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกล่าว ซึ่งเป็นข้อสรุปจากงานวิจัยของเขาเอง ที่ใช้ฐานข้อมูลดาวฤกษ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา ดีอาร์2 (Gaia DR2) มาคำนวณเพื่อหาโอกาสที่โลกจะถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก

กล่าวโดยสรุปก็คือ โลกของเราอยู่ในจุดบอดของกาแล็กซีทางช้างเผือก ทำให้โลกของเรามีโอกาสเพียง 14 ครั้งต่อปี ที่จะถูกค้นพบโดยมนุษย์ต่างดาวที่มีเทคโนโลยีเทียบเท่ากับเรา ซึ่งจำนวน 14 ครั้งต่อปี เป็นจำนวนในกรณีที่ดาวทุกดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือกมีมนุษย์ต่างดาวอยู่ โดยในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรามีดาวฤกษ์มากถึง 400 พันล้านดวง และมีดาวเคราะห์ประมาณ 1-10 ล้านล้านดวง ซึ่ง 14 ใน 1-10 ล้านล้านดวง ถือเป็นความเป็นไปได้ที่น้อยมาก ๆ และความเป็นไปได้ที่น้อยมาก ๆ นี่แหละ คือความเป็นไปได้ที่โลกจะถูกตรวจพบจากมนุษย์ต่างดาว

ดาวเคราะห์ที่กำลังสลาย การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์

ในช่วงแรกงานวิจัยจากกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติที่จีนจับมือนาซา (NASA) และทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบที่กำลังสลายตัว มีทฤษฎีออกมาว่าขนาดของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ต่างดาว 

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องเกริ่นก่อนว่า วิธีที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะคือวิธีผ่านหน้า (Transit) โดยเมื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ของมัน แสงที่ดาวฤกษ์ส่งผ่านมายังกล้องโทรทรรศน์อวกาศจึงมีการเปลี่ยนแปลงไป นักดาราศาสตร์จึงบันทึก, ตีความ และสร้างแบบจำลองเกี่ยวกับข้อมูลทางกายภาพ เช่น คาบ, ความเร็ว และขนาดของมัน จากค่าแสงที่ได้ 

ดังนั้น เมื่อค่าแสงที่ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงส่งผลต่อการสรุปข้อมูลทางกายภาพของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนั้น ๆ ซึ่ง ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ได้อธิบายว่านี่คือการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่กำลังสลายตัว มันจึงมีชิ้นส่วนหลุดออกมา คล้ายกับดาวหาง เมื่อชิ้นส่วนดังกล่าวผ่านหน้าดาวฤกษ์ มันจึงทำให้ค่าแสงที่ส่งจากดาวฤกษ์มายังกล้องโทรทรรศน์อวกาศแปรปรวน และส่งผลต่อการสรุปข้อมูลทางกายภาพ 

สรุปก็คือขนาดของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ต่างดาว แต่เกิดจากค่าแสงที่แปรปรวน เนื่องจากผลกระทบจากชิ้นส่วนของดาวเคราะห์นอกระบบที่หลุดออกมา เพราะการสลายตัว

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โลกเราก็เช่นกัน

ในเมื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเกิดการสลายตัว โลกเองก็อาจมีจุดจบที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการตายจากการถูกดวงอาทิตย์ขยายตัวเป็นดาวยักษ์แดงมากลืนกิน ที่จะเกิดขึ้นในประมาณ 5,000 ล้านปี ข้างหน้า ซึ่งมันคืออนาคตที่ยาวไกลมากเมื่อเทียบกับอายุของอารยธรรมมนุษย์ ที่พึ่งเกิดขึ้นมาในหลักหมื่นปี

ฉะนั้นการที่เราเห็นนักดาราศาสตร์ตามหาโลกใบที่สองจึงไม่ได้เป็นเพียงการตามหาดาวอีกดวงเพื่อย้ายถิ่นฐานไป แต่มันคือการศึกษาว่าโลกของเราเกิดขึ้นได้อย่างไร สู่การนำไปสู่คำตอบว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั่นเอง

คนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ อาจไม่ได้จำเป็นต้องรู้รายละเอียดของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเทียบเท่ากับนักดาราศาสตร์ แต่ไม่ว่าจะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ความรู้ความเข้าใจที่มีพื้นฐานมาจากวิทยาศาสตร์ จะช่วยปกป้องเราจากการถูกหลอกด้วยวิทยาศาสตร์เทียมเสมอ เช่น คำทำนายวันสิ้นโลก, ร่างทรงมนุษย์ต่างดาว และอื่น ๆ