แล้ววันหนึ่งประวัติศาสตร์ตุลาฯ จะไม่เป็นบาดแผลอีกต่อไป - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในขณะที่เรื่องราวในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ทำไม เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นอกจากจะไม่ใช่แค่พูดคุยกันในสาธารณะ แต่ยังถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะชัยชนะในการต่อสู้ของประชาชน 

ทั้ง ๆ ที่บริบทของ 2 เหตุการณ์นี้มีความเชื่อมโยงกัน เหตุใด เรื่องราวหนึ่งบอกเล่าได้ แต่เหตุการณ์หนึ่งถูกกลบทับใต้สนามหญ้า

De/code พูดคุยกับ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ถึงประวัติศาสตร์เดือนตุลาภายใต้ชนชั้นนำและการตอกย้ำความจริงของประวัติศาสตร์ในคนรุ่นใหม่ ส่องความเป็นไทยภายใต้มายาคติ ‘คนไทย รู้รัก สามัคคี’ เรื่องราวนอกเหนือจากนี้ จะไม่ปรากฎสู่สายตาสังคม

ฟอกขาวประวัติศาสตร์บาดแผล

“สิ่งที่เขาอยากให้เราเห็น คือความเป็นคนไทยที่รักสามัคคี มันเป็นมายาคติอย่าง สยามเมืองยิ้ม ประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวใด ที่มีความเจ็บปวด มีความสูญเสีย ยิ่งเป็นสิ่งที่รัฐกระทำกับประชาชน เขาจะลบมันออกไปให้หมด” รศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

อาจารย์เล่าภาพของการที่ชนชั้นนำไทย พยายามที่จะสร้างประวัติศาสตร์ในแบบฉบับที่ตัดความขัดแย้งออกไป ในขณะที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถูกบรรจุไว้ในหนังสือเรียน แต่เรื่องราวในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลับเงียบหาย เหตุผลเป็นเพราะ เหตุการณ์ข้างหลังนั้น ประวัติศาสตร์บาดแผล หรือที่เรียกว่าเป็นรอยด่าง ที่รัฐพยายามฟอกขาวมัน

“มันเป็นเรื่องที่ว่า 14 ตุลาฯ นั้น เป็นชัยชนะของประชาชน ที่เราได้ประชาธิปไตยกลับมา และเกิดการร่วมมือของภาคประชาชน ภาคแรงงานลงสู่ท้องถนน แต่ภายใต้ชัยชนะนั้น มันมีเรื่องราวของ ‘ผู้ใหญ่’ เข้ามาไกล่เกลี่ย ทำให้สถานการณ์สงบโดยเร็ว”

ถึงจะเรียกว่าประวัติศาสตร์ชัยชนะ แต่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย และนั่นก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่รัฐพยายามหยิบยกขึ้นมาบอกเล่า โดยให้ตัวละครสำคัญอย่างผู้มีอำนาจเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการสดุดีเป็นวีรชน การบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ทำให้เราเข้าใจและรับรู้ประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคมกันแบบนั้น

หากบริบทข้างต้น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นอกเหนือจากจะมีความสำคัญในฐานะประวัติศาสตร์ชัยชนะของประชาชนแล้วนั้น เหตุการณ์นี้ยังเป็นรากฐานของการร่วมมือกัน อาจารย์กล่าวว่า เราจะเห็นหลากหลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพลังของมวลชนและนำมาศึกษากันถึงปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กลับถูกกลบให้เงียบหาย ไม่มีการพูดถึงในที่สาธารณะ ทั้ง ๆ ที่เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เสียด้วยซ้ำ อาจารย์ให้เหตุผลว่า เพราะ 6 ตุลาฯ มันไม่สามารถเข้ากับโครงเรื่องที่รัฐวางไว้ได้

“6 ตุลาฯ เอง ก็เป็นเหตุการณ์ที่มีความสูญเสีย ซึ่งมากกว่าครั้งก่อนด้วยซ้ำ มีสื่อที่เข้ามาบันทึกเหตุการณ์ การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นใจกลางพระนคร ซึ่งพล็อตนี้มันขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่รัฐพร่ำบอกเราว่า ไม่ว่าจะปัญหาอะไร หากคนไทยเปิดใจเข้าหากัน ทุกอย่างจะผ่านไปได้ ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ อะไรที่ไปขัดขวางเขา เขาต้องการจะทำให้มันหายไป”

อาจารย์เสริมว่า หากจะเรียกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะ ก็คงไม่ผิด แต่เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น จะพบว่าชัยชนะของประชาชนหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่ยังปรากฎอยู่บนสื่อ อยู่บนเรื่องราวที่สามารถบอกกันได้ปากต่อปาก และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนนั้น เหตุการณ์เหล่านี้ ก็เป็นเพียงชัยชนะเพียงชั่วครูชั่วคราว พร้อมกับการปรากฎตัวของผู้มีบุญทั้งสิ้น ในการที่จะทำให้เรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเพียงความสำเร็จเล็ก ๆ ของการสร้างประชาธิปไตย

เช่นเดียวกันกับอีกหลายเหตุการณ์ ทั้งพฤษภาฯ ทมิฬ และอีกหลายเหตุการณ์ที่ไม่ได้พูดถึงอย่าง กรณีกรือเซะ-ตากใบ และกบฎผู้มีบุญ เป็นต้น

หรือประวัติศาสตร์ที่เราได้ร่ำเรียนกันมา อาจไม่ใช่ประวัติศาสตร์ความสำเร็จของประชาธิปไตยในไทย แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ไปท้าทายอำนาจรัฐมากนักต่างหาก

ประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการค้นพบหลักฐานใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกปี มีผู้คนรับรู้เรื่องราวมากขึ้น และถูกพูดถึงในที่สาธารณะมากขึ้น แต่เราก็ยังไม่ได้พบกับความจริงทั้งก้อนในประวัติศาสตร์ชุดนี้

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไป ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและเกิดกระบวนการค้นหาความจริง ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้มีความหมายที่ว่า เกิดขึ้นในวงกว้างหรือนำมาพูดถึงในที่สาธารณะ

รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้ให้เห็นถึงคนรุ่นใหม่ในขณะที่เขาศึกษาในช่วงประถม-มัธยม ในขณะที่หลายโรงเรียน คุณครูยังมีการหยิบยก 14 ตุลาฯ ขึ้นมาพูดถึง อาจจะเมื่อครบรอบเหตุการณ์ แต่กับ 6 ตุลาฯ พวกเขาแทบจะไม่รับรู้ถึงเรื่องราวของมันเลย 

เช่นเดียวกันกับสิ่งที่รัฐชี้ให้พวกเขาเห็นตั้งแต่เด็ก ชุดข้อมูลประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคม ถูกควบคุมโดยฝ่ายเดียวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการมีคนจากทางรัฐมาเข้าร่วม ในขณะที่ไม่มีการบอกเล่าประวัติศาสตร์นี้อย่างตรงไปตรงมา การบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในทิศทางที่เป็นการต่อสู้แบบสวยหรู แต่กลับไม่ได้พูดถึงความสูญเสีย 

โดยเฉพาะในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ไม่ได้มีใครเข้ามาขัดมาห้ามไม่ให้เกิดความสูญเสีย อีกทั้งผู้พิทักษ์ราษฎรทั้งหลาย ก็เป็นคนที่ใช้ เฝ้าดู และสังเกตการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ในที่เกิดเหตุแท้ ๆ 

คงจะยิ่งเงียบหายและตายจากความทรงจำของสังคมไทย หากไม่ได้ถูกพูดถึงในปัจจุบัน

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามรดกเผด็จการเหล่านี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ปลายทางของพวกเขาที่นำมาบอกเล่า หรือการจัดงานรำลึก ก็เพื่อที่จะบอกในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยได้ยินจากรัฐ

“คนรุ่นใหม่เหล่านี้ เลยพยายามเรียกร้องในสิ่งที่รัฐและการศึกษาไม่เคยบอกพวกเขา เขาต้องการสื่อสารเรื่องนี้ใหม่ให้คนเข้าใจกันมากขึ้น ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ มันเลยดูจะถูกหยิบยกมาน้อยลง เพราะช่วงเวลาก่อนหน้า 6 ตุลาฯ ไม่ได้ถูกพูดถึงเลย”

ในสมัยที่อาจารย์เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้นก็มีงานจัดงานรำลึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นกัน แต่เป็นการจัดงานและการรับรู้ที่เกิดขึ้นในวงแคบ ผู้ร่วมงานก็จะมีเพียงนักศึกษา บุคคลในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

แต่ในปัจจุบัน ยิ่งในยุคที่คนออกมาต่อต้านเผด็จการมากขึ้น ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้น สิ่งที่พวกเขา หรือคนรุ่นใหม่ที่อาจารย์กล่าวถึง ลงมือทำมากขึ้น คือการนำประวัติศาสตร์ความสูญเสียที่รัฐพยายามจะกลบมันจมดิน มาพูดถึงอีกครั้ง

“ในแง่หนึ่งมันก็เป็นการพูดถึงการเรียนรู้ขบวนการประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ แต่ในอีกแง่หนึ่ง เรากำลังพูดถึงความสูญเสียที่ไม่มีใครรับผิดชอบ”

อาจารย์กล่าวว่า ในการจัดงานรำลึกใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม นักศึกษา หรือกระทั่งนักเรียน ล้วนเป็นตัวตั้งตัวตี ในการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัดก็ตาม 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะขับเคลื่อนสังคม ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์มากกว่าการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ ด้วยการสร้างพื้นที่ในการพูดคุย พร้อมหลักฐานที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย นิทรรศการ หรือการปราศรัยชุมนุม ที่สำคัญ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้

ภายใต้ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ที่อาจารย์กล่าวว่าเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ยุคนี้ คือพวกเขาต้องการที่จะเรียนรู้ ขบคิด เพื่อที่จะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

…กว่าอดีต ที่คนรุ่นก่อนหน้าถูกทิ้งไว้ให้เงียบหาย

ไม่ต้องรอฝนตุลาฯ ปีหน้า เพื่อจดจำ

คำถามที่ว่า ถึงเราจะเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ทุกคนต่างมีโซเชี่ยลมีเดียในมือ เราจะถูกรัฐครอบงำอีกครั้งหรือไม่ รศ.ดร.ประจักษ์ ตอบว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสังคมในทุกมิติ การครอบงำจากรัฐก็เช่นกัน รัฐเผด็จการจะไม่สามารถจำกัดข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อีกแล้ว

อาจารย์เล่าเสริมว่า ในทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์เดือนตุลาฯ หากเราอยากค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมมันไม่ใช่เรื่องยากเหมือนในยุคสมัยนั้น กระทั่งข้อมูลจาก wikipedia ในเหตุการณ์นี้ ก็ยังมีบรรจุไว้เกือบครบถ้วน รัฐไม่สามารถที่จะปิดหูปิดตาการรับรู้ของประชาชนได้อีก

ถึงอย่างนั้น ในวันที่เราอาจหลุดจากการครอบงำของข้อมูลโดยรัฐ ทว่า ท่ามกลางมายาคติของสังคมไทย ว่าด้วยเมืองพุทธและความรู้รักสามัคคี

อาจารย์เน้นย้ำประเด็นที่ว่า เราจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกับมันและเรียนรู้กับมันมากขึ้น อย่าจดจำแต่ประวัติศาสตร์อันดี การเรียนรู้ช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่ผิดพลาดของสังคมต่างหาก จึงจะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า

“กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาความจริง หลักฐานที่ปรากฎขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงการจัดงานรำลึก ประเทศไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

“ในปีนี้เหตุการณ์รำลึกเกิดขึ้นมากจริง แต่นั่นไม่ใช่ผลสำเร็จ งานเหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมหรือนิทรรศการที่เกิดขึ้นชั่วคราว เราควรจะมีพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการถาวร ในการที่จะให้เด็กหรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามารับรู้ เรียนรู้ และศึกษามันได้ตลอดเวลา”

เมื่อเปรียบเทียบกับการสังหารที่กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ รัฐบาลเกาหลีในยุคถัดมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการหยิบยกเหตุการณ์นี้ขึ้นเป็นวาระสำคัญ ไม่ใช่เพื่อการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อตระหนักถึงประชาธิปไตยที่กว่าจะได้มา หรืออย่างเหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เขมรแดง นั่นคือการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกันกับประเทศไทย แน่นอนว่าความแตกต่างหลากหลายที่อาจารย์ชี้ให้เห็นว่ายังคงมีอยู่ในสังคม แต่ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องยอมรับว่า การสังหารหมู่ ความสูญเสีย และกลไกที่ชนชั้นนำสร้างขึ้น มีอยู่จริงเช่นกัน

“เมื่อมันถูกรำลึกอย่างเป็นทางการ จึงเป็นทางออกที่เรากำลังจะให้ความจริงเด่นชัดขึ้นมา”

อาจารย์กล่าวเสริมว่า ถ้าเราไม่ได้ทำแค่เฉพาะพิพิธภัณฑ์ของเหตุการณ์เดือนตุลาฯ แต่เราสร้างพิพิธภัณฑ์ถาวรที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเรื่องอื่น ๆ มันจะเป็นจุดศูนย์รวมที่จะไม่ทำให้หลาย ๆ เรื่องราวถูกลืมไปอีก

“พิพิธภัณฑ์นี้จะกลายเป็น Learning Space คุณครูสามารถพาเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษาได้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล หรืออาจจะมีโซนอื่นที่สามารถให้ครอบครัวมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และใช้เวลาร่วมกันในวันหยุดได้ ถ้ารัฐอยากจะทำ อยากสร้างพื้นที่ตรงนี้จริง ๆ มันสามารถแก้ปัญหาได้หลายต่อเลยนะ”

ที่สำคัญ จะเป็นการเรียนรู้มรดกที่เผด็จการและชนชั้นนำใช้มาหลายยุคหลายสมัย ในการที่จะถือครองอำนาจ โดยลบผู้เห็นต่างออกจากสารบบ การเรียนรู้เหล่านี้จะทำให้ประชาชนสังเกตเห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เมื่อเผด็จการและคนมีสี ต้องการจะยึดประชาธิปไตยไปจากประชาชนอีกครั้ง

หลังจากนี้เราคงต้องรอดูและลงมือทำ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทยเติบโต หลังจากนั้นจึงเกิดวุฒิภาวะของสังคม ที่จะไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะในไทม์ไลน์เรื่องราวของสังคม เราจำเป็นที่จะต้องยอมรับประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว มากกว่าที่สำเร็จ ในการที่จะขับเคลื่อนสังคม ไม่ให้วนกลับมาผิดพลาดที่จุดเดิมอีกครั้ง

“วันหนึ่ง ประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้จะไม่เป็นบาดแผลอีกต่อไป เราจะรู้วิธีเยียวยา รู้จักยาทาแผล และจะไม่ทำให้ตัวเราเองหรือยอมให้ใครมาทำร้าย จนเป็นแผลอีก”

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว