เปลี่ยนหนี้เป็นทุน นับบันไดขั้นแรกล้างหนี้ กยศ. - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อแคมเปญการล้างหนี้ กยศ. ถูกพูดถึงในสังคมไทย แม้คำถามส่วนมากจะวนอยู่กับประเด็นศีลธรรม ว่าใครคือผู้คู่ควรกับการเข้าถึงการศึกษาระดับสูง มากกว่าประเด็นเทคนิคในการดำเนินการให้เกิดขึ้น เพราะตามหลักการการผลักดันประเด็นทางสังคมต่าง ๆ การที่ชนชั้นนำผู้มีอำนาจพยายามต่อต้านข้อเรียกร้องต่าง ๆ เกิดจากความไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นได้จริง ในบทความนี้จะชวนพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการเบื้องต้นหากเราจะทำการ “ล้างหนี้ กยศ.” กระบวนการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนจึงนับเป็นบันไดขั้นแรกในการดำเนินการ

 กระบวนการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน (Debt Conversion) ต่างจาก การล้างหนี้ (Debt Forgiveness) หรือไม่ ?

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือในทางปฏิบัติแล้วคือเรื่องเดียวกัน แม้ในทางทฤษฎีจะแตกต่างกันและให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน แต่มันก็คือเรื่องเดียวกัน ในกรณีสหรัฐอเมริกา ภายใต้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้มีกระบวนการล้างหนี้ส่วนหนึ่งให้แก่ผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามเงื่อนไขต่าง ๆ ถึง 40 ล้านคน ซึ่งวางอยู่บนเงื่อนไขการมองว่าหนี้เหล่านี้ไม่ควรมีตั้งแต่แรก อันเกิดจากการค้ากำไรในระบบการศึกษา หรือนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐที่ค่าชดเชยเพื่อการศึกษาต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นมากขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนนี้ มาจากฐานความคิดที่ว่าโดยปกติแล้วก็มีผู้ได้ทุนในระบบการศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา นักเรียนเรียนดี นักเรียนยากจน ฯลฯ ดังนั้นการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่เป็นหนี้จากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่มีเงื่อนไขตรงตามเกณฑ์สามารถเปลี่ยนหนี้ทั้งหมด หรือส่วนหนึ่งให้กลายเป็นทุนการศึกษาแบบให้เปล่าได้เช่นกัน เมื่อพิจารณาเช่นนี้ก็จะพบว่า ปลายทางของการล้างหนี้ หรือการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนก็ไม่ต่างกัน เพราะต่างก็มีเงื่อนไขเหมือนกัน ส่วนที่ต่างเห็นจะเป็นรากฐานด้านความคิดหรือปรัชญาเบื้องหลังเท่านั้น หรืออาจพูดในอีกทางคำว่าเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนก็อาจเป็นคำที่ไม่ล้ำเส้นศีลธรรมของผู้คัดค้านเท่าไรนัก แต่พลังในการสื่อสารก็ย่อมน้อยลงมาซึ่งก็เป็นเรื่องของแนวทางสื่อสารกันต่อไปในประเด็นนี้

การเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนก็มีหลายระดับเช่นกัน

ระดับที่เรียกว่าเข้าถึงง่ายที่สุด อาจเป็นกรณีของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มหาวิทยาลัยฟรี และมีค่าครองชีพระหว่างเรียนประมาณ 17,000 บาท ต่อเดือน นับว่าเป็นอัตราที่ไม่สูงนักในกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการด้วยกัน โดยรัฐบาลเปิดช่องให้สำหรับการกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อให้นักศึกษา ที่ไม่ต้องการทำงานระหว่างเรียนสามารถกู้ยืมเงินส่วนเพิ่มได้ หนี้ส่วนค่าครองชีพนี้ประมาณ 200,000 บาทต่อปีการศึกษา หรือ 700,000 บาทต่อหลักสูตร

แต่รัฐทำการเปลี่ยนหนี้ให้กลายเป็นทุน ถึง 40 % ของยอดกู้ทันทีที่มีสำเร็จการศึกษาสำหรับทุกคน ซึ่งจะทำให้เหลือยอดกู้ ประมาณ 400,000 บาท ซึ่งสำหรับเงินเดือนเฉลี่ยหลังหักภาษีของคนนอร์เวย์ ประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน จึงนับว่าไม่หนักหนามากนัก นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนอื่น ๆ เช่นการพิการ หรือการมีลูก หรือเจ็บป่วย โดยลูกหนี้ทุกคนสามารถเลื่อนการจ่ายหนี้ได้ถึง 36 งวด

ระดับที่เงื่อนไขเยอะ  เช่น สหรัฐอเมริกาก่อนยุคของ โจ ไบเดน การเปลี่ยนหนี้เป็นทุนเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการทำงานเป็นหลัก ที่ดูจะหนักหนาที่สุดเห็นจะเป็นการที่ต้องไปเป็นทหารในสงครามก็มีสิทธิเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนเพื่อการศึกษาได้สูงสุด 100% ตามแต่นโยบายของรัฐบาลแต่ละช่วง

ประเทศไทยควรใช้กระบวนการใดในการเปลี่ยนหนี้ให้กลายเป็นทุน ?

ผู้เขียนเสนอว่าสามารถเริ่มต้นจากระบบผสมผสาน กล่าวคือ ใช้ระบบที่มีเงื่อนไขน้อยผสมกับส่วนที่มีเงื่อนไขแบบเจาะจง โดยมีกระบวนการดังต่อไปนี้

1.เปลี่ยนหนี้ให้กลายเป็นทุน ร้อยละ 30 ของยอดกู้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา และใช้มาตรการนี้สำหรับคนที่ชำระหนี้ไปแล้วส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน เช่นมียอดหนี้ตั้งต้น 200,000 ก็ถือว่า ยอด 60,000 บาท เป็นยอดเพื่อการเปลี่ยนหนี้ให้กลายเป็นทุนสำหรับผู้ที่กู้ยืมเพื่อการศึกษา

2.สำหรับยอดคงเหลือ 70% ก็สามารถเปลี่ยนยอดหนี้คงเหลือให้กลายเป็นทุนการศึกษาตามเงื่อนไขดังนี้

2.1 ลดยอดเงินต้น 70 % สูงสุด 2 แสน สำหรับ ผู้ที่ทำงานเกิน 2 ปี ใน

                        -องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมถึงพรรคการเมือง

                        -ภาคบริการสาธารณสุข

                        -หน่วยงานด้านการศึกษา

                        -หน่วยงานด้านสื่อสารมวลชน และวรรณกรรม

-พื้นที่จังหวัดภูมิลำเนา หรือกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานตามที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นระบุ

2.2 ลดยอดเงินต้น 70 % สูงสุด 2 แสน ผู้ที่เริ่มทำธุรกิจในจังหวัดบ้านเกิด และมีการจ้างงาน จำนวน 1 คนขึ้นไป เป็นเวลา 2 ปี

2.3 ลดยอดเงินต้น 70 % สูงสุด 2 แสน สำหรับผู้ที่มียอดชำระภาษีเฉลี่ยปีละ 10,000 บาทขึ้นไป ใน 2 ปี

 2.4 ลดยอดเงินต้น 70 % สูงสุด 2 แสน สำหรับผู้มีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ในอุปการะ

2.5 ลดยอดเงินต้น 70 % สูงสุด 2 แสน สำหรับผู้มีบุตรอายุต่ำกว่า 15 ปี ในอุปการะ

2.6 ลดยอดเงินต้น 70 % สูงสุด 2 แสน สำหรับผู้มีบุคคลทุพพลภาพ ในอุปการะ

ข้อเสนอนี้นับเป็นข้อเสนอเบื้องต้นหลังจากการที่เรารับหลักการว่า ไม่ควรมีใครควรเป็นหนี้จากการมีความฝัน และเมื่อพวกเขาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการคืนมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่สังคมทั้งโดยตรงโดยอ้อมพวกเขาก็ควรได้รับชีวิตของพวกเขากลับคืนจากนโยบายที่ผิดพลาดเช่นกัน