ความหวัง ยังไม่ตาย ใต้เผด็จการลายพราง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ตุลาคมวนมาอีกครั้ง หลังขวบปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความเห็นต่าง ความขัดแย้ง โดยมีประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำ ปรากฎการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังอยู่ใต้อำนาจของความกลัว ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้จะผ่านมา 46 ปีแล้ว

ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อความ(อ)ยุติธรรม ถึงอย่างนั้น เสียงจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ต้องการจะเปิดม่านของอำนาจ ทั้งที่เรามองเห็นและไม่เห็นก็ตาม หากเราไม่ก้าวข้ามความกลัวเหล่านี้ โดยการนำมาพูดถึงในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของสังคมไปพร้อม ๆ กัน ผ่านเวทีเสวนาและการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และดูเหมือนในปี 2565 นี้ ดูจะถูกพูดถึงในสังคมมากเป็นพิเศษคือการลุกขึ้นมาพูดของประชาชน กำลังบอกอะไรบางอย่างต่อผู้มีอำนาจ

De/code ชวนอ่านความคิดของคนรุ่นใหม่ ในวันที่การเรียนรู้อดีตอันโหดร้าย คือการก้าวข้ามไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น ในวงเสวนาวิชาการ เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย กับ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และมายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ดำเนินรายการโดย ธนกร วงษ์ปัญญา The Standard

เพราะ 6 ตุลาคม เมื่อ 46 ปีที่แล้ว คือช่วงเวลาที่รัฐไทยพยายามปกปิด และวันนี้คนรุ่นใหม่ต้องการจะขุดคุ้ยประวัติศาสตร์นั้น เพื่อไม่ให้ปัจจุบันและอนาคตของพวกเขา ซ้ำรอยเดิม

มรดกของรัฐเผด็จการ ยังฝังแน่น

ธนกร เปิดคำถามแรกต่อผู้เข้าร่วมวงเสวนาว่า เพราะอะไร พวกเขาทั้ง 3 คน ถึงสนใจและให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เหตุการณ์นี้มีความสำคัญอย่างไร สังคมไทยถึงต้องเรียนรู้จากสิ่งนี้

พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มากที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย เหตุการณ์นี้ยังคงยึดโยงถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะทำให้วันเดือนปีของความสูญเสียผ่านไป แต่ผู้รับผิดชอบหรือผู้กระทำ ยังคงลอยนวล พ้นผิด

“เมื่อเรามองเห็นว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน ภาครัฐเป็นผู้กระทำและมีประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสีย การศึกษาและเรียนรู้อดีต ทำให้เรามองเห็นปัจจัย ที่มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งในแง่ของกระบวนการประชาชน และที่สำคัญคือปัจจัยเสี่ยง ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าว

จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือมรดกของรัฐเผด็จการ ที่ยังแฝงฝังอยู่ในสังคมไทย ในการที่จะใช้อำนาจที่มี ปิดปากประชาชนผู้เห็นต่าง

พริษฐ์ยังกล่าวถึงกระบวนการที่จะทำให้สังคมไทยก้าวข้ามและสร้างรากฐานต่อต้านความรุนแรงต่อประชาชน ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก และ 1 ขั้นตอนเสริม

“มองย้อนกลับไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว เหล่าผู้มีอำนาจที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชน ในปี 2521 เพียงระยะเวลาแค่ 2 ปี ผู้มีอำนาจเหล่านั้นถูกนิรโทษกรรมต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องใช้มารับผิดชอบการกระทำของพวกเขา”

พริษฐ์ วัชรสินธุ พูดถึงกระบวนการขั้นแรกที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้น คือการให้ผู้กระทำความรุนแรงเหล่านี้ ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ด้าน พริษฐ์ ชิวารักษ์กล่าวเสริมว่า เมื่อเรามองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา ผู้กระทำหรือเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ ไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงใด ๆ ซึ่งนั่นเป็นมรดกเผด็จการอย่างหนึ่งที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การไม่ให้เกิดนิรโทษกรรม และการนำผู้กระทำความรุนแรงมารับผิด นี่จะเป็นกลไกสำคัญ ในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ความรุนแรงอย่างที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน

ถึงอย่างนั้น พริษฐ์ วัชรสินธุ มองว่า การไม่ให้นิรโทษกรรมนั้นอาจเป็นทางตันของสังคม เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น มักเกิดการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในฐานะพรรคพวกของตน ยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมของไทย

“ในกระบวนการค้นหาความจริงนั้น เราควรมีกระบวนการที่เป็นอิสระ ทั้งอิสระจากคู่ขัดแย้ง และอิสระต่อการแทรกแซง” เขายังเสริมว่า การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการค้นหาความจริง จะทำให้สังคมขับเคลื่อนด้วยประชาชนอย่างแท้จริง และผู้คนจะคอยจับตามองต่อกระบวนการได้ชัดเจนขึ้น

ไถกลบลบอดีต รัฐเผด็จการต้องการปกปิดความจริง

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ตอบคำถามด้วยการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมื่อวาน เมื่อสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ถูกปิดใช้งานเนื่องจากปรับปรุงพื้นที่ พริษฐ์กล่าวต่อเหตุการณ์นี้ว่า เหตุใดจึงมีการปรับปรุงสนามฟุตบอล ในช่วงวันที่มีการรำลึกพอดิบพอดีและสื่อสารไปถึงผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“มันเหมือนเป็นการไม่ให้เราพูดถึง ไม่ให้เรารับรู้ พอเราไม่รับรู้เรื่องราวมันทำให้สังคมไม่เกิดการเรียนรู้ ถ้าเราได้เรียนรู้ มันจะถูกปิดบังอีกต่อไป มันจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับคนเดือนตุลาฯ และที่สำคัญประชาชนจะเรียนรู้ถึงอำนาจที่เรามองไม่เห็น และเราจะรู้วิธีรับมือกับอย่างไร” พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าว

เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่แทบจะไม่มีบทบาทหรือเรื่องราวปรากฏให้เราเห็นในหนังสือเรียน พริษฐ์ ได้กล่าวเปรียบเทียบกับเหตุการณ์รำลึกสังหารหมู่ที่กวางจู ของรัฐบาลเกาหลีใต้ การที่ภาครัฐทำให้เหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นวาระสำคัญของสังคม การไม่ปิดบังและทำให้ประชาชนรับรู้โดยทั่วกันนั้น คือการที่บอกเราว่า เราจะไม่ซ้ำรอยเดิมของเหตุการณ์อันโหดร้ายอีก

“ยิ่งเราค้นลึกเท่าไหร่ เรายิ่งจะเข้าใจมันมากขึ้น เราจะเข้าใจวิธีการที่เขาใช้ อำนาจแบบไหนที่กดทับเราอยู่” ภัสราวลีกล่าว

เธอยังเล่าถึงการขุดคุ้ยที่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้ว่า เราได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เป็นภาพสี ถามว่าภาพสีแตกต่างจากภาพขาวดำที่เราเคยมีอย่างไร ความแตกต่างที่ว่าคือเรื่องของอารมณ์และเหตุการณ์จริงในวันนั้น เราได้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้น และเรากำลังเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

ถึงอย่างนั้น ภัสราวลีกล่าวถึงการจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ ที่เป็นกระแสมากขึ้นในปีนี้ ทว่า การจัดงานดังกล่าว มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้จัดในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการจะเรียนรู้อดีต และรัฐเผด็จการต้องการจะปกปิดความจริงจากประชาชน เธอกล่าวว่า มันอาจจะต้องย้อนกลับมามองว่าเหตุการณ์ในอดีตกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประชาชนกำลังถูกควบคุมโดยคนกลุ่มเดียวกันอยู่

เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เรากำลังเรียนรู้ อาจเป็นกุญแจที่จะไขช่องว่าง ของการใช้ความรุนแรง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ความรุนแรงซับซ้อน

เมื่อเปรียบเทียบบริบทกับในปัจจุบัน 46 ปีผ่านไป มีอะไรที่ยังหลงเหลือจากความรุนแรงนี้บ้าง

ภัสราวลีกล่าวว่า หากเรามองย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้โลกจะก้าวหน้าไปเพียงใด แต่ความรุนแรงที่รัฐเผด็จการมอบให้กับประชาชนผู้เห็นต่าง ยังคงมีอยู่ จากเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาฯ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราก็ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นหลาย ๆ ที่ ทั้งม็อบดินแดง ม็อบราษฎรประสงค์ ม็อบแยกปทุมวัน เราจะเห็นการใช้ความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้น

ถึงแม้จะไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนในอดีต แต่เธอกลับตั้งคำถามสำคัญ คือมันควรจะไม่มีการใช้ความรุนแรงมากกว่ามานั่งนับว่ามีผู้เสียชีวิตกี่คน

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็เช่นกัน ถึงแม้เขาจะโดนคดีหลายคดี แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเห็นว่าแตกต่าง คือในอดีตมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน แล้วจึงใช้กฎหมายกดทับตาม แต่ในปัจจุบัน มีการใช้กฎหมายไล่บี้ แล้วจึงใช้อำนาจ สั่งการให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชน

“อย่างคดี 112 ที่ผมโดน คือใครก็สามารถแจ้งความได้ แจ้งที่จังหวัดไหนก็ได้ มันทำให้เห็นว่าพอพูดถึงอำนาจที่ซ้อนทับอยู่ เรากำลังโดนปิดปาก เรากำลังโดนริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการพูด”

แต่เมื่อมองในภาพรวม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีนี้ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันเป็น Generation of hope เป็นความหวังที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เพราะเมื่อความจริงปรากฏชัดขึ้นเท่าไหร่ อนาคตของพวกเราก็จะยิ่งมีลู่ทางมากขึ้นเท่านั้น

สะสางอดีต ไม่ใช่เพื่อให้เราก้าวข้าม

46 ปีผ่านไป และอีกหลายสิบปีในชีวิตที่เหลือของแขกรับเชิญทั้ง 3 คนที่มาพูดถึงในวันนี้ ธนกรถามพวกเขาว่า พวกเขามองเห็นบริบทของตัวเองในวันข้างหน้าเป็นอย่างไร

“เราแทบไม่เคยคิดฝันถึงอนาคตเลย เพราะที่นี่ไม่อนุญาตให้เราได้ฝันขนาดนั้น ถ้าถามว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็คงสู้ต่อ เพื่อที่จะหาอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ภัสราวลีกล่าว

ในช่วงท้ายของวงเสวนา ภัสราวลี พริษฐ์ ชิวารักษ์ และพริษฐ์ วัชรสินธุ พูดถึงและตั้งคำถามต่อมาตรา 112 พวกเขากล่าวว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายสำคัญที่ทำให้กิดการไม่พูดถึงปัญหาอย่างแท้จริง

เมื่อมองย้อนกลับไปในยุคที่เราถูกปกครองด้วยรัฐเผด็จการ ประชาชนกำลังต่อสู้กับชนชั้นนำ และชนชั้นนำกำลังนำปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งแล้ว ครั้งเล่า ซุกไว้ใต้พรม

 “ถ้าเราเห็นในช่วง 2-3 ปีก่อน ที่มีม็อบออกมา เราพูดถึงกันในที่สาธารณะ นั่นทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น เราเอาปัญหามากางแล้วร่วมมองมันไปด้วยกัน ถ้าถามว่าในวันนี้เราพูดถึงปัญหากันจริง ๆ หรือเปล่า เราพูดกันอยู่ แต่เราพูดกันในมุมเล็ก ๆ มันไม่ได้ต่างจากการซุบซิบนินทา พอมันไม่ได้พูดได้ในวงกว้าง ข้อมูลที่ออกไปก็ผิดเพี้ยน มันก็ไม่เกิดการสร้างความเข้าใจในปัญหาของสังคม” ภัสราวลีกล่าว

ด้านพริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวว่าเมื่อการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ใกล้เข้ามาถึง หลายคนมองว่ามันเป็นโอกาส ที่จะหลุดจากระบอบของการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลนี้เสียที ทว่า สิ่งที่เขาเน้นย้ำ คือเราต้องอย่านิ่งดูดาย ต่อโอกาสที่เข้ามา โอกาสที่เขาสามารถขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้สำเร็จ

“ไม่ว่าจะโอกาสใดก็ตาม ผมมองว่าเราสามารถขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้สำเร็จได้ ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมา เราต้องอย่านิ่งดูดายโอกาสที่ผ่านมาแล้วผ่านมาเล่า ประชาธิปไตยถึงจะเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย”

หลายคนมักจะเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กับ ฉบับปี 2540 ทว่า พริษฐ์ วัชรสินธุ ให้ความเห็นที่ว่า หากเปรียบเทียบเพื่อหาช่องโหว่ของกฎหมายจริง ๆ เราควรไปมองฉบับปี 2521 มากกว่า ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้น คือฉบับที่เป็นมรดกเผด็จการมากที่สุด

พริษฐ์ วัชรสินธุกล่าวต่อว่า “เราต้องยอมรับว่าในหมู่ประชาชน มันเกิดความแตกต่างในช่วงวัย แต่ก็อาจไม่ใชประเด็นสำคัญที่สุด เราต้องยอมรับและเข้าใจว่า สังคมเราเป็นสังคมที่มีความแตกต่างทางความคิด ไม่เหมือนที่รัฐพยายามบอกมาหลายชั่วอายุคน”

ท่ามกลางมายาคติความรัก ความสามัคคี ซึ่งเป็นภาพจำของสังคมไทย เมื่อเกิดความขัดแย้งจึงมักแสดงออกกันในท่าทีที่เป็นศัตรู เมื่อความไม่ใช่เรา จึงเป็นอื่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เกิดจากมายาคติเหล่านี้ทั้งสิ้น หากเราทำความเข้าใจกับความแตกต่างทางความคิดที่มีในสังคมได้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องมาขัดแย้งในอุดมการณ์ของกันและกัน และนั่นจะเป็นช่องทางที่ประชาธิปไตยจะเจริญเติบโตได้ในประเทศไทย

ถึงการเรียนรู้อดีตเพื่อสร้างปัจจุบันและอนาคตที่ดีขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญ แต่พวกเขายังเชื่อว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่เรายังต้องจับตามองและเรียนรู้ไปพร้อมกัน อย่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกต่าง ๆ กฎหมายเลือกตั้ง ไปจนถึงกฎเกณฑ์กติกาที่ถูกบังคับใช้ในสังคม

ในช่วงเวลาที่ประชาชนทุกช่วงวัย ตื่นตัวทางการเมือง แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น พวกเขายังกล่าวถึงความต่อเนื่อง ที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะไม่เกิดขึ้นกับพวกเรา ความผิดพลาดที่ผ่านมาจะเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทย

เพราะการสะสางอดีต ไม่ใช่เพื่อให้เราก้าวข้ามโดยไม่สนใจความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่เป็นการมองเพื่อที่เราจะได้เดินไปอย่างมั่นคง ต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นโดยชนชั้นนำต่างหาก

รับชมวงเสวนาวิชาการ เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย