สืบหาปีศาจ '6 ตุลา' ที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียด - Decode
Reading Time: 3 minutes

46 ปีผ่านไป รอยบาดแผลจากเหตุการณ์สังหารหมู่ ‘6 ตุลา’ ยังประทับอยู่ในด้านมืดของประวัติศาสตร์ไทย

แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยอยากจะให้ผู้คนลบลืม แต่ด้วยนาฏกรรมเลือดที่ประจักษ์แจ้งบนลานกว้าง ผสมโรงกับการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่อเหตุความรุนแรงในเช้าวันนั้น ทำให้คนที่หันมาสนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลือกจะหาข้อมูลและจดจำ ว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเรื่องวิปโยคบนผืนแผ่นดินไทย

ในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลา โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา-October 6 Museum Project ได้กลับมาจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อีกครั้งในชื่อ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” (Oct 6: Facing Demons) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด” ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพถ่ายร่วมสมัยกับเหตุการณ์ครั้งนั้นมาจัดแสดง

De/code ใช้โอกาสนี้สนทนากับตัวแทนจากทีมผู้จัดโครงการฯ ถึงเบื้องหลังการจัดนิทรรศการครั้งนี้ที่เปรียบเสมือนการทำงานทางความคิดของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา คนแรก สุภาภรณ์ อัษฎมงคล เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานในโครงการฯ ครั้งนี้ที่ได้เก็บข้อมูล โดยเฉพาะภาพถ่าย คนต่อมา ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้ที่ทำทุกอย่างในโครงการฯ ตั้งแต่เขียนบทไปจนถึงติดต่อดีไซน์เนอร์ และคนสุดท้าย ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ช่วยในส่วนงานต่าง ๆ เช่น การทำข้อมูล การคัดสรรภาพ บทบรรยาย และการแปล รวมทั้งช่วยดูแลอาสาสมัคร

จากความรับรู้เหตุการณ์สู่การจัดนิทรรศการ

ประเด็นหลักแรกของบทสนทนาเริ่มด้วยคำถามว่า ทำไมถึงเลือกที่จะจัดนิทรรศการ 6 ตุลา ? ท่ามกลางเหตุการณ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ที่มีมากมาย ทางทีมผู้จัดโครงการฯ มีความรับรู้หรือความสนใจต่อ 6 ตุลายังไง จนนำมาสู่การรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายให้กลายมาเป็นนิทรรศการที่สะท้อนความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

สุภาภรณ์โตมากับสภาพแวดล้อมที่มีเรื่องราวของ 6 ตุลาอยู่ใกล้ตัวมาตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยม เนื่องจากที่บ้านมีญาติรุ่นน้าเก็บหนังสือของนักศึกษาฝ่ายซ้ายเอาไว้ พอเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เข้าถึงข้อมูลหนังสือที่มีเรื่อง 6 ตุลามากขึ้น และได้มีโอกาสอ่านหนังสือ คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร ที่มี รศ.สมยศ เชื้อไทย เป็นบรรณาธิการ ทำให้เห็นว่าคดีนี้มีที่มาอะไรยังไง

ทีนี้ ในแง่ของสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ‘6 ตุลา’ สุภาภรณ์มองว่าสื่อที่มีอยู่ค่อนข้างกระจัดกระจาย การจัดนิทรรศการจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ มาไว้ในพื้นที่เดียว

“การนำมารวมเป็นนิทรรศการจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่ง หรือเป็นวิธีการหนึ่งที่เอาบรรดาข้อมูลต่าง ๆ มาพรีเซนต์ในพื้นที่การเรียนรู้หนึ่ง ซึ่งโครงการฯ ก็มีเป้าหมายที่อยากจะทำพื้นที่ของการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่แล้ว”

ภัทรภรชวนย้อนมองกลับไปในช่วงเวลาประมาณสิบปีถึงห้าสิบปีที่ผ่านมาหรือยาวนานกว่านั้น จะเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นสังคมสงบสุข แต่เผชิญกับความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่งยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ดูได้จากการคุกคามเด็ก เยาวชน นักกิจกรรม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความรุนแรงทางการเมืองแบบนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

หากมองเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่น ๆ หลังจากการสังหารหมู่ ‘6 ตุลา’ จะเห็นว่าสังคมไทยไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นซ้ำ นี่เป็นเหตุผลที่ทางโครงการฯ เลือกจัดแสดงเหตุการณ์นี้มาตั้งแต่ในช่วงปีที่เริ่มต้น

“การสังหารหมู่ในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สังคมไทยมีความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างและวัฒนธรรม และเรามีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เข้มแข็ง เรามีปัญหาเรื่องการศึกษา เรามีปัญหาเรื่องกระบวนการคิด เรามีปัญหาการให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น”

ธนาพลในฐานะคนทำหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์/การเมืองมาโดยตลอด ไม่ได้สนใจเฉพาะ ‘6 ตุลา’ แต่สนใจเหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย เช่น พฤษภา 2535 ฯลฯ โดยมองว่าหลายเหตุการณ์ยังสามารถไปต่อได้อีกในแง่ของคำถามและการสืบค้น ถ้ามีโอกาสก็จะทำนิทรรศการของเหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ตามมา

“ผมก็สนใจการเมืองนั่นแหละครับ แล้วก็ไม่ได้สนใจตัวเหตุการณ์อะไรโดยเฉพาะ ก็สนใจทุก ๆ เหตุการณ์แหละ โดยเฉพาะอะไรที่มันยังไม่มีคำตอบที่พอใจ”

“6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ” ภาพถ่ายผู้คนและปิศาจที่ซ่อนอยู่

สำหรับคอนเซ็ปต์การจัดนิทรรศการ ‘6 ตุลา’ ในปีนี้ สุภาภรณ์อธิบายว่าไม่ได้ตั้งธงหรือคิดเป็นคอนเซ็ปต์เหมือนเขียนงานสักชิ้นหนึ่งไว้ก่อนว่าจะทำอะไร แต่มาจากข้อมูลและภาพถ่ายที่ทางโครงการฯ มี แล้วมาดูกันว่าจะทำอะไรกับภาพเหล่านั้น ซึ่งวิธีการค่อนข้างจะไม่ได้ลำดับจากการคิดเป็นนามธรรมมาสู่รูปธรรม

“เราเห็นกองข้อมูล เห็นตัวรูปธรรมที่มีอยู่ก่อน แล้วค่อยมาหาว่ามันจะนำเสนอยังไงได้บ้าง”

นิทรรศการปีนี้นี้จึงต่างจากนิทรรศการ ‘แขวน’ 6 ตุลา On site Museum ณ โถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในปี 2563 ที่มีวัตถุพยานหลายรูปแบบ เช่น กางเกงยีนส์ของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง หนึ่งในเหยื่อของความรุนแรง ประตูแดงที่เคยเป็นวัตถุแขวนคอพนักงานไฟฟ้า 2 คน ลำโพงที่เต็มไปด้วยรอยกระสุนเจาะทะลุ ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุที่ผ่านกาลเวลามาให้เห็นกันในปัจจุบัน

ธนาพลพูดถึงการคิดรูปแบบนิทรรศการที่เริ่มจากภาพถ่าย 700-800 ภาพที่หาเจอมา แล้วทางทีมก็มาช่วยกันดูว่าภาพไหนเป็นเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ หรือบางภาพอาจจะเป็น 14 ตุลา จากนั้นก็พยายามพัฒนาโจทย์ขึ้นมา เวลาเห็นคนหรือเห็นอะไรในภาพถ่ายก็ต้องคุยกันว่าอยากจะตามหาคนไหม หรือว่าพอไปดูในรายละเอียด อย่างเช่นเห็นสไนเปอร์ ก็พยายามสืบหา “ปิศาจ” ตัวนี้ ซึ่งก็เป็นคอนเซ็ปต์หลักของนิทรรศการ กระบวนการต่าง ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายได้วัตถุดิบและค้นจนเจอปีศาจ แล้วต้องมาคิดต่อว่าจะดีลกับมันยังไง

“ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด ถ้าเราลงในรายละเอียด เราก็จะเห็นฆาตกรซ่อนอยู่ เห็นปิศาจซ่อนอยู่”

ภัทรภรเสริมส่วนนี้ว่า ในนิทรรศการ 6 ตุลาปีนี้ หากเดินขึ้นไปชั้น 4 ของคินใจ คอนเทมโพรารี พื้นที่ส่วนหนึ่งคือ “6 ตุลาที่คุ้นเคย” ทีมผู้จัดโครงการฯ ได้จับคู่ภาพเหมือน 6 ตุลาและเหตุการณ์อื่น ๆ เอาไว้

“ภาพถ่ายเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้นซ้ำจริง ๆ”

จากที่ผู้จัดโครงการฯ ทั้ง 3 คนอธิบายมา “ภาพถ่าย” คือวัตถุพยานหลักของนิทรรศการ 6 ตุลาในปีนี้ รายละเอียดของผู้คน สถานที่ เหตุการณ์ รวมถึงความรุนแรงต่าง ๆ ที่ทั้งปรากฏให้เห็นกันอย่างโจ่งแจ้งหรือซุกซ่อนอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของภาพ เปรียบเสมือน “ปิศาจ” ที่ผู้เข้าชมจะได้เผชิญ

การรวบรวมภาพถ่ายและการปะติดปะต่อเรื่องราว

สุภาภรณ์ในฐานะผู้ที่ทำงานเก็บข้อมูลได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการสืบค้นภาพถ่ายให้ฟัง โดยเมื่อปีที่แล้ว (2564) เห็นรุ่นพี่ช่างภาพคนหนึ่งชื่อสายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กเรื่องช่างภาพที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมือง แล้วก็มีบางคนที่โดนยิงบาดเจ็บบ้าง เมื่อติดต่อเรื่องภาพถ่ายไปจึงได้รู้ว่า ภาพถ่ายที่โพสต์นั้นไม่ได้เป็นของคุณสายัณห์ทั้งหมด บางส่วนมาจากคุณสมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ จากนั้นจึงติดตามต่อจนได้พบคุณสมบูรณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และขอทำสำเนาจากฟิล์มภาพถ่ายมาประมาณ 13 ม้วน

แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะนำสำเนาภาพถ่ายมาจัดแสดงได้ทั้งหมด เพราะถ้าทำแบบนั้นก็เหมือนเอาอะไรสักอย่างมากองโดยไม่รับผิดชอบต่อคนที่เข้ามาชม คนที่ทำงานโครงการฯ จะต้องตีความ เล่าเรื่อง และค้นคว้าข้อมูล เพื่อใช้ประกอบกับสิ่งที่ถูกบันทึกลงในภาพถ่าย แล้วค่อยนำมาใช้ในการจัดแสดง

“หน้าที่ของเราก็คือต้องเป็นตัวกรองและตัวเล่าเรื่องให้ด้วย สิ่งที่มันยากก็คือว่า แล้วเราจะเล่ามันยังไง มันก็ต้องมีธีม มันก็ต้องมีคอนเซ็ปต์”

รายละเอียดต่าง ๆ ในภาพถ่ายจึงเป็นสิ่งที่มิอาจละเลยได้ สุภาภรณ์ยกตัวอย่างกรณีภาพถ่ายภาพหนึ่งที่เห็นอาวุธจำนวนมาก เพื่อความถูกต้องว่าอาวุธที่เห็นเป็นปืนอะไร ก็ต้องการคนที่จะมาให้ข้อมูลชัดเจนมากขึ้น จึงได้ติดต่อไปที่ครูฝึกตำรวจพลร่มที่เชี่ยวชาญเรื่องปืน เขาก็ยินดีให้สัมภาษณ์ แต่ขอปกปิดตัวตน

นอกจากการสืบค้นข้อมูลบริบทแวดล้อมภาพถ่ายแล้ว การค้นหาผู้ที่อยู่ในภาพถ่ายหรือผู้ที่ถ่ายภาพก็ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการปะติดปะต่อเรื่องราวในภาพถ่ายกับความทรงจำเข้าไว้ด้วยกัน

ความรู้สึกที่ยังทรงจำ บางเสียงของผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์

เมื่อขึ้นชื่อว่าเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะแบบ “ฝ่ายใด-ฝ่ายหนึ่ง” แต่ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยบทบาทหน้าที่บางอย่าง ทำให้อาจจะแสดงทีท่าแบบเป็นกลางออกมา เพื่อเลี่ยงการถูกแปะป้ายว่าเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทว่าหากบวกความรุนแรงเข้าไปในเหตุการณ์นั้นด้วย ก็อาจมีผู้ที่อยู่ตรงกลางนั้นเห็นอกเห็นใจผู้ถูกกระทำ เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นกรณีสำคัญของคำอธิบายนี้

สุภาภรณ์ยกตัวอย่างช่างภาพที่ทำงานในวันที่ 6 ตุลา ประมาณ 4-5 คนที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ซึ่งอาจจะรู้สึกว่าช่างภาพที่ผ่านเหตุการณ์นี้น่าจะมีความเห็นอกเห็นใจนักศึกษา เพราะเห็นภาพการทำร้ายต่าง ๆ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด

“บางคนก็มีมุมมอง 6 ตุลา ในฐานะที่เป็นงาน ๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นพอเสร็จงานนี้เขาก็ต้องทำงานอื่นต่อไป แต่ขณะที่บางคนก็อาจรู้สึกว่าถ่ายไปร้องไห้ไป และสิ่งนี้ยังอยู่ลึก ๆ ในความทรงจำของเขา”

สำหรับช่างภาพที่สะเทือนใจต่อ 6 ตุลา บางครั้งที่ทีมผู้จัดโครงการฯ ถามอย่างละเอียดในบางจุด ทำให้อารมณ์ความรู้สึกที่หลั่งน้ำตาในเหตุการณ์ครั้งนั้น พอถูกพูดถึงอีกครั้งก็มีความสะเทือนใจ ขณะที่บางคนจะพยายามบอกว่าให้มีความเป็นกลางในเหตุการณ์ทางการเมืองแบบนี้

อีกกรณีหนึ่งที่สุภาภรณ์ยกตัวอย่างมาคือ การสัมภาษณ์พยาบาลคนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย ซึ่งบังเอิญมีชื่อปักอยู่จึงลองค้นหาดูจนเจอ จากนั้นได้ไปสัมภาษณ์ถึงรู้รายละเอียดว่า ตอนนั้นพยาบาลคนนี้อยู่โรงพยาบาลอะไร ทำอะไร แต่ความทรงจำในบางจุดของเขาต่อเหตุการณ์นี้ที่จำไม่ได้ก็มี อย่างเช่นภาพนี้ถูกถ่ายที่ไหน ตอนที่ได้สัมภาษณ์ พยาบาลคนนี้ก็รู้สึกแปลกใจและดีใจมากว่าไปตามหามาได้ยังไง แล้วก็ยินดีให้สัมภาษณ์

“เพียงแต่ในระหว่างที่สัมภาษณ์ เขาก็ขอว่า ในบางเรื่องเขาก็จะไม่พูดว่าเขาอยู่ฝ่ายไหน สนับสนุนใคร ก็จะพูดว่าในฐานะพยาบาลเขาก็ต้องดูแลทุกฝ่าย”

ทั้งนี้ ความทรงจำก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ภัทรภรอธิบายว่า ผู้คนมีความทรงจำที่หลากหลาย เราบอกไม่ได้ว่าความทรงจำของผู้กระทำเป็นอย่างไร ความทรงจำของผู้เสียหายเป็นอย่างไร เราไม่ได้ถามพวกเขาทุกคน

“สำหรับคนที่พวกเรามีโอกาสได้เจอ ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ หนึ่งหรือสองชั่วโมงที่เรามีโอกาสพบพวกเขา เราก็ไม่แน่ใจว่า ในบางครั้งพวกเขาคลี่ความทรงจำออกมาบอกเล่าให้พวกเรารู้จริงไหม เราต้องใช้เวลาทำงานเพื่อสร้างความไว้วางใจมากกว่านี้ และบางกรณีเราได้ฟังแต่อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา ไม่ได้ฟังเรื่องความทรงจำ หรือแม้เขาพูดเรื่องความทรงจำ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างนั้นจริงไหม”

หากใครสนใจความทรงจำของผู้เสียหาย ผู้กระทำ หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์คนอื่น ๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” (https://doct6.com/)

ไม่ใช่แค่ 6 ตุลา แต่ประวัติศาสตร์ทุกเรื่องทุกฝ่ายต้องมีเสรีภาพในการเขียน

ประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการมักเต็มไปด้วยเรื่องราวของชนชั้นนำ บุคคลสำคัญ บ้านเมืองที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน และเรื่องราวที่ปรากฏออกมาก็จะเป็นภาพที่ดีงามเสียส่วนใหญ่ ประวัติศาสตร์บาดแผล ฉากการสังหารหมู่ ความรุนแรงโดยรัฐ การลอยนวลพ้นผิด หรือเรียกรวม ๆ ว่าด้านมืดของประวัติศาสตร์ไทยมักไม่มีพื้นที่อยู่ในฉบับทางการ ซึ่งประวัติศาสตร์ 6 ตุลาก็ตกอยู่ในสถานะเช่นนั้น

ทีนี้ ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่การเลือกเขียนประวัติศาสตร์เพียงแค่แนวใดแนวหนึ่ง แต่ทุกฝ่ายต้องมีพื้นที่ในการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับของตนเอง ดังที่ธนาพลให้ความเห็นว่า ประวัติศาสตร์ทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะ 6 ตุลา จะต้องมีเสรีภาพในการเขียน

“จริง ๆ สำหรับผมมันไม่ได้บอกว่ามันต้องเขียนแบบไหนนะ แต่มันต้องมีเสรีภาพในการเขียน คือคุณจะเขียนอวยเจ้าอะไรยังไงก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่มันต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เขียน ไม่ได้เขียนโดยฝ่ายเดียว”

หากใครสนใจอยากรู้เรื่องราว 6 ตุลาจากภาพถ่ายร่วมสมัย สามารถเข้าไปชมได้ที่นิทรรศการ  “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ” ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-13 พฤศจิกายน 2565 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 11.00-21.00 น. ณ คินใจ คอนเทมโพรารี (Kinjai Contemporary) เชิงสะพานกรุงธน

เพราะปีศาจมักหลบซ่อนอยู่ในมุมมืด เราจึงต้องส่องแสงสว่างเพื่อค้นหามัน