ชำระประวัติศาสตร์บาดแผลที่จบไม่ได้ ลืมไม่ลง - Decode
Reading Time: 3 minutes

6 ตุลาคมกำลังจะครบปีที่ 46 อีกครั้ง “อยากให้เราสนใจคนที่เสียชีวิต (ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519) ในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่อย่างนั้นเราก็จะจดจำมันแค่ตัวเลข” ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ในฐานะคน ‘6 ตุลา’ กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนาและชวนตระหนักว่า นี่เป็นความทรงจำและบาดแผลที่ร้าวลึก เป็นประวัติศาสตร์ของความเจ็บปวด ที่ไม่ได้ถูกกล่าวขานในประวัติศาสตร์กระแสหลัก หรือซ้ำร้ายกว่านั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่เราพูดความจริงถึงมันไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ท้องสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์แล้วนั้น แทบที่จะไม่ต้องสาธยายเพิ่มว่ารัฐโหดเหี้ยม และใจดำอำมหิตต่อประชาชนเพียงใด ต่อข้อกล่าวหามากมายที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาและผู้ชุมนุม

ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง ล้มเจ้าบ้าง หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติบ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วข้อกล่าวหาเหล่านี้ล้วนอุปโลกน์ขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในรุ่งเช้าวันนั้น ที่น่าเศร้าสลดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย คือเรามีกองกำลังติดอาวุธ มีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจตระเวนชายแดน และลูกเสือชาวบ้านเป็นแกนนำใช้กำลังเข้าทารุณกรรม และสังหารชีวิตของนักศึกษาอย่างไร้ความปราณี โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย (บางแหล่งอ้างถึงหลักร้อยราย) ณ กลางวันแสก ๆ และกลางกรุงเทพมหานคร จนถึงนาทีนี้ยังไม่มีผู้ถูกดำเนินคดีหรือได้รับโทษจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ผ่านมาเพียงแค่สองทศวรรษ โศกนาฏกรรมโดยรัฐเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เปลี่ยนที่ไปอยู่ตรงชายขอบ ห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ แต่ความอำมหิตแทบไม่ต่างจากเดิม คือเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารเข้าสลายการชุมนุมการรวมตัวของประชาชนที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ถูกทางการตั้งข้อหา-คุมขังในระหว่างการสอบสวนนานกว่าสัปดาห์ เพราะสงสัยว่าพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป แต่ชาวบ้านคิดว่าคนเหล่านั้น “ไม่ผิด” การสลายการชุมนุมในครั้งนั้นเกิดปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยม จับเอาผู้ชุมนุมมัดมือไขว้หลัง และซ้อนทับบนรถทหารกว่า 4-5 ชั้น และนำตัวไปสอบสวนไกลถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุเกือบ 150 กิโลเมตร ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุม 7 คน ระหว่างการเคลื่อนย้าย 78 คน สูญหายอีก 7 คน

เหตุการณ์ตากใบ ถูกจดจำในฐานะประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดสำหรับคนในพื้นที่ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็แทบไม่ต่างจาก ‘6 ตุลา‘ คือเราไม่พบรายงานว่าเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติการ ได้รับผิดตามกระบวนการยุติธรรม และที่เจ็บปวดไปกว่านั้น เหยื่อและครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอด 19 ปีที่ผ่านมา หากตัดวันที่และสถานที่ออก เหมือนเรากำลังเอาเรื่องเดิมมาเล่าอีกครั้ง แต่ไม่เลยนี่เป็นความเสียหายต่อประชาชนที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระออกไป

คำถามที่ยังคงวนเวียนอยู่ในพื้นที่ “คนเหล่านั้นสมควรตายเลยหรอ”

ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยแทบไม่ต่างกัน และอยู่เขตโซนเวลาเดียวกันอย่างอินโดนีเซีย โศกนาฏกรรมการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ที่คาดการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิตและถูกอุ้มหายมากกว่า 500,000 คน ข้อกล่าวหาของซูฮาโต้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ คือพรรคคอมมิวนิสต์กำลังจะทำลายเสาหลักต่อความเชื่อของระบอบการปกครองหรือที่เรียกกันว่าปันจาซีลา เรียบง่ายที่สุดที่จะพูดถึงความโหดเหี้ยม คือลองตัดชื่อประเทศออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็แทบไม่ต่างจาก ‘6 ตุลา’ เหตุการณ์ตากใบ เป็นคำบอกเล่าผ่านวงเสวนาที่ว่าด้วย ประวัติศาสตร์บาดแผลนอกกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ร่วมเสวนาคนสำคัญจากแวดวงวิชาการ ในฐานะผู้ศึกษาและบันทึกเรื่องราวความเจ็บปวดจาก 3 เหตุการณ์จาก ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ในฐานะคน ‘6 ตุลา’ ,ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ ในฐานะผู้บันทึกเหตุการณ์ตากใบและความรุนแรงแรงในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดกว่า 19 ปีที่ผ่านมา และผศ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการเมืองอินโดนีเซีย โดยมีเพนกวิ้น – พริษฐ์ ชิวารักษ์ ดำเนินงานเสวนาฯ แม้ประเด็นในวงเสวนาจะพูดถึงเหตุการณ์ต่างช่วงเวลาต่างพื้นที่ต่างกรรมต่างวาระ แต่ประเด็นร่วมที่เราเห็นจากวงเสวนา คือการตั้งคำถามต่อความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อเหยื่อ ครอบครัวของผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญหลังจากสถานการณ์คลี่คลายและฝุ่นควันจางหาย

แผลสด-แผลเป็น ยังลืมไม่ได้ จำไม่ลง

ศ.ดร.ธงชัย เคยพูดในที่สาธารณะไปแล้ว ว่าโดยส่วนตัวไม่มีความตั้งใจที่จะพูดถึง ‘6 ตุลา’ อีกแล้ว “ไม่ใช่ว่ารังเกียจประวัติศาสตร์ แต่ผมพูดไปมากแล้ว” แน่นอนที่สุดถ้าเกิดว่าเราจะนึกชื่อใครสักคนเมื่อนึกถึง ‘6 ตุลา’ ก็คงหนีไม่พ้นชื่อของ ศ.ดร.ธงชัย เพราะเป็นทั้งผู้นำนักศึกษาในวันนั้น และเป็นนักวิชาการที่ศึกษาบันทึกเรื่อง ‘6 ตุลา’ อย่างเอาจริงเอาจัง

พิธีกรเริ่มตั้งคำถามว่า “ในฐานะที่อาจารย์เป็นคนแรก ๆ ที่ใช้คำว่า ประวัติศาสตร์บาดแผล ทำไมอาจารย์ถึงเลือกใช้คำนี้” ศ.ดร.ธงชัยบอกว่า มันถูกใช้ครั้งแรกในโลกหนังสือเมื่อปี 2539 แต่ก็ไม่ใช่คนแรกที่ใช้คำว่า บาดแผลในทำนองนี้ เพราะโลกหนังสือหลังปี 2519 ก็มีการใช้คำนี้ “ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรสำหรับคนที่กลับมา (ออกมาจากป่า) เพราะมันเจ็บปวด” นี่คงเป็นคำสั้น ๆ ที่อธิบายได้ชัดพอแล้ว ว่าทำไมถึงเจ็บปวด สำหรับคนที่ผ่านรุ่งเช้าของ 6 ตุลาคม 2519 และเลือกเข้าป่าจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ท้ายที่สุด ป่าแตก ความฝันดับหาย และความตายของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ก็เช่นกัน เราคงยากจะเกินเดา ว่าแผลแบบนั้นเจ็บปวดเพียงใด วันนี้เป็นแผลเป็นไปแล้ว หรือยังเป็นแผลสดอยู่ในหัวใจ

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวเพิ่มถึงความหมายของประวัติศาสตร์บาดแผลว่า “มันเกี่ยวข้องกับผู้รอดชีวิต ยังคงเจ็บปวดต่อเนื่อง และยังมีมิติเงียบที่พูดไม่ได้ แน่นอนว่าแม้วันนี้จะไม่เงียบเหมือนเมื่อก่อนแต่ก็ไม่ใช่ว่ามันสามารถพูดได้จนสามารถเปิดเผยทุกอย่าง นั้นกำลังหมายความว่ามันไม่จบ ไม่จบเพราะอะไร ไม่จบเพราะมันเป็นแผล ศ.ดร.”ธงชัยหยิบยก ‘6 ตุลา’ เปรียบเทียบกับโฮโลคอสต์ (เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปราว 6 ล้านคนโดยพรรคนาซีเยอรมันช่วงปี 1941-1945) ว่าสำหรับคนที่เหตุการณ์นั้นมา “มันพูดไม่ออก ไม่สามารถ represent ผ่านภาษาได้ ”

ศ.ดร.ธงชัย ชี้ให้เห็นในฐานะความเห็นส่วนตัวว่าประวัติศาสตร์บาดแผลแบ่งออกเป็น 2 กรณี “อย่างแรกที่มันยังไม่จบ เพราะเราลืมมันไม่ได้ สองคือ สังคมให้มันจบได้ คือสถาปนาความยุติธรรมให้กับมัน” ผมนั่งนึกคล้อยไปกับศ.ดร.ธงชัยแม้ผ่านไปเกือบ 5 ทศวรรษ ก็ไม่เห็นเคยมีใครต้องรับผิดชอบกับ ‘6 ตุลา’ มันยุติธรรมตรงไหน แล้วมันจะจบได้อย่างไร หรือให้จบแบบที่ว่าลืม ๆ ไปเหอะ เห้ยมันมีคนตายนะ ตายที่สนามหลวงเลยนะ ผมนึกเพลินก่อนที่ธงชัยจะชวนปิดท้ายในช่วงนี้ว่า “อยากให้เราสนใจคนที่เสียชีวิต (ในวันที่ ‘6 ตุลา’ ) ในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่อย่างนั้นเราก็จะจดจำมันแค่ตัวเลข” หากนับตัวเลขคนเสียชีวิตในเช้าวันที่ ‘6 ตุลา’ คนเหล่านั้นที่เสียชีวิตไปจะไม่มีความหมายเลย

ไม่ควรมีใครสมควรตาย ในหน้าประวัติศาสตร์ของผู้ถูกยึดครอง

“แล้วเหตุการณ์ตากใบละครับอาจารย์” พิธีกรถาม

ผศ. เอกรินทร์เริ่มต้นด้วยดึงอารมณ์ของผู้ร่วมเสวนาให้เงียบสงัดด้วยคำพูดที่ว่า “ตากใบเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ฝนตกเหมือนวันนี้เลยครับ และฝนก็ตกแบบนี้ด้วย” ผมขนลุกซู่ เพราะนึกภาพตอนไปสถานีตำรวจภูธรตากใบเพื่อศึกษาเหตุการณ์เมื่อปี 2547 และยังจำภาพตราตรึงตอนร่วมส่งศพของอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ หนึ่งในเหยื่อที่เสียชีวิตหลังจากถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารในปี 2562

ผศ.เอกรินทร์เล่าว่า เคยไปสัมภาษณ์ภรรยาของมะรอโซ หนึ่งในคนที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ตากใบ นางเล่าว่า มะรอโซรอดมาได้เพราะต้องกินน้ำฝนปนเลือดของเพื่อน ๆ ที่ถูกจับและซ้อนกันกว่า 4-5 ชั้นบนรถทหาร บนสุดคือรองเท้าบู๊ทของเจ้าหน้าที่ชุดพรางที่เตะและเหยียบตลอดเวลากว่าเส้นทาง 150 กิโลเมตร เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 85 คน

เคยถามภรรยาถึงสาเหตุที่มะรอโซเลือกเข้ากลุ่มขบวนการ ทั้งที่มะรอโซเป็นคนเงียบ ๆ ภรรยาบอกว่า หลังถูกปล่อยตัวกลับมาจากค่ายอิงคยุทธบริหาร มะรอโซเอาแต่เก็บตัวเงียบและไม่พูดไม่จากับใคร

ผศ.เอกรินทร์ ยอมรับว่า มันพูดไม่ออก เขาไม่มีทางเลือก “เลยต้องเลือกที่จะจับอาวุธ เอาล่ะการจับอาวุธมันไม่ถูกต้อง แต่มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้มอบความยุติธรรมให้แก่เขา

ผศ.เอกรินทร์ กล่าวต่อ เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ภาคใต้ อยากให้เราตระหนักถึงสามประเด็น อย่างแรก ประวัติศาสตร์ภาคใต้มันเป็นประวัติศาสตร์คนละฉบับและเป็นปฏิปักษ์กับประวัติศาสตร์ไทย “ถ้าจะมีความภาคภูมิใจก็เป็นความภาคภูมิใจคนละแบบ” มันเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ถูกยึดครอง มันเป็นประวัติศาสตร์ของผู้แพ้ เรียบง่ายที่สุดคือมันไม่สามารถพูดถึงความจริงในอดีตได้ ถูกส่งต่อแต่พวกเขากันเอง และหากถูกจับได้ว่าพูดก็อาจกลายเป็นคนที่สนับสนุนขบวนการ

สอง อยากจะชี้ให้เห็นว่าคนใต้นั้นเขาถูกยกย่องในฐานะนักสู้ ถูกจารึกไว้ที่สุสาน สำหรับคนในพื้นที่พวกเขาเสียชีวิตในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า พวกเราไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวที่สำนึกถึงความเป็นธรรม จาก 2547-ปัจจุบัน ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ถูกสะสาง มันเลยกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต มันกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน “เห็นคนโดนจับโดนทำร้าย โดนอุ้มหายอยู่ทุกวัน”

สุดท้าย แน่นอนว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความทรงจำ แต่ผมขยายต่ออีกนิด (จากเรื่องราวในพื้นที่) ว่ามันเป็นความที่ไม่ได้มีความหวังต่อสังคมนี้อีกแล้ว จากการพูดคุยกับคนรายล้อมของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สำคัญคือ

“เราจะอยู่กับความทรงจำแบบนี้ไปได้อย่างไร แม้ในทางศาสนาสอนให้เราให้อภัย ผมไม่รู้และนึกไม่ออกว่ามันจะไปต่ออย่างไร ในเมื่อมันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย”

ก่อนที่เอกรินทร์จะทิ้งท้ายว่า “สำหรับผม สังคมไทยใจร้ายเกินไป มันไม่ใช่เพราะทักษิณ แต่เราปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะพวกเรานี่แหละ โปรดกลับไปทบทวนต่อคำพูดที่เราบอกว่า โจรใต้มันสมควรตาย

ขบวนการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์

ผศ.อรอนงค์ เห็นด้วยกับ ผศ.เอกรินทร์ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ในกรุงเทพฯ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ถูกพูดถึง ประวัติศาสตร์บาดแผลนอกกรุงเทพของ ผศ.อรอนงค์ในวันนี้อยู่ไกลถึงอินโดนีเซีย จากเหตุการณ์สังหารหมู่คอมมิวนิสต์  หรือที่รู้จักกันในเหตุการณ์เกสตาปูเมื่อปี ค.ศ.1965 (หากผู้อ่านสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปู เราขอแนะนำบทความของ ผศ.อรอนงค์ https://shorturl.asia/ahXAI  ) จากกลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อยที่จับกุมและพยายามยึดอำนาจจากทหารชั้นนายพล ซึ่งในวันนั้นมีผู้เสียชีวิต 11 คน และเป็นทหารชั้นนายพลถึง 6 คน 

แต่คำถามสำคัญคือทำไมเหตุการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้นที่อินโดนีเซียได้ ต้องย้อนกลับไปว่า พรรคคอมมิวนิสต์ของอินโดนีเซีย ที่ประกาศกร้าวว่าจะขึ้นครองรัฐบาลเพื่อต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นไปตามแบบที่ต้องการ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เลยกลายสถานะเป็นกบฏ จุดเปลี่ยนสำคัญคือซูฮาโต้ผู้นำกองทัพในขณะนั้น บอกว่า พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ลอบสังหารทหารชั้นนายพล และเป็นประกาศกร้าวเป็นศัตรู สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการ ทั้งหนังสือในฉบับเรียน ภาพยนตร์ นี่กลายเป็นเสมือนไฟเขียวให้กองทัพกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ที่ถูกสังหารในการกวาดล้างครั้งนี้ไม่มีแม้แต่ชื่อและจำนวนของผู้เสียชีวิต มีการคาดการณ์กันว่าประมาณห้าแสนถึงสองล้านคน แต่ตัวเลขจากการรายงานของรัฐบาลอินโดนีเซียในขณะนั้น มีแค่เจ็ดหมื่นคน

หากตัดชื่อประเทศออก เราคงคิดว่านี่นับเป็นสิ่งที่คล้ายกับการเกิดขึ้นที่บ้านเรามาก ๆ จนฟังตอนท้ายสรุปความอำมหิตนี่อีกที อ้าว! นี่เป็นเหตุการณ์ที่อินโดนีเซียน่ะ และแน่นอนความเจ็บปวดยังคงอยู่ และความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับคนที่ติดตามและเกาะติดสถานการณ์การบ้านการเมือง แน่นอนว่าเดือนตุลาคมจะเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยความคุกรุ่นและกลิ่นอายการต่อสู้ของประชาชนเสมอมา ปีนี้ก็ไม่ต่างจากปีก่อน ๆ โดยเฉพาะในช่วงสามปีที่ผ่านมา หลังจากการลุกฮือของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ ‘6 ตุลา’ ได้ถูกพูดถึงและจดจำในฐานะประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประชาชน มีการจัดนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ | 6 October: Facing Demons” ณ KINJAI CONTEMPORARY ย่านถนนสิรินธร นิทรรศการจะคงอยู่ไปตลอดทั้งเดือน มีวงเสวนาที่พูดถึงประเด็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญทุกวันเสาร์อาทิตย์