อำนาจนิยมใน "ระบบการศึกษาไทย" ผ่านเครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว - Decode
Reading Time: 2 minutes

เตรียมตัวเคารพธงชาติ ธงขึ้น ตรง!! 

เสียงที่คุ้นเคย… ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเสียงนี้มาจากไหน…

ย้อนกลับไปก็หลายปีอยู่ ที่นักเรียนคนนั้นยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ แต่ก่อนจะเข้าแถว ตั้งแต่เดินเข้าโรงเรียนก็จะโดนสายตาหลายคู่จับจ้องคอยตรวจระเบียบว่ากระโปรง เล็บ ทรงผมถูกต้องตามระเบียบหรือเปล่า  

จะว่าไปนักเรียนคนนั้นเป็นเด็กที่ทำตามระเบียบ อยู่ในกรอบสุด ๆ  (ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี) เพียงแต่ว่านักเรียนคนนั้นอาจไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นเลยว่า.. ทำไมต้องทำสิ่งนั้น ทำไมต้องทำสิ่งนี้ เราเพียงแต่ทำ เพราะเขาบอกต่อ ๆ กันมา ว่าทำแล้วมันดี จะไม่ถูกทำโทษ โอเค…ตอนนั้นเราก็ทำโดยไม่มีข้อสงสัย (หรือเราทำเพราะความกลัวกันนะ) ที่นักเรียนคนนั้นทำตามระเบียบเพราะไม่อยากมีปัญหาอะไรด้วย เราคิดว่าอย่างนั้น ด้วยบุคลิกนิสัยใจคอที่เป็นคนไม่ชอบมีเรื่องกับใคร

แต่ในช่วงนั้นขณะที่นักเรียนบางคนเด็กที่อยู่ในกรอบในระเบียบ ก็จะมีเด็กนักเรียนบางคนอาจตั้งคำถามขึ้นมาในตอนสมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ว่า ทำไมต้องทำสิ่งนั้น ทำไมต้องทำสิ่งนี้ แล้วก็แสดงความต่อต้านออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทำผมผิดระเบียบ แต่งกายผิดระเบียบ แล้วก็ถูกทำโทษด้วยการหักคะแนน หรือทำโทษด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วเราก็เผลอคิดว่า เขาทำผิดระเบียบก็ถูกแล้วที่จะถูกทำโทษ เราไม่ได้คิด พิจารณาอะไรเท่าไหร่ จนเมื่อเราได้มาอ่านหนังสือ เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย  เขียนโดยคุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ซึ่งได้อธิบายให้เราเข้าใจว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ที่นักเรียนคนนั้นพบเจอมาในสมัยเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ

แล้วอะไรคือชาติ ???

ชาติพยายามเข้ามาควบคุม พยายามทำให้ทุกคนอยู่ในระเบียบ อยู่ในแบบแผนที่เหมือนกัน จนมาถึงกระทั่งเครื่องแบบนักเรียน ทรงผมนักเรียน แต่การสร้างชาติโดยการกำหนดระเบียบอะไรแบบนี้ มันต้องกระทำความรุนแรงเกินกว่าเหตุขนาดนั้นเลยหรอ

หนังสือพยายามไล่เรียงประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทยโดยมีการรวบรวม สืบค้นจากหลายแหล่งมาก (ผู้เขียนสังเกตได้จากเชิงอรรถที่อ้างอิงหลายแหล่ง)

จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม หากใครที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว ให้ลองนั่งนิ่ง ๆ แล้วค่อย ๆ นึกย้อนกลับไปเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยอนุบาล ตอนที่เราอยู่โรงเรียน เราเคยถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบอะไรบ้าง


โอเค.. ถ้าเรียนโรงเรียนเอกชน เราอาจจะไม่ค่อยมีประเด็นเรื่องเครื่องแต่งกายเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนทั่วไป เครื่องแต่งกายจะต้องเหมือนกัน และแถมมีบางวันที่จะมีชุดพิเศษเข้ามาอีก เช่น ชุดพละ ชุดในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ทรงผมในวัยนี้ อาจจะไม่ได้เคร่งมาก แค่พอให้ถูกสุขอนามัยเป็นใช้ได้

ต่อมาเป็นช่วงวัยประถม-วัยมัธยม แน่นอนว่าเรื่องเครื่องแบบ ก็จะเคร่งครัดขึ้นเรื่อย ๆ ชุดพิเศษต่าง ๆ เช่น ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด ชุดพละ  ซึ่งในหนังสือได้กล่าวถึงเครื่องแบบนักเรียนว่ามีไว้สำหรับแยกแยะจากภายนอก เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมความประพฤติในที่สาธารณะได้

ยิ่งทรงผม ยิ่งแล้วใหญ่เลย ถ้าผู้ชายก็ต้องผมรองทรง ผู้หญิงก็ความยาวเท่าติ่งหู (ยังดีหน่อยที่พอเข้า ม.ปลาย ไว้ผมยาวได้)

บทบาทของครูฝ่ายปกครองเด่นชัดในความทรงจำของเราช่วง ม.ปลายมาก แต่ด้วยความที่เราเป็นนักเรียนที่ไม่ค่อยทำผิดกฎ (เรียกว่าพยายามไม่ให้ผิด เพราะไม่ชอบมีปัญหา) และในสายตาของครูฝ่ายปกครองเราคงเป็นเด็กดี (มั๊ง!) หรือจะเรียกว่าเป็นเด็กที่ปกครองง่าย (ซึ่งลักษณะแบบนี้แหละที่ผู้มีอำนาจชอบ) แต่มานึก ๆ ในตอนนั้น ช่วง ม.ปลายครูที่เราอยากได้มากที่สุด คือ ครูแนะแนว ที่จะช่วยแนะแนวทางเตรียมพร้อมเข้ามหา’ลัย แต่กลายเป็นว่า ครูแนะแนวก็อยู่ในความทรงจำเราน้อยมาก ๆ

หน้าเสาธงก็เหมือนพิธีกรรมอะไรซักอย่าง ที่มีผู้บังคับบัญชาอยู่บนเวที (ซึ่งอนุบาล-ประถม-มัธยม ในความทรงจำของเราก็คล้าย ๆ กัน) คุณครู หรือผู้บริหารโรงเรียน จะคอยพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ รวมไปถึงบางทีก็มีการลงโทษโชว์นักเรียนคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่ในขณะเดียวกันโรงเรียนได้ตระหนักบ้างไหมว่า นั่นคือการประจานเด็ก นอกจากเป็นการทำร้ายร่างกายเด็กแล้ว ยังเป็นการสร้างแผลในใจให้เด็กคนนั้นอีกด้วย

บางข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ที่ผู้เขียนรวบรวมมา เราก็ว้าวเหมือนกันนะ อย่างที่มาของการเรียนพลศึกษาในช่วงแรก ๆ ทศวรรษ 2480 เป็นความคิดที่สัมพันธ์กับการสร้างชาติ ที่จะส่งเสริมให้คนในชาติมีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดีเพื่อเป็นกำลังให้แก่ประเทศเช่นเดียวกับทหาร และต่อมาก็นำพลศึกษามายึดโยงกับสร้างคุณลักษณะต่าง ๆ ที่อยากให้พลเมืองเป็น เช่นกีฬาทำให้คนมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบเคารพกติกา มีความสามัคคี ฉะนั้นไม่น่าเชื่อว่าจากแนวคิดข้างต้น จึงทำให้เห็นได้ว่ากีฬามิใช่แค่กิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อเสริมความแข็งแรงเท่านั้น


ในหนังสือได้กล่าวว่า แค่เราก้าวเท้าเข้าประตูโรงเรียน ก็จะมีสายตาของครู ของเจ้าหน้าที่โรงเรียนคอยจับจ้องแล้ว ว่าเราทำอะไรผิดระเบียบหรือเปล่า ซึ่งบางทีผิดระเบียบโรงเรียนก็จริง แต่คุณก็ตัดสินและลงโทษไปแล้ว โดยไม่ถามเด็กสักคำว่าเขามีเหตุผลอะไรถึงทำผิดระเบียบนั้น 

นอกเหนือจากการทำโทษที่กล่าวมาข้างต้น หนึ่งในอาวุธที่สำคัญและร้ายกาจในการลงทัณฑ์นักเรียน ที่เรารู้จักกันดีในนาม ไม้เรียว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยดัดนิสัย(?)  

แม้ในระยะหลัง การลงโทษนักเรียนด้วยไม้เรียวจะถูกยกเลิกไป… แต่อำนาจนิยมที่อยู่ภายในโรงเรียน และคุณครูก็ยังคงอยู่ เมื่อไม่ให้ใช้ไม้เรียวในการลงโทษนักเรียน คุณครูบางท่านก็คิดวิธีทำโทษที่ดูผิดแปลกพิสดารในการลงโทษเด็ก ตามที่ท่านผู้อ่านน่าจะเคยได้เห็นผ่านตาตามสื่อต่าง ๆ เช่นการใช้รองเท้า ใช้ไม้หน้าสาม หรือวิธีพิสดารอื่น ๆ ที่เกินจะบรรยายได้  แม้จะมีระเบียบมาควบคุมครูที่ลงโทษเด็กเกินกว่าเหตุ รวมถึงการสร้างความเข้าใจภายในสังคมว่าการลงโทษโดยใช้ความรุนแรงกับเด็กอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีกับเด็กที่จะตามมาในภายหลัง แต่ความรุนแรงภายในโรงเรียนก็มิได้ลดน้อยลง

ต่อมา เมื่อไม่นานมานี้ ราว ๆ ทศวรรษ 2550 หลังจากที่โซเชียลมีเดียมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็เริ่มมีปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักเรียนที่ต่อต้านอำนาจความรุนแรงในโรงเรียนที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวที่ตอนแรกอยู่แค่ในโรงเรียน กลายเป็นประเด็นในสาธารณะ และแพร่หลายในสังคมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากบางประเด็นถูกนำมาถกเถียงกันต่อในรายการทีวี ทำให้ความรุนแรงในโรงเรียนไม่ใช่แค่เรื่องในรั้วโรงเรียนอีกต่อไป ในปีหลัง ๆ เราจะเริ่มเห็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์และกระแสต่อต้านระหว่างนักเรียนกับอำนาจของโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง เราก็เฝ้าดูปรากฏการณ์นั้นและรู้สึกว่าน้อง ๆ กล้าหาญมาก แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะโรงเรียนคือพื้นที่ของอำนาจ ที่มีระเบียบและครูคุมระเบียบอยู่มาอย่างยาวนาน

การที่เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถาม คำถึงสิทธิ เราว่าเป็นเรื่องที่ดีเลย ในสังคมประชาธิปไตยทุกคนควรมีสิทธิ มีเสียง และสามารถเรียกร้องได้ เรื่องที่โรงเรียน ครู อยากควบคุมนักเรียนให้อยู่ในระเบียบ อันนั้นก็ไม่ผิด การที่นักเรียนมีเหตุผลต่าง ๆ รองรับการกระทำก็ไม่ผิด (ถ้าเหตุผลนั้นรับฟังและเข้าใจได้)

เพียงแต่โรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน ต้องมาคุยและหาทางออกร่วมกัน

เพราะในเมื่อกระทรวงศึกษาธิการ เปิดให้เป็นดุลยพินิจของโรงเรียน โรงเรียนก็ควรจะเปิดใจรับฟังมากกว่านี้ ไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจ  นักเรียนถูกกดทับมานาน บางครั้งก็ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จะเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ออกมาให้เราได้เห็น

สำหรับเด็กบางคน บ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย จะหวังให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็อาจจะไม่ได้อีก แล้วที่ไหนคือพื้นที่ปลอดภัยของเขากันหล่ะ  มันจะดีกว่าไหมถ้าผู้ใหญ่ในโรงเรียนพยายามช่วยกันให้พื้นที่ในโรงเรียนคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน

หนังสือ เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย
ผู้เขียน  ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
สำนักพิมพ์  มติชน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี