Guess How Much I Love …? - Decode

Guess How Much I Love …?

Reading Time: 3 minutes

พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความรักที่รู้จัก จากที่เคยได้รับ วันนี้กลับต้องให้ใครต่อใครมากขึ้น

จะครอบครัว จะแฟน จะเพื่อนใหม่ เพื่อนสนิท การงาน ความสำเร็จ ดูเหมือนเรื่องเหล่านี้จะต้องการความรักจากเราทั้งสิ้น

คุณอาจตอบใครต่อใครได้ว่า คุณรักเขา/สิ่งนั้น มากเท่าไหร่ คุณอาจจะรักแฟนเท่าปลาวาฬ รักครอบครัวเท่าโลก รักหมาเท่ากับจักรวาล

แล้วจำได้ไหม ว่าเราบอกรักตัวเอง ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่กัน?

ฤดูที่ฝนตกเป็นการตั้งคำถาม

‘Love you to the moon and back’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ฉันรักเธอเท่ากับระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ และกลับมาที่โลกอีกครั้งหนึ่ง’ นั่นคือประโยคบอกรักที่คนทั่วโลกรู้จัก

ประโยคสุดโรแมนติกนี้มาจากหนังสือนิทานเรื่อง Guess How Much I Love You แต่งโดย Sam McBratney และได้ Anita Jeram มาวาดภาพประกอบ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1994 มีชื่อภาษาไทยว่า ทายซิ ทายซิ พ่อรักหนูมากแค่ไหน และยังมีเล่มแยกของ 4 ฤดู ทั้ง ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

น่าเสียดายที่เราไม่ได้คุ้นเคยประโยคนี้จากนิทาน แต่กลับรู้จักและชอบมันจากเพลง ‘กลับไปที่โลก’ ของวง Penguin Villa

เล่าอย่างย่อที่สุด นิทานเรื่องนี้เล่าเรื่องการแข่งกันระหว่างพ่อกระต่าย (Big nut brown hare) และลูกกระต่าย (Tiny nut brown hare) ว่าใครจะรักใครได้มากกว่ากัน แต่ถ้าเรื่องมันจบสั้น ๆ แค่นี้ เราก็คงไม่หยิบมาเขียนถึง

นิทานชุดนี้ชวนให้เราพยายามค้นหาคำตอบ ความรักคือสิ่งใดกันแน่ หากมีรูปร่างหน้าตาอย่างที่พ่อกระต่ายบอกลูกกระต่าย คนเราจะรักใครสักคนได้มากแค่ไหนกัน

ไม่รอช้า เราหยิบ Box set ที่พึ่งกดสั่งซื้อมา พกติดตัวเผื่อว่าหลังจากทำธุระเสร็จ เราอยากให้เพื่อนได้ลองอ่าน ว่าความรักของพวกเขามีหน้าตาเป็นอย่างไร

ฤดูในกรอบ Pantone

หลังเพื่อน 2 คนของเราอ่านนิทานทั้ง 5 เล่มจบ ก็พูดออกมาพร้อมกันว่า “ความรักแบบในเรื่องนี่ น่ารักดีเนอะ”

“แล้วช่วงนี้ความรักไม่ค่อยดีหรอ” เราถามน้ำหอม เพื่อนผู้หญิงสมัยมหาวิทยาลัยที่เราลงทุนเอาหนังสือมาให้อ่าน

น้ำหอมเงียบแต่อมยิ้ม “ก็ไม่เคยเห็นจะมีช่วงดีเลย”

ชวนนึกถึงเนื้อหาในภาคฤดูร้อน ที่ลูกกระต่ายถามพ่อกระต่ายอยู่เรื่อยว่า ถ้าพูดถึงสีใดสีหนึ่งจะนึกถึงอะไร เราลองเอาคำถามนี้มาถามเพื่อน เผื่อจะได้รู้ว่า ในถาดสีของพวกเขามีอะไรซ่อนอยู่

อย่างสีเหลือง? เราเอ่ยถาม

“คงเป็นสีเหลืองจากพระอาทิตย์ตกกับพระอาทิตย์ขึ้น รู้สึกมันให้พลัง แปลกนะที่วันไหนท้องฟ้าหม่นคนเราจะพลังหมดทันที แต่พอฟ้าสวยก็กลับมามีแรง สีเหลืองของพระอาทิตย์ทั้ง 2 เวลา มันทำให้ทุกคนมีพลัง อีกอย่างถ่ายภาพตอนเวลานั้นสวยนะ” เพื่อนช่างภาพของเราชื่อจูเนียร์ บอกอย่างนั้น

นึกอยู่นาน ว่าพอพูดถึงสีเหลืองจะนึกถึงอะไร นึกยังไงก็นึกอันอื่นไม่ออก นอกจากสีผมของนารุโตะ นินจาโอ้โฮเฮะ แต่อย่างว่า พอพูดถึงสีเหลืองที่ชอบที่สุด สีผมจากตัวละครในมังงะเรื่องโปรด ก็คงเป็นคำตอบที่ไม่เลวสำหรับเรา

“แล้วมองตัวเองเป็นสีอะไร” เราถามน้ำหอม

“เรามองตัวเองเป็นสีแดงนะ หลายคนมองว่ามันดูแรง แต่สำหรับเรามันเป็นสีที่อุ่นกำลังดี มันเป็นสีที่มีพลัง มันเป็นสีที่มีความสดใสในแบบของมัน” น้ำหอมตอบพร้อมบอกต่อว่า เกือบทุกครั้งจะทาเล็บเท้าสีแดง เราพิสูจน์ด้วยการมองลงไปพร้อมเห็นว่าเล็บสีขาว ก่อนที่น้ำหอมจะตอบอีกครั้งว่า ครั้งนี้สีแดงที่ร้านทำเล็บหมด

รู้สึกตัวอีกที แค่เรื่องสีเรื่องเดียว พาเรา 3 คนทบทวนตัวเองได้มากขนาดนี้

“แล้วสีน้ำตาลที่พ่อชอบที่สุดคืออะไรฮะ” ลูกกระต่ายถาม

“ก็เป็นสิ่งที่เล็ก น่ารัก และซุกซนตลอดเวลาไง” พ่อกระต่ายตอบ

ลูกกระต่ายเงียบสักพัก จนนึกขึ้นได้ว่า “อ่อ หนูไง!”

แล้วสีโปรดของคุณหล่ะ คือสีอะไร

พายุหลง(ลืม)ฤดู

ฉากหนึ่งในเล่มฤดูใบไม้ร่วง ลมไม่ได้พัดพาให้ใบไม้ร่วงโรยเพียงอย่างเดียว กลับพากล่องเปล่าใบหนึ่ง มาให้ลูกกระต่ายกับพ่อกระต่าย แกล้งเป็นปีศาจในกล่องกระดาษและวิ่งไล่จับกัน

ผลสุดท้ายคือพ่อกระต่ายคว้าเจ้าตัวน้อยไว้อยู่หมัด คงเหมาะกับให้ผู้ปกครองอ่านให้บุตรหลานฟัง และสร้างกิจกรรมดี ๆ ในช่วงวันหยุด

แต่เรากลับถามตัวเอง ว่าชีวิตนี้เคยไขว่คว้าอะไรแล้วปล่อยมันหลุดมือบ้าง

ถามให้ตรงจุด คือชีวิตนี้ เคยไขว่คว้าอะไรไว้ได้บ้าง

“วิ่งไล่มาตลอดนะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม จะความรัก จะเพื่อน จะความสำเร็จ มันเป็นปกติของคนรุ่นเราปะ ช่วงวัยนี้มันเป็นช่วงที่ต้องวิ่งตามอะไรสักอย่างอยู่แล้ว ถึงวันหนึ่งเดี๋ยวก็เหนื่อย เดี๋ยวก็เลิกวิ่ง เดี๋ยวก็อยู่แบบไม่มีสิ่งนั้นได้” น้ำหอมบอกเรากับจูเนียร์ ในวันที่วัยนี้อาจไม่ได้มีชื่อว่าวัยทำงานตอนต้น แต่เป็นวัยไล่ล่าความฝันต่างหาก

จูเนียร์เล่าว่าไม่ได้ต่างกัน ทั้งชีวิตก็วนเวียนอยู่กับการวิ่งตามอะไรสักอย่าง แต่แค่ไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อย เพราะถ้าเหนื่อยก็คงหยุดวิ่งตามไปนานแล้ว

เรากลับมาถามตัวเอง ว่าทำไมคนเราถึงชอบวิ่งตามอะไรที่ไม่มีวันได้มา

“ก็ถ้าไม่ต้องวิ่งตาม เราจะอยากได้มันขนาดนั้นหรอ” จูเนียร์ขำแห้งทิ้งท้าย

ก็คงจริงอย่างที่ว่า ไม่ใช่เพราะเราอยากได้มันหรอ เราถึงได้วิ่งตามจนเหนื่อยสะบักสะบอมเป็น Forest Gump อยู่แบบนี้ รู้สึกตัวอีกทีก็วิ่งข้ามประเทศไปแล้ว

ถึงไม่ได้คาดหวังให้ใครมาวิ่งตามแบบกัมพ์ แต่อย่างน้อย อย่าจากหนีไปแบบเจนนี่ก็พอ

ฤดูแห่งการเติบโต

หลังจากพูดคุยกันจนได้ความมาสักพัก บทสนทนาท่ามกลางฝนตกในวันนั้น ความดีใจที่ได้พบเจอเพื่อนเก่า อาจไม่เท่าความสุขที่ได้ถามไถ่ข้างในตัวเอง หลังจากที่ไม่ได้พูดคุยกันมานาน

“ถ้าเปลี่ยนจาก You เป็นตัวเองอะ คิดว่าเรารักตัวเองได้ขนาดไหน”

เงียบ… เสียงฝนยิ่งหนักขึ้น เรา 3 คนแทบจะไม่เคยถามคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกัน ว่าถ้าให้เปรียบเทียบของความรักที่จะมอบให้ตัวเอง แบบที่พ่อกระต่ายรักลูกเท่ากับระยะทางไปกลับจากโลกถึงดวงจันทร์ จนสุดท้ายเราก็จบความเงียบด้วยคำตอบจากของใกล้ตัว

“เท่ากับบุหรี่มวนหนึ่งมั้ง จุดไปยังไงก็ต้องดับ ความรักที่มีให้ตัวเองก็คงประมาณนั้น ก็แค่รู้สึกว่าชีวิตนี้ทำดีที่สุดในทุกวันก็พอ เท่าที่ไหว วันหนึ่งจากไปชาติหน้ามีจริงไหมไม่รู้ แต่ขอให้เป็นแค่แสงสว่างวาบ ขาวโพลงแล้วก็จบไปเลย รู้สึกมันสงบดี” 

หลังจากตอบก็นึกขึ้นได้ว่า ทำไมนิทานเรื่องนี้พาเรามาได้ลึกขนาดนี้นะ

เสียงน้ำหอมซ้อนขึ้นมา “คงรักตัวเองเท่ากับบีบยาสีฟันหนึ่งครั้ง ไม่รู้สิ ไม่ค่อยรู้สึกว่ารักตัวเองเท่าไหร่ อาจเพราะตัวเองมันก็อยู่ตรงนี้ตลอด ความรักที่มีมันก็เลยมอบให้คนอื่น ก็มีให้แบบสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ได้มากขนาดนั้น ปริมาณก็คงพอ ๆ กับบีบหลอดยาสีฟันตอนเช้านั้นแหละ”

พอเราพูดถึงความรัก น่าตลกที่ทุกคนมักจะพูดถึงรักคนอื่น จะรักหมา รักแมว รักแฟน รักเพื่อน หรือรักชาติ แต่ความรักตัวเองในสังคมเรากลับถูกพูดถึงน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่คำถามนี้ควรจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยซ้ำ

ถึงอย่างนั้นก็ ไม่ผิด มันไม่ง่ายเลยที่จะรักตัวเอง โดยเฉพาะในยุคที่เราเริ่มมองตัวเองน้อยลง แต่อัลกอริทึมพาเรามองคนอื่นมากขึ้น ความรักที่ควรจะมอบให้ตัวเองก็คงลดน้อยลงไปตามกัน

“เหมือนน้ำแก้วหนึ่ง” จูเนียร์พูดพลางจิบน้ำ

“เอาฮาป่ะเนี่ย หรือคิดไม่ออก” เราถาม

“อันนี้พูดจริง ความรักมันแล้วแต่บริบทแหละ บางวันก็อยากจะดื่มน้ำหมดแก้ว บางวันก็รินจนล้น บางวันก็อยากเก็บน้ำที่เหลือไว้ให้แฟนกิน วันหนึ่งก็อยากแบ่งน้ำแก้วนี้กินกับเพื่อน หรือวันหนึ่ง อาจจะไม่กินก็ได้ อาจจะยกทั้งแก้วให้ครอบครัว”

มีทฤษฎีสมคบคิดหนึ่งที่ไม่ได้รับการยืนยัน แต่เป็นการตีความจากประโยคซึ่งพูดถึง ‘ระยะทาง’ จนมีการตั้งสมมติฐาน และคิดคำนวณอย่างจริงจัง

ใน 1 วัน ‘หัวใจ’ ของมนุษย์จะสามารถผลิต ‘พลังงาน’ ที่ขับรถบรรทุกได้ 20 ไมล์ 

ในระยะเวลา 1 ปี หัวใจก็จะผลิตพลังงานได้ 7,300 ไมล์ 

ซึ่งหากมนุษย์มี ‘อายุขัย’ โดยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี แปลว่า หัวใจจะผลิตพลังงานสำหรับขับรถบรรทุก หรือเปรียบเป็นการเดินทางได้ไกลราว 511,000 ไมล์

เมื่อเทียบจากระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ จะอยู่ที่ประมาณ 238,855 ไมล์ ซึ่งระยะทางของการเดินทางไป-กลับ จะอยู่ที่ 477,710 ไมล์ 

หรือเท่ากับระยะทางของ ‘To the moon and back’ นั้น อาจหมายถึงการใช้ระยะเวลาทั้งชีวิตเพื่อรักใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง

บทสนทนาเมื่อสักครู่ มันทำให้เราตกตะกอนได้อย่างหนึ่ง เราอาจตั้งคำถามมาผิดตั้งแต่ต้น ว่าเราโดนแย่งชิงความรักที่ควรจะมอบให้ตัวเอง ความรักต่างมีช่วงเวลาของมัน และความรักก็มีหลายแบบ

บางครั้งความรักอาจเป็นการมีสถานะ อาจเป็นการมอบสิ่งของ หรืออย่างน้อยอาจเป็นแค่การมีช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกัน บางทีเราอาจจะแค่ยังไม่เจอจุดที่พอดีกับตัวเรา แค่นั้นเอง

นิทานและบทสนทนาเรื่องนี้ ไม่ได้มีตอนจบแบบ ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ แบบที่เราคุ้นเคย แต่นั่นก็คงเป็นชีวิตจริงที่เรายังต้องหาคำตอบ และหวังว่าจะสักวันมันจะพาไปเจอกับบางสิ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายคำถามให้กับเราตลอดเวลา

ที่จริง นิทานเรื่องนี้ก็แทบจะไม่อยู่ในความทรงจำเราสักเท่าไหร่ แต่ก็ดีที่ได้มาอยู่ในช่วงชีวิตตอนโต อย่างน้อยก็ทำงานกับเราในวันที่ความรัก เป็นอีกสิ่งที่เราและใครหลายคนตามหามันมาตลอด และหวังว่าจะพบมันเข้าสักวัน

ช่วงวัยเด็กที่เรารักพ่อแม่ ช่วงวัยรุ่นที่เรารักเพื่อน ช่วงมหา’ลัยที่เรารักแฟน ช่วงวัยทำงานที่รักงาน แต่ขอให้ทุกช่วงที่เต็มไปด้วยความรักเหล่านี้ มีตัวเองอยู่ช่องว่างเหล่านั้นอยู่เสมอ

Guess How Much I Love you แล้วถ้า You ที่ว่าเปลี่ยนเป็นตัวคุณ คุณจะรักตัวเองได้ขนาดไหนกัน?

หวังว่าคุณจะให้มันได้ พอ ๆ กับระยะทางของโลกไปดวงจันทร์

และกลับมาที่ตัวเอง อีกครั้ง…

หนังสือ: Guess How much I Love You
นักเขียน : Sam McBratney
ตีพิมพ์ในปี 1994 ในสหราชอาณาจักรโดย Walker Books 

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพล ย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี