#ล้างหนี้กยศ: เพราะสิทธิที่ไม่แฟร์ตั้งแต่ต้น การลงทุนการศึกษาจึงควรเป็นที่รัฐหรือเรา? - Decode
Reading Time: 5 minutes

พอใกล้ ๆ ช่วงกลางปี มักจะมีข่าวจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ประชาสัมพันธ์เตือนว่าใกล้ถึงเวลาครบชำระเงินประจำปีนี้แล้ว Keyword “ส่งต่อโอกาสสู่รุ่นน้อง” เป็นคำสำคัญในการสื่อสารของ กยศ.เรื่อยมา เรื่องเล่าของประเด็นนี้มักถูกโฟกัสไปที่การทำอย่างไรให้เป็นลูกหนี้ที่ดี การจ่ายหนี้ก้อนนี้ส่งผลต่อโอกาสของรุ่นน้อง-อนาคตของชาติ อย่างไรบ้าง คู่ขนานกับการข่าวคดีความต่าง ๆ ของลูกหนี้ ที่ผิดนัดชำระ ถึงขั้นถูกฟ้องร้องศาล หรืออายัดทรัพย์ ไปจนถึงข่าวผู้ค้ำประกันถูกฟ้องแทน 

แต่สำหรับปี 2565 ปีนี้ มีข่าวหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมาคือการเคลื่อนไหวของแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ และกลายเป็นหัวข้อถกเถียงว่าการล้างหนี้ เป็นทางที่ถูกที่ควรแล้วหรือไม่

#ล้างหนี้กยศ เปิดพื้นที่ถกเถียงถึงสิทธิทางการศึกษา และมุมมองต่อการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนได้หลากหลายอีกครั้ง แต่ในมุมมองครั้งนี้แตกต่างออกไป ไม่ใช่การพูดถึงคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่การพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา แต่กลับไปยังประเด็นพื้นฐานว่า แล้วการศึกษา คือ หน้าที่และสิทธิที่ใครควรจะต้องรับผิดชอบ ระหว่างรัฐหรือเรา

De/code คุยกับคน 2 คนถึงเรื่องนี้ หนึ่ง เมย์-สีหราช ศรีวิไลเมฆ ประธานสหภาพลูกหนี้ กยศ. และ สอง รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมสำรวจความเห็นในโลกออนไลน์ต่อประเด็นนี้ และคำชี้แจง official จาก กยศ.ว่าทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับการล้างหนี้

จากลูกหนี้บังคับคดี สู่ประธานสหภาพลูกหนี้
เรียกร้องลดค่าปรับ-ปลดล็อกคนค้ำ

หากลองใช้คำว่า “ลูกหนี้ กยศ.” พิมพ์ค้นหาในเฟซบุ๊ก เราจะเจอชุมชนออนไลน์หลายกลุ่มของเหล่าบรรดาลูกหนี้ กยศ.ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนปัญหา แชร์วิธีทางการแก้ไข หรือระบายทุกข์ที่เกิดการหนี้ก้อนโตหลังเรียนจบ กลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า “สหภาพลูกหนี้ กยศ.” มี เมย์-สีหราช ศรีวิไลเมฆ เป็นประธาน เมย์รวบรวมคนเป็นหนี้ราว ๆ 200 กว่าคน เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทนข้อเสนอภายในกลุ่มที่อยากให้มีการยื่นทูลเกล้าฯ เพื่อพิจารณาความเดือดร้อนของพวกเขา 

“ผมต้องการทำในแนวทางประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถทำได้ จึงก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเพราะนึกถึงสหภาพแรงงานที่คนมารวมตัวกันเป็นหนึ่ง รายชื่อจากสหภาพลูกหนี้มี 200 กว่า กลุ่มที่โดนบังคับคดี ศาลพิพากษา ที่โดนศาลพิพากษา และโดนบังคับขายอยู่ เราอยากนำเสนอว่า กลุ่มนี้น่าช่วยเหลือสุด

พรบตัวนี้ถูกนำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทยและกำลังอยู่ในสภาวาระที่ 2 ประเด็นหลักๆของการแก้กฎหมายตัวนี้ คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการค้ำประกันเงินกู้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและลดเบี้ยปรับในกรณีผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงการปลดล็อคผู้ค้ำประกันเปลี่ยนแปลงอำนาจคณะกรรมการกองทุน และเพิ่มจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเป็น ทุนการศึกษา ซึ่งทางกลุ่มสหภาพลูกหนี้กยศเรียกร้องให้มีการแก้ไขคือ การลดเบี้ยปรับของการผิดนัดชำระหนี้ลดลงจาก 7.5% ต่อปี เป็น ไม่มี หรือ ไม่เกิน 1% ขณะเดียวกันระหว่างรอการพิจารณากฎหมาย ทางกลุ่มขอให้รัฐบาล ช่วยเหลือดังนี้ สำหรับลูกหนี้กลุ่มบังคับคดี ให้งดขายทรัพย์สินทุกกรณี, ในกรณีการอายัดทรัพย์ ขอให้งดนำส่ง กยศ., ในกรณีลูกหนี้ชำระหนี้ขอให้นำไปตัดเงินต้น และขอให้แขวนเบี้ยปรับไว้

ข้อเรียกร้องของเมย์ไม่แตกต่างไปจากที่เคยได้ยินในข่าว หรือจากปากลูกหนี้เท่าไหร่ แต่หากไล่ย้อนกลับมาว่าแล้วทำไม เงินกู้เรียนหลักหมื่นปลาย ๆ แสนต้น ๆ หรือ 2-3 แสน มันถึงได้พอกพูนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ทำไมลูกหนี้จึงไม่จ่ายหนี้ ทำไมเลือกปล่อยทิ้งไว้ เหตุผลที่ลึกและไปไกลว่า “ไร้วินัยทางการเงิน” เมย์อธิบายให้เราเห็นถึงโครงสร้างของการชำระหนี้ กยศ.ให้ฟัง 

ไร้วินัยการเงิน หรือ เงินไม่พอจ่ายจริง ๆ

แม้พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่ได้ใช้ชีวิตแบบกินหรูอยู่แพง แต่เมย์ก็ยังมีน้ำเสียงของการโทษตัวเองอยู่เสมอว่าเพราะจัดสรรเงินในมือได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุให้เขาไม่สามารถจ่ายหนี้ กยศ.ได้ตรงเวลา จนตัวเลขเงินกู้มัดรวมกันกลม ๆ ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับ มีมากถึง 2 แสนบาท พาเขาเข้าสู่การพิจารณาคดี จนทุกวันนี้ศาลสั่งให้ชำระเดือน 1,500 บาททุกเดือน

แน่นอนว่าเหตุผลของการกู้ยืมเงินเพื่อเรียนมาจากเงินในกระเป๋าของครอบครัวไม่พอส่งเสีย พอเรียนจบจากนิติศาสาตร์ซึ่งมีเป้าหมายเป็นผู้พิพากษา จำเป็นต้องได้ตั๋วทนาย และต้องหาที่ฝึกงานที่สำนักงานทนายความ 1 ปี โดยไม่ได้รับเงินเดือน เมย์ฝึกงานอยู่ 2 ปี เพราะสอบไม่ผ่านรอบแรก พอจะอออกมาหางานทำก็ยากเย็น เมื่อต้องเริ่มต้นจ่ายหนี้ กยศ. พร้อมดอกเบี้ย (หนี้กยศ. 0% ใน 2 ปีแรก จ่ายเท่าไหร่ตัดเงินต้นหมด จากนั้นดอกเบี้ยจะเริ่มเดิน) จึงยังจ่ายไม่ได้ เพราะเงินเดือนจากงานที่ทำขณะนั้นได้เพียง 9,000 บาท จ่ายค่าที่พัก 4,000 บาท และเหลือใช้จ่าย 5,000 บาทในเมืองหลวง 

เมย์-สีหราช ศรีวิไลเมฆ ประธานสหภาพลูกหนี้ กยศ.

“ตอนนั้นไม่มีวินัยทางการเงิน ต้องจัดสรรว่าเงินจะต้องเอาไปใช้ กยศ.ไม่เคยให้ใช้เงินเป็นรายเดือน ไม่เหมือนผ่อนบ้านรถ กยศ.ต้องชำระทุกปี เช่น 1 ปี 2,000 เราคิดว่ามันก็น่าจะใช้ได้นี่ คือเฉลี่ยต่อเดือนเท่านั้นเท่านี้ ตอนคิดมันคิดได้ เวลาทำงาน เราไม่ได้กินหรูอยู่แพง นั่งรถเมล์ ก็คือเราจัดสรรไม่เป็น (หรือมันไม่พอจริงๆ?) คิดว่าก็เป็นแบบนั้น จ่ายค่าหอแล้วก็เท่ากับว่าวันนึงต้องใช้เงิน 150 บาท ตอนนั้นเป็นช่วงปี 2555-2556 ใน กทม.”

“ถ้าจัดสรรตัวเองได้ก็จบ กินหรูอยู่แพงนั่นคือสิ่งที่ผิด คุณสามารถที่จะจ่ายเงิน จ่ายสิ่งฟุ่มเฟือย แต่ไม่จ่ายเพื่อความรู้ของตัวเอง นั่นหมายความว่าคุณดูถูกความรู้ที่คุณที่มีมา” 

เมย์สามารถจ่ายเงินคืน กยศ.ได้เมื่อมีเงินเดือน 13,000 บาท หลังย้ายมาทำงานสายการท่องเที่ยวที่ จ.ชลบุรี เริ่มต้นจ่ายที่ 1,000 บาท และหยุดจ่ายไป เพราะไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ก่อนกลับมาจ่ายอีกครั้ง แต่ด้วยโครงสร้างการชำระหนี้ กยศ.ที่เมื่อจ่ายเงิน ยอดหนี้จะถูกตัดเป็นลำดับ คือ 1.ค่าปรับ 2.ดอกเบี้ย และ 3.เงินต้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหลายคนยิ่งจ่ายหนี้ยิ่งไม่หมด แต่ดันกลับพอกพูนมากขึ้น

“เบี้ยปรับผมเดินวันละ 40 บาท เท่ากับว่าจ่าย 1,000 แต่มีหนี้ กยศ.เดือนละ 1,200 แปลว่าทุกเดือนยังค้างอยู่ 200 บาท” 

“ในกลุ่มมีคนหนึ่งเป็นหนี้ 250,000 มีเบี้ยปรับ 2 แสน เขาก็ยอมรับว่าเขาผิดนัดชำระหนี้ ศาลสั่งให้ชำระเดือนละ 5,000 บาท เขามีเงินเดือน 9,000 ความโหดร้ายขั้นที่ 1 จากนั้นเขาชำระตั้งแต่ปี 2552 จนทุกวันนี้ 30 กว่างวด รวมเป็นเงิน 150,000 บาท ยังเหลือเบี้ยปรับ 5,000 บาท แล้วก็ยังเหลือเงินต้นอีก 200,000”

“ส่งให้ตายเงินต้นก็ไม่มีทางถูกตัด เพราะมันตัดค่าปรับ ตัดดอกเบี้ยตัดอะไรก่อน” 

วาทกรรม “ไร้วินัยทางการเงิน” แม้ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริงในบางคน แต่ไม่อาจใช้พูดได้หมดจด 100% คนที่ผิดนัดชำระหนี้มากมาย ไม่ได้เริ่มต้นจากการไม่จัดสรรเงิน แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ ที่จะทำให้ค่าแรง ค่าครองชีพพอดี ๆ กัน จนมีเงินเหลือออม เหลือเก็บ เหลือใช้หนี้ด้วย เมย์บอกว่าในกลุ่มของเขา 90% จ่ายหนี้ไม่ได้เพราะรายได้พอ บ้างก็ตกงาน บ้างก็เจออุบัติเหตุชีวิต เช่น มีหญิงคนหนึ่งเป็นลูกคนเดียว วันหนึ่งต้องตกงาน เพราะพ่อแม่ป่วยติดเตียงกะทันหัน จึงต้องออกมาดูแลพ่อแม่ นอกจากไม่มีเงินส่ง กยศ.แล้ว ดอกเบี้ยและค่าปรับก็ยังเดินอยู่ด้วย โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่หลายคนก็พังไม่เป็นท่า แต่มาตรการของ กยศ.ก็ยังพุ่งเป้าช่วยเหลือ “คนมีกำลังจ่าย” มากกว่า – เมย์บอกกับเราแบบนี้

ไม่เอา #ล้างหนี้กยศ แต่ขอใช้หนี้อย่างเป็นธรรม

ชีวิตที่ต้องใช้หนี้การศึกษาของเมย์ และเพื่อน ๆ ในกลุ่มนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าต้องดิ้นรน และต่อสู้เพื่อให้หลุดออกจากหนี้นี้ที่ได้ผลกระทบมาจากโครงสร้างการชำระหนี้ด้วย แต่ทว่า เมื่อการเคลื่อนไหวของแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ เมย์กลับบอกว่า “ไม่เห็นด้วย” กับสิ่งนี้ เขาบอกด้วยว่า เชื่อว่าเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็ไม่น่าเห็นด้วย 

“กล้าบอกเลยว่าในกลุ่มของผมไม่มีใครเห็นด้วยว่า เราเป็นหนี้ เรายินดีที่จะใช้ แต่ขอใช้หนี้อย่างเป็นธรรม” 

“คิดว่ากองทุนเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่ากองทุนมาจากภาษีประชาชน เราในฐานะประชาชน คน 70 กว่าล้านคนเสียภาษีแต่จะให้คน 2-3 ล้านคนจะเอาไปเรียนฟรี ผมไม่เห็นด้วย มันไม่แฟร์ ถ้าคุณจะให้เงิน 2-3 ล้านคุณต้องตอบคน 70 ล้านคนให้ได้ว่า ทำไมคุณถึงให้ฟรี”

การล้างหนี้ กยศ.ทั้งก้อน ทำได้ไหม…ได้ แต่ต้องถามว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง อย่าลืม มันเกี่ยวกับวินัยทางการเงิน คือ บางคนคิดว่าไม่ต้องใช้หนี้ก็ได้ เด็กรุ่นต่อไปล่ะ คุณต้องมานั่งยกหนี้ให้เหรอ ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ ผมไม่ได้บอกว่า การให้เงินอุดหนุนทางการศึกษาไม่ดี แต่ให้เป็นทุนสิ หรือ อาจให้กู้ยืม แบบไม่มีดอกเบี้ย แต่ให้กู้แต่เงินต้นสิ ไม่ต้องมีดอก”

เมย์อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า จากประสบการณ์การทำงานกับผู้ใหญ่เพื่อแก้ไขกฎหมายนั้น ได้รับข้อมูลมากมายเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้ หรืเปลี่ยนเงินกู้เป็นทุนการศึกษา หรือให้กู้แบบดอกเบี้ย 0% 

“อย่างที่อเมริกา ญี่ปุ่น ที่เขาเจริญแล้ว เขายังมี กยศ. ออสเตรเลียก็ยังมีอยู่ แต่หลักกการใช้หนี้ของเขา ไม่ได้คิดบนบรรทัดฐานของการเงิน สหรัฐให้ใช้หนี้ได้ถึง 60 ปี ออสเตรเลียเขามาดูว่าทำอาชีพอะไร มีเงินเดือนเท่าไหร่ เราสามารถจ่ายได้เท่าไหร่ในความจริง เห็นด้วยกับการตั้งกองทุน คือ การให้ทุนไปเลย”

อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้ Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลว่าประเทศไหนมีเรียนฟรี หรือไม่เรียนฟรี แต่มีเงินกู้ให้ พร้อมสำรวจดูว่าระบบแบบไหนช่วยให้การผ่อนชำระหนี้ด้วย ซึ่งในบริบท 

ไม่เพียงแค่เมย์ ในฐานะผู้กู้ กยศ.ที่เห็นค้านกับแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ แต่ในโลกออนไลน์ความคิดเห็นส่วนใหญ่เทไปทางไม่เห็นด้วย และยืนยันว่า เป็นหนี้ต้องใช้ และเพิ่มข้อเสนอว่า หากต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ.ขอให้มีผลักดันการยกเลิกเบี้ยปรับดีกว่า 


เบี้ยปรับของหนี้ กยศ.ทุกวันนี้อยู่ที่ 7.5% ต่อปี ถูกปรับลดจาก 18% มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว เบี้ยปรับนี้ หากชำระเงินไม่ตรงที่มีงวดจ่ายทุก ๆ ปี ก้อนเงินกู้สามารถพอกพูนขึ้นได้อีก หลายคนไม่เลือกจ่ายไปเลย เพราะยิ่งจ่าย เงินต้นยิ่งไม่ลด แต่เบี้ยปรับถูกคำนวณตลอดเวลา และเลือกปล่อยไว้เพื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย หรือปรับโครงสร้างหนี้ หรือไปต่อรองกันในชั้นศาล เบี้ยปรับจึงเป็น Pain Point และแผลใหญ่ของคนที่ผิดนัดชำระหนี้

กระแสที่ร้อนแรง ทำให้ กยศ.ออกมาแสดงความเห็นว่า การยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้วยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ กยศ. ระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท หากยกเลิกหนี้ดังกล่าวจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม กองทุนอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระและลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

สถิตข้อมูลลูกหนี้ กยศ.

56% อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,458,429 ราย
26% ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,633,702 ราย
17% อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,056,958 ราย
1% เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,396 ราย

1.1 ล้านราย ถูกบังคับคดี

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565

ตัวเลขคนกู้ กยศ.ตั้งแต่ปี 2538

คนกู้ยืม 6,217,458 ราย
รวมเป็นเงิน 696,802 ล้านบาท
หนี้คงเหลือ 337,857 ล้านบาท

ที่มา: กยศ.


จากเรียนฟรีมีเงินเดือน สู่ #ล้างหนี้กยศ

“เมื่อไม่คิดว่าการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐาน เราก็จะคิดว่ามันเป็นเรื่องของปัจเจกชน คุณลงทุนคุณจ่ายก็ได้มา แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนว่านี่คือสิทธิพื้นฐาน แล้วเราเปลี่ยนคำถามใหม่ แทนที่จะไปถามโต้ง ๆ ว่า กยศ.ดีไหม ใช่ ผมอยากบอกว่า กยศ.ก็คงดีกว่า การกู้นอกระบบ กู้เงินคนข้างบ้าน มันดีกว่าอยู่แล้ว แต่มันจะดีกว่าการเรียนฟรีไหม ผมคิดว่าไม่ใช่แน่นอน”

เป็นที่ทราบกันดี รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจและทำงานผลักดันให้ประเทศเกิดรัฐสวัสดิการมาโดยตลอด แคมเปญ #ล้างหนี้กยศ ก็เช่นกัน แต่แคมเปญนี้ไม่ได้อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาดื้อ ๆ แต่มันมาจากความพยายามทำให้การศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานของทุก ๆ คน และจากแคมเปญเรียนฟรีมีเงินเดือน ที่ต้องการทำให้การเรียนฟรีมีไปถึงระดับอุดมศึกษา พร้อมกับค่าครองชีพ 

“ค่าครองชีพคือการคำนวณ 30% จากค่าจ้างขั้นต่ำ 3,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงปริญญาตรี มีค่าครองชีพ และเรียนฟรี ถ้ามีนโยบายเรียนฟรีขึ้นมาแล้ว เราก็คิดว่านโยบายที่ผิดพลาดในอดีต เมื่อครั้งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่ได้เป็นสิทธิ คือมีคนต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเรียนในมหาวิทยาลัย นี่จึงเป็นข้อเสนอล้างหนี้คนที่ต้องกู้เงินเรียน”

ทุกคนที่กู้เรียนได้ประโยชน์จากการล้างหนี้กยศ.
รัฐบาลรับผิดชอบแค่ 900 ต่อคนต่อเดือน

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์บอกว่า ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ข้อเสนอเพื่อยุบ กยศ. แต่ข้อเสนอคนที่จะได้ประโยชน์ คือ 1.ผู้จบการศึกษา มียอดเต็ม และครบกำหนดจ่าย 2 ปี 2.คนที่กำลังจบการศึกษา 3.คนที่กำลังชำระหนี้อยู่ และมียอดค้างอยู่ 

“ก็คือครบ 2 ปี ต้องจ่ายอันนี้คุณไม่ต้องจ่าย รัฐบาลเข้ามาจ่าย รัฐบาลพักชำระหนี้ และหาทางกระบวนการล้างหนี้ให้เกิดขึ้นได้ หลังจากที่เป็นหนี้ครบ 2 ปี” 

ถามว่าเอาเงินมาจากไหน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์บอกว่า ประเทศมีงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเยอะมาก สามารถโยกเงินก้อนนี้ไปอยู่ใต้การดูแลของรัฐบาลได้ อย่างเช่นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในหมวดยุทธศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม มีการตั้งไว้งบประมาณ 7 แสนล้านบาท แต่งบกลับกระจายอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ที่อาจไม่ได้เป็นงบที่ให้ประชาชนโดยตรง

“เรามีงบประมาณมากเพียงพอ ถ้าเราทำให้มหาวิทยาลัยเรียนฟรีได้เนี่ย เราต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าต้องการล้างหนี้ กยศ.ที่ค้างอยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาททั้งก้อน ก็ตั้งเป้าว่าเป็นโจทย์ 10 ปีที่จะล้าง เฉลี่ยแล้วรัฐบาลรับผิดชอบแค่ 900 ต่อคนต่อเดือน” 

“ผมคิดว่า ถ้าใครเคยเห็นงบประมาณที่มีเลขศูนย์เยอะตามหลัง และเห็นค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น งบประมาณเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ เทียบกับคนที่ได้ประโยชน์ 4-5 ล้านคน ซึ่งหมายถึงคนในครอบครัวด้วย งบประมาณ 2 แสนล้านบาท มันเป็นงบประมาณที่ไม่เยอะ” 

เพราะเชื่อ การศึกษาคือการลงทุน
ดราม่า #ล้างหนี้กยศ คน (ออนไลน์) จึงไม่ซื้อ

“การพูดเรื่องนี้จำเป็นต้องพูดถึงแก่นกลางของปัญหา จำเป็นต้องไปให้สุด การที่การศึกษาไม่เป็นสิทธิพื้นฐาน คนเลยต้องเป็นหนี้ มันจึงแตกต่างกับการเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นหนี้จากปัญหาการใช้จ่ายส่วนตัว แต่นี่มันเป็นหนี้ที่มันเกิดจากสิ่งที่ควรจะเป็นสิ่งพื้นฐาน ต้องย้อนกลับไปว่า ข้อเสนอของเราคือ เรียนฟรีมีค่าครองชีพพร้อมกับการล้างหนี้ กยศ. ถ้าวันหนึ่งเราเลิกทาสได้แล้ว เราจำเป็นต้องเก็บหนี้ที่ได้จากซื้อขายทาสไว้อยู่หรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ใช่ครับ”

เหตุผลเบื้องหลังของดราม่า #ล้างหนี้กยศ น่าสนใจไม่น้อย เมื่อคนในโลกออนไลน์เทความเห็นค้านต่อแคมเปญนี้ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์บอกว่า ดีเบตที่เกิดขึ้นไม่ใช่การพูดถึงเรื่องทางเทคนิคที่คิดกันว่า การล้างหนี้เป็นไปได้หรือไม่ แต่กลับเป็นการพูดถึงเรื่องความดี-เลว 

“มันสามารถปรับเปลี่ยน Mindset ของแต่ละคนได้ ถ้าเกิดมีคน ๆ นึงบอกว่า อยากล้างหนี้ กยศ แน่นอนว่าสังคมคงพิพากษาว่า เป็นคนที่ไม่มีวินัย เป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ แต่เราไม่มองกลับไปดูว่า เรื่องนี้มันแฟร์ตั้งแต่ต้นไหม” 

วาทกรรมที่ถูกดึงมาใช้อีกหนึ่งอัน คือ “การศึกษาคือการลงทุน” วาทกรรมยิ่งไปเสริมว่าการกู้เงินเรียนเป็นเรื่องปกติ และกำลังบังความจริงของสิทธิทางการศึกษาไป การศึกษาถูกทำให้กลายเป็นสิ่งหรูหรา (Luxury) 

“ถ้าเราย้อนกลับ และบอกว่าการศึกษาคือเรื่อง Luxury และหรูหรา มันไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นขนาดนั้น ถ้าเรื่องนี้ไม่จำเป็น อยากบอกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน การผ่าตัดหัวใจก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น มันเคยเป็นเรื่องที่หรูหรา และ luxury เกินไป คนมีเงินรักษาเท่านั้น ถ้าเป็นชาวบ้านต้องผ่าตัดหัวใจ หรือเป็นมะเร็งก็ต้องถูกปล่อยให้ตาย แต่หลังจากปี 2544 เรามีประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากนั้นมันก็ไม่ได้เป็นเรืองที่หรูหราหรือเข้าถึงไม่ได้”

“อยากย้ำว่า เราสามารถที่จะไปไกลได้มากกว่านั้น พูดได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ ไม่ใช่เป็นเรื่องการลงทุน และถ้าจะต้องลงทุนมันก็ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเอง รัฐบาลสามารถรับผิดชอบตรงนี้ได้ ให้คนสามารถวิ่งตามฝัน และคนมีจินตนาการแบบใหม่ขึ้นมาได้”

#ล้างหนี้กยศ ต้องไปต่อทั้งเวทีการเมือง และคนนอกออนไลน์

ไม่ว่าดีเบตในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้จะร้อนแรง และดุเดือนมากกว่าแค่ไหน แต่ #ล้างหนี้กยศ ต้องไปต่อ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ บอกว่าเขามีเวลามากพอที่จะพูดและสร้างความเข้าใจเรื่องนี้กับผู้คนนอกโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่เห็นด้วย มากไปกว่านั้น แม้พยายามผลักดันทางกฎหมายด้วย แต่คาดหมายว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นี้ การล้างหนี้ กยศ.จะเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองถึงอย่างจริงจัง 

“แน่นอนทรัพยากรและพลังจะใช้ไปถึงประชาชนที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ในทวิตเตอร์ คุยกับคนหาเช้ากินค่ำ คนที่ต้องกู้ กยศ. คนที่ต้องค้ำ คนที่อยู่ต่างจังหวัด และการล่ารายชื่อนั้นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น เพื่อเอาไปคุยกับผู้คนให้ได้ คุยถึงเรื่องการเรียนฟรี การล้างหนี้”

“แต่เป้าหมายจริง ๆ คืออยากทำให้เสียงของประชาชนดังมากกว่าเพื่อกดเสียงของอภิสิทธิ์ชน”


Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565