อายุน้อยร้อยสนามสอบ ยิ่งฐานะดียิ่งมีโอกาสสอบรอบ Portfolio - Decode
Reading Time: 2 minutes

รอบ 1 เป็นรอบที่ใช้ยื่นแฟ้มผลงานที่เราเคยได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ มาในชีวิตวัยเรียน และเป็นรอบที่หลายคนอยากจะสอบในรอบนี้ เพราะมีข้อดีหลายอย่างทั้งสามารถสอบติดได้ก่อนคนอื่น ความกดดันเรื่องเวลา ความเสี่ยงในการเกิดเหตุฉุกเฉินในวันสอบ แต่สิ่งที่กล่าวมาหลายคนอาจโดนสกัดด้วยค่าใช้จ่าย

โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ที่เป็นหนึ่งในคณะที่มีอัตราการแข่งขันค่อนข้างสูง การที่มาสอบในรอบ 1 ที่มีอัตราการแข่งขันที่ 1:6 ซึ่งเมื่อเทียบกับรอบ 3 มีอัตราการแข่งขันที่ 1:25 ก็ค่อนข้างมีอัตราการแข่งขันที่น้อยกว่า ก็ทำให้โอกาสในการสอบติดก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งจำนวนรอบสอบของคะแนนที่ใช้ยื่น สามารถสอบได้มากกว่า 1 ครั้ง เช่น IELTS เป็นต้น ทำให้ความกดดันก็ลดลงตามไปด้วย แต่สิ่งที่ต้องแลกกับความกดดันที่ลดลง คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากด้วย เรารวบรวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ค่าใช้จ่ายโดยประมาณในการสมัครรอบที่ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ (กรณีทั่วไป)

  • ค่าสอบภาษาอังกฤษ IELTS ประมาณ 7,100 บาท
  • ค่าสอบ BMAT ประมาณ 7,500 บาท บาท 
  • ค่าหนังสือในการติวสอบประมาณ 2,500 บาท 
  • ค่าสมัครรอบ Portfolio ประมาณ 350 บาท 

รวมทั้งหมดประมาณ 17,450 บาท

De/code พูดคุยกับ ณัชนันท์ ช่วงสกุล นักศึกษาแพทย์ฐานะปานกลาง ที่เข้ามาด้วยรอบที่ 1 หรือรอบ Portfolio เกี่ยวกับราคาข้างต้นที่กล่าวมา เมื่อเทียบกับรอบที่ 3 ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณหลักพัน ก็ต่างกันราวฟ้ากับเหว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมเธอถึงเลือกรอบนี้ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า สิ่งนี้แสดงถึงความเหลื่อมล้ำในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของคณะแพทย์หรือไม่

ต่อไปนี้คือบทสนทนาว่าด้วยทำไมเธอถึงเลือกเข้ารอบพอร์ตทั้งที่มีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น

ณัชนันท์ตอบเราว่า “อาจจะเป็นที่ลักษณะนิสัยของเราด้วย ถ้าเป็นการสอบรอบอื่น อาจสอบแค่แบบสองวันสามวันแล้วชี้ชะตาเลย แต่เรากลัวกระวนกระวายใจในห้องสอบ อาจต้องซิ่วไปหนึ่งปีเลย แล้วเมื่อปีก่อนก็เคยมีปัญหาฝนข้อสอบผิดบ้าง ไม่ได้ฝนบ้าง สิ่งแวดล้อมมันส่งผลกระทบกับเรามาก แต่ถ้าเป็นรอบพอร์ต เราสามารถเก็บกิจกรรมได้ ถ้าสอบ สอวน.ปีนี้ไม่ได้ เราก็ยังสามารถไปทำกิจกรรมอื่นได้ ทำให้เป็นรอบสอบที่สามารถเก็บสะสมแต้มบุญจากกิจกรรม และรอบพอร์ตอาจมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสอบ BMAT ได้หลายรอบ”

‘โอกาส’ ที่มากับต้นทุนที่แสนแพง

หลายคนอาจมองว่า รอบ Portfolio เป็นรอบที่สร้างความเหลื่อมล้ำ แต่บางคนก็มองเป็นโอกาส แล้วณัชนันท์มีความเห็นอย่างไร

“สำหรับเราการสอบรอบนี้ยังมีความสมเหตุสมผลอยู่ เพราะถ้าพูดถึงมุมมองในด้านการพัฒนา อาจจะพูดถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ เด็กทุกคนก็ต้องพัฒนาไปในแนวทางนี้ ถ้าไม่มีรอบพอร์ตการทำกิจกรรมของเด็กก็จะดรอปไปเลย สมัยก่อนจะมีแค่สอบแค่รอบเดียว หรือสอบสองสามครั้งที่จะเป็นการชี้ชะตาเด็กไปเลย

เด็กก็จะรู้สึกการทำกิจกรรมไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือกิจกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ มันไม่ได้มีประโยชน์จะทำไปทำไม อย่างมากก็อาจแค่สอบผ่านหรือเก็บหน่วยกิจกรรมให้ผ่าน ถ้าไม่มีกิจกรรมให้เขาทำอย่าง Open House หรือการประชุมวิชาการต่าง ๆ เขาก็จะไม่มีทางได้รู้เกี่ยวกับสาขาวิชานี้ที่มันลงลึกไปคืออะไร การที่มีรอบพอร์ตมันทำให้เด็กได้สำรวจตัวเองด้วยว่า เขาเหมาะกับคณะที่เขาสนใจจริง ๆ ไหม หาความสนใจในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นเราก็ยังคิดว่ารอบพอร์ตก็ยังมีความสำคัญต่อการศึกษาของเด็กเหมือนกัน”

แต่ในคณะแพทย์จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 17,450 บาท จากข้อมูลข้างต้น ค่าใช้จ่ายโดยส่วนใหญ่มาจากค่าสอบทั้งสองวิชา คือ BMAT และ IELTS ซึ่งหากใครไม่มีทั้งสองคะแนนนี้ ก็อาจไม่มีสิทธิ์ในการยื่นแฟ้มผลงานได้ นั่นหมายความว่า หากแฟ้มผลงานเรามีกิจกรรมที่ครบทุกด้านตามที่คณะแพทย์กำหนด แต่หากเราไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าสอบทั้งสองอย่างก็อาจต้องยอมจำใจไปในรอบถัดไปแทน แล้วสิ่งนี้มันเป็นการซื้อรอบที่ 1 เพื่อให้สามารถสอบติดได้ก่อนคนอื่นหรือเปล่า 

“ยิ่งฐานะสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นในการสอบรอบ Portfolio” ณัชนันท์ กล่าว

ต่อมาเธอได้พูดเสริมเกี่ยวกับทางเลือกอื่น ๆ หากไม่ใช่ทางของ BMAT และ IELTS ซึ่งหากไม่ต้องใช้สองคะแนนนี้เพื่อยื่นรอบพอร์ต ก็อาจต้องใช้โควตาของจังหวัด ซึ่งหากมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า ไม่อยู่ในจังหวัดที่ตัวเองอยู่ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดโควตาก็อาจหมดสิทธิ์ไปเลย หรือจะไปค่ายโอลิมปิก ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนศูนย์หรือไปแข่งระดับประเทศเลย ถึงมีสิทธิ์ยื่นในรอบแฟ้มผลงาน

ทำให้ทางเลือกของ BMAT และ IELTS เป็นทางที่น่าจะง่ายที่สุดแล้ว โดยเราจะขอเจาะลึกที่คะแนน BMAT ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นทางที่จะเข้าสู่รอบพอร์ตที่ดูง่ายที่สุดจากสิ่งเรากล่าวมาข้างต้น แต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เนื่องจากข้อสอบนั้นมีทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ทักษะการคิด ส่วนที่ 2 ความรู้และการประยุกต์ด้านวิทยาศาสตร์ และส่วนที่ 3 การเขียนบรรยาย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องสอบเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ต้นทุนด้านภาษาอังกฤษก็ต้องดี และมีความสามารถในการจ่ายค่าสอบได้ด้วยเช่นกัน 

ซึ่ง BMAT เป็นข้อสอบของ Cambridge Assessment Admissions Testing จากประเทศอังกฤษ ค่าครองชีพของประเทศอังกฤษเมื่อเทียบกับค่าสอบจึงถือว่าไม่ได้สูงมากเหมือนเทียบกับประเทศไทย ที่สภาพเศรษฐกิจไม่ได้ดีเท่ากับประเทศอังกฤษ ทำให้การสอบ BMAT ถูกมองว่า เป็นสิทธิพิเศษสำหรับคนที่มีฐานะที่ดี เพราะคนที่มีฐานะดีสามารถสอบได้หลายครั้ง แต่คนที่ฐานะไม่ดีมากนักก็อาจต้องพยายามให้ได้ในครั้งเดียว เพราะโอกาสในการจ่ายค่าสอบของพวกเขาไม่ได้มีครั้งที่สองเหมือนกับคนที่ฐานะดีกว่า

นอกจากนี้ณัชนันท์ ยังได้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับค่าเรียนพิเศษว่า “คนที่มีความสามารถในการจ่ายค่าสอบ คุณก็ต้องมีกำลังทรัพย์ในการจ่ายค่าเทคนิคจากกวดวิชา ฉะนั้นคุณต้องใช้เงิน ถ้าคุณไม่มีทักษะอะไรเลย คุณต้องใช้เงิน 50000+++ ตอนนั้นเราก็สงสัยทำไมทุกสถาบันต้องแพงขนาดนี้ เราก็ไปหาคอร์สมือสองจากราคา 50,000 เหลือ 15,000 ทำให้เราสามารถที่จะสอบได้ ทุกคนไม่ได้โชคดีแบบเราอยู่แล้ว เด็กหลาย ๆ คนไม่มีโอกาสที่จะสอบเลย แต่ถามว่ามันมีทางเลือกอื่น เช่น หนังสือติวสอบ หรือข้อสอบเก่า แต่การเรียนกวดวิชาก็ส่งผลค่อนข้างมากกว่า เพราะติวเตอร์เขาก็จะมีประสบการณ์ วงใน เทคนิคต่าง ๆ นอกจากนี้ก็จะมีการอัปเดตข้อมูล ทำให้คนเรามันได้ความรู้ไม่เท่ากันอยู่”

โอกาสของพื้นที่สะท้อนผลงานที่ได้ทำ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในรอบ Portfolio จะมีอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ MDX ที่เปิดรับสมัครจากทั่วประเทศ และโครงการ MD02 สำหรับเด็กพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยณัชนันท์ ได้เล่าประสบการณ์กับความแตกต่างของแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนทั้งสองโครงการว่า “เรากับเพื่อนทำเพจเกี่ยวกับคณะแพทย์ ก็จะเห็นพอร์ตเพื่อนในคณะ 10-20 คน ซึ่งโครงการรอบพอร์ตของคณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็จะมีโครงการ MD02 เป็นโครงการที่เราสมัคร รับเฉพาะเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงการ MDX ที่เปิดรับเด็กจากทั่วประเทศ พอมีการแบ่งแบบนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว พอร์ตของ MD02  ก็มีความอยู่ในกรอบทุกคนจะมีเหมือนกันเลย ค่าย สอวน. ทุกคนจะมีโครงงาน มีทำจิตอาสาในโรงพยาบาล”

ณัชนันท์ได้เปรียบเทียบกับแฟ้มสะสมผลงานของคนมาจากโครงการ MDX จะมีความดูดีกว่า ถึงแม้ว่าเขาอาจไม่มีผลงานจากสอบค่าย สอวน. แต่ก็จะมีผลงานทั้งการทำรีเสิร์ชในมหาวิทยาลัยร่วมกับอาจารย์ หรือบางคนได้เป็นทูตหรือประธานในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นคนที่อยู่ในต่างจังหวัดและมีฐานะปานกลางหรือน้อย จะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ที่ณัชนนท์กล่าวได้จริงหรือ ก็ทำให้โยงไปถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำการศึกษาในแต่ละพื้นที่ที่ต่างกัน ที่ทำให้เด็กไม่มีโอกาสในการเรียนรู้มากพอ โอกาสในการเรียนรู้ก็กระจุกอยู่เพียงแค่ในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น

สุดท้ายผลลัพธ์จากการศึกษาที่ไม่เอื้อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ก็จะส่งผลกับเด็กทั้งในเรื่องการเข้าถึงความรู้และความสามารถในการสร้างผลงาน ก็มีโอกาสที่ต่างกันอย่างมาก

ทางออกของโอกาสที่ต้องแลก

“ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่ในระบบการศึกษา ไม่ใช่แค่การสอบรอบพอร์ต มันเป็นที่สังคมที่เราอยู่ด้วย มันจะมีคนที่ระดับสูงมาก ๆ กับคนที่แทบไม่มีเงินสอบคนที่เขาตั้งใจจะเข้าคณะแพทย์ เขาไม่มีกำลังทรัพย์ในการสอบ ควรแบ่งสองระดับนี้ไม่ควรจะมีอยู่มันควรเฉลี่ยกัน ไม่ต้องถึงกับเท่ากัน ให้มันใกล้เคียงกันมากขึ้น มันก็อยู่ที่ระบบการบริหารด้วย ถ้าการเมืองมันดีทุกอย่างก็จะดีขึ้น”

ซึ่งหากเราไปดูเกณฑ์ในการยื่นคะแนนของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ลดปัญหาครึ่งหนึ่ง โดยมีการเปิดรับคะแนนภาษาอังกฤษที่ราคาน้อยกว่า IELTS ใช้ในการยื่นได้เช่นกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายของเด็กที่จะยื่นในรอบแฟ้มผลงาน ก็น้อยลงไปตามด้วย แต่ในปัจจุบัน BMAT ก็ยังไม่มีสถาบันไหนที่ใช้วิชาอื่นในการยื่นแทนในรอบพอร์ตได้ แต่ในปี 2566 ทปอ.ได้มีการเพิ่มเกณฑ์คะแนนในรอบแฟ้มผลงาน ต้องใช้ TGAT ยื่นในรอบนี้ด้วย ซึ่งจะมี 3 ส่วน ได้แก่ การสื่อสารภาษาอังกฤษ การคิดอย่างมีเหตุผล และสมรรถนะการทำงานในอนาคต และ TPAT วิชาเฉพาะ กสพท. เราจึงถามความคิดเห็นของณัชนันท์คิดว่า การสอบทั้งสองนี้จะสามารถมาแทนที่ BMAT ได้หรือเปล่า

“ถ้าจะมีข้อสอบอะไรที่สามารถมาเทียบ BMAT เพื่อใช้ยื่นคะแนนแทนได้ ก็อาจเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายของเด็กในการใช้ยื่นรอบ Portfolio ให้ลดลงไปได้ด้วย แต่อีกปัญหาที่ต้องคำนึง คือ คุณภาพของเด็กที่เข้ามาด้วย เพราะถ้าเด็กปีนี้สอบ BMAT ส่วนเด็กอีกปีสอบข้อสอบอีกแบบที่ ทปอ.เป็นคนออก คุณภาพเด็กหรือความสามารถที่เขาจะปรับตัวจะสามารถเทียบเท่ากันได้หรือเปล่า ก็อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาข้อสอบนานประมาณหนึ่งเลย”

น่าเสียดายที่ผู้เขียนต้องการข้อมูลหรือความเห็นในเชิงโครงสร้างทางแก้ไขและทางเลือกสำหรับปัญหานี้กับผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการออกเกณฑ์การรับสมัครในรอบนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับในการให้สัมภาษณ์ ทำให้ในบทความนี้ไม่มีเนื้อหาในฝั่งของคนที่กำหนดเกณฑ์การรับสมัครในรอบ Portfolio ของคณะแพทยศาสตร์ อย่างไรก็ตามจากที่ณัชนันท์ชี้ให้เราเห็นถึงปัญหาที่สะท้อนถึงระบบการรับเข้าสมัครมหาวิทยาลัยในคณะแพทย์ที่มีการแข่งขันสูงทั้งในเรื่องอัตราการสมัครและค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการเตรียมตัวสอบ โดยเฉพาะรอบ Portfolio กลายเป็นว่า บางทีหากคนนั้น ๆ มีกิจกรรมที่ดีเลิศแค่ไหน และมีความรู้ในการสอบ BMAT กับคะแนนภาษาอังกฤษ ก็อาจไม่สามารถเข้าไปถึงฝั่งฝันในคณะแพทย์ในรอบ Portfolio

ทางเลือกของหลายคนจึงต้องย้ายไปสอบในรอบ 3 ซึ่งการแข่งขันต่างกันมากพอสมควร ด้วยเหตุผลทั้งการสอบก่อนคนที่สอบในรอบ 3 หรือจำนวนคนที่สมัคร เป็นต้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีทางแก้ไขโดยการเพิ่มคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษได้หลายอัน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะยังเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับ BMAT ที่ยังจำเป็นต้องใช้อยู่ สุดท้ายแล้วทางแก้ไขและทางเลือกในประเด็นความเหลื่อมล้ำในค่าใช้จ่ายของรอบ Portfolio ของคณะแพทยศาสตร์ โดยในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสอบ BMAT ที่ยังเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการยื่นรอบ Portfolio ก็อาจต้องคอยติดตามเกณฑ์การรับสมัครของคณะแพทยศาสตร์แต่ละแห่งจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อประเด็นดังกล่าว

อ้างอิงข้อมูลจาก

TCAS 65

Ignite by OnDemand