แรงงานคนพิการไทย เมื่อไหร่จะทะลุเพดานเวทนานิยม - Decode
Reading Time: 3 minutes

เราต่างเคยมีวันแย่ ๆ จิตตก และไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะในบางเหตุการณ์สำคัญ เช่น หลังการสัมภาษณ์งานแล้วถูกปฏิเสธ แต่มุมมองต่อเรื่องนี้คงไม่ใช่แค่การเสียความมั่นใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าเหตุผลที่ฝ่ายบุคคลปฏิเสธการจ้างงานไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถ แต่เป็นเพราะเราพิการ ทั้งที่ข้อจำกัดทางร่างกายนั้นไม่ได้กระทบกับทักษะและความสามารถของเรา แอลล์ บัณฑิตจบใหม่ด้านสังคมศาสตร์วัย 22 ปี ผู้พิการทางสายตาแบบบอดสนิท เล่าถึงประสบการณ์ในการสมัครงานและถูกปฏิเสธ เธอได้พยายามย้อนมองทุกฝ่ายด้วยความเข้าใจ

แอลล์พูดยิ้ม ๆ ว่า “ในเมื่อสังคมไม่เข้าใจหนู หนูก็ต้องพยายามเข้าใจสังคม” เรื่องราวของเธอน่าจะช่วยเปิดประสบการณ์ให้เราทุกคนได้มองแรงงานผู้พิการในแง่มุมที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะสังคมที่ยังติดอยู่กับภาพจำของคนพิการที่แทบจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว

การเลือกปฏิบัติกับผู้พิการยังสวนทางกับแนวคิดในการส่งเสริมสิทธิการใช้ชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living) ในระดับสากล  หากสังคมยังสงสัยในศักยภาพและความสามารถของแรงงานผู้พิการ มาพิสูจน์กันว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับพนักงานที่เป็นผู้พิการของ บอล เจ้าหน้าที่ฝ่าย Learning & Development ของบริษัท Vulcan Coalition บริษัทที่ทำงานผลิตเทคโนโลยี AI โดยผู้พิการทั้งในด้านอุตสาหกรรมและงานวิจัย

สังคมมองแรงงานผู้พิการอย่างไร เป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรจะปกติหรือไม่

“หนูฟังรุ่นพี่ ๆ ที่มีประสบการณ์เล่าให้ฟังว่าคนพิการหางานยาก ในขณะที่มูลนิธิที่ทำงานกับคนพิการมักจะบอกว่า “คนพิการทำงานได้ เค้ามีศักยภาพ” พอมีสองฝ่ายที่คิดแบบนี้ หนูเลยอยากพิสูจน์ว่าสรุปแล้วความจริงมันเป็นยังไงกันแน่ ถ้าสมมติไม่ใช่บริษัทที่เปิดใจเข้าร่วมโครงการที่เป็นมูลนิธิเพื่อคนพิการมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นบริษัททั่ว ๆ ไป มันจะเป็นยังไง หนูคงอยากลองของด้วยแหละ”

แอลล์ได้ทดลองสมมติฐานของเธอด้วยการทำเรซูเม่ขึ้นมาสองแบบ แบบที่หนึ่งได้ระบุประเภทของความพิการลงไปอย่างชัดเจน และอีกแบบหนึ่งเธอระบุเฉพาะวุฒิการศึกษา ความสามารถและประสบการณ์ โดยตั้งใจว่าหากมีการเรียกสัมภาษณ์ จะแจ้งกับฝ่ายบุคคลเกี่ยวกับข้อจำกัดทางร่างกายของตัวเองในขั้นตอนนั้น

โดยตำแหน่งที่แอลล์สมัครไปเกี่ยวกับสายงานด้าน Content Marketing เน้นการคิดกลยุทธ์และสร้างสรรค์งานเขียนที่สนับสนุนด้านการตลาด ซึ่งเธอมีประสบการณ์ในการฝึกงานจากเอเจนซี่โฆษณาที่มีชื่อเสียง ผลปรากฎว่าการสมัครงานโดยยื่นเรซูเม่ที่ระบุว่าเธอเป็นผู้พิการทางสายตานั้น ไม่มีบริษัทใดตอบกลับมาเลย ในขณะที่บริษัทที่เธอยื่นสมัครงานโดยไม่ได้ระบุประเภทความพิการ มีหลายแห่งได้ติดต่อกลับมาเพื่อเรียกสัมภาษณ์

“พอฝ่ายบุคคลโทรมาเพื่อนัดสัมภาษณ์ เราได้แจ้งไปว่าหนูพิการนะ แต่หนูสามารถเดินทางไปที่บริษัทได้ แล้ววิธีการทำงานก็สามารถคุยกันได้ ซึ่งบางที่มีการสัมภาษณ์ออนไลน์เหมือนกัน แล้วก็ขอกลับไปพิจารณาก่อน มีหลายที่ปฏิเสธเลย บอกว่าไม่มีนโยบาย หรือว่าบางที่คิดว่ายังไม่พร้อม

แต่มีบริษัทหนึ่งที่หนูประทับใจสุด ๆ คือหลังจากรู้ว่าเราพิการแล้ว เขาขอไปปรึกษาทางทีมก่อน จากนั้นจึงโทรกลับมาบอกว่าทางทีมพิจารณาว่าหนูสามารถทำงานได้ แต่เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมกับเรามากกว่า ตอนแรกหนูคิดว่าอาจจะเป็นตำแหน่งที่คิดกลยุทธ์หรือเป็นการเขียนอย่างเดียว แต่เค้าบอกว่าเป็นตำแหน่งคอลเซ็นเตอร์ คือถ้าหนูอยากเป็นคอลเซ็นเตอร์ หนูคงสมัครคอลเซ็นเตอร์แต่แรกแล้ว”

เมื่อรู้ว่าบริษัทแห่งนั้นได้เสนอตำแหน่งงานอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถหรือความสนใจของเธอเลย แอลล์ยังคงใจเย็นสอบถามต่อไป โดยถามถึงค่าตอบแทนรายเดือนที่เธอจะได้รับ หากทำงานในตำแหน่งคอลเซ็นเตอร์หรือเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ของบริษัท เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลแจ้งให้เธอทราบถึงจำนวนเงินเดือนที่ลดลงครึ่งหนึ่งจากตำแหน่งเดิมที่เธอสมัครไป และให้เหตุผลอย่างสุภาพถึงอัตราเงินเดือนมาตรฐานของตำแหน่งงานนี้ 

แอลล์เป็นคนมีเหตุผล ก่อนสมัครงานตำแหน่งนี้เธอได้พิจารณา Job description ดูแล้วว่าเป็นงานที่ข้อจำกัดด้านสายตาของเธอไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการทำงาน ไม่ต้องลงพื้นที่หรือต้องทำงานโปรดัคชั่นซึ่งเป็นทักษะของคนตาปกติ นอกจากนั้นประสบการณ์ที่เธอเคยฝึกงานผ่านมา ทำให้เธอมั่นใจว่าสามารถใช้เครื่องมือด้านเอกสารต่าง ๆ ที่ตรงกับตำแหน่งงานได้ การตอบปฏิเสธโดยที่นายจ้างไม่รู้ถึงความสามารถที่แท้จริงของเธอ แถมยังเสนอตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าขอบเขตความสามารถและค่าตอบแทนจึงเป็นเรื่องน่าผิดหวัง แต่สาวน้อยคนนี้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และเล่าอย่างติดตลกว่า

“หนูอยากตอบไปว่า “เดี๋ยวขอไปปรึกษาทางทีมก่อนนะคะ” แต่จริง ๆ ไม่มีทีมหรอกค่ะ ตอนนั้นคือโกรธเหมือนกัน แต่ได้บอกไปว่างั้นขอคิดดูก่อน ถ้าตัดสินใจยังไงแล้วจะติดต่อกลับไปนะคะ เอาจริง ๆ ถามว่าเศร้ามั๊ย ก็แอบเศร้า เพราะเรารู้ว่าเหตุผลที่เค้าปฏิเสธเรา มันไม่ใช่เพราะความสามารถเราไม่ถึง แต่มันแปลว่าเราตาบอด แค่นี้เลย เพราะว่าตอนแรกที่เราเขียนเรซูเม่ไปแล้วระบุว่าพิการ แล้วไม่มีที่ไหนเรียก

เรามีคำถามเหมือนกันว่า “เอ๊ะ หรือจริง ๆ ความสามารถเราไม่ถึง” แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้มันพิสูจน์เลยว่ามันไม่เกี่ยวกับความสามารถ เพราะความสามารถเราถึงเค้าถึงเรียกเราสัมภาษณ์ แต่พอรู้ว่าเราตาบอด เค้าเลยไม่รับเรา ซึ่งหนูก็กลับมาคิดว่า แล้วตาบอดมันจะแก้ไขอะไรได้รึเปล่า ก็แก้ไม่ได้ เพราะถ้าสกิลเราไม่ถึง เรายังฝึกได้ แต่สภาพนี้มันแก้อะไรไม่ได้”

แอลล์มองย้อนกลับไปโดยพยายามทำความเข้าใจการตัดสินใจของบริษัท เธอวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่าเหตุการณ์นี้คือ “เรื่องปกติ ที่ไม่ควรจะปกติ” โดยสะท้อนจากประสบการณ์ของตัวเองว่า เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนหรือคนใกล้ชิดฟัง ทุกคนจะรู้สึกหงุดหงิดแทน

แต่ในทางกลับกันหากนำเรื่องนี้ไปเล่าให้คนทั่วไปที่อาจจะไม่เคยรู้จักคนพิการมาก่อน ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจต่างออกไป เพราะคนทั่วไปในสังคมมักคิดแบบเหมารวมว่าอาชีพของผู้พิการทางสายตานั้นมีอยู่ไม่กี่อย่าง และอาชีพคอลเซ็นเตอร์เป็นหนึ่งในภาพจำเหล่านั้น ซึ่งมุมมองที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติเหล่านี้ แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ไม่ปกติและควรเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นหรือไม่

“คนที่คิดแบบนี้อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ของเขาเรื่องคนพิการมีแค่นั้นจริง ๆ ประเทศเรายังไม่มีพื้นที่ให้คนพิการมาเจอกับคนไม่พิการเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้กันได้ง่ายขนาดนั้น ประสบการณ์ของคนทั่วไปที่มีต่ออาชีพคนพิการมีแค่ ร้องเพลงหาเงิน ทำงานในร้านนวด คอลเซ็นเตอร์ หรือขายหวย คนเคยเห็นแค่นี้ เพราะฉะนั้นถ้าคนพิการจะทำงานเหล่านี้เขาคงคิดว่าไม่เห็นแปลกอะไร

การที่คนไม่เคยเห็นคนพิการในสถานที่ทำงานแบบอื่น ๆ ทำให้คิดต่อไปอีกว่าทำไมเราไม่เคยเห็น เพราะคนพิการอาจจะไม่ได้รับโอกาสให้เข้ามาทำงานตรงนั้นรึเปล่า แล้วมันเป็นเพราะอะไร หรือบางธุรกิจหนูรู้สึกว่าเขาพยายามให้คนพิการมาแสดงอะไรบางอย่างแล้วขายความพิการ เอาจริง ๆ เรื่องนี้หนูรู้สึกเหมือนคนพิการถูกทำให้เป็น Human zoo เลย”

ประเด็นสุดท้ายเธอพูดแทนแรงงานผู้พิการ ในกรณีที่ถูกจ้างเข้าทำงานเพียงเพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร โดยไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพหรือความสามารถที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติที่ไม่ควรจะปกติหรือไม่?  นั่นคือข้อสังเกตที่ตรงไปตรงมาของคนรุ่นใหม่อย่างแอลล์ เธอบอกว่าแรงงานที่เป็นผู้พิการพร้อมมากในการปรับตัวเข้าหาสังคม รอแค่ว่าเมื่อไหร่ผู้จ้างงานและสังคมในวงกว้างจะยอมเปิดใจ

“บริษัทอาจจะคิดว่าไม่พร้อม แต่จริง ๆ อาจจะแค่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับคนพิการมาก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดว่าไม่พร้อม จริง ๆ คนพิการอาจจะทำได้อยู่แล้ว  เช่น เค้าอาจจะไม่รู้ว่าคนตาบอดก็ใช้กูเกิ้ลสไลด์ได้นะ แต่เค้าคิดว่าจะต้องมีเครื่องมือเฉพาะในการใช้งานสำหรับคนพิการ เลยอาจจะปฏิเสธไปก่อน หนูเลยคิดว่าในการรับคนเข้าทำงานควรดูที่ความสามารถก่อนมั๊ย แล้ววิธีการทำงานค่อยไปปรับกันได้ หรือจริง ๆ วิธีที่เค้าทำงานอยู่ อาจจะเป็นวิธีที่คนพิการเข้าถึงได้โดยไม่ต้องปรับอะไรเลยก็ได้”

แรงงานผู้พิการไทย ศักยภาพที่ติดหล่มโครงสร้างและทัศนคติ

“บริษัทวัลแคนมองเห็นปัญหา 2 ด้าน ด้านแรกคือปัญหาของผู้พิการที่อัตราการว่างงานสูง ทั้งในประเทศและทั่วโลก เนื่องจากไม่มีงานที่เหมาะสม หรือด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งทางด้านกายภาพและการไม่มีโอกาสทางการจ้างงาน ถ้าดูตามสถิติในประเทศไทยมีแรงงานผู้พิการประมาณแปดแสนคน ตรงนั้นคือปัญหาด้านแรก ส่วนอีกด้านหนึ่งคืออุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย ยังขาดคนที่จะเข้ามาเตรียม Data เพื่อฝึกเทคโนโลยี AI ให้เก่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงนำสองฝ่ายมาพบกัน”

บอล – ณัฐภัทร ทวีกาญจน์ เจ้าหน้าที่ฝ่าย Learning & Development ของบริษัท Vulcan Coalition อธิบายให้เห็นสถานการณ์ของแรงงานผู้พิการไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่มาของทิศทางในการทำงานและ Business model ของวัลแคน บริษัทที่ผลิตเทคโนโลยี AI โดยผู้พิการ

บริษัทวัลแคนเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์กฏหมายด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในมาตรา 35 ที่เรียกว่าการสร้างอาชีพผ่านโควต้าผู้พิการ โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของโควต้าการจ้างงานทำหน้าที่จ่ายเงินเดือนให้ผู้พิการโดยตรง ในขณะที่การบริหารจัดการเกี่ยวกับเอกสารและการมอบหมายงานทั้งหมดเป็นหน้าที่ของบริษัทวัลแคน โดยที่รายได้ของบริษัทเกิดจากการขายผลิตภัณฑ์ AI ที่พัฒนาข้อมูลโดยผู้พิการที่เป็น  AI Trainer 

ผลิตภัณฑ์ AI ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทวัลแคน เช่น โปรแกรมเสียงโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ Text-to-speech ซึ่งเป็นการพัฒนาเสียงภาษาไทยให้มีความเป็นมุนษย์มากขึ้น ทั้งเสียงสูงต่ำ หรือเสียงวรรณยุกต์ โดยผลิตภัณฑ์นี้ถูกนำไปขายให้กับบริษัทที่มีความต้องการ เช่น สำนักพิมพ์ บริษัทข่าว หรือบริษัทที่ทำงานด้าน E-Book เพื่อให้ตัวหนังสือสามารถอ่านแบบมีเสียง โดยผลิตภัณฑ์ของวัลแคนจะถูกนำไปเชื่อมต่อกับระบบของบริษัทที่ต้องการใช้โปรแกรมเสียงสังเคราะห์เหล่านั้น 

ด้วยบทบาทเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมและดูแลผู้พิการที่เป็นพนักงานของบริษัทอย่างใกล้ชิด บอลจึงรู้รายละเอียดปัญหาต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งแรงงานผู้พิการเอง ส่วนของนายจ้าง รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดของกฏหมาย เขาแสดงความเห็นว่าแม้บริษัทวัลแคนจะได้โควต้าการจ้างงานผู้พิการจากมาตรา 35 มีการต่อสัญญาแรงงานผู้พิการแบบปีต่อปีตามข้อบังคับของกฎหมาย

แต่ท้ายที่สุดเป้าหมายของบริษัทคือต้องการสนับสนุนให้คนพิการมีงานประจำทำจริง ๆ คำถามสำคัญคือเหตุใดบริษัทต่าง ๆ จึงพิจารณาจ้างคนพิการเป็นพนักงานประจำน้อยเกินไป จากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา เขามองว่าปัญหานี้มีที่มาจากสองสาเหตุสำคัญ

“เรื่องแรกคือทัศนคติของนายจ้าง คือไม่ได้มองตรงความสามารถหรือศักยภาพของคนพิการ แต่มองว่าพอรับคนพิการเข้ามาจะสร้างความซับซ้อนต่อบริษัท ต้องปรับโครงสร้างอาคารเพื่อให้คนพิการเข้ามาทำงานได้ หรือต้องทำลิฟท์หรือทางลาดเพิ่มรึเปล่า ถ้าเป็นผู้พิการทางสายตาจะต้องมาเปลี่ยนตัวซอฟท์แวร์อีกมั๊ย เพื่อให้คนตาบอดสามารถทำงานกับคนปกติได้ กับอีกจุดหนึ่งคือทักษะของผู้พิการเอง

เรื่องนี้เราต้องย้อนมองกลับไปตั้งแต่ระบบการศึกษาว่าผู้พิการมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากน้อยแค่ไหน เอื้อให้คนพิการได้มีความรู้ มีทักษะในสาขาต่าง ๆ แค่ไหน เท่าที่เห็นคือมีน้อยมากที่มีโอกาสได้เรียนด้านเฉพาะทางอย่างวิศวกรรม แพทย์ หรือด้านที่ไม่ใช่สายสังคม พอจบมาก็ไปกระจุกอยู่ในสายสังคมต่าง ๆ ซึ่งโอกาสในการหางานทำไม่ได้เปิดกว้าง ยิ่งคนที่ไม่มีโอกาสเรียนทางเลือกยิ่งน้อย จึงทำให้สังคมมองว่าผู้พิการก็เป็นได้แค่คนร้องเพลง คนนวด คนขายล็อตเตอรี่ เพราะสังคมไม่ได้เปิดประตูให้คนพิการได้เลือกอาชีพอื่น ๆ”

ส่วนปัญหาอีกเรื่องหนึ่งเกิดจากช่องโหว่ของกฏหมายโดยตรง โดยจุดที่เป็นปัญหามาจากมาตรา 34 การจะเข้าใจปัญหานี้ได้ต้องทำความเข้าใจพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้รอบด้าน กฎหมายนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีการจ้างงานคนพิการ โดยเลือกทางใดทางหนึ่งใน 3 มาตรา

ทางเลือกแรกคือมาตรา 33 กฏหมายกำหนดให้หน่วยงานที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน ทางเลือกที่สองคือมาตรา 34 หากไม่ต้องการจ้างผู้พิการ ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ส่วนทางเลือกสุดท้ายคือมาตรา 35 หน่วยงานสามารถเลือกดำเนินการได้หลายวิธี เช่นการให้สัมปทาน หรือการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ ตามที่บริษัทวัลแคนได้ดำเนินการโดยสอดคล้องกับมาตรานี้

อย่างไรก็ตามบริษัทส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 อาจแก้ปัญหาด้วยการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 ซึ่งก่อให้เกิดคำถามในเชิงสังคมว่า ทางเลือกนี้ได้ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานผู้พิการตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายหรือไม่

“ด้วยเม็ดเงินจำนวน 9,520 บาท ซึ่งเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่บริษัทต้องจ่ายให้พนักงานแต่ละคนทุกเดือน ถ้าไม่อยากจ่ายเค้าก็เลือก ม.34 คือจ่ายเข้ากองทุนฯ กับ ม.35 ที่จ่ายเป็นการจ้างเหมาบริการ อย่าง ม.34 แค่เขียนเช็คใบเดียว ไม่ต้องมานั่งดูเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องหนังสือสัญญา

เลยเหมือนกับว่า ม.34 คือจุดอ่อนของกฎหมายนี้ เพราะว่าจำนวนเงินที่เท่ากัน บริษัทมักจะเลือกวิธีที่ง่ายที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ผู้พิการหลายคนก็อยากให้การจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตาม ม.34 ควรต้องจ่ายมากกว่านี้นิดนึง ถ้าทำได้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะทางบริษัทจะเกิดความลังเล หมายความว่าถ้าเลือกทางที่สะดวกคุณต้องจ่ายมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่าหลายบริษัทอาจจะเลือกการให้โอกาสจ้างงานคนพิการมากขึ้น”

นอกจากการตั้งคำถามกับตัวบทกฎหมาย สิ่งที่น่าสนใจคือผลงานต่าง ๆ อันเกิดจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีการตรวจสอบติดตามเพียงใด เช่นเดียวกับการตรวจสอบหน่วยงานราชการต่าง ๆ ว่ามีการจ้างงานผู้พิการตามกฎหมายนี้หรือไม่

สถิติที่น่าสนใจจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 พบว่าสถิติการจ้างงานผู้พิการในหน่วยงานของรัฐยังต้องจ้างเพิ่มอีก 84.60% ในขณะที่สถิติการจ้างงานในสถานประกอบการทั่วไป ต้องจ้างเพิ่มเพียง 4.42% น่าสนใจว่าการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานภาครัฐมีการตรวจสอบเพียงใด คำตอบนี้คนที่อยากรู้ที่สุดน่าจะเป็นแรงงานผู้พิการที่ยังรอคอยงานอยู่เป็นจำนวนมาก

บอลยังได้สะท้อนปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราชการไว้อีกหนึ่งประเด็น เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาด้านการเงินของพนักงานที่เป็นผู้พิการโดยตรง ที่ผ่านมาแม้ว่าบริษัทเอกชนจะเป็นผู้จ่ายเงินให้แรงงานผู้พิการ แต่มักจะเกิดความล่าช้าในการทำสัญญาจ้างในขั้นตอนการยื่นไปยังกระทรวงแรงงาน

ปัญหาที่ตามมาคือการตกเบิกในการจ่ายเงินเดือน หลายคนตกเบิก 3 เดือน โดยที่ไม่มีเงินเก็บจนต้องไปกู้เงิน การกู้เงินในระบบทำได้ยากเพราะเอกสารรับรองการทำงานล่าช้า ส่วนการกู้นอกระบบดอกเบี้ยสูงมาก สุดท้ายแล้วเงินเดือนของผู้พิการที่กว่าจะได้มาไม่พอจ่ายดอกเบี้ยที่ทบต้น เขายังทิ้งท้ายไว้ถึงปัญหาด้านการเงินของผู้พิการ ซึ่งน่าปวดใจเพราะมันเกิดจากทัศนคติที่ยังไม่เปิดกว้างของคนในสังคม

“ปัญหาเรื่องเงินของคนพิการมีเยอะมาก เช่น การเปิดบัญชีธนาคารเพื่อการรับเงินเดือน การที่คนพิการคนหนึ่ง สมมติว่าตาบอด จะไปเปิดบัญชีธนาคารได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ธนาคารหลายแห่งมักจะไม่ให้คนพิการเปิดบัญชีด้วยตัวเอง ต้องมีญาติหรือคนสนิทมาเปิดด้วย ทั้ง ๆ ที่จุดนี้เป็นการจำกัด Independent living เป็นการตีตราว่าคนตาบอดไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ

ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเค้าสามารถใช้ชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ เช่น มือถือมีโปรแกรมอ่านหน้าจอ (Screen Reader) เป็นโปรแกรมเสียง เพราะฉะนั้นเค้าไม่ต่างจากเราเลย เขาไม่ได้นึกถึงคนตาบอดที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัว มีน้องคนตาบอดหลายคนเลยที่ทำงานกับเรา ต้องจ้างวินมอเตอร์ไซค์ จ้างคนขับแท็กซี่ เพื่อให้มาช่วยในการเปิดบัญชี ตรงนี้ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายอีก เคยมีโอกาสสอบถามกับผู้บริหารธนาคารเลยรู้ว่าผู้พิการทางสายตาสามารถเปิดบัญชีด้วยตัวเองได้ หรือเปิดแบบอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งได้ แต่สุดท้ายจะไปติดที่ทัศนคติของพนักงาน”

คงต้องปิดท้ายประเด็นปัญหาของแรงงานผู้พิการไว้ด้วยคำถาม ทั้งจากแรงงานผู้พิการรุ่นใหม่อย่างแอลล์ที่ขอให้ทบทวนภาพจำเกี่ยวกับอาชีพอันจำกัดของผู้พิการ อีกนานแค่ไหนที่ผู้จ้างงานและสังคมจะหลุดจากกรอบความคิดแบบเหมารวม เพื่อให้แรงงานผู้พิการมีโอกาสในการทำงานที่ใช้ทักษะความสามารถได้หลากหลายขึ้น

รวมทั้งคำถามจากคนทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้พิการอย่างบอล ที่ตั้งคำถามกับแนวคิดเรื่อง Independent living เมื่อไหร่สังคมจะปรับทั้งโครงสร้างกฎหมายและทัศนคติ เพื่อให้ผู้พิการได้ใช้ชีวิตและมีอาชีพที่ยืนอยู่บนศักยภาพของตัวเองได้อย่างแท้จริง

“อยากให้สังคมหรือคนทั่วไปได้เห็นว่าคนพิการมีศักยภาพในการทำงาน ขอแค่ให้เขาได้ทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพของเขา คำว่าเหมาะสมในที่นี้ไม่ใช่การที่สังคมคิดว่าเป็นงานที่เหมาะสมกับเขา เพราะไม่เช่นนั้นมันจะวนลูปเดิมว่าคนพิการเหมาะกับงานนวดหรือขายล็อตเตอรี่เท่านั้น แต่คนพิการหลาย ๆ คนไม่ได้อยากทำงานแบบนั้น เขาอยากเป็นวิศวะ อยากเขียน Code อยากเป็นหมอเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพหรือไม่”

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565