เดินไปดวงดาว: เป้แบกฝัน รองเท้าพื้นหนา เขาบอกฉันว่า “จงตั้งใจเดิน” - Decode
Reading Time: 2 minutes

“นี่เรายังไม่ทันได้ถอดรองเท้าหนา ๆ และเอาเป้ออกจากหลังได้หมดเลย 
เราก็กำลังสวมรองเท้าหนา ๆ และเป้ใบใหม่ให้ลูกของเราแล้วเหรอเนี่ย” 
เป็นประโยคที่เรานึกขึ้นได้ตอนรู้ว่าตัวเองกำลังท้องเมื่อปลายปีก่อน 

ทำไมเราคิดแบบนั้น และรองเท้ากับเป้ใบใหญ่คืออะไร

ประโยคนี้มาจากการที่เราได้อ่านหนังสือนิทาน เรื่อง “เดินไปดวงดาว Walk to the Stars” ซึ่งเขียนเรื่องและวาดภาพโดย อาจารย์รับขวัญ ธรรมบุษดี นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานที่เขียนขึ้นจากงานวิจัย “เดินไปดวงดาว: ทุนนิยมไทยในกระแสเสรีนิยมใหม่กับความฝันที่ไม่มีวันไปถึง” ของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อีกทีหนึ่ง

เป้แบกฝัน รองเท้าพื้นหนา 
เขาบอกฉันว่า “จงตั้งใจเดิน”

เนื้อหาของนิทาน คือ การฉายภาพให้เราเข้าใจสังคมทุนนิยมที่เราอยู่ว่ามันทำให้เราไปไม่ถึงดวงดาวได้อย่างไร มีปัจจัย และโครงสร้างแบบไหนที่ฉุดรั้งเอาไว้ แล้วทางออกเป็นแบบไหน ผ่านตัวละครของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เกิดมาในเมืองมีฝุ่นพร้อมกับรองเท้าหนา ๆ และกระเป๋าใบใหญ่ 

รองเท้าหนา ๆ ที่ผู้คนบอกว่าต้องเดินให้มาก ๆ “อย่าหยุดเดิน” แล้วจะไปถึงดวงดาว
กระเป๋าเป้ใบใหญ่เอาไว้บรรจุความฝันของเรา มีฝันแบบไหนก็ค่อย ๆ เขียนใส่ลงไป

รองเท้าหนาที่เราตีความว่ามันเป็นต้นทุนชีวิตที่ติดตัวมาแต่เกิด ส่วนกระเป๋าใบใหญ่ แน่นอนเหมือนในหนังสือ มันคือพื้นที่บรรจุความฝัน ค่านิยม และสิ่งที่สังคมบอกว่า “เราต้องไป และต้องทำให้ได้”

ดวงดาวอยู่บนฟ้า สองขาของฉันอยู่บนดิน
เราจะเดินยังไงให้ไปถึงฝันนะ

ตลอดเส้นทางการผจญภัยของเด็กหญิง เธอตั้งใจเดินอย่างยิ่ง ฝันว่าสักวันหนึ่งจะไปถึงดวงดาวเธอได้พบกับผู้คนทั้งจากเมืองขี้เกียจ และคนที่มาจากดวงดาว เธอพบว่า รองเท้าหนา ๆ ที่ใส่มาตั้งแต่เกิด และเป้ที่แบกมา เหมือน ๆ กับทุกคนในเมืองสีฝุ่นนี้ แต่ผู้คนบนดวงดาวไม่มี แม้จะตั้งใจเดินมากแค่ไหน ก็ไม่อาจถึงดวงดาวได้ กระทั่งแม่ของเด็กหญิงเองที่ก็ตั้งใจเดินสุด ๆ แต่ก็ยังไม่ถึงดวงดาว แต่ก็ยังเคี่ยวเข็ญให้เธอตั้งใจเดิน และต้องไม่สอบเดินตก แต่สุดท้ายเธอสอบตก พร้อมกับคำถามมากมาย 

“แม่ไม่สงสัยเหรอ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านคนขี้เกียจจะเดินได้ยังไง
พวกเขาไม่มีข้าวกินด้วยซ้ำ แถมเป้ยังหนักกว่าเราอีก”

“ความฝันของหนูคือ ทุกคนจะได้ถอดรองเท้าหนา ๆ 
และเอาเป้ออกจากหลังให้”

เป็นครั้งแรกที่อ่านนิทานเนื้อเรื่องแบบนี้ เรื่องที่ไม่ได้บอกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าต้องมีคุณธรรมข้อไหน” แต่เป็นนิทานที่ทำให้เราได้เบิกเนตร ครั้งแรกที่อ่านนิทาน (เราอ่านหลายรอบ) เรามีความรู้สึกเชื่อมโยงอย่างบอกไม่ถูก จำได้ว่าแอบน้ำตาซึมเมื่ออ่านไปถึงช่วงท้าย ๆ ที่คนในเมืองฝุ่นแทบจะไร้ทางเลือก หรือหนทางที่จะไปอยู่บนดวงดาว หรือไปถึงฝั่งฝัน และในอีกความรู้สึกหนึ่ง คือ ความโล่งใจ และโทษตัวเองน้อยลงอีกนิด จากที่เคยก่นด่าตัวเองว่าเราคงพยายามไม่มากพอสินะ ถ้าเราตั้งใจมากกว่านี้แล้วก็คงได้ฝันนั้นแล้ว 

มาตอนนี้เรารู้ว่ามันมีปัจจัยที่ก่อร่างสร้างมาตั้งแต่เรายังไม่เกิดจนถึงวันนี้ด้วย แต่เรากลับไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยด้วยซ้ำว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ระบบการศึกษา ระบบอุปถัมภ์ ค่านิยม วัฒนธรรมของผู้คน รวมถึงนโยบายรัฐ และสวัสดิการ และต้นทุนชีวิตมีผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของคน ๆ หนึ่ง 

แต่อย่างไร ก็อยากขีดเส้นใต้เอาไว้เลยว่า เราเข้าใจอย่างดีว่าการไปถึงความฝัน การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การได้ใช้ชีวิตอย่างคิดไว้ เป็นส่วนผสมของการทำงานทั้งจากตัวเอง สังคม และแน่นอนสิ่งที่รัฐอำนวยความสะดวกให้เรา โดยเฉพาะสวัสดิการก็สำคัญ

สวัสดิการที่ทำให้ทุกช่วงวัย ไม่ลำบากลำบนมากจนเกินไป เป็นสวัสดิการที่สนับสนุนชีวิตพื้นฐานได้อย่างดี ตั้งแต่การศึกษา สาธารณสุข ค่าจ้าง/ค่าแรงที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ มีเงินบำนาญ การเข้าถึงที่อยู่อาศัย ได้รับบริการจากบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม และราคาเป็นธรรม เช่น คมนาคม ค่าหนังสือ เป็นต้น 

ใด ๆ ล้วนต้องมีรัฐเข้ามาเป็นมือเป็นไม้ “อำนวยความสะดวก” ไปจนถึงสร้างมันให้เกิดขึ้นมา
แต่น่าเสียดายและเสียใจมาก ๆ เลยว่า แทบทุกเรื่องไม่อยู่ในขอบข่ายสวัสดิการรัฐที่ดีเลย 

ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ยากขึ้นทุก ๆ เจนเนอเรชัน ตั้งแต่เกิด เรียน ทำงาน และสร้างชีวิต ทำให้เรื่องของการ “มีลูก” ในบริบทของประเทศไทย คือ คนที่พร้อมทางการเงิน เสียเป็นส่วนใหญ่แม้ว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องการมากกว่าเงินก็ตาม แต่เงินนั่นแหละที่อำนวยให้เกิดการเลี้ยงดูลูกที่ดีในประเทศไทยได้ คนมากมายจึงเลือกไม่มีลูกกัน เพราะลำพังตัวเองก็ยากมากพอแล้ว 

จะสร้างเนื้อสร้างตัวในยุคนี้…ไม่ง่าย

ตัวเรา แม้อยากมีลูก แต่วันที่รู้ว่าท้อง ก็วิตกตลอดว่า เราจะเลี้ยงลูกได้ดีไหม โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา การเรียนรู้ นอกจากนี้ เราเองก็ยังนึกถึงชีวิตของตัวเราเองที่ไม่มีอะไรรองรับมากพอ แม้ดิ้นรน และพยายามมาตลอด ความฝันของเรา เป้าหมายของชีวิตและการงานยังไม่ได้ถูกเติมเต็ม แต่เราต้องมารับหน้าที่ “แม่” ที่หันมองดูแล้ว เราต้องพึ่งพาตัวเองเกือบ 100% ยังโชคดีที่ตอนเราคลอด มีสิทธิประกันถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เราใช้สิทธินี้ลดค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูก พลันให้เรานึกถึงช่วงอื่น ๆ ของลูกว่าจะมีสวัสดิการใดอีกบ้างที่สามารถช่วยเราให้เลี้ยงลูกได้บ้าง ในฐานะที่เราเองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ทำงาน และจ่ายภาษีให้ประเทศ

  • ถ้าแม่น้ำนมไม่พอ/มีเหตุที่ให้นมจากเต้าไม่ได้ แต่ลูกจำเป็นต้องกินนม 6 เดือนเป็นอย่างน้อย มีสวัสดิการ การช่วยเหลืออะไรบ้างที่ช่วยค่านมผงที่ราคาตอนนี้แสนแพง 
  • เงินอุดหนุนเด็กเป็นถ้วนหน้าได้ไหม พ่อแม่ที่รายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่มีภาระเยอะ เงินตรงนั้นก็สามารถมาอุดหนุนได้ คนก็ไม่ต้องเดินทางไปลงทะเบียน ลดการเสียโอกาส และตกหล่น
  • ลาคลอดได้มากกว่านี้ได้ไหม การคลอดลูกคือการเปลี่ยนชีวิตฉับพลัน ทั้งลูกและแม่ต้องมีเวลาปรับตัว หรือลามากไม่ได้ มีศูนย์เด็กเล็กกระจายใกล้ที่ทำงาน หรือที่ทำงานยืดหยุ่นเวลาให้แม่ปั๊มนมทุก 2-3 ชม. ให้คนเป็นแม่พาลูกมาออฟฟิศได้ เพื่อป้อนนมดูแลลูกเป็นระยะ
  • หรือมีเงินช่วยแม่ ๆ ที่ทำงานอิสระ แต่ต้องหยุดงานไปเพื่อดูแลลูกอย่างใกล้ชิด 

ใด ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เพียงรัฐมีสายตาว่าการเลี้ยงลูก 1 คน คือการต้องทุ่มเททรัพยากรหลาย ๆ อย่าง ทั้งเงิน เวลา สิ่งที่จะมาช่วยหนุนก็ง่ายขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ประโยคขอให้มีลูก เพราะเด็กเกิดน้อย โดยไม่มีอะไรมาช่วยเลย

การที่เราได้อ่านนิทาน “เดินไปดวงดาว” ทำให้เราสะท้อนใจตัวเองในหลาย ๆ มิติว่าเราเองก็มีรองเท้าหนา ๆ ที่ยังไม่หลุดไป มีเป้ใบใหญ่อยู่ข้างหลัง และวันนี้มันหนักขึ้น และในวันที่เราท้องคลอดลูก เรากำลังใส่รองเท้าหนา ๆ และสวมเป้ใบใหญ่ให้กับลูกไหมนะ อนาคตของลูกในเมืองสีฝุ่นนี้จะเป็นอย่างไร ลูกจะมีความสุขที่เกิดมาไหม จะต้องลำบากบนโครงสร้างของรัฐไร้สวัสดิการแค่ไหน และตัวเราจะต้องแลกกับอะไรบ้าง

นี่เราไม่ได้โยนหน้าที่นี้ให้รัฐใช่ไหม? 
หากไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการ ไม่ขยับขยายใด ๆ 
มันคงไม่มีทางเลยที่เราจะไปถึงดวงดาว 
หรือแม้แต่ทำให้ผู้คนในเมืองฝุ่นนี้ดีขึ้น

อาจารย์ษัษฐรัมย์เขียนไว้ในหนังสือว่า “สังคมนี้ใจร้ายกับพวกเขาเพียงใด พวกเขาเหนื่อยล้าและวิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่าเพียงใด ประเทศนี้ที่มีความเหลื่อมล้ำมหาศาล คนรวยจองที่ทางในประเทศนี้ยาวนานข้ามถึงรุ่นหลาน เมื่อต่อสู้ตั้งคำถามทางการเมืองก็ถูกเข่นฆ่าขับไล่ เมื่อต้องการจะเลือกวิถีชีวิต รสนิยม ทางเดินของตัวเองก็โดนกดทับด้วยค่านิยมอนุรักษ์นิยมล้าหลังพวกเขาเพิ่งอายุ 20 ปี แต่พวกเขาดูเหนื่อย ด้วยเหมือนโลกที่พวกเขาแบกไว้ทั้งบ่า ฝันของตัวเอง ฝันของพ่อแม่ ฝันของสังคม แต่พวกเขามีเพียงรองเท้าหนัก ๆ เป็นเครื่องมือ และคำบอกกล่าวของคนรุ่นก่อนว่า “ให้ตั้งใจเดิน” เดิน เดินด้วยเท้าเปล่า ถ้าตั้งใจเดินเรื่อย ๆ โดยไม่ตั้งคำถาม จะถึงดวงดาวได้” แต่ไม่มีใครที่เกิดบนเมืองสีฝุ่น แล้วสามารถเดินไปดวงดาวได้”

แต่สำหรับเด็กหญิงในเมืองฝุ่น ตั้งแต่รู้ว่า 

“เราเดินไปดวงดาวไม่ได้ ไม่มีวันทำได้ เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ 
ความลับที่เขาไม่ได้บอกเราคือ
รองเท้ากับเป้มันไม่ได้มีไว้แบกฝัน
แต่มีหยุดฝัน
มันมีไว้สะสมกระดาษสีแดง (บิล/หนี้สิน)
ที่ไม่มีวันพาเราไปถึงดวงดาว”

“เราทุกคนที่เมืองสีฝุ่นไม่มีทางเดินไปถึงดวงดาว
เราต้องหาทางอื่นที่ทำให้เราทุกคนได้ไปด้วยกัน”

หนังสือไม่ได้บอกให้เรารู้เพียงว่า เมืองสีฝุ่น และดวงดาวแตกต่างกันแค่ไหน คนเมืองสีฝุ่นไม่มีวันเดินทางไปถึง แต่ยังบอกด้วยว่า มันยังมีทางอื่นนะ ทางที่สังคมจะเสมอภาคกันได้ เท่าเทียมกันได้ ทุกคนได้มีความฝัน และหลงใหล ได้เหนื่อยหนักกับความฝันของตัวเองมากกว่าดิ้นรนเพื่อสิ่งพื้นฐานที่สมควรเป็นของเราคน 99% ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว 

สุดท้ายเราตั้งใจอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ลูกฟัง ถือว่าเป็นนิทานความจริงเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่ให้ลูกรู้ว่ากำลังเติบโตในที่ไหน แต่เพื่อให้ลูกเข้าใจ และช่วยเป็นอีกแรงที่จะทำให้คนเมืองฝุ่นไม่ต้องใส่รองเท้าหนาหนัก และไม่ต้องแบกเป้อีกต่อไป

หนังสือ: เดินไปดวงดาว Walk to the Stars 
นักเขียนและวาดภาพประกอบ: รับขวัญ ธรรมบุษดี
สำนักพิมพ์: Soi Studio

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565